บริษัทจากสปป.ลาว และสิงคโปร์ เดินหน้าร่วมทุนสร้าง BioZEN Health

บริษัท Biospring.LTD จากสปป.ลาว และบริษัท Zen Science ของสิงคโปร์ได้ลงนามร่วมทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทภายใต้ชื่อ BioZen Health ในสปป.ลาว เพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมความงามทางการแพทย์ การบริการทางการแพทย์ และอาหารเพื่อสุขภาพที่มีมูลค่าสูง โดย BioZen Health ได้ก่อตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และมีเป้าหมายที่จะเริ่มจำหน่ายสินค้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะวางจำหน่ายสินค้าในจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป ด้านนาย Eric Ju ผู้อำนวยการบริหารของ Zen science กล่าว่า สปป.ลาวจะมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการขนส่งในคาบสมุทรอินโดจีนในอนาคต และนี่ถือเป็นก้าวเล็กๆ ที่สำคัญสำหรับ Zen Science ในการขยายการลงทุนในสปป.ลาว

ที่มา: https://laotiantimes.com/2023/02/18/laos-biospring-and-singapore-zen-science-announce-new-joint-venture-biozen-health/

“นายกฯ เวียดนาม” เยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการครั้งแรก

นายฟาม มินห์ ชินห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม จะเดินทางเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการครั้งแรก ระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2566 ตามคำเชิญของนายลีเซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ โดยการเยือนในครั้งนี้เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตในโอกาสที่ครบรอบ 50 ปี และครบรอบ 10 ปี ของหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ (MFA) เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศจะเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงทวิภาคี ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือหลายด้านระหว่างสิงคโปร์และเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว

ที่มา : https://www.channelnewsasia.com/singapore/vietnam-prime-minister-pham-minh-chinh-official-visit-singapore-anniversary-3259141

7 เดือนของปี 65 สิงคโปร์รั้งอันดับหนึ่ง FDI ในเมียนมา

หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของเมียนมา  (DICA) เผย ใน 7 เดือนที่ผ่านมา (เดือนเม.ย.-เดือนต.ค. 2565)  บริษัทจดทะเบียนในสิงคโปร์ 14 บริษัทได้เร่งอัดฉีดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเมียนมาเป็นมูลค่า 1.154 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในการพัฒนาเมือง อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และภาคการผลิตรองลงมาเป็นบริษัทจากฮ่องกง 163 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  จำนวน11 บริษัท และจีน 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 22 บริษัทที่เข้ามาลงทุน ซึ่งในช่วงงบประมาณย่อยที่ผ่านมา (เดือนตุลาคม 2564-เดือนมีนาคม 2565) สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเมียนมา จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าในปีงบประมาณ 2562-2563 มีเม็ดเงินลงทุน .85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  และ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2561-2562 นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังกลายเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 2 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา รองจากญี่ปุ่น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/singapore-tops-fdi-ranking-in-myanmar-in-past-seven-months/#article-title

 

สิงคโปร์แซงหน้าจีน ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในกัมพูชา

ในปี 2021 สิงคโปร์ได้เข้ามาแทนที่จีนในฐานะประเทศผู้ลงทุนรายสำคัญของกัมพูชา ด้วย 6 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งประเทศจีนครองตำแหน่งผู้ลงทุนรายสำคัญในปี 2019 และ 2020 ตกลงมาเป็นอันดับ 2 ร่วมกับสหรัฐฯ ตามรายงานของ Investment Monitor ในเรื่อง “Cambodia punches above its weight in attracting FDI” โดยกัมพูชาถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก รองจากสิงคโปร์และนิวซีแลนด์ อ้างอิงจากฐานข้อมูลโครงการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของ GlobalData ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในกัมพูชาพุ่งสูงสุดในปี 2019 ด้วยโครงการลงทุนกว่า 43 โครงการ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2018 หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์ ที่เคยได้รายงานไว้ใน World Investment Report 2020

