ธนาคาร-ผู้นำทางธุรกิจ จัดประชุมอัพเดทสถานการณ์เศรษฐกิจ สปป.ลาว ในปัจจุบัน

ธนาคาร ANZ Laos ร่วมกับ AustCham Lao จัดงานประชุมอัพเดทสถานการณ์เศรษฐกิจ สปป.ลาว ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลสถานะปัจจุบันในเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของ สปป.ลาว โดยมีเจ้าหน้าที่ธนาคาร สมาชิกหอการค้าต่างประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคเอกชนเข้าร่วม บางส่วนของกิจกรรมในงานเริ่มจากการนำเสนอของ Mr.Khoon Goh หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอเชียของธนาคาร ANZ ที่นำเสนอข้อมูลการเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจระดับโลกและระดับภูมิภาคในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อประเทศลาวในปีหน้าอย่างไร โดยเริ่มจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่กำลังเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เศรษฐกิจจะเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งก่อน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาชะลอตัวในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศจีน เริ่มมีการฟื้นตัวจากแรงผลักดันของการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และคาดการณ์ว่าเมื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจีนกลับมา ผู้บริโภคจีนก็จะมีเม็ดเงินส่วนเกินประมาณ 6.2 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ ที่จะผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศจีน และแผ่กระจายการบริโภคมายังประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงประเทศลาว นอกจากนี้ นายเพชรสถาพร แก้ววงวิจิตร อธิบดีกรมบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ธนาคารแห่ง สปป. ลาว ได้นำเสนอภาพรวมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่ประกาศใช้ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 10 ว่าด้วยการดำเนินการจัดการเงินตราต่างประเทศ โดยมุ่งเป้าไปที่การรักษาเสถียรภาพของสกุลเงินกีบ การเสริมสร้างทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และรักษามูลค่าของเงินกีบ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_236_Bankers_y23.php

สปป.ลาว-รัสเซีย ลงนามความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสนับสนุนด้านเทคนิควิทยาการ

อิเร็ก ไฟซุลลิน รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย และนายคำเจน วงโพสี รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนและการลงทุน สปป.ลาว ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า วิทยาศาสตร์ และด้านเทคนิควิทยาการ ระหว่าง สปป.ลาว และรัสเซีย ครั้งที่ 17 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้า เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และทางเทคนิควิทยาการ ภายใต้ขอบเขตของความร่วมมือทวิภาคีในด้านการค้า การธนาคาร การเงิน อุตสาหกรรม การขนส่ง พลังงาน การดูแลสุขภาพ และอื่นๆ ทั้งนี้ จากการให้ความช่วยเหลือของรัสเซียที่ผ่านมา ได้แก่ การให้โควตานักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาของ สปป.ลาว เข้ารับการฝึกอบรมในมหาวิทยาลัยของรัสเซีย และในอนาคตมีความพยายามที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศ โดยเริ่มจากการเชื่อมต่อการค้าผ่านเส้นทางรถไฟ เพื่อแสวงหาความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจใหม่ๆ และการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ขึ้นมาใหม่ รวมถึงการวางแผนที่จะเพิ่มจำนวนโครงการร่วมลงทุนในด้านการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_236_Lao_Russian_y23.php

World Bank วิเคราะห์เศรษฐกิจ สปป.ลาว ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

World Bank หรือธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจ สปป.ลาว จะเติบโตที่ร้อยละ 4.1 ในปี 2567 แต่ความท้าทายจะยังคงมีอยู่ จากผลของอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น หนี้ต่างประเทศที่สูง และขาดแคลนแรงงาน การขยายตัวทางเศรษฐกิจ สปป.ลาว ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว บริการขนส่งและโลจิสติกส์ และการลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น แต่อัตราการเติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า ตามข้อมูลของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทำให้ต้นทุนการบริโภคและธุรกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายของครัวเรือนในด้านอาหาร การศึกษา และสุขภาพลดลง อัตราเงินเฟ้อยังทำให้เงินออมลดลง ส่งผลให้หลายครอบครัวเสี่ยงต่อการตกอยู่ในความยากจน “แม้ว่าราคาสินค้านำเข้าบางชนิดในตลาดโลกจะลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อของลาวยังคงอยู่ในระดับสูง โดยสูงถึงร้อยละ 26 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยอัตราเงินเฟ้อของราคาอาหารอยู่ที่ร้อยละ 29 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อครัวเรือนที่ยากจน” นอกจากนี้ ค่าเงินของประเทศที่อ่อนค่าลงเป็นสาเหตุหลัก โดยเฉลี่ยแล้ว ค่าเงินกีบที่ลดลงร้อยละ 1 จะทำให้ราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อจะยังคงสูงจนกว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ เงินกีบอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2566 โดยมีมูลค่าลดลงร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับเงินบาท และร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจนถึงเดือนตุลาคม ความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศและการไหลเข้าของรายได้จากการส่งออกที่จำกัด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจลาว

