กัมพูชาจ่อออก Golden Visa ให้กับนักลงทุนไทย

กัมพูชาเปิดตัวโครงการ “My 2nd Home” เพื่อสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในกัมพูชา โดยโปรแกรมนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างนึงว่า “Golden Visa” ซึ่งจะให้วีซ่ากับนักลงทุนเป็นเวลา 10 ปี โดยไม่จำกัดการเข้าออกประเทศ ควบคู่ไปกับสิทธิประโยชน์อื่นๆที่ทางการกัมพูชาจะมอบให้ ซึ่งผู้ที่ต้องการที่จะสมัครวีซ่าดังกล่าว จะต้องเป็นนักลงทุนชาวต่างชาติที่มีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 ดอลลาร์ในกัมพูชา และเป็นบุคคลที่รัฐบาลกัมพูชารับรอง โดยไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาหรือความสามารถทางภาษา ซึ่งนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับวีซ่าข้างต้นจะได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงประกันและการรักษาพยาบาลแบบวีไอพี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501108375/cambodia-goes-head-on-with-thailand-in-implementing-10-year-golden-visa/

ไทย-กัมพูชา ลงนาม MoU ปราบแก๊ง Call Center

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงไปรษณีย์ และโทรคมนาคมของกัมพูชา ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับความร่วมมือในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค รวมถึงวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งทั้งสองประเทศได้แต่งตั้งผู้ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานระหว่างกัน ไปจนถึงการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานในประเทศไทยและกัมพูชา เพื่อให้สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้อย่างทันท่วงที ประสานงานและอำนวยความสะดวกในกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามสนธิสัญญาระหว่างไทยและกัมพูชาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน รวมทั้งกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศของผู้เข้าร่วมทั้ง 2 ฝ่าย ไปจนถึงมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของทั้งไทยและกัมพูชา และ ความร่วมมือทางด้านอื่นๆ ตามที่ผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501107583/thai-cambodian-mou-on-suppression-of-cyber-scams-approved/

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อมิ.ย.พุ่ง 7.66% เหตุน้ำมันแพง ส่วนทั้งปีคาด 4-5%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 7.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงขึ้น 0.9% จากเดือนก่อนหน้า ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 2.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.24% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 2.28%

ทั้งนี้ สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 3/65 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อปีนี้ ยังคงกรอบเดิมที่ 4-5% โดยมีค่ากลางที่ 4.5%

ที่มา : http://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=enNGZ3FBSW1BTlU9

โรงแรมเริ่มฟื้นตัว อัตราเข้าพักเพิ่ม เดือนมิ.ย.พุ่ง38%

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สมาคมโรงแรมไทย สำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel business operator Sentiment Index: HSI) เดือนมิ.ย. 2565 พบว่า อัตราการเข้าพักเดือน มิ.ย. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 38% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน และเดือนเดียวกันกับปีก่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยเพิ่มขึ้น หลังมีการผ่อนคลายนโยบายเปิดประเทศ ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยชะลอการเดินทางตามสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกันที่หมดลง คาดว่าอัตราการเข้าพักเดือน ก.ค. 2565 เพิ่มขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 40% ส่วนรายได้ของโรงแรมบางส่วนเริ่มปรับดีขึ้น แต่ภาพรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เกือบครึ่งหนึ่งรายได้ยังกลับมาไม่ถึง 30% และมีสภาพคล่องใกล้เคียงเดือนก่อน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่า ยังต้องการมาตรการในการช่วยเหลือ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุน ลดค่าไฟฟ้า-ประปา และขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน

ที่มา: https://www.naewna.com/business/664576

ธปท.ชี้กำลังซื้ออ่อนแอ อุปสรรคต่อการฟื้นตัวของธุรกิจ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานผลกระทบจากไวรัส COVID-19ต่อภาคธุรกิจไทย (เป็นผลการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เฉพาะกิจ ระหว่างวันที่ 1-24 มิถุนายน 2565) โดยในเดือนมิ.ย. 2565 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจโดยรวมปรับดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน โดยปัญหาการขนส่งและขาดแคลนชิ้นส่วนในภาคการผลิตบรรเทาลงบ้าง หลังจากที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนได้กลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง ส่วนการฟื้นตัวของภาคที่มิใช่การผลิต ปรับดีขึ้นจากนโยบายการเปิดประเทศที่ผ่อนคลายขึ้น และความกังวลต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่น้อยลง อย่างไรก็ตามการคาดการณ์การฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมมีแนวโน้มเร็วขึ้น และคาดว่าจะฟื้นตัวได้ภายในครึ่งหลังของปี 2565 นี้ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทั้งในภาคการผลิต และภาคที่มิใช่การผลิต ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มผลิตเหล็ก ผลิตยานยนต์ และผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนภาคการท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ ยังมีสัดส่วนของธุรกิจที่กลับเข้าสู่ระดับปกติอยู่ในระดับต่ำมาก

