โรงงานจักรยานไฟฟ้า มูลค่าลงทุน 2 ล้านดอลลาร์ เริ่มเปิดดำเนินการในกัมพูชา

Verywords Co., Ltd. ซัพพลายเออร์ผู้ผลิตรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ ได้เปิดโรงงานประกอบสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในจังหวัดกันดาลของกัมพูชา ด้วยมูลค่าลงทุน 2 ล้านดอลลาร์ สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่น 50 คน ในระยะแรก คาดว่าจะเป็นซัพพลายเออร์ที่สำคัญสำหรับตลาดสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าของกัมพูชา ด้าน Andy Chun ผู้อำนวยการทั่วไปของ Verywords คาดว่าจะประกอบรถได้ประมาณ 3,000 คันต่อปี ในระยะแรก และมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิต เป็นมากกว่า 5,000 ยูนิตต่อปี ซึ่งวางแผนพิจารณาที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปยังตลาดต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย โดยตั้งราคาไว้ต่ำกว่า 2,000 ดอลลาร์ต่อคัน เพื่อแข่งขันกับสินค้าที่มีอยู่ในตลาดอย่าง Honda Scoopy ซึ่งมีราคาประมาณ 2,500 ดอลลาร์ต่อคัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501298595/2-million-electric-bike-plant-launched-in-kandal-province/

รัฐบาล สปป.ลาว ประกาศลงนาม MOU จัดตั้ง Asia-Potash International

รัฐบาล สปป.ลาว และ SINO-KCL ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในโครงการ “Asia-Potash International Intelligent Circular Industrial Park” ในเขตท่าแขกและหนองบกของแขวงคำม่วน โดยรัฐบาลและ บริษัท SINO-AGRI International Potash Co., Ltd. (SINO-KCL) ได้ลงนาม MOU ในเวียงจันทน์ ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการ ซึ่งโครงการวางแผนพัฒนาพื้นที่ 3 สวน ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมปุ๋ยโพแทช, สวนอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่โพแทช และเอเชีย-โพแทชทาวน์ โดยโครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,000 เฮกตาร์ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 4.31 พันล้านดอลลาร์ ด้วยข้อได้เปรียบจากการสนับสนุนของรัฐบาล สปป.ลาว รวมถึงทรัพยากรภายในประเทศที่มีอยู่ ซึ่งเอื้อต่อการผลิตแร่โพแทช โดยบริษัท วางแผนผลิตปุ๋ยในสวนอุตสาหกรรมให้ได้ 3 ล้านตัน ภายในปี 2023 และขึ้นไปแตะ 5 ล้านตัน ภายในปี 2025 ขณะที่ Asia-Potash Town ถูกสร้างขึ้นให้เป็นเมืองคอมเพล็กซ์ที่ทันสมัยและใช้งานได้หลากหลาย เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการดูแลสุขภาพ การศึกษา การพาณิชย์ กีฬา และบริการด้านต่างๆ ซึ่งหลังจากโครงการ Asia-Potash Industrial Park เริ่มดำเนินการ คาดว่า สปป.ลาว จะมีรายได้ประมาณ 320 ล้านดอลลาร์ต่อปี สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่น 30,000-50,000 คน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten61_National_y23.php

EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ปี’66 ขยายตัวแกร่ง แต่ต่ำกว่าศักยภาพก่อน COVID-19

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2566 ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในช่วงก่อนการระบาด COVID-19 โดยมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ โดยประเมินว่าในปีนี้กัมพูชาจะขยายตัวได้ 5.5% สปป.ลาวและเมียนมา 3.0% และเวียดนาม 6.2% อีกทั้ง เศรษฐกิจ CLMV ในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศมีปัจจัยบวกจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากการจ้างงานในเวียดนามในไตรมาส 4 ปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เกิดการระบาด COVID-19 ขณะเดียวกัน ภาคบริการจะได้อานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีความสำคัญต่อ CLMV คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-35% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562 โดยจีนอนุมัติให้กรุ๊ปทัวร์สามารถเดินทางมากัมพูชา และสปป.ลาวได้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ และคาดว่าจะเพิ่มรายชื่อประเทศที่สามารถเดินทางมาได้เร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้กัมพูชาและเวียดนามจะได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวมากที่สุด เนื่องจากพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงอยู่ที่ 18.2% และ 9.8% ต่อ GDP ตามลำดับ

