ความเชื่อมั่นนักลงทุน ร้อนแรง การฉีดวัคซีนเป็นปัจจัยหนุน

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือน มิ.ย.64 ว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือเดือน ส.ค.64 อยู่ที่ 126.40 เพิ่ม 1.6% จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 124.37 โดยมีปัจจัยหนุน คือ การฉีดวัคซีน ความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและการไหลเข้าของเงินทุน ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังยังเป็นขาขึ้น โดยมีเป้าหมายดัชนีปีนี้ไว้ที่ 1,650 จุด แต่ปัจจัยที่ยังต้องติดตาม คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และยุโรป จากการเปิดประเทศ ส่วนปัจจัยในประเทศ คือ การจัดสรรและกระจายวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ ซึ่งจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/investment/2110485

มูลนิธิจีเอ็กซ์ มอบเวชภัณฑ์แก่สปป.ลาวเพื่อรับมือโควิด

มูลนิธิจีเอ็กซ์ ได้มอบเวชภัณฑ์มูลค่ากว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 ของสปป.ลาว ดร.กิเคโอะ ประธานหน่วยเฉพาะกิจด้านการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 แห่งชาติ กล่าวว่า “สิ่งของที่ได้รับบริจาคจำเป็นต่อการช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 และจะปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ในระหว่างการทำงาน” การบริจาคสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างสปป.ลาวและจีนภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_GX_108.php

ดีเดย์เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวไม่กักตัว 1 ก.ค. นี้

ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ เห็นชอบเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วของจังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox) ในวันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยมีข้อกำหนด ดังนี้ (1) ต้องได้รับวัคซีนครบโดสตามเกณฑ์ของวัคซีนแต่ละชนิด มีระยะเวลาการฉีดมากกว่า 14 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี (2) รับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่เดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองที่ฉีดวัคซีน ส่วนอายุระหว่าง 6 – 18 ปี จะต้องได้รับการตรวจเชื้อก่อน (3) มีเอกสารรับรองการฉีดจากประเทศต้นทาง (4) ติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือน (5) พักในโรงแรมที่ผ่านมาตรฐาน 14 คืน หลังจากนั้นสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นได้ (6) รายงานตัวและรับการตรวจตามมาตรการควบคุมโรคและท่องเที่ยวได้ภายใต้มาตรการป้องกันตามมาตรฐาน DMHTTA

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/654831

ธุรกิจ Healthcare ปัจจัยสำคัญสู่การดิจิทัลไลเซชั่นและการลงทุนในกัมพูชา

ภาคธุรกิจ Healthcare ในกัมพูชาถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับการสร้างการลงทุนและก่อให้เกิดดิจิทัลไลเซชั่นด้านการดูแลสุขภาพในกัมพูชา โดยเห็นถึงโอกาสในการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 ในกัมพูชา กลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งทางกัมพูชาเห็นถึงความสำคัญของภาคธุรกิจด้านสุขภาพมากขึ้นหลังเกิดการแพร่ระบาด จากการที่ผู้ป่วยภายในประเทศเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่มีมาตรฐานได้ไม่ทั่วถึง ทางกัมพูชาจึงมีแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์ เช่น การให้คำปรึกษา การวินิจฉัยและการจัดส่งยาจากระยะไกล ให้กับผู้ป่วยที่ไม่สะดวกในการเดินทางมายังโรงพยาบาล โดยเชื่อว่ามีโอกาสสำหรับนักลงทุนที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรม Healthcare ภายในกัมพูชา เนื่องจากกัมพูชาขาดผู้ผลิตยาที่ถือเป็นหนึ่งในความสำคัญลำดับต้นๆ ของภาคอุตสาหกรรม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50865080/kingdoms-healthcare-sector-prime-for-digitalisation-and-investment/

‘ผู้ว่าธปท.’คาดเศรษฐกิจฟื้นเท่าก่อนโควิด อาจรอไตรมาสแรก’66

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผย สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสามตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา คาดเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาถึงไตรมาสแรกของปี 66 กว่าจะกลับมาสู่ระดับเดิม ขณะเดียวกันต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องของเอสเอ็มอี โดยรัฐและ ธปท ได้ออกมาตรการฟื้นฟู ส่วนสถาบันการเงิน มีบทบาทในการเชื่อมต่อข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ในการประสานความช่วยเหลือกับคู่ค้ารายย่อย และปรับแนวทางการปล่อยสินเชื่อ ทั้งนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีควรปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดและยกระดับการจัดการธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นเพราะนอกจากจะนำมาใช้บริหารต้นทุน กำไร ยังสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสถานะทางการเงินธุรกิจอีกด้วย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/846888

เวียดนามเผยโควิดระลอกใหม่ ฉุดการค้าการขนส่ง

ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในปัจจุบัน ทำให้การค้า การขนส่งและการท่องเที่ยวเกิดหยุดชะงัก ตลอดจนทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจประสบปัญหาในเดือนพฤษภาคม อีกทั้ง จำนวนขนส่งผู้โดยสารทั่วประเทศ อยู่ที่ 287.8 ล้านคน ลดลง 14.9% จากเดือนเมษายน และในเดือนเดียวกันนั้น ปริมาณการขนส่งสินค้า 139 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.8% ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกสินค้าและบริการ มีมูลค่า 393.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.1% เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเวียดนาม มีจำนวนทั้งสิ้น 13,400 คน ในเดือนนี้ ลดลง 30.8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 40.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้ตัวเลขของนักท่องเที่ยวในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 97.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุมาจากข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/new-covid19-outbreak-puts-brakes-on-trade-transport/202302.vnp

