นักเศรษฐศาสตร์ คาดเศรษฐกิจเวียดนามโต 6% ในปี 2564

นาย Duong Manh Hung นักวิเคราะห์อาวุโสของสำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม กล่าวว่าเศรษฐกิจเวียดนามกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ขยายตัวร้อยละ 2.62 ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ หลังจากไตรมาสที่ 2 อยู่ในระดับต่ำที่สุด ร้อยละ 0.39 ด้วยความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เป็นแรงผลักดันต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วนกลับมาดำเนินธุรกิจใหม่ ตัวอย่างเช่น ภาคอุตสาหกรรมเติบโตร้อยละ 3.6 ในเดือนต.ค. และจำนวนธุรกิจกว่า 5,000 รายกลับมาดำเนินกิจการในเดือนต.ค. เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ประกอบกับจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจใหม่มากกว่า 12,000 แห่ง ด้วยเหตุนี้ จึงคาดว่าการขยายตัวของ GDP จะแตะอยู่ในระดับร้อยละ 2 ในปีนี้ และร้อยละ 6 หรือมากกว่านั้นในปี 2564 อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกด้วย โดยเฉพาะประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับเวียดนามอย่างมาก ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นต้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/gdp-growth-6-percent-in-2021-feasible-economists/190112.vnp

เจาะลึกความสามารถในการแข่งขันของเวียดนาม

โดย ธนวัฒน์ พนิตพงศ์ศรี และ ณัชพล จรูญพิพัฒน์กุล I FAQ Issue 178 I Bank of Thailand

เวียดนามเป็นประเทศที่น่าจับตามองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งด้านศักยภาพการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่โดดเด่น ความได้เปรียบในด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำ กำลังซื้อในประเทศที่เติบโตต่อเนื่องและนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน ทิศทางการส่งออกที่ขยายตัวดีต่อเนื่องของเวียดนาม ส่วนหนึ่งเกิดจากการเน้นส่งเสริมพัฒนาในอุตสาหกรรมที่ประเทศมีความถนัด ส่งผลให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในประเทศต่าง ๆ ได้มากขึ้น

เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างน่าจับตามองในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก สะท้อนจาก GDP ที่ขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 6.7 ต่อปี1 ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ตั้งแต่การเริ่มใช้นโยบาย Doi Moi ในปี 2529 เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น

โครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนามโดยสังเขป : เศรษฐกิจเวียดนามถูกขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ สะท้อนจากสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของ GDP โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 7.4 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากกำลังซื้อในประเทศที่ขยายตัวตามค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่แรงขับเคลื่อนที่สำคัญอีกประการคือการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีทิศทางขยายตัวดีจาก (1) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ (2) การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิตพลังงานไฟฟ้า สอดคล้องกับการขยายตัวของสังคมเมือง และ (3) การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งส่งผลให้เวียดนามสามารถเกินดุลการค้าได้ในระยะหลัง

โครงสร้างตลาดส่งออกและสินค้าส่งออกหลัก : โครงสร้างตลาดส่งออกของเวียดนามกระจุกตัวอยู่ใน 5 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คิดเป็นร้อยละ 67 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด ในปี 2562 จากร้อยละ 58 ในปี 2552 ขณะที่ ในมิติของกลุ่มสินค้า สินค้าส่งออกกระจุกตัว ได้แก่ (1) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ (2) เครื่องนุ่งห่ม และ (3) รองเท้า คิดเป็นร้อยละ 42 11 และ 8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดในปี 2562 ตามลำดับ

ความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย : ในช่วงที่ผ่านมา ระดับการค้าขายของไทยกับเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าการค้าที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.7 ต่อปี ในช่วงปี 2558 – 2562 โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับเวียดนามมาโดยตลอด

ไทยและเวียดนามมีความเป็นคู่ค้ามากขึ้นชัดเจน สะท้อนจากระดับการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยสินค้านำเข้าหลักของไทยจากเวียดนามคือโทรศัพท์มือถือ ขณะที่สินค้านำเข้าหลักของเวียดนามจากไทยคือรถยนต์

การเป็นคู่แข่งระหว่างไทยและเวียดนาม แม้ว่าไทยและเวียดนามมีความสัมพันธ์ทางการค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ทั้งสองประเทศก็เป็นคู่แข่งทางการค้าเช่นกัน โดยการส่งออกของเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในบางหมวดสินค้าอย่างชัดเจน เช่น ระหว่างปี 2552 – 2561 ไทยได้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดในหมวดรองเท้า  ให้แก่เวียดนามใน 3 ประเทศผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ขณะที่เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดในหมวดสิ่งทอเพิ่มขึ้นมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

สถานการณ์ปัจจุบันและปัจจัยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนาม : ก่อนวิกฤตการณ์การเงินโลกปี 2550 – 2551 FDI ของเวียดนามส่วนใหญ่อยู่ในการผลิตน้ามันดิบ และการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ สะท้อนถึงการลงทุนที่เน้นเฉพาะข้อได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานต่ำ

