เวียดนามนำเข้ารถยนต์จากไทยพุ่ง 100% ในเดือนสิงหาคม

จากรายงานทางสถิติเบื้องต้นของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าในเดือนสิงหาคม จำนวนนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศ (CBU) พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 85.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (เพิ่มขึ้นมากกว่า 4,000 คัน) โดยส่วนใหญ่มาจากตลาดหลัก 3 แห่ง ได้แก่ ไทย 4,743 คัน รองลงมาอินโดนีเซีย 2,523 คัน และจีน 572 คัน คิดเป็นสัดส่วนรวมกันร้อยละ 90 ของปริมาณการนำเข้ารถยนต์ทั้งหมดของเวียดนามในเดือนนี้ ทั้งนี้ เวียดนามนำเข้ารถยนต์ในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 8,836 คัน เป็นมูลค่าที่ 202 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน ในเดือนกรกฎาคม นำเข้ารถยนต์อยู่ที่ 4,761 คัน เป็นมูลค่าที่ 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ รถยนต์ที่นำเข้าจากไทยในเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม ซึ่งอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 100 (มีเพียง 2,234 คัน ในเดือนกรกฎาคม)

ที่มา : https://customsnews.vn/automobiles-import-from-thailand-increase-by-100-in-august-15964.html

ธนาคารกลางเวียดนามเล็งปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) เล็งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามคำแถลงการณ์ของรองผู้ว่าธนาการกลาง เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา โดยทางผู้ว่าธนาคารกลาง กล่าวว่ายังคงให้การสนับสนุนกับทางสถาบันสินเชื่อในทุกวิธีทาง รวมถึงอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ทั้งนี้ ธนาคารกลางเวียดนามสนับสนุนสถาบันสินเชื่อ ให้ลดค่าใช้จ่าย-ต้นทุน และสนับสนุนลูกค้ารายใหม่ๆ ในขณะเดียวกัน ก็ยังรักษามาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อวงเงินสูง เพื่อให้มั่นใจว่าภาคธนาคารมีเสถียรภาพในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ความต้องการเงินกู้ในปีนี้อยู่ในระดับต่ำ เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ตัวเลขของการเติบโตสินเชื่ออยู่ที่ร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สำหรับอัตราหนี้เสีย พบว่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 2 จากการที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ดำเนินการตามแนวทาง Basel II

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/central-bank-eyes-further-interest-cut/187441.vnp

เวียดนามทำสถิติยอดเกินดุลการค้าสูงสุดในช่วง 9 เดือนและครึ่งแรกของปีนี้

กรมศุลกากรระบุว่าเวียดนามมียอดการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 361.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงกลางเดือนกันยายนในปีนี้ ส่งผลให้ตัวเลขของยอดเกินดุลการค้าในช่วง 8 เดือนแรก ขยับพุ่งแตะ 14.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออก 4 รายการที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1-15 กันยายน ได้แก่ โทรศัพท์และชิ้นส่วน (2.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) รองลงมาคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ (2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ), เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ (1.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (1.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามลำดับ ขณะที่ มูลค่าการนำเข้ารวม อยู่ที่ราว 11.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงกลางเดือนกันยายน นอกจากนี้ จากตัวเลขสถิติเมื่อปีที่แล้ว พบว่าเวียดนามมียอดเกินดุลการค้าถึง 9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา หลังจากในปี 2559 มีมูลค่าที่ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยปี 2560 ที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2561 ที่ 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/trade-surplus-reaches-record-high-in-nine-months-and-a-half/187444.vnp

“การประชุมทางไกล” ส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรของเวียดนาม

ตามรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เผยการประชุมทางไกล จะจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรในท้องถิ่นไปสู่สายตาชาวโลก โดยงานนี้คาดว่าจะนำแพลตฟอร์มให้กับธุรกิจในประเทศและผู้นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อรับรู้ข้อมูลเชิงลึกมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความต้องการของแต่ละฝ่าย รวมถึงจับมือลงนามความร่วมมือ สิ่งนี้จะช่วยให้ภาคธุรกิจก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ จากการได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และยังสร้างกลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ บริษัทต่างชาติที่เข้าร่วมงาน มีจำนวน 28 รายจากตลาดส่งออก ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เบลารุส เบลเยียม เดนมาร์ก เยอรมนี ฮังการี อิตาลี สเปน สวิตเซอร์แลนด์ แอลจีเรีย อิหร่าน อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บราซิล แคนาดา ชิลี เอกวาดอร์ สหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ประมงและป่าไม้อยู่ที่ 26.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/teleconference-to-boost-vietnamese-agricultural-exports-780473.vov

เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 202 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนสิงหาคม

จากรายงานของกรมศุลกากร เผยว่าในเดือนสิงหาคม ปริมาณนำเข้ารถยนต์ทุกประเภทของเวียดนามอยู่ที่ 8,800 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 85.6 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ซึ่งเวียดนามนำเข้ารถยนต์จากไทยมากที่สุด 4,700 คัน รองลงมาอินโดนีเซีย 2,500 คัน และจีน 570 คัน คิดเป็นสัดส่วนรวมกันทั้งสามประเทศ ร้อยละราว 90 ของยอดนำเข้ารวม ทั้งนี้ จำนวนการนำเข้ารถยนต์ 9 ที่นั่งหรือน้อยกว่า อยู่ที่ 6,136 คัน (69.4% ของยอดนำเข้ารวม) เพิ่มขึ้นร้อยละ 91.6 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าปริมาณนำเข้ารถยนต์ในเดือนสิงหาคมจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถพยุงจำนวนรถยนต์ในเดือนมกราคม-สิงหาคมได้ทั้งหมด ที่ลดลงร้อยละ 44.3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้วยจำนวน 53,800 คัน จากการได้รับผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะที่ แบ่งออกเป็นประเภทรถยนต์ได้ ดังนี้ รถยนต์ 9 ที่นั่งหรือน้อยกว่า 39,000 (-46.9%), รถบรรทุก 10,759 คัน (-47.8%)

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-spends-us202-million-importing-automobiles-in-august-780374.vov

ข้อกำหนดกฎหมายการลงทุนแฟรนไชส์ในเวียดนาม

โดย SME Go Inter

ตลาดแฟรนไชส์ในเวียดนามยังคงเป็นที่น่าศึกษา ติดตามเพื่อขยายฐานการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจสินค้าบริการอาหารและเครื่องดื่มแบบแฟรนไชส์ที่ไปได้ดีและโตแรง ขณะที่รูปแบบการนำแฟรนไชส์จากต่างประเทศมาเปิดดำเนินการในเวียดนามมีรูปแบบ ที่หลากหลายทั้งแบบสัญญา แฟรนไชส์โดยตรง (Direct franchising) ที่มีการพัฒนาให้สิทธิ์ในการเปิดกิจการได้มากกว่าหนึ่งแห่ง ตัวอย่างเช่น รูปแบบแฟรนไชส์ที่มีการให้สิทธิ์ในการเปิดดำเนินธุรกิจได้หลายสาขา (multi-unit) หรือการให้สิทธิ์แบบ Development agreements รวมทั้งแบบสัญญาแฟรนไชส์หลัก (Master franchise agreements) เป็นต้น

ดังนั้นการเข้าไปเล่นตลาดแฟรนไชส์ในเวียดนาม จะต้องดำเนินกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค และกฎระเบียบข้อบังคับของกฎหมายการลงทุนแฟรนไชส์ในเวียดนาม เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  1. ควรทำการสำรวจตลาดก่อนที่จะมีการตั้งราคาของผลิตภัณฑ์และค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์
  2. เลือกผลิตภัณฑ์/บริการที่มีศักยภาพหรือเป็นที่นิยม แม้ว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะยังคงเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
  3. เน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีการเติบโตสูง
  4. เข้าร่วมงานแสดงสินค้าหรือเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ สร้างความรับรู้และจดจำสินค้าแก่ผู้บริโภค อย่างน้อย 3 ปีติดต่อกัน จะทำให้คู่ค้าเกิดความคุ้นเคยต่อแบรนด์สินค้า
  5. เลือกทำเลที่เหมาะสมและราคาไม่แพง ในเมืองที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่น นครโฮจิมินห์ และกรุงฮานอย ที่ยังมีทำเลให้เลือกมาก
  6. ปรับกลยุทธ์ให้เข้าถึงตลาดที่มีวัฒนธรรมแตกต่าง ด้วยการศึกษาวัฒนธรรม นิสัยและรสนิยมของคนในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จของธุรกิจ

การขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจแฟรนไชส์กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม

  1. เอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ประกอบไปด้วย สำเนาเอกสารแนะนำธุรกิจแฟรนไชส์ (The Franchise Introduction Statement) และข้อตกลงของแฟรนไชส์ รวมไปถึงใบสมัครและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  2. ข้อตกลงแฟรนไชส์ในเวียดนาม กฎหมายของประเทศเวียดนามไม่ได้บังคับให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมใดๆ ในข้อตกลงธุรกิจแฟรนไชส์ ผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์และผู้รับสิทธิ์ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ มีอิสระที่จะเจรจาข้อกำหนดและเงื่อนไขของข้อตกลงแฟรนไชส์
  3. ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม ถึงแม้ว่าเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ต่างชาติจะไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจในเวียดนาม แต่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้รับสิทธิดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม และถือเป็นการทำสัญญาระหว่างบริษัทเวียดนามกับบริษัทต่างชาติ จึงจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับค่าธรรมเนียมใดๆ ที่เรียกเก็บจากผู้รับสิทธิดำเนินกิจการ
  4. การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในเวียดนาม การเข้ามาลงทุนธุรกิจในเวียดนาม เจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมถึงการจด URL และเว็บไซต์กับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติเวียดนาม
  5. การเป็นผู้รับสิทธิดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ต่างประเทศในเวียดนาม นักลงทุนต่างชาติสามารถเป็นผู้รับสิทธิ์ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ได้ เมื่อมีการจัดตั้งนิติบุคคลในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม สามารถเปิดธุรกิจเฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการโดยชาวต่างชาติตามที่เวียดนามได้ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO)
  6. การจัดตั้งธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม โดยส่วนใหญ่ไม่มีการกำหนดเงินทุนขั้นต่ำสำหรับการดำเนินการธุรกิจในเวียดนาม

สำหรับคำแนะนำในการเข้าไปดำเนินธุรกิจในเวียดนามของผู้ประกอบการไทยนั้น มีรูปแบบดังนี้

  1. ลงทุนร่วมกับผู้ซื้อแฟรนไชส์ชาวเวียดนามโดยเป็นการลงทุนลักษณะ Offshore
  2. การจัดตั้งกิจการในแบบบริษัทต่างชาติ (Foreign-own company)
  3. การควบรวมและการซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions (M&A)
  4. เลือกพันธมิตรหรือคู่ค้าที่เหมาะสม โดยบริษัทท้องถิ่นหลายแห่งอาจไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงในแบรนด์สินค้า รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์

ที่มา :

/1 สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ศูนย์สนับสนุนธุรกิจใน AEC.ธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม.2562

/2 https://www.bangkokbanksme.com/en/franchise-investment-law-requirements-in-vietnam

นิงห์บิงห์เล็งก่อสร้างโรงงานยานยนต์ 137 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การก่อสร้างโรงงานประกอบยานยนต์และอุตสาหกรรมการผลิต คาดว่าจะใช้เงินทุนราว 137.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาในจังหวัดนิงห์บิงห์ (Ninh Bình) ซึ่งได้รับเงินทุนจากบริษัท Thanh Cong Group รวมถึงโรงงานผลิตของ Hyundai Thanh Cong แห่งที่ 2 มีกำลังการผลิต 100,000 คันต่อปี ขนาดพื้นที่ครอบคลุม 50 เฮกตาร์อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม Gian Khau ทั้งนี้ นาย Dinh Van Dien ประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดนิงห์บิงห์ กล่าวว่าการขยายธุรกิจของบริษัทดังกล่าว เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของจัวหวัดในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/772558/ninh-binh-eyes-137m-automobile-factory.html