กัมพูชาเตรียมดึงดูด FDIs ผ่านกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่

เอกอัครราชทูตกัมพูชา ที่ปรึกษาทั่วไป และคณะทูต ได้รับมอบหมายให้ส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ผ่านกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ สำหรับนักธุรกิจจากต่างประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่แก่นักการทูตกัมพูชาที่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือการรวมกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่เข้ากับกลยุทธ์ทางการทูตที่เรียกว่าการทูตเชิงเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และเพิ่มผลผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศและถือเป็นการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในประเทศกับระดับภูมิภาคและระดับโลก เป็นสำคัญ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2021 CDC ได้อนุมัติโครงการลงทุนทั้งหมด 134 โครงการ ด้วยเงินลงทุนรวม 3.3 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มุ่งเน้นไปที่ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50964747/cambodian-diplomats-tasked-with-promoting-new-investment-law-to-attract-fdis/

‘ไนกี้’ เล็งขยายธุรกิจในเวียดนาม

Noel Kinder ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความยั่งยืนของบริษัทไนกี้ “Nike” กล่าวกับฝ่าม มิงห์ จิ๋ง นายกรัฐมนตรีเวียดนามที่ประชุมหารือนอกรอบของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ว่ามีความมุ่งมั่นที่จะลงทุนและขยายการผลิจในเวียดนาม โดยทางคุณ Kinder ชี้ว่าโรงงานของบริษัทมากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ได้กลับมาดำเนินการผลิจอีกครั้ง หลังจากที่ปิดการดำเนินงานจากการระบาดของโควิด-19 อีกทั้ง ยังได้แสดงความขอบคุณกับรัฐบาลเวียดนาม กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือธุรกิจจากการเผชิญการระบาดของเชื้อโรค นอกจากนี้ ตามตัวเลขสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อุตสาหกรรมรองเท้าทำรายได้จากการส่งออกถึง 13.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/nike-to-expand-operations-in-vietnam-902390.vov

เอกอัครราชทูตมาเลเซีย หนุนข้อตกลงด้านภาษี กระตุ้นการลงทุน

เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำกัมพูชา กล่าวถึงข้อตกลงเกี่ยวกับการเก็บภาษีซ้อน (DTA) ระหว่างมาเลเซียและกัมพูชาที่จะมาแก้ไขปัญหาเกี่ยวการจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อนระหว่างกันในช่วงปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีการลงทุนในกัมพูชามากขึ้น และชาวกัมพูชาจะเข้าถึงสินค้าและบริการของมาเลเซียมากขึ้น รวมถึงทำให้สภาพแวดล้อมทางภาษีของมาเลเซียและกัมพูชาชัดเจนเกี่ยวกับรายได้ทุกรูปแบบที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดระหว่างทั้งสองประเทศ โดยนักธุรกิจและนักลงทุนชาวมาเลเซียที่มองหาโอกาสในการลงทุนในกัมพูชาจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงนี้ ในทำนองเดียวกัน นักธุรกิจชาวกัมพูชาที่ใช้มาเลเซียเป็นแหล่งสินค้าก็จะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงนี้เช่นกัน ซึ่งมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและมาเลเซีย ในปัจจุบันลดลงกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปีที่แล้ว มาเลเซียถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 3 ในกัมพูชา รองจากจีนและเกาหลีใต้ ที่มูลค่าการลงทุนรวม 3.53 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50961054/malaysia-ambassador-tax-deal-will-bolster-investment/

“บางกอกโพสต์” ชี้เวียดนามเป็นพิกัดเป้าหมายทางการลงทุน หลังการระบาดโควิด-19

สำนักข่าวไทย “Bangkok Post” รายงานว่าการลงทุนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความท้าทายของนักลงทุนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ความหวังของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะเติบโตได้ดีมาจากตลาดเวียดนามที่ทำได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในระดับสากล เนื่องมาจากการขยายตัวของจีดีพีเมื่อปีที่แล้ว ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัส โดยกลุ่มบริหารกองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่าการแพร่ระบาดส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนแรก ขยายตัวเพียง 1.4% แต่เมื่อพิจารณา 3-6 เดือนข้างหน้า แนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามมีทิศทางที่เป็นบวก ทั้งนี้ Bloomberg คาดการณ์ว่า การเติบโตของ GDP เวียดนาม สูงถึง 7% ในปีหน้า ถือว่าเป็นตัวเลขสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมี 3 ประเด็นสำคัญที่เป็นแรงขับเคลื่อนระยะยาว ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากร 2) ผลประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และ 3) การเปลี่ยนแปลงของดิจิทัล

