ดัชนี PMI ภาคการผลิตของเวียดนามเดือน มี.ค. กลับมาลดลง

ผลการสำรวจของ S&P Global รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม ลดลงสู่ระดับ 47.7 ในเดือนมีนาคม จากระดับ 51.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนียังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ส่งสัญญาแนวโน้มปรับตัวลดลง ทั้งนี้ คำสั่งซื้อใหม่ลดลงเป็นครั้งที่ 4 ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ค่อนข้างอ่อนแอ ขณะที่ธุรกิจใหม่จากตลาดต่างประเทศลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่าท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงในไตรมาสแรก ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นเริ่มชะลอตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมในปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี ดัชนีที่กลับมาลดลงในเดือนมีนาคม หวังว่าจะเป็นเพียงปัญหาชั่วคราว เนื่องจากบริษัทต่างๆ ยังมีความมั่นใจแรงอุปสงค์และสภาวะตลาดที่มีเสถียรภาพในปีหน้า

ที่มา : https://english.news.cn/20230403/d5edf52a2f1140bc86fa87b826e3073b/c.html

S&P Global ชี้ “ภาคการผลิตเวียดนาม” เพิ่มขึ้น 6.6%

ตามข้อมูลจาก S&P Global Market Intelligence ระบุว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเวียดนาม เพิ่มขึ้น 6.6% ในปี 2566 อย่างไรก็ตามภาคอุตสาหกรรมยังคงเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายด้านในปีนี้ อาทิเช่น ยอดคำสั่งซื้อใหม่และการผลิตที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเวียดนาม อยู่ที่ระดับ 47.4 จุดในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นจาก 46.4 จุด ในเดือนธันวาคม แสดงให้เห็นถึงภาวะที่ถดถอยอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ นาย Andrew Harker ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของ S&P Global Market Intelligence กล่าวว่าถึงแม้สภาวะอุปสงค์สำหรับบริษัทผู้ผลิตในเวียดนามจะยังคงเผชิญกับความท้าทายในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งนำไปสู่การลดลงของผลผลิต คำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน แต่ก็มีสัญญาณเชิงบวกจากผลการสำรวจดัชนี PMI และหนึ่งในปัจจัยบวกสำคัญในเดือนมกราคม คือ ยอดคำสั่งส่งออกใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://en.baophuyen.vn/1/52010/vietnam%E2%80%99s-industrial-production-to-rise-6-6-in-2023–s-p-global.html

บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ย้ายการผลิตไปเวียดนาม

เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทแอปเปิล (Apple) เปิดเผยว่าทางบริษัทจะย้ายฐานการผลิตของ MacBook ไปยังเวียดนามในปี 2566 และดำเนินการให้บริษัท ‘Foxconn’ ซัพพลายเออร์รายใหญ่ของแอปเปิล ทำการเปิดการผลิต MacBook ในเวียดนามตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีนี้ โดยในปี 2568 ประมาณ 20% ของจำนวน iPads และ Apple Watch ทั้งหมดจะผลิตในเวียดนาม ในขณะเดียวกัน ประมาณ 5% ของจำนวน MacBook และ 65% ของจำนวน Airpods นอกจากนี้ ซัมซุง (Samsung) บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของเกาหลีใต้ หลังจากทุ่มเงินกว่า 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในเวียดนามที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงวางแผนที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเร็วๆนี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่ากิจกรรมทางธุรกิจดังกล่าวมาจากข้อได้เปรียบของเวียดนาม ได้แก่ ต้นทุนแรงงานต่ำและข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามเข้าร่วม 15 ฉบับ ตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองของเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/electronic-firms-continue-to-shift-investment-to-vietnam/247004.vnp

ผลสำรวจดัชนี ‘PMI’ ภาคการผลิตเวียดนามธ.ค. 65 หดตัว

ผลสำรวจของ S&P Global รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม ปรับตัวลงสู่ระดับ 46.4 ในเดือนธันวาคม 2565 จากระดับ 47.7 ในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนให้เห็นว่าสัญญาภาคการผลิตของเวียดนามมีแนวโน้มแย่ลง ซึ่งเป็นการหดตัวสองเดือนติดต่อกันและอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาคการผลิตของเวียดนามในเดือนธันวาคม 2565 ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศทยอยปรับลดลง โดยกิจการต่างๆ ได้ลดการจ้างงานและชะลอคำสั่งซื้อ ในขณะที่ความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังอยู่ในระดับต่ำ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-manufacturing-pmi-falls-in-december-2022-post994561.vov