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501178069/singapore-replaces-china-as-cambodias-top-fdi-source/

“ค่าแรงต่ำ แรงงานจำนวนมาก” ขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพสิงคโปร์ในเวียดนาม

หนังสือพิมพ์เดอะ สเตรท์ส ไทม์สของสิงคโปร์ รายงานว่าจำนวนพนักงานมาก ค่าแรงงานอยู่ในระดับต่ำและตลาดที่มีขนาดใหญ่ของเวียดนาม จึงทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพ (Startups) สิงคโปร์

ทั้งนี้ คุณ James Tan พาร์ทเนอร์ของบริษัทกองทุน “Quest Ventures” กล่าวว่ากำลังแรงงานของเวียดนาม มีการศึกษาที่ดีขึ้นและค่าแรงงานยังค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ประกอบกับเวียดนามมีประชากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัว ทำให้กลายมาเป็นฐานลูกค้าของธุรกิจที่มีศักยภาพ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1315198/low-labour-costs-large-workforce-drive-singapore-start-ups-in-viet-nam.html

5 เดือน ของปีงบ 65-66 MIC ไฟเขียวให้ต่างชาติมาลงทุน 35 โครงการ เม็ดเงินทะลุ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (เดือนเมษายน-เดือนสิงหาคม 2565) ของปีงบประมาณปัจจุบัน 2565-2566 สำนักงานคณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา (MIC) ให้ไฟเขียวโครงการต่างประเทศ 35 โครงการจาก 6 ประเทศ มีเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  เป็นการลงทุนในภาคเกษตรกรรม การผลิต พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ และบริการตามลำดับ โดยมีสิงคโปร์เป็นอันดับหนึ่งที่เข้ามาลงทุนในเมียนมา มีมูลค่าการลงทุน 1.089 พันล้านดอลลาร์ รองลงมา คือ ฮ่องกง 70.239 ล้านดอลลาร์จากโครงการ 7 โครงการ ส่วนจีนอยู่ในอันดับที่สาม 56.7 ล้านดอลลาร์จาก 15 โครงการ ที่ผ่านมาเมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำนวน 647 ล้านดอลลาร์ในช่วงงบประมาณย่อยปี 2564-2565 (เดือนตุลาคม 2564 ถึง เดือนมีนาคม 2565)

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/mic-nods-35-foreign-projects-worth-1-2-bln-in-5-months/

เมียนมา ลุย พร้อมส่งออกมะม่วงเส่งตะลง ทั้งทางอากาศและทะเล บุกตลาดสิงคโปร์

นาย U Kyaw Soe Naing เลขาธิการสมาคมพัฒนาตลาดมะม่วงและเทคโนโลยีเมียนมาร์ (มัณฑะเลย์) เปิดเผย เมียนมากำลังส่งออกมะม่วงเส่งตะลง (Seintalone) ไปยังสิงคโปร์โดยใช้การขนส่งทางอากาศและทางทะเล แม้การส่งออกทางอาศจะมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงแต่มีความเร็วและไม่ทำให้มะม่วงเน่าเสีย ซึ่งต่างจากการขนส่งทางทะเลที่ใช้เวลาถึงหนึ่งอาทิตย์ในการขนส่งและผลมะม่วงอาจได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ช่วงฤดูการเพาะปลูกที่ผ่านมาเกษตรกรได้ลดต้นทุนในการปลูกทำให้ผลผลิตออกมาไม่ได้คุณภาพจึงเกิดโรคของผลมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยวตามมา ราคามะม่วงเส่งตะลงแถบชายแดนเมียนมา-จีน ในปัจจุบันมีสูงถึง 140 จัตต่อตะกร้า (ขนาด 16 กิโลกรัม) ส่วนมะม่วงคุณภาพต่ำราคาจะอยู่ที่ 100 จัตต่อตะกร้า ปัจจุบัน การเพาะปลูกมะม่วงส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในเขตอิรวดี โดยมีเนื้อที่ประมาณ 46,000 เอเคอร์ ลำดับต่อมาคือ เขตพะโค มีพื้นที่ 43,000 เอเคอร์, เขตมัณฑะเลย์ มีพื้นที่ 29,000 เอเคอร์, กะเหรี่ยงมีพื้นที่ 24,000 เอเคอร์, รัฐฉานมีพื้นที่ 20,400 เอเคอร์  และเขตซะไกง์มีพื้นที่ 20,000 เอเคอร์