อย่างไรก็ตาม หลังช่วงปี 2552 เป็นต้นมา FDI ในเวียดนามมีความหลากหลาย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ได้เข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2562 เวียดนามมีมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงสุทธิสะสมกว่า 161,111 ดอลลาร์ สรอ อยู่ในการผลิตร้อยละ 59 ในอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 16 และในการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 7 โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งการลงทุนของเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตได้ดี สะท้อนจากข้อมูลมูลค่าการลงทุนที่ไหลเข้าเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อ่านต่อ : https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/Pages/FAQ178.aspx

รัฐบาลสปป.ลาวคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3.3

รัฐบาลคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสปป.ลาวจะเติบโตร้อยละ 3.3 ในปีนี้ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตเดียวกันที่คาดการณ์ไว้ในเดือนมิถุนายน แม้ว่าจะมีการจำกัดการเดินทางที่ยืดเยื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ  COVID-19 ยังคงดำเนินต่อไป นายทองเจือ สีสุลิธนายกรัฐมนตรีสปป.ลาว กล่าวเพิ่มเติมว่า“ เราประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมาหลายปีแล้วยังมีปัจจัยด้านสภาพอากาศที่รุนแรงและการระบาดของ COVID-19 ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของสปป.ลาว” นอกจากนี้ COVID-19 ยังทำให้เกิดภาระมากขึ้นต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลสปป.ลาว เป็นที่มาของการร่างแผนระยะสั้นระยะกลางและระยะยาวเพื่อจัดการกับหนี้สินและลดการขาดดุลการคลังในแต่ละปี รัฐบาลจะไม่รับเงินกู้จากต่างประเทศอีกต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการคลัง นายกรัฐมนตรียอมรับว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงแต่มองในแง่ดีว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะสูงกว่าอัตราการเติบโตของโลกที่คาดการณ์ในปี 63 จะหดตัวถึงร้อยละ -4.4

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Economic_210.php

IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามโต 1.6% ในปี 2563

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจเวียดนาม (GDP) ในปี 2563 เหลือมาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากเดิมร้อยละ 2.7 ในเดือนมิ.ย. อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่คาดว่าจะเติบโตในเชิงบวกปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ที่หดตัวมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ติดลบร้อยละ 8.3 รองลงมาไทย (-7.1%), มาเลเซีย (-6%) และอินโดนีเซีย (-1.5%) ทั้งนี้ หากประเมินในภาพรวมของเศรษฐกิจอาเซียน-5 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 3.4 ในปีนี้ ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวร้อยละ 6.2 ในปี 2564 ในขณะที่ การเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ คาดว่าขยายตัวร้อยละ 2.12 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์เชื้อไวรัส COVID-19 นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามได้ตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 2 ในสภาวะปกติ และร้อยละ 2.5 หากได้รับแรงหนุน

ที่มา : http://hanoitimes.vn/imf-trims-vietnam-gdp-growth-forecast-to-16-in-2020-314508.html

GDP เวียดนามโต 2.12% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 63

ถึงแม้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะต่ำที่สุดในช่วง 9 เดือนของปี 2554-2563 ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วนของประเทศ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าวถือว่าเป็นความสำเร็จของเวียดนามในแง่ของการควบคุมการระบาดของเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับโครงสร้างเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ภาคเกษตร ป่าไม้และประมง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.05 ของ GDP ตามมาด้วยภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง (33.16%) และภาคบริกาค (42.73%) และภาษีเงินอุดหนุน (10.06%) ในขณะเดียวกัน การลงทุนของภาครัฐในช่วงเวลาดังกล่าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3 คิดเป็นมูลค่า 12.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งสร้างงานจากการพัฒนาทางถนน ทางรถไฟและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 10 ของ GDP อยู่ในภาวะตกต่ำ นักท่องเที่ยวต่างชาติหยุดการเข้าประเทศในเดือนมี.ค. และไม่มีวี่แววว่าจะได้รับอนุญาตให้กลับเข้ามาในขณะนี้

ที่มา : https://vietreader.com/business/finance/17856-vietnamese-gdp-increases-212-in-nine-months.html

ความไม่แน่นอนในสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจกัมพูชา

ธนาคารโลกคาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจกัมพูชาจะหดตัวลงอย่างมากถึงลบร้อยละ 2 ในปีนี้ ทั้งแนวโน้มการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปของกัมพูชาควบคู่ไปกับการจ้างงานภายในประเทศที่ต่ำลง ส่งผลไปถึงรายได้ภาคครัวเรือนที่ลดลงสู่การบริโภคภายในประเทศที่ลดลง โดยกัมพูชายังมีความเสี่ยงด้านลบรวมถึงการระบาดของโควิด-19 ในท้องถิ่นที่ยังไม่จบลงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมากเป็นเวลานาน รวมทั้งความตึงเครียดทางการค้าทั่วโลก โดยเศรษฐกิจของกัมพูชามีตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ ได้แก่ การก่อสร้าง การท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้า ยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโลกที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ในแง่บวกธนาคารโลกกล่าวว่าอุปสงค์ในประเทศของกัมพูชาจะค่อยๆกลับมารวมทั้งมีแนวโน้มที่ดีจากการเจรจาการค้าทวิภาคีในปัจจุบัน โดยคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 4.3 ในปี 2021 และร้อยละ 5.2 ในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50767885/uncertainty-remains-over-economic-outlook/

