‘เมียนมา’ โกยรายได้ส่งออกถั่วพัลส์ ครึ่งแรกปีนี้ ทะลุ 715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าเมียนมาส่งออกถั่วพัลส์มากกว่า 860,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 (เม.ย.-ก.ย.) โดยแบ่งออกเป็นผ่านการค้าทางทะเลและผ่านชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำรายได้ราว 603.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 111.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกถั่วพัลส์ของเมียนมา ได้แก่ ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวและถั่วแระ ในขณะที่ตลาดส่งออกหลักของถั่วพัลส์ ประกอบไปด้วยอินเดีย จีน และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอินเดียที่มีความต้องการถั่วเขียวผิวดำและถั่วแระจากเมียนมาจำนวนมาก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-various-pulses-exports-bag-us715-mln-in-h1/#article-title

รัฐบาล ปัดฝุ่น FTA ไทย-อินเดีย เปิดตลาดยา เวชภัณฑ์ ยุทโธปกรณ์

นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายนาเคศ สิงห์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย โดยอินเดียพร้อมฟื้นฟูความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ไทย-อินเดีย อีกครั้ง และพร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรคร่วมกันอย่างเข้มแข็งและรวดเร็วที่สุด ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยและอินเดียได้ทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA โดยได้เปิดตลาดสินค้าส่วนแรก (Early Harvest Scheme) จำนวน 83 รายการ ครอบคลุมทั้งสินค้าผลไม้สด ธัญพืช อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์แร่ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยได้ยกเลิกภาษีตั้งแต่ปี 2549 ทำให้การค้าทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัว และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า แต่ได้หยุดชะงักไปเมื่อปี 2559 เนื่องจากอินเดียได้หันมาผลักดันการเจรจา FTA ระหว่างอาเซียน-อินเดียแทน เพื่อขยายตลาดมายังกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ทั้งนี้ในการหารือทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ BIMSTEC จะเป็นเวทีที่จะช่วยขจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเป็นไปอย่างราบรื่น โดยนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ตั้งใจอย่างมากที่จะมาร่วมการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ จากข้อมูลรายงานการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำปี 2565 ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า อินเดีย ขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 7 จากอันดับที่ 10 ในปีก่อน โดยขยายตัวถึง 22.5% โดย การค้าระหว่างไทยและอินเดีย มีมูลค่า 17,702.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 18.06% โดยไทยส่งออกไปอินเดีย มูลค่า 10,524.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอินเดีย มูลค่า 7,178.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของอินเดีย อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ เคมีภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/577107

กัมพูชา-อินเดีย ให้คำมั่นร่วมมือพัฒนาภาคการท่องเที่ยวระหว่างกัน

กัมพูชาและอินเดียได้ยืนยันความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาภาคธุรกิจการท่องเที่ยว หวังดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งความมุ่งมั่นนี้ได้รับการยืนยันในการประชุมระหว่าง Sok Soken รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยว และ Dr. Devyani Khobragade ผู้ทรงและที่ปรึกษาพิเศษของสาธารณรัฐอินเดียในกัมพูชา โดยในระหว่างการประชุม Sok Soken ได้ขอขอบคุณรัฐบาลอินเดีย สำหรับการสนับสนุนโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวของกัมพูชา เช่น โครงการ Quick Impact Projects 3 ซึ่งเป็นโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแอพพลิเคชันมือถือเพื่อส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับชุมชน ด้านรัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและทูตยังได้กล่าวเสริมถึงแนวคิดในการสร้างแพ็กเกจท่องเที่ยวทางจิตวิญญาณและศาสนสถาน เพื่อเป็นการชูจุดเด่นของสถานที่และถือเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยทั้งสองประเทศยังตกลงในการส่งเสริมเที่ยวบินตรงระหว่างเมืองพนมเปญกับนิวเดลี ผ่านสายการบินกัมพูชาอังกอาร์แอร์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศมากขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมา กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจากอินเดียทั้งหมด 34,016 คน เพิ่มจาก 840 คน ที่ได้บันทึกไว้ในปี 2021 ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366506/cambodia-and-india-vow-stronger-cooperation-on-tourism-development/