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-conveying-seintalone-mango-to-singapore-by-air-maritime-transport/

กัมพูชา-สิงคโปร์ ร่วมส่งเสริมการค้าทวิภาคี

กัมพูชา-สิงคโปร์ ร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความพยายามในการฟื้นฟูวิกฤตหลังวิกฤตโควิด-19 และความคืบหน้าของการตอบสนองของอาเซียนต่อวิกฤตโควิด-19 ไปจนถึงการส่งเสริมการค้าทวิภาคีระหว่างกัน โดยกัมพูชาและสิงคโปร์ยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสิงคโปร์มีมูลค่าสูงถึง 4.2 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ในด้านการลงทุนของสิงคโปร์ในกัมพูชาระหว่างปี 1994-2020 มีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 1.29 พันล้านดอลลาร์ โดยสิงคโปร์นำเข้าสินค้าทางการเกษตรจากกัมพูชาเพิ่มขึ้น รวมไปถึงพริกไทย น้ำตาลปี๊บ มะม่วง และข้าวสาร เป็นสำคัญ ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสิงคโปร์ ได้แก่ น้ำมัน เครื่องจักร อาหารและเครื่องดื่ม กระดาษ อัญมณี และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501042016/cambodia-singapore-to-further-boost-bilateral-trade/

‘สิงคโปร์’ ผู้นำการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ FDI ในเวียดนาม ปีนี้

ตามรายงานของหน่วยงานการลงทุนในต่างประเทศ (FIA) ภายใต้กระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม เปิดเผยว่าสิงคโปร์ครองอันดับ 1 ของนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม มูลค่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 59.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รองลงมาเกาหลีใต้ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12% และจีน 538 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 29.3% ตามลำดับ โดยอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 63% ของทุนจดทะเบียนรวมทั้งหมด หรือเป็นมูลค่า 3.13 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาภาคอสังหาริมทรัพย์ มีมูลค่ารวมกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (30% ของทั้งหมด) อีกทั้ง เมืองโฮจิมินห์ยังคงเป็นเมืองที่ได้รับการดึงดูดจากเม็ดเงิน FDI มากที่สุด มีมูลค่ามากกว่า 52.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 12.6% ของเงินลงทุนทั้งหมด รองลงมาจังหวัดบิ่นห์เยืองและฮานอย

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/economy/singapore-leads-fdi-pledges-in-vietnam-this-year-4432527.html

4 เดือนของงบประมาณฯ สิงคโปร์นำโด่งเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของเมียนมา

จากข้อมูลคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท ( DICA) พบว่า สิงคโปร์กลายเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเมียนมาในช่วงสี่เดือนของบประมาณปัจจุบัน (2564-2565) ซึ่งเริ่มในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยดึงดูดเงินลงทุนกว่า 506 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากวิสาหกิจต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาลงทุนในประเทศ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 64 ถึงวันที่ 31 ม.ค. 65 ภาคบริการครองอันดับหนึ่งของเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดด้วยเงินลงทุนกว่า 206 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  รองลงมาคือภาคการผลิตมีมูลค่าการลงทุนกว่า 114 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และภาคการก่อสร้าง 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสิงคโปร์เป็นผู้นำด้านการลงทุนด้วยเม็ดเงินกว่า 275 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ในปีงบประมาณที่แล้ว เมียนมาได้รับเงินลงทุนในประเทศกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20220207/812846d52591466085c5fa7840faf7a1/c.ht