จีนอนุมัติการส่งออกมะม่วงของกัมพูชาอย่างเป็นทางการ

จีนได้อนุมติให้กัมพูชาสามารถส่งออกมะม่วงที่ผลิตในท้องถิ่นของกัมพูชาและทำการแปรรูปในกลุ่มโรงงานขนาดเล็กที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ภายในประเทศกัมพูชาโดยจีน ซึ่งหน่วยงานบริหารทั่วไปของกรมศุลกากรจีน (GACC) อนุมัติโรงงานแปรรูปมะม่วง 5 แห่ง และสวนมะม่วงจำนวน 37 แห่ง อย่างเป็นทางการ โดย GACC ได้ทำการประกาศในสัปดาห์นี้และเปิดเผยรายชื่อโรงงานที่ได้รับอนุมัติได้แก่ Hyundai Mao Legacy Co Ltd., Shangda Jian Hui International Agriculture Product and Logistics Co Ltd., Al Jazeelan Food PTE Ltd., Long Wo Agriculture (Cambodia) Co Ltd. และ Boeung Ket Fresh Fruits Co Ltd. ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วเจ้าหน้าที่ของจีนและกัมพูชาได้ร่วมกันประเมินฟาร์มและโรงงานแปรรูปหลายแห่งเพื่อประเมินถึงความสามารถในการผลิตมะม่วงเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนได้หรือไม่ โดยทั้งจีนและกัมพูชาได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่าการส่งออกมะม่วงของกัมพูชาจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้สนธิสัญญาการค้าฉบับใหม่

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50846766/mangoes-receive-official-approval-for-export-to-china/

รัฐบาลกัมพูชาเตรียมอนุมัติให้โรงงานตัดเย็บในเขตพื้นที่สีเหลืองกลับมาเปิดอีกครั้ง

รัฐบาลกัมพูชาระบุว่าโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและโรงงานผลิตด้านอื่น ๆ ในเขตพื้นที่สีเหลือง ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดดำเนินกิจการใหม่ได้อีกครั้งในวันที่ 29 เมษายน 2021 ดังประกาศของรัฐบาลกัมพูชาที่ได้กล่าวไว้ว่า กิจกรรมการทำงาน อาชีพ และธุรกิจทั้งหมดที่อยู่ในเขตพื้นที่สีเหลือง อนุญาตให้กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าทุกแห่งในพนมเปญและเมืองตาเขมาจังหวัดกันดาล ถูกสั่งให้หยุดดำเนินการเมื่อต้นเดือนนี้ หลังจากพบว่ามีคนงานหลายพันคนติดโควิด-19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50846999/yellow-zone-garment-factories-may-re-open-but-with-caution/

HLH ร่วมกับ CMEC พัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 200 เมกะวัตต์ในกัมพูชา

นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Hong Lai Huat Group Ltd (SGX: CTO) และ China Machinery Engineering Corp (HKG: 1829) หรือ CMEC ได้ร่วมมือกันพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 200 เมกะวัตต์ที่ Aoral Eco-City ในกัมพูชา โดย HLH และ CMEC ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน (MoU) เพื่อสร้างนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) และทำงานร่วมกันเป็นเวลาอย่างน้อย 20 ปี ซึ่งโครงการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาตามที่ผู้จัดการทั่วไปและกรรมการบริหารของ HLH ได้กล่าวไว้ โดย Aoral Eco-City เป็นโครงการ “การพัฒนาเมืองเชิงนิเวศเกษตรผสมผสานขนาดใหญ่” ที่พัฒนาโดย HLH ภายในกัมพูชา ด้วยการสร้างสวนพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ โดยใช้เงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง CMEC จะเป็นฝ่ายกำหนดโซลูชันที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจรสำหรับโครงการนี้ เมื่อเสร็จสิ้นสวนพลังงานแสงอาทิตย์จะสามารถขายไฟฟ้าให้กับ Electricite du Cambodge (EDC) ของรัฐ

ที่มา : http://khmertimeskh.com/50846094/hlh-cmec-to-co-develop-200-mw-solar-project-in-cambodia/

ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในกัมพูชาต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐฯ

ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) กำลังมองว่าโครงสร้างพื้นฐานใยแก้วนำแสงภายในประเทศกัมพูชา ที่กำลังจะเสื่อมสภาพลง จึงเห็นถึงปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในเมืองหลวงต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตเพื่อทำงานจากที่บ้าน โดยบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า ณ ปัจจุบันไม่สามารถดูแลรักษาสายไฟเบอร์ออปติกที่สำคัญได้อย่างทั่วถึงและเหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าการให้บริการอินเทอร์เน็ตของบริษัทจะเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพและรวดเร็ว ซึ่งจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในกัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 (ประมาณ 1.1 ล้านคน) ในปี 2020 โดยในปัจจุบันทางการกัมพูชาอนุญาตให้พนักงานเดินทางเพื่อทำการปรับปรุงโครงข่ายได้เพียงร้อยละ 2 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายได้อย่างครอบคลุม บริษัทจึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยผ่อนคลายมาตรการ เพื่ออำนวยให้การดูแลเครือข่ายเป็นไปได้อย่างทั่วถึง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50845942/internet-providers-need-more-staff-to-maintain-networks/

