ยอดใช้น้ำมัน 8 เดือนพุ่ง 15.2% หลังโควิดคลี่คลาย-ท่องเที่ยวฟื้นตัว

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 8 เดือนแรกปี 2565 (มกราคม-สิงหาคม 2565) อยู่ที่ 150.92 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น15.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการใช้กลุ่มดีเซล เพิ่มขึ้น 17.6 % น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 80% น้ำมันเตา เพิ่มขึ้น 18.6% LPG เพิ่มขึ้น 10.8% NGV เพิ่มขึ้น 8.4% และการใช้กลุ่มเบนซิน เพิ่มขึ้น 4.5% ขณะที่น้ำมันก๊าด ลดลง 8.1% ทั้งนี้ ภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ได้คลี่คลายและมีแนวโน้มดีขึ้น จากการดำเนินมาตรการทางสาธารณสุข จนสามารถผ่อนปรนมาตรการและข้อจำกัดต่างๆ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มกลับมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น

ที่มา: https://www.naewna.com/business/684214

นักวิชาการห่วง!! ดอกเบี้ยขึ้นกดศก.ถดถอย ห่วงคนไทยก่อหนี้เพิ่ม

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงว่า ตามปกติจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว เพราะดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นคนทั่วไปจะไม่ถอนเงินฝากออกมาใช้ ส่งผลภาวะเศรษฐกิจฝืดลง ขณะเดียวกันคนที่จะขอเงินกู้ก้อนใหม่ก็ต้องเสียดอกเบี้ยแพงขึ้น ทำให้กู้น้อยลงด้วย นอกจากนี้ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ย คือ หนี้ครัวเรือน สถานะเครดิตของคนไทยมีปัญหาไม่ชำระหนี้หรือหนี้เสียเพิ่มขึ้น ล่าสุดภาครัฐได้เดินหน้ามหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน – 30 พฤศจิกายน และมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง มกราคม 2566 ถือเป็นแนวทางที่ดี เพราะถ้าหากปล่อยไปจะเกิดปัญหา เกิดหนี้ที่ไม่ชำระคืน หรือบางส่วนถึงขั้นฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลทั้งสองด้าน ในเบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า คนที่มีหนี้อยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ตั้งแต่ต้น ดังนั้นหากปรับขึ้นดอกเบี้ย ไม่ได้หมายความว่าหนี้เก่าจะเพิ่มภาระขึ้น แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นหนี้แต่จ่ายได้แค่ดอกเบี้ย และท้ายที่สุดต้องหาเงินหมุน ต้องไปทำสัญญาเงินกู้ใหม่ แบบนี้จะเจอปัญหาว่าการไปก่อหนี้ใหม่จะแพงขึ้น

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_3595909

‘เชียงราย’จับมือ‘แขวงบ่อแก้ว’ เปิดจุดผ่อนปรนบูมการค้าชายแดน

นายภาสกร บุญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการศูนย์สั่งการชายแดนไทย-ลาว จังหวัดเชียงราย (วาระพิเศษ) และเห็นชอบเรื่องการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 7 จุด ในพื้นที่ 4 อำเภอชายแดนไทย-ลาว คืออำเภอเชียงแสน, เชียงของ, เวียงแก่น และอำเภอเทิง ทั้งนี้ การประชุมร่วมระหว่างจังหวัดเชียงรายกับแขวงบ่อแก้ว ณ ห้องประชุม​ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพ​ไทย-ลาว แห่งที่ 4 อำเภอเชียงของ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 จังหวัดเชียงรายเสนอต่อที่ประชุมว่า มีความพร้อมที่จะเปิดจุดผ่อนปรนการค้าในพื้นที่จังหวัดเชียงรายกับแขวงบ่อแก้วทั้งหมดทั้ง 7 จุด แต่ทางแขวงบ่อแก้วได้แจ้งว่า ยังไม่มีความพร้อมในหลายจุด เบื้องต้นจึงขอเปิดแค่ 3 จุด

อย่างไรก็ตาม ส่วนความคืบหน้า เรื่องการเปิดจุดผ่านแดนไทย-เมียนมา พบว่ารัฐบาลกลางของเมียนมา ยังไม่อนุญาตให้เปิดจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่อนปรนทางการค้าเพิ่มเติม

