2023 กัมพูชาดึง FDI เข้าประเทศกว่า 268 โครงการ สร้างงานใหม่กว่า 3 แสนตำแหน่ง

กัมพูชาดึงดูดการลงทุนต่างประเทศมูลค่ารวมกว่า 4.92 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในปี 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากมูลค่า 4.03 พันล้านดอลลาร์ ในปีก่อน รายงานโดยสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ผ่านการอนุมัติโครงการลงทุน 268 โครงการ ซึ่งสามารถสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นได้ประมาณ 307,000 ตำแหน่ง มุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน การเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และการท่องเที่ยวเป็นหลัก สำหรับนักลงทุนโดยส่วนใหญ่มาจากทางฝั่งประเทศ จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยคิดเป็นนักลงทุนชาวจีนกว่าร้อยละ 66 ของการลงทุนทั้งหมด ด้วยการที่กัมพูชามีข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP), ข้อตกลงเขตการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) และกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของกัมพูชา เป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้ไหลเข้ามาในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501417705/cambodia-attracts-268-new-fdis-which-creates-more-than-307000-jobs-in-2023/

‘เศรษฐา’ เดินหน้าหาเงินเข้า ปท. อ้อนนักลงทุน เจรจาหลายชาติในเวที ‘เอเปก’

นายเศรษฐา กล่าวถึงการหารือทวิภาคี กับนายคิชิดะ ฟูมิโอ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 ว่า ได้หารือเรื่องของความสัมพันธ์ที่มีมานาน 50 ปี และหารือเรื่องการใช้รถยนต์สันดาป โดยตนให้ความมั่นใจกับทางญี่ปุ่นไปว่าจะไม่ทอดทิ้ง มีการพูดคุยกันว่าให้การประกอบรถยนต์สันดาปของญี่ปุ่น และกระบวนการจัดการผลิตอยู่ได้ ขณะที่รถไฟฟ้า (อีวี) ที่มีความต้องการสูง และได้พูดในหลายเวทีว่าประเทศญี่ปุ่นมีการลงทุนในประเทศไทยสูงที่สุดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จึงต้องมาดูแลช่วยเหลือกัน และทางญี่ปุ่นยืนยันว่าธุรกิจยานยนต์เป็นธุรกิจสำคัญและจะพัฒนาต่อในประเทศไทย และในระหว่างวันที่ 16-18 ธ.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปร่วมประชุมอาเซียน ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังพูดคุยอีกหลายเรื่อง เช่น ฟรีวีซ่าสำหรับนักธุรกิจของสองประเทศ ที่ทั้งสองฝ่ายมีการตกลงเห็นตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องขอ เพื่อให้นักธุรกิจ ติดต่อธุรกิจและไปมาหาสู่สะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ ไทยมุ่งเน้นเปิดโอกาสเศรษฐกิจใหม่ๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล นวัตกรรม เศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งเปิดกว้างในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง โดยไทยมีโครงการ Landbridge เพื่อเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ จึงอยากเชิญญี่ปุ่นมาร่วมมือในโครงการนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ญี่ปุ่น และภูมิภาค โดยนายกฯ ย้ำว่ารัฐบาลไทยจะอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงด้านความมั่นคง ซึ่งยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศอย่างใกล้ชิดภายใต้กลไกความร่วมมือที่มีอยู่ อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ

ที่มา : https://www.naewna.com/politic/769777

‘เวียดนาม’ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก

จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลก (WB) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีเม็ดเงินทุนไหลเข้าประเทศและการเบิกจ่ายเงินทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าเวียดนามยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในเวียดนาม ถึงแม้ว่าเผชิญกับความไม่แน่นอนทั่วโลก โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นเก่า ได้แก่ สิงคโปร์ จีนและญี่ปุ่น มีความไว้วางจและความมุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจในเวียดนามมากขึ้น ทั้งนี้ นาย ดอนแลม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท VinaCapital Group กล่าวว่าจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่านักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจกับการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการยกระดับศักยภาพของภาคการบริโภคในเวียดนาม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ นับเป็นโอกาสที่ดีของเวียดนามในการดึงดูดเงินทุนไหลเข้าประเทศในระยะยาวมากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-attractive-to-foreign-investors-despite-global-uncertainties-post1051514.vov

