INFOGRAPHIC : เวียดนามเผยดัชนี CPI เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนต.ค.

สำนักงานสถิติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเวียดนามในเดือนต.ค. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.09 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.47 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ทั้งนี้ 6 ใน 11 รายการของกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ การศึกษา (1.35%), ที่พักอาศัยและวัสดุก่อสร้าง (0.29%), เครื่องดื่มและบุหรี่ (0.08%), เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (0.06%), ยาเวชภัณฑ์และบริการทางสุขภาพ (0.01%) และสินค้าและบริการอื่นๆ (0.09%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนที่แล้ว ในขณะที่ อุปกรณ์ครัวเรือนอยู่ในระดับไม่เปลี่ยนแปลง

อีก 4 รายการที่ลดลง ได้แก่  บริการโทรคมนาคม (-0.03%), การขนส่ง (-0.08%), ภัตตาคารและการจัดบริการงานเลี้ยง (-0.13%) และวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (-0.18%)

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/cpi-in-october-inches-up-009-percent/189664.vnp

เวียดนามเผยเดือนต.ค. ภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัว

จากการสำรวจของ HIS Markit เปิดเผยว่าในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของเวียดนามจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคการผลิตของเวียดนามในเดือนต.ค. อยู่ที่ระดับ 51.8 จุด ถึงแม้ว่าดัชนีปรับตัวลดลงจาก 52.2 จุดในเดือนก.ย. แต่ยังคงอยู่ในทิศทางที่เป็นบวก อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 ในเวียดนาม ช่วยให้ความต้องการซื้อของลูกค้ากลับมาฟื้นตัว และเป็นเหตุให้การสั่งซื้อใหม่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน คำสั่งซื้อจากผู้ซื้อในต่างประเทศใหม่ ยังอยู่ในระดับไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากความต้องการลดลงในตลาดต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสอย่างรุนแรง โดยเฉพาะยุโรป ในขณะเดียวกัน การระบาดของเชื้อไวรัส ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานในเดือนต.ค. จากปัญหาระยะเวลาในการจัดส่งของซัพพลายเออร์ที่นานขึ้น การขาดแคลนของวัตถุดิบและสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการขนส่ง ทั้งนี้ นาย Andrew Harker ผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจศาสตร์ของ IHS Markit กล่าวว่าภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ด้วยรากฐานที่มั่งคง และจากข้อมูลของดัชนีข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าภาคอุตฯ ยังคงขยายตัวได้ดีตราบเท่าที่สามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสได้ และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด การจ้างงานเริ่มส่งสัญญาฟื้นตัว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/804155/vietnamese-manufacturing-continues-recovery-in-october.html

เวียดนามเผยดัชนีผลผลิตอุตฯ ต.ค. ยังคงเพิ่มขึ้น

จากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตทางอุตสาหกรรม (IIP) ของเวียดนามในเดือนต.ค. เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สถานการณ์การระบาดของโรคโคโรนา (COVID-19) ในเวียดนามได้รับการควบคุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กิจกรรมการผลิตของภาคอุตสาหกรรมขยายตัว และส่งผลในทิศทางที่เป็นบวกต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ดัชนี IIP เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแปรรูปและการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ภาคการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ในขณะที่ ภาคเหมืองแร่ลดลงร้อยละ 8.1

  ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/october-index-of-industrial-production-continues-to-rise/189644.vnp

เวียดนามเผยจำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ลดลง แต่เงินทุนพุ่ง ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าในเดือนม.ค.-ต.ค. มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 111,200 แห่ง ลดลงร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้วยมูลค่าที่จดทะเบียนมากกว่า 68.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ บริษัท 37,700 แห่ง กลับมาดำเนินธุรกิจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว, 41,800 แห่ง ปิดกิจการชั่วคราว, 30,000 แห่ง อยู่ในช่วงขั้นตอนการเลิกกิจการ และอีก 13,000 แห่ง เลิกกิจการแล้ว นอกจากนี้ นาย Pham Dinh Thuy ผู้อำนวยการทางสถิติอุตสาหกรรมและการก่อสร้างของสำนักงาน GSO แนะธุรกิจหาพาร์ทเนอร์ในการแก้ปัญหาคอขวดและใช้เงินทุนให้เกิดประโยชน์ รวมถึงยังแนะนำให้รัฐบาลและสมัชชาแห่งชาติพิจารณาการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียม ขยายเวลาการชำระเงินและปรับเพดานสินเชื่อแก่ธุรกิจพาณิชย์ เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการผลิตและการดำเนินงานธุรกิจ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/newlyestablished-firms-down-registered-capital-up-in-10-months/189671.vnp

เวียดนามนำเข้าข้าวเปลือกจากกัมพูชา 1.4 ล้านตัน

กระทรวงเกษตรของกัมพูชา เปิดเผยว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกข้าวเปลือกมากกว่า 1.4 ล้านตันไปยังเวียดนาม การส่งออกดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากจังหวัดกันดาล, ไพรแวง, สวายเรียง, ตาแก้ว, พระตะบองและกำปอต ในขณะที่ การเก็บเกี่ยวข้าวในปี 2562-2563 กัมพูชาผลิตข้าวเปลือก 10.88 ล้านตัน ซึ่งตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาไม่ต้องการที่จะหยุดการส่งออกข้าวไปเวียดนาม เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีตลาด ทั้งนี้ ทางเลาขาธิการสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) กล่าวว่าข้าวเปลือกที่ส่งออกไปยังเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวอายุสั้นที่ใช้ระยะเวลาในการเติบโต 3 เดือน นอกจากนี้ กัมพูชามีพื้นที่เพาะปลูกข้าวมากกว่า 2.7 ล้านเฮกตาร์ แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เกิดอุทกภัยทำให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายมากกว่า 213,000 เฮกตาร์ ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวเปลือกของกัมพูชาไปยังเวียดนามลดลง

  ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-imports-14-mln-tonnes-of-cambodian-rice-paddy-814397.vov

เวียดนามเผยยอดส่งออกคอมพิวเตอร์และเครื่องจักร พุ่ง 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม ณ วันที่ 15 ต.ค. เผยว่ามูลค่าการส่งออกโดยรวมของเวียดนามสูงถึง 215.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าส่งออกสำคัญ 5 รายการที่มีมูลค่าราว 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ โทรศัพท์และชิ้นส่วน, คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องจักร ชิ้นส่วนและรองเท้า ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ อยู่ที่ 34.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับปี 2562 อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดส่งออกของเวียดนาม ชี้ให้เห็นว่าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบที่ส่งออกไปยังจีน มีมูลค่า 8.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รองลงมาสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและฮ่องกง ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน เครื่องจักรและชิ้นส่วน มีมูลค่า 19.568 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณ 5.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่า 7.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 121 รองลงมาสหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและจีน ตามลำดับ

ที่มา : https://customsnews.vn/exports-of-computers-and-machines-increase-nearly-13-billion-16326.html

เจาะลึกความสามารถในการแข่งขันของเวียดนาม

โดย ธนวัฒน์ พนิตพงศ์ศรี และ ณัชพล จรูญพิพัฒน์กุล I FAQ Issue 178 I Bank of Thailand

เวียดนามเป็นประเทศที่น่าจับตามองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งด้านศักยภาพการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่โดดเด่น ความได้เปรียบในด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำ กำลังซื้อในประเทศที่เติบโตต่อเนื่องและนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน ทิศทางการส่งออกที่ขยายตัวดีต่อเนื่องของเวียดนาม ส่วนหนึ่งเกิดจากการเน้นส่งเสริมพัฒนาในอุตสาหกรรมที่ประเทศมีความถนัด ส่งผลให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในประเทศต่าง ๆ ได้มากขึ้น

เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างน่าจับตามองในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก สะท้อนจาก GDP ที่ขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 6.7 ต่อปี1 ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ตั้งแต่การเริ่มใช้นโยบาย Doi Moi ในปี 2529 เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น

โครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนามโดยสังเขป : เศรษฐกิจเวียดนามถูกขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ สะท้อนจากสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของ GDP โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 7.4 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากกำลังซื้อในประเทศที่ขยายตัวตามค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่แรงขับเคลื่อนที่สำคัญอีกประการคือการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีทิศทางขยายตัวดีจาก (1) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ (2) การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิตพลังงานไฟฟ้า สอดคล้องกับการขยายตัวของสังคมเมือง และ (3) การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งส่งผลให้เวียดนามสามารถเกินดุลการค้าได้ในระยะหลัง

โครงสร้างตลาดส่งออกและสินค้าส่งออกหลัก : โครงสร้างตลาดส่งออกของเวียดนามกระจุกตัวอยู่ใน 5 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คิดเป็นร้อยละ 67 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด ในปี 2562 จากร้อยละ 58 ในปี 2552 ขณะที่ ในมิติของกลุ่มสินค้า สินค้าส่งออกกระจุกตัว ได้แก่ (1) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ (2) เครื่องนุ่งห่ม และ (3) รองเท้า คิดเป็นร้อยละ 42 11 และ 8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดในปี 2562 ตามลำดับ

ความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย : ในช่วงที่ผ่านมา ระดับการค้าขายของไทยกับเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าการค้าที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.7 ต่อปี ในช่วงปี 2558 – 2562 โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับเวียดนามมาโดยตลอด

ไทยและเวียดนามมีความเป็นคู่ค้ามากขึ้นชัดเจน สะท้อนจากระดับการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยสินค้านำเข้าหลักของไทยจากเวียดนามคือโทรศัพท์มือถือ ขณะที่สินค้านำเข้าหลักของเวียดนามจากไทยคือรถยนต์

การเป็นคู่แข่งระหว่างไทยและเวียดนาม แม้ว่าไทยและเวียดนามมีความสัมพันธ์ทางการค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ทั้งสองประเทศก็เป็นคู่แข่งทางการค้าเช่นกัน โดยการส่งออกของเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในบางหมวดสินค้าอย่างชัดเจน เช่น ระหว่างปี 2552 – 2561 ไทยได้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดในหมวดรองเท้า  ให้แก่เวียดนามใน 3 ประเทศผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ขณะที่เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดในหมวดสิ่งทอเพิ่มขึ้นมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

สถานการณ์ปัจจุบันและปัจจัยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนาม : ก่อนวิกฤตการณ์การเงินโลกปี 2550 – 2551 FDI ของเวียดนามส่วนใหญ่อยู่ในการผลิตน้ามันดิบ และการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ สะท้อนถึงการลงทุนที่เน้นเฉพาะข้อได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานต่ำ

อย่างไรก็ตาม หลังช่วงปี 2552 เป็นต้นมา FDI ในเวียดนามมีความหลากหลาย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ได้เข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2562 เวียดนามมีมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงสุทธิสะสมกว่า 161,111 ดอลลาร์ สรอ อยู่ในการผลิตร้อยละ 59 ในอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 16 และในการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 7 โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งการลงทุนของเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตได้ดี สะท้อนจากข้อมูลมูลค่าการลงทุนที่ไหลเข้าเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อ่านต่อ : https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/Pages/FAQ178.aspx