ที่มา: https://www.naewna.com/business/664384

5 เดือนแรกไทยส่งออก-ค้าชายแดน กวาดรายได้ เกือบ 5 ล้านล้านบาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยและการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนพฤษภาคมและ 5 เดือนแรกของปี 2565 ผ่านระบบซูม โดยตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2565 เพิ่มขึ้น 10.5% มูลค่า 854,372 ล้านบาท และการส่งออกในภาพรวม 5 เดือนแรก มกราคม-พฤษภาคม เพิ่มขึ้น 12.9% มูลค่า 4,037,962 ล้านบาท 5 เดือนแรก การส่งออก เพิ่มขึ้น 12.9% แตะ 4 ล้านล้านบาท สำหรับทิศทางการส่งออกในเดือนที่เหลือของปีนี้ นายจุรินทร์กล่าวว่า ยังคิดว่ายังเป็นบวก เพราะ 5 เดือนนี้ เพิ่มขึ้น 12.9% ทั้งปียังน่าจะบวกได้และน่าจะเกินเป้า เพราะตั้งเป้าไว้ที่ 4-5% คิดว่าน่าจะบรรลุเป้า แต่จะเพิ่มไปมากน้อยแค่ไหนต้องประเมินรายละเอียดต่อไป ปีที่แล้วส่งออกทั้งปี 8.5 ล้านล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้าที่ 9 ล้านล้านบาท แต่ 5 เดือนทำได้ 4 ล้านล้านบาทแล้ว น่าจะเกินเป้าที่ 9 ล้านล้านบาทได้ ทั้งนี้ การส่งออก สินค้าสำคัญ 3 หมวด ประกอบด้วยสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรและหมวดสินค้าอุตสาหกรรม หมวดสินค้าเกษตร พฤษภาคม 2565 เพิ่มขึ้น 3 เดือนต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 21.5% มูลค่า 106,082 ล้าน

ที่มา : https://www.prachachat.net/breaking-news/news-968673

ดอกเบี้ยขาขึ้นระเบิดหนี้ครัวเรือน เกียรตินาคิน ห่วงกลุ่มรายได้น้อย จี้ปฏิรูปโครงสร้างศก.

รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) เปิดเผยรายงานคาดการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้น อาจจุดชนวนระเบิดหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาใหญ่ของไทย โดยกลุ่มที่มีความน่ากังวลมาก คือ หนี้ภาคครัวเรือนที่ปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นเกิน 90% ของจีดีพี และสูงเป็นลำดับที่ 11 ของโลก ซึ่งเกิดจากการมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยที่สุด 20% มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 12,000 บาท และมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อบริโภค นอกจากนี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงและหนักกว่าประเทศอื่น เนื่องจากไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงที่สุด ทั้งนี้ได้เสนอแนะเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจผ่าน 2 แนวทาง คือ 1.การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข่งขันและเติบโตได้ในระยะยาว และนโยบายการเงินต้องไม่สนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตด้วยหนี้ 2.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อนำเศรษฐกิจเข้าสู่กระบวนการของการลดภาระหนี้สินในระบบ ต้องระวังไม่ให้เร็วเกินไปและนำไปสู่ภาวะวิกฤต

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_3422735

สัญญาณเที่ยวไทยเริ่มฟื้น รับข่าวจีนผ่อนคลายเดินทาง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดี หลังจีน เปิดให้สายการบินไทย สามารถทำการบินระหว่างประเทศไทยและจีน 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งขณะนี้จีนได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศแล้ว จึงถือเป็นสัญญาณดีในการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนถือเป็นกลุ่มหลักที่สร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวไทย ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมความพร้อมมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศช่วงครึ่งปีหลัง ตามที่คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากหลังจากที่ไทยได้ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ โดยยกเลิกระบบ Thailand Pass สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่จะในเริ่มวันที่1 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป จึงต้องเน้นย้ำเพื่อสร้างความรับรู้สำหรับชาวต่างชาติ พร้อมกับมีมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเดินทางมากขึ้น