‘เวียดนาม’ แม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

‘Global Finance’ นิตยสารการเงินการธนาคาร ได้เผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ ระบุว่าเวียดนามเป็น 1 ในประเทศชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มากที่สุด เนื่องจากเวียดนามมีข้อได้เปรียบหลายประการ รวมถึงประชากรเวียดนาม จำนวน 100 ล้านคนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ทั้งนี้ หอการค้ายุโรป (EuroCham) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจว่าผู้ประกอบการเลือกเวียดนามเป็น 1 ใน 3 ตัวเลือกอันดับต้นๆ ของการลงทุน ในขณะเดียวกัน เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) ระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของเวียดนามเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีนี้มีทิศทางชะลอตัวลง แต่ธนาคารโลกคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-poweful-magnet-for-foreign-direct-investment/268452.vnp

‘ซาวิลส์’ เผยเวียดนามเนื้อหอม ยังคงดึงดูดนักลงทุน

จากรายงานของบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ‘ซาวิลส์ เวียดนาม’ เปิดเผยว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเทรนด์การลงทุนโลกในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเวียดนามยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของนักลงทุน เนื่องมาจากความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความยืดหยุ่นของประเทศ ทั้งนี้ นาย Troy Griffiths รองผู้จัดการบริษัท Savills สาขาเวียดนาม กล่าวว่าถึงแม้จะเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อระยะสั้น รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่ยังคงหดตัว แต่ทิศทางของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลางน่าจะเป็นไปในทิศทางที่เป็นบวก และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งชาติเวียดนาม (SBV) จะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้กู้และสถาบันสินเชื่อ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-remains-attractive-for-investors-savills/266738.vnp

คาดรัฐบาลชุดใหม่กัมพูชา ดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศเพิ่มขึ้น

คาดหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของกัมพูชาจะนำมาซึ่งการลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น และมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เนื่องจากเสถียรภาพทางการเมืองที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และการอยู่ของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ตลอดจนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ เป็นส่วนทำให้กัมพูชามีศักยภาพในการลงทุนมากยิ่งขึ้น กล่าวโดยรัฐมนตรีต่างประเทศกระทรวงอุตสาหกรรม ด้านสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ระบุเสริมว่า ปัจจุบันในช่วงครึ่งแรกของปีกัมพูชาดึงดูดโครงการลงทุนกว่า 113 โครงการ นับเป็นสินทรัพย์ถาวรเพื่อการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ เกิดการจ้างงานใหม่ประมาณกว่า 122,000 ตำแหน่ง โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501347755/new-government-formation-to-bring-more-new-investments/

‘ซีไอเอ็มบี’ ชี้ไทยแห่ลงทุนนอก หวัง ‘ขยายตลาด-ดันรายได้โต’

นายวุธว์ ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนต่างประเทศของลูกค้ารายใหญ่ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทไทยที่มีแผนชัดเจนจะไปเปิดตลาดในต่างประเทศ ในหลากหลายภาคธุรกิจ ได้แก่ พลังงาน ปิโตรเคมี ค้าปลีก อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้รูปแบบของการออกไปขยายตลาดต่างประเทศมีครบทุกรูปแบบ ทั้งการลงทุนขยายกิจการ เช่น การสร้างโรงงาน ,การร่วมลงทุนกับพันธมิตร และการทำ M&A ซึ่งปัจจัยทางการเมืองของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงการเมืองไทย เป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ธนาคารมีลูกค้ารายใหญ่ที่ต้องการขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รูปแบบ M&A อีก 3-4 ดีล มูลค่าการลงทุนต่อรายเฉลี่ย 500 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป หรือราว 1,700 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีนี้ธนาคารมีโอกาสปิดดีล M&A ได้ราว 2-3 ดีล  ซึ่งเป็นส่วนผลักดันสินเชื่อการลงทุนต่างประเทศใกล้แตะระดับ 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้จากการทำงานของธนาคารที่เป็นสะพานเชื่อมพาลูกค้าไปขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่องหลายปี พบว่า อุปสรรคที่ทำให้บริษัทไม่ออกไปเปิดตลาดหรือขยายธุรกิจ คือ 1. ด้านกฎระเบียบ กฏเกณฑ์ 2. ความเสี่ยงทางการเมืองและนโยบายของประเทศที่ไปลงทุน 3. การแข่งขันในตลาดของแต่ละประเทศ 4. ด้านวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น 5. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและธุรกรรมการเงิน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1082568

