พาณิชย์สั่ง sacit เร่งพัฒนางาน ศิลปหัตถกรรม รับนักท่องเที่ยว

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่าโควิด-19 ที่ดีขึ้น ส่งผลให้การค้าการลงทุนดีขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 4/2565 ที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น จึงถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานศิลปหัตถกรรม ภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนของ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ซึ่งจากตัวเลขของสมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน ก่อนที่ไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในแต่ละปีตลาดของที่ระลึกที่ขายให้กับนักท่องเที่ยวมีมูลค่ามากกว่าปีละ 28,000 ล้านบาท ทั้งนี้จึงได้มอบหมายให้ sacit เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคงานศิลปหัตถกรรมไทยให้สอดรับกับ Gift Economy นอกจากทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนแล้ว สินค้าของที่ระลึกยังเป็นสิ่งเตือนความทรงจำของนักท่องเที่ยวให้ระลึกถึงสถานท่องเที่ยวที่เคยมาเยือน รวมถึงยังเป็นการกระตุ้นกลับมาเที่ยวซ้ำอีกในโอกาสต่อไป

ที่มา: https://www.naewna.com/business/686860

รถไฟไทยในฝันเชื่อม4ประเทศ ลาว-จีน(คุนหมิง)-มาเลย์-สิงคโปร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พร้อม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นำคณะผู้แทนไทยเยือนกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ร่วมหารือกับ นายเวียงสะหวัด สีพันดอน รมว.โยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว เพื่อขับเคลื่อนโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน (ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์) รวมทั้งร่วมทดลองนั่งรถไฟลาว-จีน เส้นทางนครหลวงเวียงจันทน์-บ่อเต็น ระยะทาง 414 กม. ทางรถไฟสายนี้เชื่อมต่อจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน โดยเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เริ่มงานก่อสร้างโครงการเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.60 แต่เดิมวางเป้าหมายเปิดบริการในปี 66 จนถึงขณะนี้ได้ผลงานก่อสร้าง 15.49% ทั้งนี้ เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/articles/1562449/

“สปป.ลาว-ไทย” ร่วมประชุมเส้นทางรถไฟสายหนองคาย-เวียงจันทน์

นายเวียงสะหวัด สีพันดอน รมว.โยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว หารือกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และคณะผู้แทนที่ได้นำเรื่องมาแจ้งความคืบหน้าของโครงการ ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟขนส่งผู้โดยสารและสินค้า รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้สะพานรถไฟเก่าและการติดตั้งแผงควบคุมเดียวกันที่สถานีท่านาแล้ง กรุงเวียงจันทร์ หนองคายและสถานีรถไฟนาทาในประเทศไทย โดยที่ประชุมยังพิจารณาการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ทางคณะผู้แทนลาวและไทยหารือเกี่ยวกับการออกแบบสะพานและทางรถไฟแห่งใหม่ ตลอดจนขอบเขตของโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten197_Laothai.php

ส่งออกชายแดนเมียวดีของเมียนมา ดิ่งลงต่อเนื่อง ลดฮวบกว่า 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงเศรษฐกิจและการพาณิชย์ของเมียนมา เผยตัวเลขการค้าชายแดนเมียวดียังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเทียบกับปีที่แล้วลดลงมากกว่า 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากข้อมูลยังพบอีกว่า การส่งออกสินค้าเกษตรไปยังไทยลดลงตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของเมียนมาที่ให้ใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ แทนเงินจัตในการการส่งออก โดยในปีงบประมาณ 2563-2564 การค้าทวิภาคีระหว่างเมียนมาและไทย พบว่ามูลค่าการส่งออกของเมียนมาอยู่ที่ 3,287 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าจะอยู่ที่ 2,523 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงเดือนกันยายน 2563 ของปีงบประมาณ 2562-2563 การค้าโดยรวมระหว่างเมียนมาและไทย พบว่าเป็นการส่งออก 3,095.988 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 2521.925 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://news-eleven.com/article/238700