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-is-an-investment-destination-in-postpandemic-period-bangkok-post/209969.vnp

ในช่วง 8 เดือนแรกของปี กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 75 โครงการ

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 75 โครงการ นอกเขตเศรษฐกิจพิเศษในช่วง 8 เดือนแรกของปี ลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชาที่ออกมาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยระบุว่าโครงการลงทุนภาคเอกชนทั้งหมดมีมูลค่าการลงทุนรวม 1,106 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 52.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งโครงการใหม่เหล่านี้คาดว่าจะสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นประมาณ 57,000 ตำแหน่ง อยู่ภายใต้อุตสาหกรรมพลังงาน บริการ และการท่องเที่ยว เป็นสำคัญ โดยปีที่แล้ว CDC อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ไปกว่า 238 โครงการ มูลค่ารวม 8.2 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปี 2019

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50948049/75-investment-projects-approved-in-first-eight-months-this-year/

ตั้งแต่ ก.ค. ถึง ส.ค.64 เมียนมาไฟเขียวให้ต่างชาติลงทุนเพียงรายเดียว รวมมูลค่า 5 ล้านเดอลลาร์สหรัฐฯ

จากข้อมูลของคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) ระหว่างเดือนก.ค. – ส.ค. 2564 เมียนมาอนุญาตให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเพียง 1 ราย ในภาคการผลิตเพียง 5.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม พ.ศ. 2564 เมียนมาร์อนุญาตการลงทุนจากต่างประเทศเพียง 5.3 ล้านเหรียญสหรัฐในภาคการผลิต ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563-2564 มีการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวม 45 โครงการ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคพลังงาน มากกว่า 80% ด้วยเงินลงทุนรวม 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ภาคเกษตรมีการลงทุนใน 2 โครงการ มูลค่าเกือบ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภาคปศุสัตว์และประมงจำนวน 6 โครงการ มูลค่ากว่า 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภาคการผลิตจำนวน 24 โครงการมูลค่ากว่า 262 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ธุรกิจโรงแรมและการท่องเทียวมีมูลค่าการลงทุนกว่า 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ธุรกิจที่ลงทุนในการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมมูลค่ากว่า 28 ล้านเดอลลาร์สหรัฐฯ การลงทุนในภาคบริการจำนวน 5 โครงการมูลค่ากว่า 103 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านการขนส่งและการสื่อสารมีการลงทุนมากกว่า 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับอนุมัติการลงทุนมากกว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2531-2532 จนถึงสิ้นเดือนก.ค. 2564 เมียนมาอนุญาตให้มีการลงทุนจากต่างประเทศไปแล้วมากกว่า 91,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://news-eleven.com/article/215851

LG เพิ่มการลงทุนในเวียดนาม 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

คณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัด ประเทศเวียดนามเปิดเผยว่าได้ออกใบอนุญาตให้ LG Display บริษัทผลิตจอแสดงผลชั้นนำของเกาหลีใต้สามารถเพิ่มการลงทุนในเมืองไฮฟอง 1.4 พันล้านเหรียญ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวนั้น จะช่วยเพิ่มผลผลิตหน้าจอแสดงผล OLED ของโรงงานไฮฟอง จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตที่ 9.6-10.1 ล้านชิ้นต่อเดือน ขยายเป็น 13-14 ล้านชิ้นต่อเดือน คณะกรรมการระบุในคำแถลง ทั้งนี้ การลงทุนเพิ่มเติมดังกล่าวจะช่วยสร้างงานใหม่ถึง 10,000 ตำแหน่ง และสร้างรายได้จากการส่งออก 6.5 พันล้านเหรียญต่อปี