คาดการร่วมทุนระหว่างภาคธุรกิจ จีน-กัมพูชา ดันเศรษฐกิจโต

หลังจากการร่วมทุนกันระหว่างภาคธุรกิจจีนและกัมพูชา เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของกัมพูชา รวมถึงชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) ที่ปัจจุบัน มีขนาดกว้างถึง 11.13 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในจังหวัดสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นสวนอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนกว่า 175 แห่ง ภายใต้โครงการความร่วมมือ Belt and Road Initiative โดยนับตั้งแต่เปิดดำเนินการ ปริมาณการนำเข้าและส่งออกภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษเติบโตอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นจาก 139 ล้านดอลลาร์ ในปี 2013 เป็นเกือบ 2.5 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดธุรกิจจากประเทศเข้ามาลงทุนยังกัมพูชามากขึ้น อีกทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สวนอุตสาหกรรมได้เปิดคลินิกสุขภาพ ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และสถาบันการศึกษา 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันโปลีเทคนิคมิตรภาพพระสีหนุกัมพูชา-จีน และสถาบันธุรกิจและเทคโนโลยีสีหนุวิลล์-จีน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเป็นการสารสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501319228/chinese-cambodian-joint-venture-changes-lives-for-the-better/

คาดเขตพัฒนานครเวียงจันทน์หนุนการลงทุนภายใน สปป.ลาว

คาดเขตพัฒนาเวียงจันทน์สร้างโอกาสสำหรับการลงทุนภายในประเทศ ภายใต้แรงจูงใจ อาทิเช่น ลดหย่อนภาษี ไปจนถึงสิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาด โดยเขตพัฒนาดังกล่าวถือเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง สปป.ลาว-จีน ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหลวงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว สำหรับผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษด้วยการยกเว้นภาษีกำไรเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและการส่งออก และเมื่อระยะเวลายกเว้นภาษีสิ้นสุดลง จะมีการเสนอนโยบายการลดภาษีลงในรูปแบบขั้นบันได ด้าน Xiong Jun ผู้จัดการทั่วไปของ Lao-China Joint Venture Investment Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเขตเศรษฐกิจ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ จะได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับกำไร ยังมีการยกเว้นภาษีสำหรับสิ่งก่อสร้างและวัตถุดิบนำเข้า ไปจนถึงการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้เป็นศูนย์ สำหรับพื้นที่เขตพัฒนาตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,149 เฮกตาร์ ในเขตไขยเชษฐา โดยเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 นับตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบันผู้พัฒนาได้ลงนามข้อตกลงกับ 127 บริษัท จากประเทศต่างๆ เช่น จีน ไทย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ สปป.ลาว สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทำธุรกิจในโซนนี้ ในจำนวนนี้ บริษัท 64 แห่ง ได้เปิดสายการผลิตและดำเนินการแล้ว สร้างงานได้มากถึง 6,000 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในท้องถิ่นกว่า 4,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten124_Vientiane_y23.php

“ฟินเทคสตาร์ทอัพสวิสฯ” เล็งโอกาสลงทุนในเวียดนาม

ตามรายงาน ‘Vietnam Fintech’ ฉบับใหม่โดย Switzerland Global Enterprise (S-GE) เปิดเผยว่าฟินเทคสตาร์ทอัพสวิสฯ ควรใช้โอกาสที่จะเข้ามาลงทุนในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีความต้องการโซลูชั่นทางการเงินดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการส่งเสริมนโยบายและรัฐบาลมีความคิดริเริ่มที่จะสนับสนุนให้มีการบ่มเพาะนวัตกรรมและเทคโนโลยีฟินเทค ทั้งนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่สำคัญ 5 ประการที่จะเข้ามาลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ 1) ธนาคารเวียดนามพร้อมที่จะจับมือกับบริษัทฟินเทคและผู้ให้บริการเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ 2) ระบบการชำระเงินในปัจจุบันที่นับว่าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมฟินเทคในประเทศ ด้วยสัดส่วนจำนวนประชากรที่ใช้การชำระเงินทางดิจิทัลเกือบ 2 ใน 3 ของประชากรเวียดนามทั้งประเทศ หรือราว 57.62 ล้านคนในเดือน ม.ค.66 3) การกู้ยืมแบบ P2P ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง 4) การเงินส่วนบุคคลและการลงทุน และประการสุดท้าย คือ บล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งในภาคส่วนของฟินเทคที่มีความแข็งแกร่งและคาดว่าจะเติบโตต่อไปในอนาคต

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/opportunities-for-swiss-fintech-startups-numeral-in-vietnam-report/255380.vnp