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/542041

รัฐบาลคุยมาถูกทาง! ตัวเลขส่งออกกระฉูด ส.ค.โตต่อเนื่อง 7.5%

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตัวเลขส่งออกของไทยเดือนสิงหาคม 2565 มีมูลค่า 23,632.72 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7.54% หรือคิดเป็นเงินไทย 861,169.17 ล้านบาท ขยายตัว 20.38% จากช่วงเดือนสิงหาคม ของปี 2564 ขณะที่ภาพรวมการส่งออกของไทย 8 เดือนแรก (มกราคม – สิงหาคม 2565) มีมูลค่า 196,446.83 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 11% หรือคิดเป็นเงินไทย 6,635,446.32 ล้านบาท นับว่าขยายตัว 21.93% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 สะท้อนสัญญาณบวกต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย แม้หลายปัจจัยในโลกได้รับผลกระทบจากความท้าทาย แต่สินค้าหลายตัวของไทยยังมีศักยภาพแข่งขันในตลาดโลกได้

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/231028/

รัฐบาลเผยเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ในระดับสูง มากเป็นอันดับ 12 ของโลก

18 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศของประเทศปรับลดลง เป็นผลมาจากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ พร้อมเน้นย้ำไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ และระดับเงินสำรองฯ เมื่อเทียบต่อ GDP ยังสูงกว่าหลายประเทศ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศที่ปรับลดลงจาก 2.78 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ระดับ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ เป็นผลมาจากการตีมูลค่าเงินสำรองฯ ที่อยู่ในสินทรัพย์หลายสกุลเงินให้เป็นสกุลดอลลาร์ โดยเงินสกุลดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้สินทรัพย์สกุลอื่น ๆ เมื่อตีมูลค่าเป็นรูปดอลลาร์มีมูลค่าลดลง นอกจากนี้ยังยืนยันว่า ไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ และประเทศไทยยังมีฐานะทางการเงินที่ดี ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีเงินสำรองฯ มากที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และเมื่อเทียบเงินสำรองฯ ต่อ GDP จะคิดเป็น 48% ของ GDP ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก รวมถึงยังสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยถึงเกือบ 3 เท่า

ที่มา: https://www.naewna.com/business/680815

 

จ.ประจวบคีรีขันธ์ เตรียมความพร้อมเปิดจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขรเต็มรูปแบบ กระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดนหลังสถานการณ์โควิด -19 คลี่คลาย

นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดได้ผ่อนปรนการเปิดจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร ต.คลองวาฬ อ.เมือง เฉพาะเพื่อการขนถ่ายสินค้าข้ามแดน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการนำเข้าส่งออกสินค้าไทย-เมียนมา ส่วนในระยะต่อไปได้เตรียมพร้อมเปิดด่านสิงขรเต็มรูปแบบให้ยานพาหนะ บุคคล และสิ่งของสามารถผ่านเข้าออกได้อีกครั้ง โดยได้สำรวจความพร้อมของอาคารด่านพรหมแดนสิงขร ซึ่งปัจจุบันสร้างเสร็จแล้วเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบบุุคคล การออกบัตรผ่านแดนและบัตรผ่านแดนชั่วคราว รวมถึงการตรวจพืช ตรวจสัตว์ และสิ่งของข้ามแดน

โดยขณะนี้ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือแนวทางปฏิบัติของการเดินทางข้ามแดน เช่น มาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ระยะเวลาการอยู่พำนักของชาวเมียนมาที่เข้ามาในไทย จากนั้นจะมีการประสานกับทางการเมียนมาเพื่อทำความตกลงร่วมกันต่อไป คาดว่าหากเปิดด่านสิงขรเต็มรูปแบบแล้วจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจการค้าชายแดนได้เป็นอย่างมาก หลังจากเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 เคยมีมูลค่าการนำเข้าส่งออกสินค้าผ่านด่านสิงขรรวมกว่าพันล้านบาท

