การค้าระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 33% สู่ 585 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนมกราคม

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐอเมริกามีมูลค่าอยู่ที่ 585 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนมกราคม 2563 เพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยตัวเลขรายงานจากสำนักงานการค้าของสหรัฐฯแสดงให้เห็นว่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 38% เป็น 560 ล้านเหรียญสหรัฐในขณะที่การนำเข้าจากสหรัฐฯอยู่ที่ 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงจาก 34.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาพบว่าสินค้าส่งออกของกัมพูชาส่วนใหญ่ที่ส่งไปยังสหรัฐอเมริกา ได้แก่ สิ่งทอ รองเท้า สินค้าการท่องเที่ยวและสินค้าเกษตร ขณะที่สหรัฐฯส่งออกยานพาหนะ อาหารสัตว์และเครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ ในปี 2562 การค้าระหว่างประเทศมีมูลค่าอยู่ที่ 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562 เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50708596/cambodia-u-s-trade-volume-up-by-33-percent-to-us585-million-in-january/

โรงงานการ์เม้นท์จีนลอยแพคนงานกว่า 800 คน

เจ้าของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า Royal Apolo แห่งประเทศจีนตั้งอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมชเวปยีธา เขตย่างกุ้งได้ย้ายโรงงานไปประเทศไทยโดยไม่จ่ายเงินเดือนให้กับคนงานประมาณ 800 คน มีรายงานว่าโรงงานดังกล่าวได้ถูกเช่าและวางแผนที่จะทำการประมูลเครื่องจักรและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อจ่ายเงินให้กับคนงาน 800 คน คนงานกำลังเจอปัญหา เช่น การจ่ายค่าเช่าที่พักและอาหาร ดังนั้นจึงไม่กลับบ้าน คนงานประมาณ 600 คนต้องค้างคืนในบริเวณโรงงาน

ที่มา: https://elevenmyanmar.com/news/garment-factory-boss-slips-away-leaving-about-800-workers-unpaid

กัมพูชามุ่งหวังส่งเสริมการส่งออกสิ่งทอไปยังญี่ปุ่น

กัมพูชาเช่นเดียวกับ สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม ได้รับการสนับสนุนในการปรับปรุงพัฒนาห่วงโซ่การผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอของกลุ่ม ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้แทนจากกลุ่ม CLMV เกี่ยวกับศักยภาพการส่งออกจากทั้ง 4 ประเทศไปยังญี่ปุ่นและห่วงโซ่อุปทานระดับโลกในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเคราะห์นโยบายที่ศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่นกล่าวว่ากัมพูชาตั้งอยู่ในศูนย์กลางภูมิศาสตร์ของอาเซียนและมีเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการอธิบายประโยชน์ของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมสิ่งทอภายในกลุ่ม CLMV เกี่ยวกับการส่งออก ซึ่งผู้เข้าร่วมคาดว่าจะเข้าใจประเด็นและโอกาสที่ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอต้องเพิ่มการส่งออกไปญี่ปุ่นทุกปี ตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพสำหรับการส่งออกจากกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นคือ เสื้อผ้า รองเท้าและอุปกรณ์ โดยในปี 2561 กัมพูชาส่งออกไปญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 27.3% ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 17.8% ตามข้อมูลจากองค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50691648/hopes-to-boost-textile-exports-to-japan-with-added-value

แนวโน้มอุตสาหกรรมสิ่งทอเวียดนามปี 63 เติบโตสูงขึ้น

ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนามปี 2563 คาดว่าจะยกระดับความก้าวหน้าอุตสาหกรรม เนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และปัจจัยอื่นๆ เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีลบังคับใช้ในปีนี้ รวมไปถึงแบรนด์ต่างชาติรุกเจาะตลาดเวียดนาม ซึ่งภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอฯมีความโดดเด่นในเรื่องกระบวนการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นด้ายและการย้อมสีผ้าที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยช่วยในการผลิตสินค้า ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม ระบุว่าผลผลิตเส้นด้ายมากกว่า 2.5 ล้านตันในปี 2562 ขณะที่ ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 1.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อยู่บนพื้นฐานของพฤติกรรม/แนวคิดการเพิ่มผลิตภาพและวิธีการดำเนินงานที่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเวียดนามยังคงเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงงาน ด้วยเหตุนี้ ทางสมาคมฯ มองว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นกุญแจสำคัญต่อกระบวนการผลิตและควรส่งเสริมการฝึกอบรมให้มากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/592061/viet-nams-garment-textile-expects-boom-in-2020.html

เวียดนามเผยยอดส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 40 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายของยอดการส่งออก 40 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้ แม้ว่าบางตลาดจะเผชิญกับปัญหาอยู่ สำหรับผู้ผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ของเวียดนาม (Vietnam National Garment and Textile Group : Vinatex) เปิดเผยถึงผลประกอบการของยอดการส่งออก 29.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ โดยทางบริษัทพยายามผ่านอุปสรรคของภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบทางด้านราคาสินค้าที่ลดลงอย่างมาก เนื่องมาจากสถานการณ์สงครามการค้า แต่สถานการณ์ปัจจุบันเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น ทำให้ลูกค้าหันมาสนใจมากขึ้น ขณะที่ ราคาสินค้ากลับมาฟื้นตัวเช่นกัน ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ คาดว่าจะได้รายรับ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งธุรกิจให้ความสำคัญในการออกแบบวัสดุที่เหมาะสมกับคนเวียดนาม และสร้างความมั่นใจในเรื่องของคุณภาพสินค้า เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/textile-and-garments-likely-to-hit-40b-in-exports-this-year-405723.vov

อุตสาหกรรมสิ่งทอเวียดนามได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

จากรายงานของกระทรวงการลงทุนและวางแผนเวียดนาม เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอเวียดนามประสบภาวะเดือดร้อนอย่างหนักจากสงครามการค้า ทั้งจากการส่งออกและการผลิตที่ลดลง เนื่องมาจากความรุนแรงของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามการค้า ทำให้ยอดคำสั่งซื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน บริษัทผู้ผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม (VINATEXT) ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามการค้า โดยอุตสาหกรรมเส้นด้ายทั่วโลกนั้น มีแนวโน้มลดลง เป็นผลมาจากสงครามการค้า และการแข่งขันจากคู่แข่งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน ไทย และเวียดนาม นอกจากนี้ จากตัวเลขสถิติการค้าระหว่างประเทศของสำนักงานศุลกากร ระบุว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ มูลค่าการส่งออกสิ่งทอของเวียดนามอยู่ที่ 29.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/textile-industry-hit-by-ongoing-trade-war/162084.vnp