ดัชนี PMI ภาคการผลิตเวียดนาม ต่ำสุดรอบ 13 เดือน

ตามรายงานของ S&P Global เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนามในเดือน ต.ค. อยู่ที่ระดับ 50.6 จุด ลดลงจากระดับ 52.5 จุด ในเดือน ก.ย. ถึงแม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะอยู่เหนือระดับ 50.0 จุด แสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานที่ไม่มีเปลี่ยนแปลงและเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 13 เดือนที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนี PMI ในเดือน ต.ค. ชะลอตัวนั้นเป็นผลมาจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในเวียดนาม ทั้งด้านคำสั่งซื้อใหม่และการส่งออก ตลอดจนความกังวลต่อภาวะอุปสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก โดยราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย การสต็อกสินค้าที่สั่งซื้อและสินค้าสำเร็จรูปลดลงในเดือน ต.ค.

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/pmi-growth-at-13-month-low/

YRIC รับรอง 3 โครงการผลิต CMP จาก 3 ประเทศ สร้างงานได้ถึง 3,373 ตำแหน่ง!

ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการการลงทุนเขตย่างกุ้ง (YRIC) ได้รับรองการลงทุนจากบริษัทในประเทศใน 3 แห่ง และจากต่างประเทศอีก 3 แห่ง เพื่อลงทุนในภาคการผลิต ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 4.44 พันล้านจัต และ 6.659 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ โดยโครงการทั้ง 6 จะทำการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ และการผลิตเสื้อชั้นใน ชุดชั้นใน และการผลิตเสื้อผ้าแบบการตัด การผลิต และการบรรจุ (CMP) ซึ่งสามารถสร้างงานได้ถึง 3,373 ตำแหน่ง จนถึงปัจจุบัน มีการลงทุนจากจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สาธารณรัฐเกาหลี เวียดนาม อินเดีย ไต้หวัน มาเลเซีย หมู่เกาะเวอร์จินของอังกฤษ และเสาธารณรัฐเซเชลส์ เริ่มเข้ามาลงทุนกันมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อลดความซับซ้อนในการตรวจสอบโครงการการลงทุน กฎหมายการลงทุนของเมียนมา ได้อนุญาตให้คณะกรรมการการลงทุนระดับภูมิภาคและระดับรัฐสามารถอนุมัติการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเงื่อนไขคือเงินลงทุนเริ่มต้นต้องไม่เกิน 6 พันล้านจัตหรือ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/yric-endorses-3-domestic-3-foreign-cmp-manufacturing-projects-with-3373-job-opportunities/

เดือนต.ค.64-ก.พ65 ภาคการผลิตเมียนมาดึงดูดเม็ดเงินลงทุนไปแล้ว 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากสถิติของคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) พบว่า นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่จับตาภาคการผลิตเพื่อการลงทุนในเมียนมา เพราะสามารถดึงเงินลงทุนใน 25 โครงการ มีมูลค่าประมาณ 138.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของงบประมาณย่อย (เดือนต.ค. 2564 ถึงเดือนมี.ค. 2565) ปัจจุบัน บริษัทที่เน้นใช้แรงานเป็นหลักได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่งผลให้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแบบ CMP (Cutting, Making และ Packing) บางแห่งปิดตัวลงอย่างถาวรและชั่วคราว ทำให้คนงานหลายพันคนตกงาน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมกำลังกลับสู่ภาวะปกติหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับในหมู่คนงานมากขึ้น ภาคการผลิตของเมียนมาส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอที่ผลิตแบบ CMP และถือเป็นส่วนสำคัญของ GDP ประเทศ ทั้งนี้ในช่วงเดือนต.ค.2564 -ก.พ.2565 เมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 530.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากบรรษัทข้ามชาติ 34 แห่ง แบ่งเป็น การลงทุนในภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์และการประมง การผลิต พลังงาน การก่อสร้าง การขนส่งและการสื่อสาร การโรงแรมและการท่องเที่ยว และบริการอื่นๆ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/manufacturing-sector-attracts-over-138-mln-in-october-february/#article-title