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง ส่งผลต่อเศรษฐกิจ CLMV ได้รับอานิสงส์แตกต่างกัน

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางมุมมองเชิงบวกต่อพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤติโควิดอันสะท้อนผ่านประมาณการเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6.0% จากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 5.5% นำโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ที่มีการพึ่งพิงภาคต่างประเทศสูง อย่างไรก็ดี ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่สดใสอาจส่งผลบวกต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ในระดับที่แตกต่างกัน ตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนทางตรง (FDI) และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ปัจจัยเฉพาะในประเทศก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่เท่ากัน

เวียดนามเป็นเศรษฐกิจใน CLMV ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากโครงสร้างการผลิตและส่งออกที่มีสัดส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูง นอกจากภาคการส่งออกแล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังได้รับอานิสงส์จากรายได้นำส่งกลับของแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 5.8 ของจีดีพี เนื่องจากแรงงานเวียดนามที่ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระดับสูง ขณะที่กัมพูชาอาจเป็นอีกเศรษฐกิจที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกันเนื่องจากการส่งออกของกัมพูชามีตลาดหลักอยู่ในสหรัฐฯ จีน และยุโรปซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การลงทุนในกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่แข็งแกร่งย่อมส่งผลให้โครงการดังกล่าวยังเดินหน้าต่อไป ในส่วนของเศรษฐกิจสปป.ลาว คงจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จำกัดในส่วนของการลงทุนตรงจากจีนเป็นหลัก ขณะที่ภาคการส่งออกอาจได้รับอานิสงส์จำกัด ขณะที่เมียนมา ปัจจัยการเมืองในประเทศคงเป็นปัจจัยที่มีผลในการลดทอนผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก​

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CLMV-z3213.aspx

ไตรมาสแรกของปี การค้าระหว่างกัมพูชาและไทยมูลค่าแตะ 2 พันล้านดอลลาร์

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยยังคงหดตัวท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ที่ต่อสู้เพื่อจะเอาชนะต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 และทำให้การพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ โดยตัวเลขมาจากกระทรวงพาณิชย์ของไทย แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมปีนี้ ซึ่งการค้าทวิภาคีลดลงร้อยละ 21.3 สู่ 2,097 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าสินค้าจากไทยลดลงร้อยละ 21.3 เหลือ 1,769 ล้านเหรียญดอลลาร์ และเป็นการส่งออกที่มีปริมาณลดลงถึงร้อยละ 48.9 หรืออยู่ที่ 330 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าเกษตรสินค้าสำคัญสำหรับการส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศไทย ในขณะที่สินค้าส่งออกของไทยมายังกัมพูชาส่วนใหญ่ประกอบด้วยสินค้าด้านพลังงาน ปุ๋ยทางการเกษตร อาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยสำหรับปี 2020 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 7,236 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50845150/cambodia-thailands-trade-valued-via-at-2-billion-in-first-quarter/

ผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มกัมพูชาเรียกร้องการเยียวยาสำหรับพนักงาน

ด้วยโรงงานมากกว่า 200 แห่ง ในภาคอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าและสินค้าการเดินทาง ที่ถูกสั่งปิดชั่วคราวในเขตเมืองหลวงและเขตเมืองตาเขมาจังหวัดกันดาล จากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล โดยสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชา (GMAC) กล่าวว่ากำลังต้องการการสนับสนุนทางด้านค่าตอบแทนเพื่อชดเชยให้กับคนงานนับหมื่นรายเป็นการชั่วคราวหลังโรงงานถูกสั่งปิด ส่งผลทำให้สายการผลิตต้องหยุดชะงัก รวมถึงคนงานขาดรายได้ ซึ่งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในพนมเปญและตาเขมาถูกสั่งปิดตั้งแต่ในวันที่ 14 เมษายน เป็นเวลาสองสัปดาห์หลังจากพบว่ามีคนงานเกือบ 800 คน จากโรงงาน 36 แห่ง ติดเชื้อโควิด-19 โดยอุตสาหกรรมนี้ถือเป็นเสาหลักสำคัญของเศรษฐกิจกัมพูชาและมีพนักงานมากกว่า 800,000 คน ในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศผ่านการส่งออกสูงถึง 9.5 พันล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้วแม้จะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50845549/garment-employers-urged-to-provide-additional-allowances-in-spirit-of-humanity/