‘เมียนมา’ ตั้งเป้าส่งออกข้าว ต.ค.-ธ.ค. ทะลุ 2 แสนตัน

นายเย มิน ออง ประธานสหพันธ์ข้าวเมียนมา กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ว่าเมียนมาได้ตั้งเป้ายอดส่งออกข้าวเฉลี่ยมากกว่า 2 แสนตันในช่วง 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.) และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกข้าวมากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ถึงแม้ว่าการส่งออกข้าวจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงแรกของปีงบประมาณนี้ ทั้งนี้ ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่ง เป็นผลมาจากการที่อินเดียระงับการส่งออกข้าว อาจส่งผลให้การส่งออกข้าวของเมียนมาเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-set-to-export-exceeding-200000-tonnes-of-rice-per-month-in-oct-dec/#article-title

8 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกไปยังอินเดียขยายตัว 39%

กรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) รายงานสถานการณ์การส่งออกของกัมพูชาไปยังอินเดียในช่วง ม.ค.-ส.ค. ขยายตัวกว่าร้อยละ 38.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่ารวมกว่า 161.35 ล้านดอลลาร์ โดยปัจจุบันอินเดียถือเป็นประเทศจุดหมายปลายทางสำคัญของกัมพูชาในการส่งออก ซึ่งมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังอินเดียคิดเป็นร้อยละ 1 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างจีนก็เห็นถึงการเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 16.8 ไปยังเวียดนามขยายตัวร้อยละ 26.1 แต่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงมีส่วนแบ่งการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดที่ร้อยละ 38.9 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา รองลงมาคือเวียดนามและจีน ที่ร้อยละ 11.8 และร้อยละ 6 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าของกัมพูชาจากอินเดียปรับตัวลดลงร้อยละ 15.1 ที่มูลค่า 145.56 ล้านดอลลาร์ ทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับอินเดียกว่า 15.78 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501363964/cambodias-exports-to-india-rise-by-39-percent-in-jan-aug/

‘เมียนมา’ เตรียมชูฟรีวีซ่า VOA เหตุดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย

จากสื่อทางการของเมียนมา ‘Global New Light of Myanmar’ ได้อ้างข้อมูลจากกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองของเมียนมา ระบุว่าเมียนมาเตรียมที่จะเสนอวีซ่าท่องเที่ยว Visa on Arrival (VOA) ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดีย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติและเม็ดเงินเข้าประเทศ โดยผู้ถือวีซ่าจะได้รับอนุญาตให้เยี่ยมชมสถานที่ทั้งหมด ยกเว้นพื้นที่หวงห้าม เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย นอกจากนี้ เศรษฐกิจของเมียนมาเข้าสู่ภาวะถดถอย สาเหตุสำคัญมาจากค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ และปัญหาไฟฟ้าดับในเมืองใหญ่ ทำให้ตู้เอทีเอ็มดับ

ที่มา : https://www.travelandleisureasia.com/in/news/myanmar-to-offer-visa-on-arrival-to-chinese-and-indian-tourists/

เมียนมาจ่อให้วีซ่าจีน-อินเดียหวังดึงนักท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ

โกลบอล นิว ไลต์ ออฟ เมียนมา สื่อท้องถิ่นเมียนมารายงานว่า รัฐบาลมีแผนให้นักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดียสามารถรับการตรวจลงตราที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเมื่อเดินทางมาถึงโดยไม่ต้องยื่นขอวีซ่าท่องเที่ยวล่วงหน้า (visa on arrival) หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังไม่แน่ชัดว่าจะเริ่มต้นเมื่อใดแต่มีกำหนดทดลองโครงการนี้เป็นเวลา 1 ปี ผู้ได้รับวีซ่าจะได้รับอนุญาตให้เยี่ยมชมสถานที่ได้ทั้งหมด ยกเว้นพื้นที่หวงห้ามเท่านั้นด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ปัจจุบันพลเมืองของทั้ง 2 ชาติ ต้องยื่นขอวีซ่าท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์หรือที่สถานทูตเมียนมา ขณะที่เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาสายการบินเมียนมา แอร์เวย์ส อินเตอร์เนชั่นแนล สายการบินแห่งชาติเริ่มเที่ยวบินตรงจากนครย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์ ไปยังเมืองโนโวซีบีร์สก์ เมืองใหญ่อันดับ 3 ของรัสเซีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตพลังงานนิวเคลียร์และเทคโนโลยีรายใหญ่