ที่มา: https://www.naewna.com/business/662886

10 ธุรกิจเด่น ครึ่งปีหลัง 2565

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมสภา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ร่วมกับ อาจารย์วชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าผลสำรวจ การจัดอันดับ 10 ธุรกิจดาวรุ่ง ครึ่งปีหลัง 2565
10 ธุรกิจที่มาแรงสุดคือ
1.ธุรกิจการแพทย์และความงาม และธุรกิจ e-commerce (ธุรกิที่ทำการซื้อขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์)ยังคงเป็นธุรกิจดาวรุ่งต่อเนื่อง
2.ธุรกิจ แพลตฟอร์ม (ธุรกิจตัวกลางหรือตลาดกลางด้าน อิเล็กทรอนิกส์)และธุรกิจโลจิสติกส์ delivery และคลังสินค้ำ
3.ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต และธุรกิจอาหารเสริมและสุขภาพ
4.ธุรกิจ E-Sports และธุรกิจ Social Media และ Online Entertainment
5.ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจ youtuber influencer และการรีวิวสินค้าและ ธุรกิจ Media ธุรกิจสื่อโฆษณา
6.ธุรกิจเวชภัณฑ์ยา ธุรกิจการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และ ทางการแพทย์ และธุรกิจธุรกิจด้าน fintech และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี และธุรกิจงานคอนเสิร์ต มหกรรมจัดแสดงสินค้ำ ธุรกิจ event
7.ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ และธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน
8.ธุรกิจ Modern Trade/ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจสมุนไพรไทย เช่น กัญชง กัญชา ใบกระท่อม
9.ธุรกิจสถานบันเทิงและธุรกิจยานยนต์
10.ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์แนวราบและธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ทัวร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
ส่วน 10 ธุรกิจดาวร่วงนั้นนำโดย
1.ธุรกิจผลิตโทรศัพท์พื้นฐานและครื่องโทรสาร
2.ธุรกิจฟอกย้อม
3.ธุรกิจหัตถกรรมที่ไม่มีการออกแบบและราคาถูก
4.ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และวารสาร
5.ธุรกิจรับส่งสื่อสิ่งพิมพ์ตามบ้านและสถานที่ทำงาน
6.ธุรกิจโรงพิมพ์/การพิมพ์ เช่น หนังสือ แผ่นพับ
7.ธุรกิจคนกลางและธุรกิจผลิตและขายต้นไม้/ดอกไม้ประดิษฐ์
8.ธุรกิจ call center และธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา และเซรามิก
9.ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ไร้ฝีมือ หรือเสื้อผ้าโหล
10.ธุรกิจร้านเช่าหนังสือ ขายหนังสือ และธุรกิจร้านถ่ายรูป
สำหรับการจัดอันดับของธุรกิจดังกล่าวนำข้อมูลมาจากจากข้อมูลปฐมภูมิ ด้วยการสำรวจผู้ประกอบการรายสาขา สถานภาพธุรกิจไทย ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ รวมถึงข้อมูลทุติยภูมิต่างๆ เช่น ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก, ข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์, ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ได้มีเกณฑ์การให้คะแนนธุรกิจใน 5 ด้านรวม 100 คะแนน ประกอบด้วย ยอดขาย ต้นทุน กำไรสุทธิ ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและการแข่งขัน ความต้องการ-กระแสนิยม
ที่มา: https://bit.ly/3OweGUg

นายกฯ ปลื้ม Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือไทย คาด ศก.โต 4.5%

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ ฟิทช์ (Fitch) ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือ (Sovereign Credit Rating) ของประเทศไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) อย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นการทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม อีกทั้งรัฐบาลมีการออกมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงมาตรการเปิดประเทศที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟื้นตัว เกิดทิศทางเชิงบวกในภาคเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนยิ่งขึ้น โดย Fitch คาดการณ์ว่า ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ในปี 2565 ประเทศไทยจะขาดดุลงบประมาณลดลง สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) ต่อ GDP จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 55.4 ต่อ GDP เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 จากการฟื้นตัวภายในประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจาก 6.5 ล้านคนในปี 2565 เป็น 22 ล้านคนในปี 2566 ในส่วนของภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ประเทศไทยยังแข็งแกร่ง มีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงและเพียงพอต่อการใช้จ่าย ทั้งนี้ Fitch คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะขาดดุลร้อยละ 1.8 ต่อ GDP ลดลงจากร้อยละ 2.1 ต่อ GDP ในปี 2564 และจะกลับมาเกินดุลที่ร้อยละ 1.0 ต่อ GDP ในปี 2566 และร้อยละ 2.8 ต่อ GDP ในปี 2567 จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9650000059384