ที่มา : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220913090615824

กรมการค้าภายในพัฒนา “ฟาร์ม เอาต์เลต” ช่วยเกษตรกร

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมเตรียมพัฒนาศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน (ฟาร์ม เอาต์เลต) ให้เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกร สินค้าชุมชน เพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำ หรือผลผลิตล้นตลาด โดยจะนำผู้ประกอบการฟาร์ม เอาต์เลต ที่ประสบความสำเร็จ สถาบันการศึกษา และเครือข่าย MOC Biz Club มาช่วยเหลือในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อขับเคลื่อนฟาร์ม เอาต์เลต ให้เติบโต รวมทั้งจะช่วยเชื่อมโยงด้านการตลาด โดยดึงห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรม ผู้ซื้อต่างประเทศ มาเจรจาธุรกิจ ที่ผ่านมา จัดไปแล้ว 16 ครั้ง ทำยอดขายได้กว่า 200 ล้านบาท ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการได้เพิ่มขึ้น

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2498400

รัฐบาลปลื้มส่งออกข้าวพุ่ง มั่นใจทั้งปียอดทะลุเป้า7.5ล้านตัน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยและสถานการณ์ข้าวไทย ในปี 2565 (มกราคม-สิงหาคม) อินเดียส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 11.23 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ ไทย 4.75 ล้านตัน เวียดนาม 4.25 ล้านตัน ปากีสถาน 2.47 ล้านตัน และสหรัฐฯ 1.49 ล้านตันตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (มกราคม-สิงหาคม) ในปี 2565ไทยมีปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น จาก 3.10 ล้านตันเป็น 4.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 53.23% ปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่อยู่ในระดับอ่อนค่า เมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ราคาอยู่ในระดับที่แข่งขันได้  อีกทั้งการส่งออกข้าวไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางโดยเฉพาะอิรัก ยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มีการนำเข้าข้าวไทยไปใช้ทดแทนข้าวสาลีและข้าวโพดในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นด้วย และจากการหารือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งออกข้าวไทยปี 2565 จากเดิมที่กำหนดไว้ปริมาณ 7 ล้านตัน เป็น 7.5 ล้านตัน ซึ่งหากการส่งออกข้าวไทยเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะทำให้ไทยสามารถส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น 19.05% จากปีก่อน โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-กรกฎาคม) ไทยส่งออกข้าวได้ปริมาณ 4.09 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 53.76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว ทำให้การส่งออกข้าวไทยในปี 2565 มีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ที่มา: https://www.naewna.com/business/679349

สรท. คงเป้าส่งออก 6-8% ชี้ยังเสี่ยงจาก เงินเฟ้อ-พลังงาน-ค่าระวางเรือสูง อ้อนขอปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนจริง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท. เปิดเผยว่าภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ก.ค. 65 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,629 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 829,029 ล้านบาท ขยายตัว 17.0% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือน ก.ค.ขยายตัว 4.1%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,289 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 23.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 968,940 ล้านบาท ขยายตัว 38.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือน ก.ค. 65 ขาดดุลเท่ากับ 3,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (139,911 ล้านบาท)

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปีนี้ ได้แก่ 1.สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อโลกที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง  2.ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ 3.สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลยังทรงตัวในระดับสูงและเริ่มมีการปรับลดลงในหลายเส้นทาง 4.ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน นอกจากนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณา อนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถปรับราคาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกลไกตลาด และต้นทุนการผลิตที่แท้จริงได้

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3546578

แห่ใช้โครงการ “คนละครึ่ง” เฉียด 6 พันล้าน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การใช้สิทธิผ่านโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1-4 ก.ย.65 มีผู้ใช้สิทธิรวม 23.78 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 7,779.5 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้สิทธิ 9.02 ล้านคน ยอดใช้จ่าย 1,792.6 ล้านบาท โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ใช้สิทธิ 514,716 คน ยอดใช้จ่าย 101.8 ล้านบาท และโครงการคนละครึ่งใช้สิทธิ 14.24 ล้านคน ยอดใช้จ่าย 5,885.1 ล้านบาท เป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 2,981.8 ล้านบาท และเงินที่รัฐร่วมจ่าย 2,903.3 ล้านบาท

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2492260