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2725600

อินโดนีเซียจ่อนำเข้าข้าวสารจากกัมพูชาแตะ 2.5 แสนตันต่อปี

อินโดนีเซียได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกัมพูชาสำหรับการจัดหาข้าวสารปริมาณกว่า 250,000 ตันต่อปี กล่าวโดย โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 ก.ย.) โดยความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากอินเดียประกาศยุติการส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความมั่นคงด้านอาหารแห่งชาติของอินเดีย หลังมีแนวโน้มที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ด้านประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวเสริมด้วยว่าเพื่อเป็นการตอบแทนต่อกัมพูชา อินโดนีเซียพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการความมั่นคงด้านอาหารให้แก่กัมพูชาด้วยการจัดหาปุ๋ยรองรับการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรของกัมพูชา

โดยในช่วงก่อนหน้าอินโดนีเซียวางแผนที่จะนำเข้าข้าวสารจากอินเดียมากกว่า 1 ล้านตัน แต่คำขอดังกล่าวถูกปฏิเสธ ส่งผลทำให้อินโดนีเซียจำเป็นต้องหาแหล่งในการนำเข้าข้าวสารจากแหล่งอื่นๆ เพื่อทดแทนกับโควต้าที่ถูกปฏิเสธ ตามที่รัฐมนตรีการค้า Zulkifli Hasan ได้กล่าวไว้

ขณะที่ข้อมูลของรัฐบาลอินโดนีเซียได้ระบุว่า สต๊อกข้าวในโกดังของ Bulog หน่วยงานโลจิสติกส์ของรัฐ รายงานว่าปัจจุบันมีจำนวนเกือบ 1.6 ล้านตัน อีกทั้งรัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อเพิ่มปริมาณอาหารสำรองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงไปยังภาคการเกษตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501354908/indonesia-to-import-250000-tons-of-rice-from-cambodia/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังอินเดียโตกว่าร้อยละ 43

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังอินเดียมูลค่ารวมกว่า 140.93 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 42.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ขณะที่การส่งออกไปยังจีนของกัมพูชาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 ไปยังเวียดนามขยายตัวร้อยละ 20.6 และไปยังสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.1 ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงมีส่วนแบ่งการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดที่ร้อยละ 38.3 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา รองลงมาคือเวียดนามและจีน ที่ร้อยละ 11.8 และร้อยละ 6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าของกัมพูชาจากอินเดียลดลงร้อยละ 18.1 ที่มูลค่า 127.56 ล้านดอลลาร์ ทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับอินเดียที่มูลค่า 13.36 ล้านดอลลาร์ ด้าน Pan Sorasak อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตั้งข้อสังเกตว่าการส่งออกไปยังอินเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากโครงการปลอดภาษี (Duty-Free Tariff Preference: DFTP) ที่ได้เปิดตัวเมื่อปี 2018

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501348223/cambodias-exports-to-india-rise-by-43/

‘เมียนมา’ เผยราคาถั่วแระพุ่ง 1.7 ล้านจ๊าตต่อตัน

จากข้อมูลในวันที่ 19 ส.ค. เปิดเผยว่าราคาถั่วแระหรือถั่วแฮะ (Pigeon Pea) เพิ่มขึ้นราว 1.7 ล้านจ๊าตต่อตัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และมีถั่วแระเพียง 25,000 ตันที่อยู่ในสต๊อกคลังสินค้า ในขณะที่จากการคาดการณ์ของอุตสาหกรรมถั่วพัลส์ของอินเดีย ระบุว่าความต้องการสินค้าของอินเดียเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้เพาะปลูกถั่วเมียนมาทำการขยายพื้นที่เพาะปลูกในปีนี้ โดยคาดว่าผลผลิตจะอยู่ที่ราว 250,000-300,000 ตัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/pigeon-pea-price-up-by-k1-7-mln-per-tonne-on-19-aug/