ดัชนีความเชื่อมโยงระดับโลกของเวียดนาม เติบโตอย่างก้าวกระโดด

เวียดนามได้รับการจัดอันดับที่ 38 ในดัชนีความเชื่อมโยงระดับโลก (Global Connectedness Index: GCI) ปี 2563 จัดทำโดยบริษัท DHL ซึ่งอันดับดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และยังแสดงให้เห็นว่าเวียดนามถือเป็นประเทศดาวรุ่งพุ่งแรกสำหรับภาคการผลิตระดับโลก โดยเฉพาะเมื่อจีนประสบปัญหาจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้ตลาดเวียดนามยินดีที่จะเปิดรับผู้ผลิตจากการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน ทั้งนี้ การปรับตัวของเวียดนามต่อการแพร่ระบาดของโรคในปีที่แล้ว ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราการขยายตัว 2.9% ปีที่แล้ว และยอดการส่งออกเพิ่มขึ้น 28.4% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับว่าเป็นความสำเร็จของเวียดนามท่ามกลางการระบาดของเชื้อโรค นอกจากนี้ คุณ Bernardo Bautista กรรมการผู้จัดการบริษัท DHL Express Vietnam กล่าวว่าเวียดนามจะต้องมีกระแสการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจในประเทศ และกระแสการค้าระหว่างประเทศจะกระจายไปยังทั่วโลก

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-leaps-up-in-global-connectedness-index-908948.vov

 

‘ภาคการผลิตเวียดนาม’ กลับมาเติบโต เหตุสถานการณ์โควิดดีขึ้น

ตามรายงานของ IHS Markit ได้เปิดเผยว่าสถานการณ์ด้านสาธารณสุขดีขึ้นและการผ่อนคลายข้อจำกัดจากเชื้อไวรัส ทำให้ภาคการผลิตของเวียดนามกลับมาเติบโตอีกครั้งในเดือน ต.ค. สะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของผลผลิต ยอดคำสั่งซื้อใหม่และกิจกรรมการจัดซื้อ ในขณะที่ความเชื่อมั่นทางธุรกิจพุ่งอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ดี ตัวเลขการจ้างงานยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากพื้นที่อาศัยของคนงานอยู่ท่ามกลางการระบาดของเชื้อโรค ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเวียดนาม ในเดือน ต.ค. กลับมาอยู่เหนือกว่าระดับไม่เปลี่ยนแปลง/เท่าเดิม (50.0) มาอยู่ที่ระดับ 52.1 จุด จาก 40.2 จุดในเดือน ก.ย. ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงสัญญาการฟื้นตัวของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในทุกภาคส่วนและสิ้นสุดการลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ตลอดจนการผ่อนคลายข้อจำกัดของโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้งในเดือน ต.ค.

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-manufacturing-sector-returns-to-growth-as-pandemic-situation-improves/

‘เวียดนาม’ ชี้โควิดกระทบหนักต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรม

ตามรายงานของ IHS Markit ชี้ว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเวียดนาม อยู่ที่ระดับ 40.2 ในเดือนก.ย. แสดงให้เห็นถึงสภาพธุรกิจแย่ลงไปอีก เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 และข้อจำกัดต่างๆ เพื่อที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยปัจจัยทั้งด้านการปิดกิจการชั่วคราว ปัญหาด้านการขนส่งและการขาดแคลนคนงาน ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของเวียดนามลดลง ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าภาคการผลิตในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ประสบปัญหามากมาย เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการใช้มาตรการเว้นระยะทางสังคมเป็นเวลานาน อีกทั้ง ดัชนีผลผลิตของภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ปรับลดลง 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ดัชนี IIP เพิ่มขึ้น 4.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1052153/vietnamese-manufacturing-hit-by-pandemic.html