ที่มา : https://thaipublica.org/2023/02/eic-expects-stronger-clmv-economic-growth-in-2023/

ในช่วง 10 ปี สถานประกอบการกัมพูชาจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 50%

ปัจจุบันกัมพูชามีสถานประกอบการแตะ 753,670 แห่ง สร้างการจ้างงานภายในประเทศกว่า 2.98 ล้านคน โดยผลสำรวจเบื้องต้นมาจากการสำรวจสำมะโนเศรษฐกิจ ประจำปี 2022 ซึ่งจำนวนสถานประกอบการธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ 50 จากจำนวน 505,134 แห่ง เมื่อเทียบกับการสำรวจสำมะโนเศรษฐกิจครั้งแรกในปี 2011 ที่มีการจ้างงานที่จำนวน 1.67 ล้านคน ขณะที่ Chhay Than รัฐมนตรีกระทรวงแผนการ กล่าวเสริมว่า การสำรวจสำมะโนเศรษฐกิจในปัจจุบันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกัมพูชา มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานบริหารต่างๆ เพื่อเป็นการกำหนดนโยบายในการผลักดันผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการรวมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501222359/cambodias-business-establishments-increase-50-pct-in-10-years/

แรงงานย้ายถิ่นสปป.ลาว ส่งเงินกลับบ้านราวหลายล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้

ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ชาวลาวที่ทำงานในต่างประเทศได้ส่งเงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังประเทศบ้านเกิด โดยเงินส่วนใหญ่จะส่งไปให้ครอบครัว การส่งเงินข้างต้นคาดว่าจะมีมูลค่าราว 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน จากนั้นจะใช้ไปกับการซื้อสินค้าและบริการในประเทศ นับว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมของสปป.ลาว กล่าวว่าการจ้างงานชาวลาวในต่างประเทศ มีข้อดีหลายประการทั้งคนงานเองและประเทศสปป.ลาว แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้สปป.ลาวขาดแคลนแรงงานในบางภาคส่วนของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เดือนมิ.ย. ชาวลาวจำนวนมากกว่า 13,000 คน เดินทางไปเกาหลี ไทยและญี่ปุ่น เพื่อที่จะหางานทำหลังจากผ่านการทดสอบความสามารถในสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten147_Lao_migrant_y22.php

โอกาสทางอาชีพ “ค่ายในฝันสู้คนตกงาน”

บริษัทจัดหางาน 108Jobs ซึ่งเป็นช่องทางการหางานที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในสปป.ลาว เฉลิมฉลองการครบรอบ 10 ปีในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาและได้เปิดตัว 108M-Lab ซึ่งเป็นแล็บนวัตกรรมทางสังคมและการจ้างงาน ห้องปฏิบัติการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดปัญหาการว่างงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยาวชน ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2565 ได้เปิดตัวโครงการแรกที่เรียกว่า Occupational Opportunities (O2) เพื่อฝึกอบรมและฝึกสอนกลุ่มพนักงานขายหน้าใหม่ซึ่งมีเป็นแรงงานที่มีความต้องการสูงในตลาด โครงการ O2 มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาความไม่ตรงกันของทักษะสำหรับทั้งผู้หางานและนายจ้างในตลาดงาน เช่น ทักษะการขายและทักษะด้านดิจิทัล ทั้งสองทักษะเป็นที่ต้องการอย่างมาก แต่มีการฝึกอบรมในสถาบันการศึกษาอย่างเป็นทางการต่ำ ปัจจุบัน 108Jobs และกลุ่มธุรกิจในเครือกำลังทำงานอย่างเต็มที่เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและการสร้างงานมากขึ้นผ่านห้องปฏิบัติการนวัตกรรมทางสังคมที่ก่อตั้งขึ้นใหม่: 108M-Lab เพื่อสังคมสปป.ลาวที่ขึ้นทั้งในแง่ของทุนมนุษย์เพื่อพัฒนารวมถึงกรลดอัตราการว่างงานระบบเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Occupational89.php

อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มต้องการคนงานมากกว่า 5,000 คน

อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มต้องการคนงานในโรงงานอย่างน้อย 5,000 คนในปีนี้ ทั้งผู้มีทักษะและไม่มีประสบการณ์ความต้องการที่สำคัญที่สุดคือในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในขณะที่โรงงานในเขตเวียงจันทน์ก็มีรายงานการขาดแคลนแรงงานเช่นกัน สาเหตุการหนึ่งที่ขาดแคลนเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าจำนวนมากลดชั่วโมงการทำงานหรือถูกเลิกจ้าง อีกทั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าทั้งหมดในสปป.ลาวได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ลดลงและคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าสำคัญอย่าง สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดาที่ลดลง ตามรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โครงการผู้บริจาคหลายรายได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือทั้งคนงานและธุรกิจภาคเอกชนในการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจของพวกเขาขึ้นใหม่ อีกทั้งบรรเทาการหยุดชะงักเพิ่มเติมในห่วงโซ่อุปทาน และให้การสนับสนุนโดยตรงแก่คนงานในภาคตัดเย็บเสื้อผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Australia_40.php

‘เวียดนาม’ เผยเด็กจบใหม่ อยากได้เงินเดือน 435-650 เหรียญสหรัฐ

กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ เวียดนาม (Adecco) เอเจนซี่จัดหางานแบบครบวงจร เผยผลสำรวจพบว่าผู้จบการศึกษาใหม่ส่วนใหญ่ 44% อยากได้เงินเดือนมากกว่า 10 ล้านดอง (435-650 เหรียญสหรัฐ) และ 31% ต้องการเงินเดือนราว 6-10 ล้านดอง แต่นายจ้างส่วนใหญ่ 51% เต็มใจที่จะจ่ายเงินเดือนต่ำกว่า 10 ล้านดอง และ 27.5% จ่ายเงินเดือนมากกว่า 10 ล้านดอง ทั้งนี้ พนักงานใหม่ส่วนใหญ่ 88.5% ให้ความสำคัญในเรื่องของเงินเดือนและค่าตอบแทนมากที่สุด รองลงมาโอกาสในการฝึกอบรม (87.7%) และโอกาสที่จะเลื่อนตำแหน่ง (73.8%) นอกจากนี้ ผู้ว่าจ้างแสดงความกังวลต่อเด็กเวียดนามจบใหม่ทั้งเรื่องยังขาดทักษะการปฏิสัมพันธ์ การแก้ไขปัญหา (Soft Skills), ตั้งหวังไว้สูงเกินความเป็นจริงและความไม่มั่งคง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจราว 39% รับสมัครงานลดลง โดยประมาณ 19% ลดลงมากกว่า 50%

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/new-graduates-want-monthly-salary-of-435-650-4395281.html

พาณิชย์ เผย 10 เดือนแรกไฟเขียวต่างชาติลงทุนในไทย 213 ราย จ้างงานกว่า 5 พันคน

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.64) คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 213 ราย เงินลงทุนรวมกว่า 11,554 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 5,000 คน ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 82 ราย คิดเป็น 38% สิงคโปร์ 33 ราย คิดเป็น 15% และฮ่องกง 20 ราย คิดเป็น 9%

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2021/148468

ล็อคดาวน์กค.ปี64 ทรุดดัชนีเศรษฐกิจ จากรายได้หด-การจ้างงานลดต่อเนื่อง เทียบช่วง เม.ย.ปี63

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่มีการระบาดในเดือนเม.ย.จนต่ำกว่าปีก่อนในช่วงเดือนเม.ย. 2563 ที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ขณะที่การระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่มีการแพร่ระบาดได้ง่าย และ การล็อกดาวน์ ตลอดจนจำกัดการเดินทางใน 10 จังหวัด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับสูงกดดันให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับลงต่อเนื่องจนอยู่ที่ 34.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าช่วงเดือนเม.ย. 63 ที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศที่ 35.1 ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้น ภาครัฐควรมีมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่ายพร้อมกับเร่งเข้าควบคุมสถานการณ์รวมถึงในเรื่องของวัคซีนเพื่อให้สถานการณ์การระบาดบรรเทาลง