โควิด! พ่นพิษฉุดราคาส่งออกมะม่วงเซ่งตะโลงไปจีน ดิ่งลง

สมาคมพัฒนาตลาดมะม่วงและเทคโนโลยีแห่งเมียนมา เผย ราคามะม่วงเซ่งตะโลงส่งออกไปจีนลดลงในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จาก 120 หยวนต่อตะกร้า แต่ในปีนี้ราคาร่วงเกลือ 100 หยวนต่อตะกร้า (1 ตะกร้าละ น้ำหนัก 16 กิโลกรัม) ผลจากการที่รถบรรทุกหลายพันคันติดอยู่ที่ชายแดนเมียนมา – จีน จากการปิดด่านเพราะสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้คุณภาพมะม่วงลดลงและราคาก็ลดลงตามไปด้วย ปัจจุบันมีการส่งออกทางรถบรรทุกมะม่วงประมาณ 10 หรือ 15 คันไปยังจีนทุกวัน ส่วนใหญ่ผลผลิตมาจากเมืองสะกายและเมืองกะธา โดยมะม่วงส่วนใหญ่จะปลูกกันในเขตอิรวดีบนพื้นที่ประมาณ 46,000 เอเคอร์ ตามด้วยเขตพะโค 43,000 เอเคอร์ เขตมัณฑะเลย์ 29,000 เอเคอร์ รัฐกะเหรี่ยง 24,000 เอเคอร์ รัฐฉาน 20,400 เอเคอร์ และเมืองซะไกง์ 20,000 เอเคอร์

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/price-of-seintalone-mango-exported-to-china-plummets-this-year/#article-title

ดึงโมเดล EEC ปั้นเขตเศรษฐกิจใหม่ ดูดลงทุนหลังโควิด 4 แสนล้าน

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯอีอีซี) เผย ในช่วงที่ทั้งโลกต้องเผชิญกับกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นจังหวะดีที่ไทยจะใช้เวลานี้เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและเตรียมพื้นที่เพื่อรอการลงทุนที่จะกลับมาหลังสถานการณ์ปกติ โดยการเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษ 21 เขต 9 กลุ่มทั่วไทยและใช้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้นแบบ พร้อมเสริมสิทธิประโยชน์อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ศักยภาพสูงในแต่ละพื้นที่ โดยแผนนี้จะถูกผลักดันเข้าไปเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ 13 (ปี 2566-2570) หวังดึงเงินลงทุนโดยตรง (FDI) กว่า 4 แสนล้านบาท ดัน GDP โตได้ถึง 4-5%

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-679526

กัมพูชาพลักดันการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ได้เรียกร้องให้ลูกค้าและผู้ค้าปลีกใช้ประโยชน์จาก e-wallets และแอพต่างๆ เช่น Bakong เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทางการกัมพูชามองว่าดิจิทัลแบงกิ้งจะมีส่วนช่วยลดจำนวนการแพร่ระบาดลงได้โดยลดความจำเป็นในการทำธุรกรรมระหว่างบุคคลลง ซึ่ง NBC ยังสนับสนุนให้ธนาคารและสถาบันหลักๆ ภายในประเทศให้สิ่งจูงใจแก่ผู้บริโภคและธุรกิจที่เลือกทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้ใช้ความระมัดระวังในการจับธนบัตรและแนะนำให้ประชาชนล้างมือให้สะอาดหลังจากได้สัมผัสเงิน โดยจากข้อมูลของ NBC ปัจจุบันชาวกัมพูชามากกว่าร้อยละ 59 ทำธุรกรรมช่องทางออนไลน์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50862261/customers-and-retailers-urged-to-pay-online-to-help-prevent-covid-19-spread/

อุตสาหกรรมเสื้อผ้า CMP ส่งออกสูงสุด 1.4 พันล้านดอลลาร์ในรอบ 5 เดือน

5 เดือนแรก (ต.ค.64 – ก.พ.64) ของปีงบประมาณ 63-64 การส่งออกเสื้อผ้าของเมียนมาพุ่งเกิน 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้โรงงานต่างๆ กำลังเผชิญกับการยกเลิกคำสั่งซื้อใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม H&M ผู้ค้าปลีกสินค้าแฟชั่นสัญชาติสวีเดนเริ่มทยอยกลับมาสั่งซื้อตามด้วยแบรนด์อย่าง Primark และ Bestseller หลังหยุดการสั่งซื้อไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าแบบ CMP (Cutting Making และ Packaging) และการได้รับสิทธิพิเศษจากประเทศตะวันตกกลายเป็นอุตสาหกรรมส่งออกหลักของประเทศ แต่การหยุดชะงักจากภาคโลจิสติกส์ อุปทาน และผลกระทบจากโควิด-19  และความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นอุปสรรคสำคัญ ภาคการผลิตเสื้อผ้าของเมียนมาจึงเป็นส่วนสำคัญของ GDP ประเทศ จากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงทำให้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าบางแห่งปิดตัวลงชั่วคราวและทำให้คนงานหลายพันคนต้องตกงาน เมียนมาสงออกเสื้อผ้า CMP ไปยังตลาดในญี่ปุ่นและยุโรปเป็นหลักตามด้วย สาธารณรัฐเกาหลีใต้ จีน และสหรัฐอเมริกา

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/cmp-garment-exports-top-1-4-bln-in-five-months/#article-title