หนุนพลิกโฉม FTA เจาะประเทศเป้าหมาย-รายมณฑล

ภาพรวมการค้าโลกอ่อนแรงลงมากจากสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจจีน-สหรัฐ ความไม่แน่นอนของการเมืองระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการค้าโลกปีนี้ว่าจะขยายตัว 1.2% จากเดิม 2.6% และประมาณการปี 2563 ว่าจะขยายตัวเพียง 2.7% จากเดิมที่เคยคาดไว้ 3% แรงกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้การส่งออก 10 เดือนแรกหดตัว 2.4% ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 3% ซึ่งแนวทางที่จะฟื้นการส่งออก จำเป็นต้องหาตัวช่วยด้วยการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศศึกษาแนวทางการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) หรือข้อตกลงกับประเทศจีนและอินเดีย โดยเจาะลงลึกเจรจาเป็นรายมณฑล หรือรายรัฐ เพื่อส่งเสริมการส่งออกพร้อมกันนี้ ให้เร่งผลักดันการเจรจาที่ค้างอยู่ ทั้งเอฟทีเอไทย-ตุรกี, ไทย-ศรีลังกา และไทย-ปากีสถาน ให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 และหาข้อสรุปที่จะเริ่มเปิดเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู, ไทย-สหราชอาณาจักร และไทย-ฮ่องกง ส่วนนายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุม สหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะเร่งผลักดันเอฟทีเอ เนื่องจากเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังมีโอกาสขยายตัวเป็นบวก โดยเฉพาะนโยบายสำคัญ เช่น การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีที่ต้องทำให้ชัดเจนและต่อเนื่อง ส่วนภาคเอกชน นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องเร่งเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอต่าง ๆ โดยเร็ว โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป และไทย-สหราชอาณาจักร เพราะการเจรจารายประเทศต้องใช้เวลา ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จได้เร็ว หากสำเร็จจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งทางคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 ฝ่าย จะพิจารณากำหนดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปี 2563 อีกครั้ง ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2563

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-401634

IFD หนุนฟื้นเอฟทีเอไทย-อียู หวังดัน “จีดีพีไทย” โต1.63%

พาณิชย์ชง กนศ.ฟื้น FTA ไทย-อียูสุดคุ้ม ดัน GDP โต 1.63% แต่ยังต้องรอบคอบ 3 ประเด็น ระหว่างงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “ผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป” (FTA ไทย-อียู) ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่กรมจะนำผลการศึกษานี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ ผลศึกษาสรุปว่า หากลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการ จะส่งผลให้จีดีพีไทยขยายตัว 1.63% การส่งออกเพิ่มขึ้น 3.43% การนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.42% การลงทุนเพิ่มขึ้น 2.74% ตลอดจนตัวเลขด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น สวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ การบริโภคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.32% ขณะที่เงินเฟ้อลดลง 0.41% และจำนวนคนจนลดลง 3.9 แสนคน โดยสินค้าที่จะได้ประโยชน์ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น ส่วนสาขาอาจจะได้รับผลกระทบ เช่น น้ำตาล ผัก ผลไม้ และถั่ว เป็นต้น ประเด็นที่อียูขอให้ยืดอายุสิทธิบัตรชดเชยความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยา ไม่ควรเกิน 2 ปี จากอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร 20 ปี หรือจำกัดระยะเวลาขอบเขตความล่าช้าที่เหมาะสม การให้อิสระในการกำหนดกฎหมายภายใน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายาร่วมกัน รวมถึงการขยายระยะเวลาคุ้มครองลิขสิทธิ์หลังผู้สร้างสรรค์สิ้นชีวิตอีก 50 ปี สำหรับมาตรการเยียวควรช่วยเหลือค่ายาสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย โดยขยายระบบประกันสังคม การตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผลกระทบ รวมถึงการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ส่งเสริมธุรกิจการทดสอบมาตรฐานสินค้า เป็นต้น

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-394635

ผู้ประกอบการสปป.ลาวเรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรี

ธุรกิจสปป.ลาว จะสามารถขยายตลาดและแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ดีขึ้นหลังจากได้รับการศึกษาเกี่ยวกับเงื่อนไขและประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรี การสัมมนาจัดขึ้นโดยกล่าวถึงประโยชน์ของ FTAs ​​และมีส่วนร่วมในอีคอมเมิร์ซ มีตัวแทนธุรกิจเกือบ 100 รายรวมถึงจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเวียงจันทน์และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และอื่น ๆ เข้าร่วม เป้าหมายของการประชุมครั้งนี้คือการทำให้ผู้ประกอบการคุ้นเคยกับ FTA โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ของ FTA สำหรับนักธุรกิจและกระบวนการและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการมีส่วนร่วมในอีคอมเมิร์ซและวิธีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีอาเซียน ที่ประชุมได้แจ้งผู้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ www.plaosme.com เพื่อสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่นในการทำธุรกรรมออนไลน์และเพิ่มความสามารถในการส่งออก

ที่มา : http://annx.asianews.network/content/lao-business-operators-learn-about-benefits-free-trade-agreements-108433

