ตลาดค้าปลีกเวียดนาม ผลักดันโมเมนตัม “อีคอมเมิร์ซ”

ตลาดค้าปลีกของเวียดนามมีสัญญาณการฟื้นตัวในเชิงบวก โดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศ หลังโควิด-19 และในบริบทใหม่ของตลาด ทำให้ธุรกิจและผู้ค้าปลีกหลายรายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งจากข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่าในปี 2565 พื้นที่ภาคค้าปลีกให้เช่าในตัวเมืองในภาคใต้ของประเทศ ยังคงอยู่ในระดับเท่าเดิม เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้น 1.5 ล้านตารางเมตร ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Vietnam Association of Realtors (VARs) ระบุว่าความต้องการพื้นที่ค้าปลีกในศูนย์การค้าในเมืองใหญ่ เช่น โฮจิมินห์ จะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากการขยายตัวของแบรนด์ต่างๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคให้ความสนใจแบรนด์สินค้าในกลุ่มสุขภาพ กีฬา และกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความต้องการอาคารของอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/retail-market-motivates-e-commerce-gain-momentum-post1006824.vov

จับตา “ค้าปลีกเวียดนาม” มีแนวโน้มขยายตัว ปี 2566

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MoIT) เปิดเผยว่าขนาดของตลาดค้าปลีกเวียดนาม อยู่ที่ 142 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะขยายตัวสูงถึง 350 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 คิดเป็นสัดส่วน 59% ของ GDP ถึงแม้ว่าในปีนี้ สถานกาณณ์ทางเศรษฐกิจจะเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ แต่ว่าผู้เชี่ยวชาญมีมุมมองว่าในปีนี้จะเป็นปีที่เริ่มฟื้นตัวของภาคค้าปลีกเวียดนาม หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากมีสัญญาการกลับมาของนักลงทุนและความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากการสำรวจของ Vietnam Report พบว่าผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนใหญ่ 53.8% มองว่าสถานการณ์ธุรกิจอยู่ในระดับเท่าเดิมและดีขึ้นเมื่อเทียบกับระดับก่อนการระบาด นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย ได้อัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มอีก 852.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปยังตลาดเวียดนามในอีก 5 ปีข้างหน้า

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/retail-market-predicted-to-bustle-in-2023/246819.vnp

“ตลาดค้าปลีกเวียดนาม” กลับมาสู่ระดับปกติก่อนวิกฤตเชื้อโรคระบาด

ตามรายงานของ Vietnam Report เปิดเผยผลการสำรวจ ระบุว่าผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนใหญ่ 53.8% มองว่าตลาดค้าปลีกกลับมาฟื้นตัวอยู่ในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และหลังจากควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว ตลาดค้าปลีกของเวียดนามเร่งดำเนินการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารธุรกิจ การดำเนินกิจการ โลจิสติกส์และการกระจายสินค้า ในขณะเดียวกัน ตามรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าตลาดค้าปลีกของเวียดนามในปัจจุบัน มีมูลค่า 142 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงถึง 350 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 คิดเป็น 59% ของ GDP ปี 2565

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/retail-market-returns-to-prepandemic-level/247072.vnp

ผลสำรวจชี้ “ผู้บริโภคเวียดนามยุคดิจิทัล” ใช้โซลูชั่นการเงิน

จากรายงาน SYNC Southeast Asia ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าประชากรชาวเวียดนามทั่วประเทศกว่า 80% เป็นผู้บริโภคดิจิทัล และเวียดนามเป็นตลาดชั้นนำที่มีการนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ โดยกลุ่มผู้บริโภคดิจิทัลส่วนใหญ่ 58% มีการใช้บริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงบริการแอปพลิเคชั่นที่ช่วยในการโอนเงินและธนาคารดิจิทัล ทั้งนี้ ส่วนแบ่งเฉลี่ยของอีคอมเมิร์ซและธุรกิจการค้าปลีกโดยรวมยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 15% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของอินเดียและจีน 10% และ 4% ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/nearly-60-of-digital-consumers-in-vietnam-use-fintech-solutions/240652.vnp

“ธนาคารโลก” ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี

ตามรายงานทางด้านเศรษฐกิจเวียดนาม ธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าปลีก มีอัตราการขยายตัวในเดือนสิงหาคม 15.6% และ 50.2% ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกและการนำเข้าในเดือนสิงหาคม ขยายตัว 22.6% และ 11.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปยังตลาดเวียดนามลดลง สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของนักลงทุน จากความไม่แน่นอนทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ยอดการลงทุนจริงยังคงขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อทิศทางในเชิงบวก 11 เดือน นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ลดลงจาก 3.1% ในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ 2.9% ในเดือนสิงหาคม เป็นผลมาจากราคาน้ำมันลดลง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเร่งตัวขึ้นจาก 2.6% ในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ 3.1% ในเดือนสิงหาคม เนื่องจากได้รับผลกระทบระลอกที่สองของการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต

ที่มา : https://en.nhandan.vn/world-bank-upbeat-about-vietnams-continued-economic-recovery-post118037.html

“เวียดนาม” เผยเดือน ก.ค. ยอดการค้าปลีกและบริการพุ่ง

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่ายอดการค้าปลีกสินค้าและบริการในเดือนก.ค.65 อยู่ที่ 486 ล้านล้านดอง (20.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัว 2.4% จากเดือนก่อน และ 42.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 ยอดการค้าปลีกสินค้ารวมทั้งสิ้น 3.2 พันล้านล้านดอง ขยายตัว 16% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