ราคาข้าวโพดเมียนมา ดิ่งฮวบ จากความต้องการต่างประเทศที่หดตัว

Mandalay Commodity Centre เผย ตลาดข้าวโพดในประเทศค่อนข้างซบเซาและราคาเริ่มลดลงเนื่องจากความต้องการของต่างประเทศที่เริ่มลดลงนั่นเอง เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ราคาข้าวโพดค่อยๆ ดิ่งลงเหลือ 1,000 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.66 กิโลกรัม) ที่ผ่านมา ไทยผู้นำเข้ารายใหญ่ของเมียนมาไฟเขียวนำเข้าข้าวโพดภายใต้ภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ (แบบ Form-D) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ถึง 31 สิงหาคม 2565 แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังไทยได้กำหนดอัตราภาษีสูงสุดร้อยละ 73 สำหรับการนำเข้าข้าวโพดเพื่อคุ้มครองเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดในประเทศ ส่งผลให้ราคาข้าวโพดใยนมาตกต่ำลง  ที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาส่งออกข้าวโพด 2.3 ล้านตัน ตลาดสำคัญได้แก่ ไทย จีน อินเดีย และเวียดนาม

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/corn-prices-tumbling-due-to-lack-of-foreign-demand/#article-title

ออมสินบุก Non Bank กดดอกเบี้ย 5% ช่วยคนระดับฐานรากเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารกำลังจะเข้าสู่ธุรกิจ Non Bank เต็มตัวเพื่อให้คนระดับรากหญ้าได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งในระบบด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าในตลาดอย่างน้อย 5% โดยมีแผนที่ยื่นขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อทำธุรกิจนอนแบงก์ภายในช่วงต้นปี 2566 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ภายในปลายไตรมาส 3 ปี 2566 หรือต้นไตรมาส 4 ปี 2566 โดยจะเป็นการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล (P-Loan) ด้วยระบบ Digital Lending ให้วงเงินกู้ 1-2 หมื่นบาทต่อราย พร้อมเปิดตัวสินเชื่อ My Credit ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. นี้ เจาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้าแม่ค้า รับจ้าง ผู้มีรายได้ประจำ วงเงินกู้ 10,000-30,000 บาท ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยจะใช้ Alternative Data แทนการวิเคราะห์รายได้ เช่น การใช้ข้อมูลจ่ายค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า จำนวนเม็ดเงินที่ไหลเวียนในระบบ MyMo ฯลฯ เบื้องต้นตั้งวงเงินรวมสำหรับโครงการนี้ไว้ที่ 1,000 ล้านบาท เบื้องต้น ตั้งเป้าลูกค้า 1 แสนราย ซึ่งมาจากฐานลูกค้า MyMo ที่มีอยู่กว่า13 ล้านราย

ที่มา: https://www.naewna.com/business/685655

ททท.จ่อออกโปรไฟไหม้ ดึงคนไทยเที่ยวไทยสกัดทัวร์ต่างประเทศ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2565 ททท.เตรียมผลักดันโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ลักษณะโปรไฟไหม้ เพราะภายหลัง 31 ต.ค.2565 มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย อาทิ คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกันจะสิ้นสุดลง จึงต้องดันโครงการใหม่ออกมาเพื่อช่วยลดต้นทุนการท่องเที่ยวของคนไทย ขณะที่ไทยกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ และสถานการณ์น้ำท่วมซ้ำเติมบรรยากาศการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ททท.จึงต้องปรับตารางเวลาดำเนินการตามแผนกระตุ้นการท่องเที่ยว ไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2566 มาใช้กระตุ้นการท่องเที่ยว โดยออกโปรโมชันแบบโปรไฟไหม้ ซึ่งยึดหลักการเดียวกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แต่เบื้องต้นใช้งบประมาณประจำปี 2566 เพื่อดึงกลุ่มคนไทยที่พร้อมเดินทางและพร้อมใช้จ่าย ดังนั้นต้องดึงคนไทยกลุ่มนี้ไว้ให้เที่ยวเมืองไทยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 และไตรมาส 1 ปี 2566 และยังเป็นการสกัดการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของกลุ่มนักท่องเที่ยวไทย ที่เตรียมเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่งเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และฮ่องกง

