เหมืองแร่ภูเบี้ยบรรลุเป้าหมายผลิตแร่ทองแดง 1 ล้านตัน

Phu Bia Mining (PBM) บริษัทเหมืองแร่ชั้นนำในประเทศลาว เผยข้อมูลผลผลิตทองแดงที่ผลิตได้ในเหมืองแร่ของตน โดยสามารถผลิตทองแดงเข้มข้นได้ 1 ล้านตัน บุคลากรซึ่งประกอบด้วยพนักงานสัญชาติลาวกว่า 93% และเกือบ 50% ของรายได้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับจากการทำงานในเหมืองแร่แห่งนี้ สามารถสร้างรายได้ให้กับประชากรในท้องถิ่นได้มากกว่า 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การจ่ายเงินโดยตรงของบริษัทจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านค่าสัมปทาน ภาษีกำไร ภาษีเงินเดือน ภาษีถนน ค่าบริการนำเข้า การสนับสนุนและเงินปันผลได้ช่วยในการพัฒนาแขวงไชยสมบูรณ์และเศรษฐกิจของ สปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_64_PhuBia_y24.php

รัฐบาล สปป.ลาว เห็นชอบร่างกฎหมายท่าเรือบก กระตุ้นการลงทุนของประเทศ

คณะรัฐมนตรี สปป.ลาว รับรองข้อเสนอทางกฎหมายที่สำคัญหลายข้อ รวมถึงร่างการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับท่าเรือบก โดยตระหนักถึงความจำเป็นที่จะมีแนวทางที่ชัดเจนและสอดคล้องกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการการลงทุนเหล่านี้อย่างมีประสิทธิผล นอกจากนี้ ยังได้ผ่านการร่างแผนแม่บทด้านการผลิตแห่งชาติจนถึงปี 2573 และร่างการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยถิ่นที่อยู่ถาวรสำหรับคนเชื้อสายลาวที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ พร้อมด้วยกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการข้ามชายแดนและสนามบินนานาชาติ การพิจารณายังรวมถึงพิมพ์เขียวเชิงกลยุทธ์สำหรับการพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับชาติจนถึงปี 2573

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_64_Govtendorses_y24.php

ปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ฉุดรั้งอันดับความสุขของ สปป.ลาว ปี 67

สหประชาชาติรายงานความสุขทั่วโลกประจำปี 2567 พบว่า อันดับความสุขของ สปป.ลาว ปรับลดลง 5 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 94 จากกว่า 140 ประเทศทั่วโลก การลดลงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย สปป.ลาว ได้คะแนน 5.13 จากคะแนนเต็ม 10 ขณะที่ฟินแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดได้คะแนน 7.74 และอัฟกานิสถานซึ่งเป็นประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุด 1.72 คะแนน ทั้งนี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญที่ทำให้อันดับความสุขของ สปป.ลาว ในปีนี้ปรับลดลง โดยมีอัตราเงินเฟ้อเป็นปัญหาสำคัญ การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อมีสาเหตุมาจากค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลง ผลผลิตในประเทศลดลง มูลค่าการนำเข้าสูง และความท้าทายในการควบคุมราคาสินค้าในตลาดท้องถิ่น

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/03/26/laos-drops-in-global-happiness-rankings-economic-factors-play-key-role/

สหภาพยุโรปมอบเงิน 1.5 ล้านยูโร ส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะใน สปป.ลาว

สหภาพยุโรป (EU) อนุมัติเงิน 1.5 ล้านยูโร ให้แก่ สปป.ลาว สำหรับดำเนินโครงการส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มสตรีและเกษตรกรเยาวชนที่เปราะบาง สำหรับโครงการนี้จะดำเนินการใน 15 หมู่บ้านใน 7 เมือง ในแขวงสะหวันนะเขต และแขวงหลวงพระบาง คาดว่าจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อครอบครัวเกษตรกรรมจำนวน 300,000 ครอบครัว และอื่นๆ อีกกว่า 100,000 คน ผ่านการให้เทคนิค ความรู้ และทักษะที่เกี่ยวข้องกับ Climate Smart Agriculture (CSA) นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิต ปรับปรึงความเป็นอยู่ โภชนาการ และความมั่นคงทางอาหารในท้องถิ่นของ สปป.ลาว อีกด้วย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_63_EU_y24.php

ก.สาธารณสุข สปป.ลาว สั่งเฝ้าระวังหลังพบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ 54 ราย ในแขวงจำปาสัก

กระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศเฝ้าระวังภายหลังมีรายงานผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ 54 ราย ใน 2 เมืองของแขวงจำปาสัก โดยสั่งให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการติดตามแหล่งที่มาของการติดเชื้อ รวบรวมข้อมูลที่จำเป็น กักกันพื้นที่เสี่ยงและกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ ทั้งนี้ พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงจะถูกแบ่งออกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคแอนแทรกซ์ และโรงฆ่าสัตว์บางแห่งจะถูกห้ามฆ่าวัวและควาย กรมควบคุมโรคติดต่อแนะนำเจ้าของสัตว์ควรเฝ้าระวังอาการโรคแอนแทรกซ์ในสัตว์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนจับตาดูสัตว์เลี้ยงของตนอย่างใกล้ชิดเพื่อดูสัญญาณของการเจ็บป่วย และรายงานกรณีที่น่าสงสัยให้สัตวแพทย์ประจำหมู่บ้านทราบทันที กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ในเมืองสุขุมา แขวงจำปาสัก ที่ได้รับผลกระทบ ติดตามการฆ่าสัตว์และการบริโภคเนื้อสัตว์ในพื้นที่ที่เกิดการติดเชื้อ รวมถึงมอบหมายให้ฆ่าเชื้อทุกพื้นที่ที่ตรวจพบผู้ป่วย เพื่อป้องกันการระบาด กรมวิชาการเกษตรประจำเขตได้ออกประกาศให้ทุกภาคส่วนทั้งผู้อยู่อาศัยและธุรกิจขนาดเล็ก ห้ามค้าสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์นอกเขต

ที่มา : https://english.news.cn/20240325/a4456b16c86a45f09f9de397d530ddef/c.html

โครงการ Green CUP ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวสินค้ากาแฟและชาของ สปป.ลาว

กาแฟและชาเป็นมากกว่าเครื่องดื่มยอดนิยมใน สปป.ลาว แต่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในประเทศ ภายใต้ความร่วมมืออันยาวนานระหว่างฝรั่งเศสและ สปป.ลาว ด้วยตระหนักถึงคุณค่าของกาแฟและชาที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาล สปป.ลาว และพันธมิตรด้านการพัฒนาในยุโรปจึงได้ทำงานร่วมกันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงการผลิต คุณภาพ และการเข้าถึงตลาดสำหรับกาแฟและชา ปัจจุบันกาแฟและชามีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของ สปป.ลาว โดยมีมูลค่าการส่งออกเกือบ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ทำให้ สปป.ลาว เป็นผู้ส่งออกกาแฟอันดับที่ 34 ของโลก และชาอันดับที่ 63 ของโลก โครงการ Green CUP พยายามที่จะสนับสนุนการค้าและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจสีเขียวสำหรับภาคส่วนการผลิตกาแฟและชา ผ่านวิถีชุมชนเกษตรกร ห่วงโซ่คุณค่าที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และการเข้าถึงตลาดที่ยั่งยืนและมีมูลค่าสูง โดยเฉพาะตลาดยุโรป

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_62_Bolstering_y24.php

กัมพูชา-สปป.ลาว ขยายความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า

นายกรัฐมนตรี ฮุน มานิต ของกัมพูชา และนายกรัฐมนตรี Sonexay Siphandone แห่ง สปป.ลาว ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 3 ฉบับ และ บันทึกความเข้าใจ (MoUs) อีก 4 ฉบับ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นการขยายความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ด้านการค้าพลังงานไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาด้านพลังงานในกัมพูชา โดยทั้งสองท่านได้ร่วมเป็นประธานในการลงนามเอกสารทั้งเจ็ดฉบับ ซึ่งห้าฉบับเป็นความตกลงด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของกัมพูชา โดยเฉพาะโครงการระหว่างกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน (MME) และ การไฟฟ้าแห่งประเทศ สปป.ลาว (EDL) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อซื้อพลังงานสีเขียวจากโครงการ Green Energy Supply ซึ่งวางแผนจัดหาพลังงานมายังกัมพูชา 1,000 เมกะวัตต์ จากโครงการพลังงานน้ำ พลังงานลม และ พลังงานความร้อนใต้พิภพ (พลังงานหมุนเวียนที่ได้จากแก่นโลก) มายังกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501462332/kingdom-laos-agree-to-widen-energy-cooperation/