ที่มา : https://tuoitrenews.vn/news/business/20210901/lg-display-raises-investment-at-vietnam-factory-by-14-bln-local-govt/62885.html

ญี่ปุ่นเร่งกระจายการลงทุนไปยังหลายพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงกัมพูชา

กัมพูชาและญี่ปุ่น เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 22 ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีสมาชิกภาคเอกชนเข้าร่วมมากกว่า 130 คน โดยจะร่วมหารือมุ่งเน้นไปที่ค่าแรงขั้นต่ำ ภาษี การขนส่ง และการสร้างความเข้าใจต่อห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศกัมพูชามากขึ้น ตามคำแถลงของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ซึ่ง CDC รายงานถึงการอนุมัติโครงการการลงทุนทั้งหมด 145 โครงการ มูลค่ารวม 2.8 พันล้านดอลลาร์ โดยมี 66 โครงการตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นถือเป็นส่วนสำคัญต่อภาคการลงทุนในกัมพูชา สู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิตที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของกัมพูชา เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับภาคธุรกิจในกัมพูชา และถือเป็นการลดความเสี่ยงในภาคธุรกิจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50927114/japanese-investments-to-diversify-economy-praised/

สุพัฒนพงษ์ เตรียมประชุม รมว.เศรษฐกิจอาเซียน ดันแก้อุปสรรคการลงทุน

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.เมื่อเร็วๆ นี้เห็นชอบร่างกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Facilitation Framework : AIFF) ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอ โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย นาย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนของไทยในการรับรองกรอบ AIFF ในการประชุม รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและคณะมนตรีเขตการลงทุนอาเซียนครั้งที่ 24 (ASEAN Economics Ministers-24th ASEAN Investment Area Council Meeting : AEM-24tAA Counail Meeting ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน ที่จะถึงนี้ โดยกรอบ AIFF ในครั้งนี้ให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในฐานะเสาหลักสำคัญของการลงทุนที่นำไปสู่การรักษาและการเติบโตของการลงทุนในประเทศ ผ่านการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนในการจัดตั้ง ดำเนินการ และขยายการลงทุนและธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังจะก้าวเข้าสู่สภาพแวดล้อมภายหลังวิกฤติการระบาดของโรคโควิด 19 โดยมุ่งให้อาเซียนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยเน้นที่การลงทุนเพื่อผลักดันให้อาเซียนเป็นฐานการผลิต (ซัพพายเชน) ที่สำคัญของโลก

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/957596

ทางการกัมพูชารายงานถึงการอนุมัติโครงการการลงทุนใหม่ ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม

ทางการกัมพูชารายงานถึงโครงการการลงทุนใหม่ 2 โครงการมูลค่ารวม 5.5 ล้านดอลลาร์ ที่ได้รับการอนุมัติจากสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) คือโครงการของบริษัท Collaboration Packaging Material Products Co., Ltd. กำลังสร้างโรงงานในเขตจังหวัดกันดาล เพื่อผลิตชิ้นส่วนสำหรับกระเป๋าและรองเท้า และโครงการของบริษัท Chasefire Outdoors (Cambodia) Co., Ltd. จะตั้งโรงงานในจังหวัดตาแก้ว เพื่อผลิตเสื้อผ้า กระเป๋า และอุปกรณ์ตั้งแคมป์ ซึ่งคาดว่าทั้งสองโครงการจะสร้างงานมากกว่า 1,200 ตำแหน่ง ให้กับคนในท้องถิ่น โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ CDC ได้อนุมัติโครงการการลงทุนใหม่กว่า 10 โครงการ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการผลิตเสื้อผ้า กระเป๋าเดินทาง และรองเท้า รวมมูลค่าเกือบ 80 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสร้างงานได้ประมาณ 11,500 ตำแหน่ง ซึ่งปีที่แล้วมีโรงงานกว่า 101 แห่งในกัมพูชาปิดตัวลง เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 โดยส่วนใหญ่อยู่ในหมวดอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50917469/5-5-mn-of-investments-in-new-apparel-projects-will-create-1200-jobs/