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_235Laossees_23.php

มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว-เกาหลี วางแผนจัดตั้งอุตสาหกรรมนมใน สปป.ลาว

มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (NUOL) และมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (SNU) ประเทศเกาหลีใต้ กำลังหารือกันถึงแผนการจัดตั้งฟาร์มโคนมในประเทศลาว หลังจากเปิดตัวหลักสูตรโคนมครั้งแรกในภาควิชาปศุสัตว์ที่คณะเกษตรศาสตร์ NUOL คาดว่าโครงการนี้จะใช้เวลาดำเนินการ 7 ปี ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 4 ส่วน ภายใต้มูลค่ารวม 2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขั้นแรกได้เปิดสอนหลักสูตรผลิตภัณฑ์นมที่กรมปศุสัตว์ ตามด้วยการเขียนตำราเรียนและสื่ออื่นๆ ให้นักศึกษาและคณาจารย์นำไปใช้ จากนั้นอาจารย์และนักวิจัยชาวลาวจะได้รับเชิญให้ไปเยือนเกาหลีเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัยของตนสุดท้ายจะมีการสร้างฟาร์มต้นแบบและโรงงานผลิตนมที่คณะเกษตรโดยร่วมมือกับบริษัทการเกษตรในประเทศลาว เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เรียนรู้ไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของ สปป.ลาว

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_234_Lao_Korean_y23.php

นายกฯ สปป.ลาว แนะชาวพงสาลีผลิตสินค้าเกษตรและหัตถกรรมเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น

นายกรัฐมนตรี สนชัย สีพันโดน แนะนำหน่วยงานในเมืองพงสาลีให้กระตุ้นการพัฒนาแต่ละท้องถิ่นตามศักยภาพในการปลูกพืช ผลิตสินค้าหัตถกรรม และเลี้ยงปลา เพื่อการส่งออก และยังได้แนะนำให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสอนชาวบ้านถึงวิธีที่ดีที่สุดในการปลูกพืชและเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อเพิ่มผลผลิต ตลอดจนยกระดับมาตรฐานการศึกษาและขยายเครือข่ายการดูแลสุขภาพให้กับทุกหมู่บ้าน นอกจากนี้ ได้เข้าเยี่ยมชมหมู่บ้านหนองกินลี ซึ่งชาวบ้านบางส่วนถูกย้ายออกจากหมู่บ้านกอมานใหม่ หลังถูกน้ำท่วมขณะสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำอู โดยเจ้าหน้าที่หมู่บ้านหนองกินลีสรุปปัญหาที่ชาวบ้านกำลังเผชิญอยู่รวมถึงการดำเนินกิจการเหมืองถ่านหินบริเวณรอบหมู่บ้าน ซึ่งทำให้สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนแย่ลง นอกจากนี้ พวกเขาไม่มีที่ดินเพียงพอที่จะปลูกพืชผลและการเข้าถึงพื้นที่เพาะปลูกของพวกเขาก็ทำได้ยาก ปัญหาอีกประการหนึ่งคือไม่มีระบบชลประทานเพียงพอที่จะใช้เพาะปลูก ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาจัดสร้างระบบน้ำบาดาลให้มีน้ำเพียงพอกับความต้องการของชาวบ้าน

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_234_PM_y23.php

สะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 5 คืบหน้า 80% คาดเปิดใช้ปีหน้า

งานก่อสร้างสะพานมิตรภาพลาว-ไทย ข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 คืบหน้าแล้วกว่า 80% และคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้งานได้ภายในปีหน้า โดยงานก่อสร้างที่เหลือบนสะพานซึ่งเชื่อมโยงจังหวัดบึงกาฬของไทยกับแขวงคำม่วนทางตอนกลางของ สปป.ลาว จะเสร็จสิ้นในปี 2567 บางกอกโพสต์อ้างคำพูดของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย มานะพร เจริญศรี สะพานแห่งใหม่นี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า ผู้คน และบริการ และเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทย ลาว และเวียดนาม จากพันล้านบาทเป็นหมื่นล้านบาท สะพานนี้รวมถึงถนนทางเข้ามีระยะทาง 16.18 กิโลเมตร โดย 12.13 กม. เป็นของประเทศไทยและส่วนที่เหลือเป็นของประเทศลาว โดยสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางคมนาคมใหม่ผ่านจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม และสกลนคร เมื่อสะพานเปิดใช้ ยานพาหนะจำนวนมากจะใช้เส้นทางนี้ ดังนั้น แนวทางถนนสายเดี่ยวที่มีอยู่จะต้องได้รับการปรับปรุงและเปลี่ยนเป็นทางคู่

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_233_5th_y23.php