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2521373

ไทย-สปป.ลาว เดินหน้าเชื่อมต่อรถไฟหนองคาย-เวียงจันทน์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะผู้แทนไทย ร่วมประชุมหารือกับนายเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการพัฒนาเชื่อมโยงการขนส่ง การค้าการลงทุนของสปป.ลาว เกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ โดยมี น.ส.จิรัสยา พีรานนท์ อุปทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งการประชุมร่วมกับกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ในครั้งนี้ถือเป็นการประชุมสำคัญที่ทั้งประเทศไทย และ สปป.ลาว เห็นชอบร่วมกันในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดย นายอนุทิน กล่าวชื่นชมรัฐบาล สปป.ลาว ต่อการเปิดให้บริการโครงการรถไฟลาว–จีน ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟเชื่อมนครหลวงเวียงจันทน์กับคุนหมิง ที่จะส่งเสริมการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่าง สปป.ลาวและจีนให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะทำให้การเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างหนองคายและเวียงจันทน์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองประเทศ ตลอดจนส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งอย่างเป็นระบบ อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88/182029

จ.มุกดาหาร เปิดประชุมเชื่อมโยงการค้าระหว่างผู้ประกอบการค้าเวียดนาม-มุกดาหาร

ที่ โรงแรมพลอยพาเลซ จ.มุกดาหาร นายวลัยพรรณ น้อยสันเทียะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารเป็นประธานเปิดงานในนามผู้แทนจังหวัดมุกดาหารและคณะ เดินทางมาจัดการประชุมเชื่อมโยงการค้าการลงทุน ระหว่างผู้ประกอบการของจังหวัดกวางบินห์ กวางตรี เงอาน และเว้ (สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม) และผู้ประกอบการจังหวัดมุกดาหาร (ราชอาณาจักรไทย)

ทั้งนี้ จังหวัดมุกดาหาร เป็นเมืองชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง ด้านตะวันออกติดกับแขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 2 ที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550 เชื่อมเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-WestEconomic Corridor : EWEC) ระหว่างไทยกับสปป.ลาว เข้าด้วยกัน ตามเส้นทาง หมายเลข 9 จังหวัดมุกดาหารจึงสามารถเชื่อมโยง“Corridor Link” ทางบกกับแขวงสะหวันนะเขต ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและยังเชื่อมโยงไปสู่ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศจีนตอนใต้

นอกจากนี้ จังหวัดมุกดาหารยังเป็น เป็น 1 ใน 5 จังหวัด ซึ่งอยู่ในแผนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่กำหนดให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองชายแดน มุ่งเน้นพัฒนาการลงทุนร่วมระหว่างประเทศ ในลักษณะเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนให้เป็นฐานเศรษฐกิจและประตูการค้าที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว อีกด้วย มุกดาหารจึงมีศักยภาพและโอกาสขยายความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุนกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมามีมูลค่าการค้าผ่านแดนไทย – เวียดนามผ่านช่องทางจังหวัดมุกดาหาร สินค้าได้แก่ โค กระบือ สินค้าอุปโภคบริโภค เนื้อสัตว์แช่เย็น ข้าวเหนียว เป็นต้น มูลค่าการค้ารวม 47,931.70 ล้านบาท

ที่มา : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG221004102051698

ไทยอนุญาตให้ชาวเมียนมา พำนักได้นานถึง 45 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า

รัฐบาลไทยขยายระยะเวลาปลอดวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศเป็น 45 วัน จาก 30 วัน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม  2565 เป็นต้นไป ซึ่งชาวเมียนมาก็อยู่ในรายชื่อด้วยเช่นกัน ปัจจุบันรัฐบาลไทยอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่าสูงสุด 30 วัน ขณะที่ชาวเมียนมาพำนักอยู่ได้เพียง 14 วัน ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวออกมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565  โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา แต่สถานเอกอัครราชทูตไทยในเมียนมายังไม่ได้มีประกาศใดๆ ออกมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/thailand-grants-myanmar-citizens-45-day-visa-free-stay/#article-title