หากแบ่งยอดการค้าปลีกจะพบว่ารายได้จากการค้าปลีกสินค้าอยู่ที่ราว 2.55 พันล้านล้านดอง (13.7%YoY) ในขณะเดียวกัน รายได้จากที่พักและบริการจัดเลี้ยงอยู่ที่ 324.9 ล้านล้านดอง (37.5%YoY) เนื่องจากความต้องการในการเดินทางเพิ่มขึ้น หลังจากหายไป 2 ปีจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะรายได้ในเดือนก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 134.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามมาด้วยรายได้จากการเดินทางและท่องเที่ยว 11.9 ล้านล้านดอง และรายได้จากบริการอื่นๆ 312.6 ล้านล้านดอง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/julys-retail-sale-of-goods-services-surges/234795.vnp

MEODA เริ่มทยอยขายน้ำมันปาล์มให้ร้านค้าปลีก

กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสมาคมผู้ค้าน้ำมันพืชแห่งเมียนมา (MEODA) จะเริ่มทยอยขายน้ำมันปาล์มในราคาถูกให้กับผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ผู้ประกอบการรถโมบายขายสินค้าและสมาคมต่างๆ ในภูมิภาคและรัฐต่างๆ โดยผู้มีสิทธิซื้อน้ำมันปาล์มต้องปฏิบัติตามกฎที่กำหนดเพื่อชำระเงินเพื่อซื้อน้ำมันพืช ถ้าไม่ชำระเงินตามระยะเวลาที่กำหนดจะไม่สามารถซื้อน้ำมันผ่านสมาคมฯ ได้อีก ปัจจุบัน ราคาน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 4,800 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) การบริโภคน้ำมันพืชภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี การผลิตน้ำมันเพื่อประกอบอาหารมีประมาณ 400,000 ตัน เพื่อความเพียงต่อการบริโภคภายในประเทศ เมียนมาต้องนำเข้าน้ำมันปรุงอาหารจากมาเลเซียและอินโดนีเซียประมาณ 700,000 ตันต่อปี

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/meoda-to-sequentially-sell-palm-oil-to-retailers/

 

‘ผลสำรวจ’ ชี้เวียดนามชำระสินค้าไร้เงินสด 70% ของการทำธุรกรรมค้าปลีก

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยผลักดันอีคอมเมิร์ซ์เติบโตอย่างรวดเร็ว และเมื่อปีที่แล้ว การชำระเงินไร้เงินสดมีสัดส่วน 70% ของธุรกรรมค้าปลีกในเวียดนามทั้งหมด จากการสำรวจโดยบริษัทเทคโนโลยี ‘Sapo’ ได้สำรวจความคิดเห็นของร้านค้าปลีก จำนวนทั้งสิ้น 15,000 ราย พบว่าการชำระเงินไร้เงินสดหรือผ่านอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคถูกจำกัดเพื่อลดการสัมผัสกับเชื้อโรค ทำให้การชำระเงินผ่านบัญชีธนาคารเป็นที่นิยมมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 36.5% ของจำนวนการทำธุรกรรมทั้งหมด รองลงมาเงินสด (30%), รหัส QR (9.6%), บัตรครดิต (8.5%) และช่องทางการชำระเงินอื่น (0.5%) ทั้งนี้ เมื่อสอบถามผู้ค้าปลีกบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ชี้ว่าในปีที่แล้ว มีรายได้เพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 11.2% ของรายรับทั้งหมด และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 73% หันมาทำธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะช่วยลดค่าแรงงานและค่าสถานที่ ตลอดจนเข้าถึงลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/cashless-payments-account-for-70-of-retail-transactions-survey/

 

‘ค้าปลีกไทยยักษ์ใหญ่’ เดินหน้าขยายอาณาจักรธุรกิจในเวียดนาม

บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. เซ็นทรัล รีเทล ได้เปิดตัวศูนย์การค้า GO! ที่เมืองท้ายบิ่ญ (Thai Binh) ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 21.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ นายคริสเตียน โอลอฟสัน ประธานฝ่ายอสังหาริมทรัพย์ของเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่าถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของบริษัทที่จะเปิดห้างสรรพสินค้าที่สวยงาม ท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบัน และจะส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ พร้อมกับดูแลความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคและพนักงานทุกคน ทั้งนี้ นายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย เปิดเผยว่าการขยายตัวทางธุรกิจของศูนย์การค้า GO! ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างเวียดนามและไทย นอกจากนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่ายอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือน พ.ย. อยู่ที่ราว 17.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน สาเหตุสำคัญมาจากกำลังซื้อของคนในพื้นที่กลับมาฟื้นตัว

ที่มา : https://vir.com.vn/thai-retail-giant-continues-expansion-in-vietnam-89960.html

‘เวียดนาม’ เผยเดือน ก.ย. ยอดค้าปลีกสินค้าและบริการ พุ่ง

ตามข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่ายอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการในเดือน ก.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากกิจกรรมการผลิตและการค้ากลับมาดำเนินได้ในบางพื้นที่ หลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกและบริการในเดือนก่อนยังคงลดลง 28.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ กระทรวงฯ ชี้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัส ระลอกที่ 4 นี้ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตและการค้า โดยเฉพาะภาคใต้ที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของประเทศ เช่น นครโฮจิมินห์, บิ่นห์เยือง, ด่งนายและลองอัน นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกสินค้าและบริการทั้งประเทศ เดือน ม.ค.-ก.ย. มีมูลค่าอยู่ที่ 3.37 พันล้านดอง ลดลง 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/retail-sales-of-goods-services-inch-up-in-september/