จุดพลุเอฟทีเอ “ไทย-ฮ่องกง”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานสัมมนา “THAILAND 2020 # ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ” ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 63 ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากภายนอก โดยเฉพาะปัจจัยของสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนที่ยังไม่มีความชัดเจน จึงอาจส่งผลกระทบต่อการค้าขายและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกไปถึงปี 64 โดยปีนี้เห็นได้ชัดเจนว่าสงครามการค้าที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรก เกิดการชะลอตัวค่อนข้างมาก ทั้งนี้หลังจากผ่านพ้นการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 เสร็จสิ้นลงถือว่าประเทศต่างๆได้มีข้อตกลง และความร่วมมือกันเป็นอย่างดี โดยจีนที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตใหม่ๆ ถือเป็นโอกาสให้กับไทยในการดึงดูดการลงทุนของจีนเข้ามา เพื่อนำเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยของจีนเข้ามาต่อยอดและพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย โดยมี 5 เรื่องสำคัญๆที่ต้องปรับเปลี่ยนประเทศและต้องทำให้ได้ เช่น อีอีซี, การเปิดประมูล 5 จี ในปีหน้า เป็นต้น ดังนั้น ประเทศไทยต้องอาศัยความได้เปรียบในฐานะศูนย์กลางของอาเซียน ที่เชื่อมต่อนโยบายของจีนผ่านความร่วมมือผ่านเส้นทางสายไหม สู่อีอีซี โดยมี Greater bay area : GBA ที่ประกอบไปด้วย ฮ่องกง กวางตุ้ง มาเก๊า เป็นหัวหอกที่ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญรองรับนโยบายการย้ายฐานการผลิต ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทในการเชื่อมโยงกับ CLMV  ซึ่งจากการหารือกับนางแคร์รี แลม ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง มีความประสงค์จะเดินทางมาไทย โดยจะมีการลงนามข้อตกลงทางการค้าเสรี ไทย-ฮ่องกอง เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนฮ่องกง ย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทยและเชื่อมโยงตลาดทุนร่วมกัน ภายในสิ้นปีนี้.

พาณิชย์เร่งอัพเกรดเอฟทีเอ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมกำลังอยู่ระหว่างการ เตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา หลังจากที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้มีมติให้อาเซียนไปเจรจากับคู่เจรจาเพิ่มเติม หลังจากที่เอฟทีเอจับคู่เจรจาหลายกรอบ ทั้งอาเซียน-จีน, อาเซียน-อินเดีย, อาเซียน-เกาหลีใต้ และอาเซียน-ออสเตรเลียนิวซีแลนด์ ได้มีผลบังคับใช้มานานแล้ว และยังไม่มีการปรับปรุงความตกลง ยกเว้นอาเซียน-ญี่ปุ่น ที่ได้มีการอัพเกรดเอฟทีเอไปแล้ว ขณะนี้กำลังรอการบังคับใช้

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/tpd/3041888

เวียดนามคาดว่าการส่งออกกุ้งจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 62

จากรายงานของสมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลเวียดนาม (The Viet Nam Association of Seafood Exporters and Producers) เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกกุ้งอยู่ที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการนำเข้าของตลาดต่างประเทศลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน เป็นต้น แต่ทางสมาคมฯ มองว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ตลาดต่างประเทศจะนำเข้ามากขึ้น เป็นผลมาจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยตลาดสำคัญอย่างประเทศจีน มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 233.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากการแข่งขันที่รุนแรงของคู่แข่ง ได้แก่ อินเดีย และเอกวาดอร์ เป็นต้น รวมไปถึงนโยบายการค้าที่เข็มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ ผลของข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรป จะช่วยส่งเสริมการส่งออกอาหารทะเล ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/523927/shrimp-exports-expected-to-pick-up-in-2nd-half.html#f2UkmlJLouYgI0R1.97

ผู้ประกอบการเวียดนามเร่งโอกาสจากผลกระทบของความตกลงการค้าเสรี EVFTA

ในกรณีที่สหภาพยุโรปและเวียดนามลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (EVFTA) คาดว่าจากผลของข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้จะนำโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการอลูมิเนียมของเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเวียดนามยังคงเผชิญกับการท้าทายใหม่ๆ ได้แก่ การแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงของคู่แข่ง ข้อกำหนดที่เข็มงวดจากกฎด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกฎหมายทางด้านแรงงาน เป็นต้น ในขณะที่ทางสมาคมอลูมิเนียมเวียดนาม ระบุว่าคุณภาพและแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นจุดอ่อน/ข้อบกพร่องที่เวียดนามต้องหาทางแก้ไขให้ได้ นอกจากนี้ ทางสภาหอการค้ายุโรป เผยว่าอัตราภาษีสินค้าส่งออกอลูมิเนียมของเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปจะดำเนินการยกเลิกภายในระยะเวลา 8 ปี นับตั้งแต่ข้อตกลงการค้าเสรี (EVFTA) มีผลบังคับใช้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/523113/local-aluminium-firms-urged-to-tap-opportunities-from-evfta.html#YsCmtEq255yPhgmE.97