เอสแอนด์พี คาดเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเร็วที่สุด เป็นอันดับ 2 ในเอเชียแปซิฟิก

จากรายงานของ S&P Global Ratings เปิดเผยว่าเวียดนามอาจเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดอันดับ 2 ในเอเชีย-แปซิฟิก รองจากจีน ซึ่งทางสถาบันได้ปรับลดการเติบโตของ GDP เวียดนาม อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ในปีนี้ จากเดิมร้อยละ 1.2 “เศรษฐกิจอยู่ในทิศทางที่ดี เป็นผลมาจากการค้าโลกที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ ภาคการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ดิ่งลงหายไป” ในภาพรวมแล้ว เวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำที่ฟื้นตัวหลังจากโควิด-19 และคาดว่าในปี 2564 GDP จะโตสูงถึงร้อยละ 11.2 สูงที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2563 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 2.5 จากเดิมร้อยละ 1.8 เพราะว่าอุปสงค์ในประเทศแข็งแกร่งเกินคาดไว้ในระดับปานกลาง

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-economy-likely-second-fastest-growing-in-asia-pacific-sp-global-ratings-314323.html

รัฐมนตรีการค้า เผย GDP เวียดนามโต 300% จากการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ

นาย Tran Tuan Anh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กล่าวว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามและปริมาณการค้า จะเติบโตสูงถึงร้อยละ 300 และ 350 ตามลำดับ เนื่องจากการรวมกลุ่มเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และได้กล่าวเพิ่มเติมว่าข้อตกลง FTA ที่ลงนามได้ช่วยให้ขยายตลาดและกระจายไปยังตลาดส่งออก-นำเข้า รวมถึงพัฒนาบริการทางการเงินให้ดีขึ้นจากการสนับสนุนของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนของปีนี้ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ราว 337.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งออกเป็นมูลค่าการส่งออก 175.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ มูลค่าการนำเข้า 161.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ผลประโยชน์จากการเข้าร่วมกับกลุ่มเศรษฐกิจ ช่วยให้เวียดนามเปิดกว้างทางการลงทุนได้อีกมากและยกระดับสภาพแวดล้อมในการลงทุน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในระยะยาวแก่นักลงทุนและธุรกิจต่างชาติ

ที่มา : https://vnexplorer.net/gdp-grows-by-300-thanks-to-active-economic-integration-trade-minister-says-a202099878.html

ผู้ว่าราชการแขวงบอลิคำไซให้คำมั่นเศรษฐกิจจะเติบโตร้อยละ 5 ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ดร. ก้องแก้ว ไชยสงครามผู้ว่าราชการแขวงบอริคำไซ คาดการณ์ว่าบอลิคำไซจะสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจได้เฉลี่ยต่อปีอย่างน้อยร้อยละ 5 ในช่วง 5 ปีข้างหน้าโดยมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 2,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป้าหมายดังกล่าวกำหนดโดยคณะกรรมการบริหารแขวงบอลิคำไซ ตามรายงานยังระบุอีกว่า GDP จะสูงถึง 5.8 ล้านล้านกีบโดยภาคเกษตรกรรมจะเติบโตถึงร้อยละ 26 ต่อ GDP ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนสนับสนุนร้อยละ 48.9 และภาคบริการร้อยละ 25.1 นอกจากนี้จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมและร้านผลิตสินค้าหัตถกรรมมีเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับปี 2558 ด้านการดำรงชีวิตของคนในพื้นที่ชุมชนทั้งหมดในแขวงสามารถเข้าถึงไฟฟ้าถนนและบริการโทรคมนาคมได้อย่างดี คณะกรรมการทำงานจังหวัดยังให้ความสำคัญกับการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมโดยรวมของสปป.ลาว

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Borikhamxay_188.php

การคาดการณ์ใหม่ของ GDP กัมพูชา โดย AMRO

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน +3 (AMRO) ได้คาดการณ์การเติบโตของ GDP ของกัมพูชาใกล้เคียงกับการอัปเดตของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) โดย AMRO ได้คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปีนี้จะอยู่ที่ลบร้อยละ 4.5 และจะเติบโตเป็นร้อยละ 5.4 ในปีหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่ ADO คาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ร้อยละ 5.5 โดยการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นความท้าทายระดับโลกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายสนับสนุนความช่วยเหลือทางสังคมสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ และการสนับสนุนทางการเงินสำหรับ SMEs ภายในประเทศเพื่อการสนับสนุนภาคธุรกิจให้รอดพ้นในช่วงวิกฤตทำกำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50766974/amros-new-forecast-of-cambodias-economic-growth-similar-with-adb/