หนี้สาธารณะแตะ 60.58% ครม.ยันไม่หลุดกรอบวินัยการคลัง

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) รายงานว่า ณวันที่ 31 มี.ค.2565 โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี (GDP) อยู่ที่ 60.58 ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบที่กำหนดไม่เกินร้อยละ 70 ส่วนสัดส่วนภาระหนี้ต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณร้อยละ 26.77 กรอบที่กำหนด ไม่เกินร้อยละ 35 จากเการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจ เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ปริมาณหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เป็นผลให้ช่วงเดือนมี.ค.นี้มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ที่มา: https://www.naewna.com/business/657084

อุตสาหกรรมชีวภาพโต! ต่างชาติลงทุน 7.6 หมื่นล้านบาท มุ่งสู่ฮับอาเซียน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26-27 พ.ค. ว่า ส่วนหนึ่งของการกล่าวปาฐกถาบนเวที นิคเคอิ ฟอรั่ม นายกฯได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่มุ่งเป้าสร้างความสมดุล ลดความเหลื่อมล้ำและขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพของอาเซียน (Bio Hub of ASEAN) ภายในปี 2570 ทั้งนี้ เฉพาะปี 64 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพ เช่น การเกษตรและแปรรูปอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ รวม 222 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 76,500 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Thermoplastic starch ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก 2.โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid ในจังหวัดนครสวรรค์ และ 3.โครงการผลิตหลอดดูดน้ำย่อยสลายได้จากเศษแป้ง จังหวัดขอนแก่น

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2405417

‘ททท.’ เตรียมเอกชนพร้อมเปิดประเทศเต็มสูบ ชี้ต่างชาติจ่อเที่ยวไทย 1 ล้านคนต่อเดือน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จากกำหนดการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบเต็มรูปแบบ ในวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ททท. โดยได้ปรับคาดการณ์ว่าตลอดเดือนพ.ค.-ก.ย.นี้ ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) 5 เดือน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 5 แสนคนต่อเดือน สูงกว่าที่เคยตั้งไว้ 3 แสนคนต่อเดือน และในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ซึ่งตรงกับไตรมาส 4 ของปี (ต.ค.-ธ.ค.) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน หากรวมกับ 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ที่มียอด 4.44 แสนคน ประเมินว่าแนวโน้มตลอดปี มีโอกาสถึง 7-10 ล้านคน ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวไทยตั้งเป้าที่ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวทั้งปี ที่ 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 50% เมื่อเทียบกับก่อนเจอวิกฤตโควิด-19 เมื่อปี 2562

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_3362591

สภาอุตฯ ขอแรงจีนช่วย ยกระดับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ส.อ.ท. ได้ร่วมหารือกับท่านทูตหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย โดยได้หารือถึงการแลกเปลี่ยนนโยบาย และแนวทางความร่วมมือ ในด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน การถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล 5.0 เพื่อนำมาปรับใช้ในทุกภาคธุรกิจ เช่น การนำเทคโนโลยีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ซึ่งจะเป็นการนำร่องให้อุตสาหกรรม และผู้ประกอบการไทย ต้องเร่งปรับตัว และยกระดับการแข่งขัน ให้เท่าเทียมกับตลาดโลกในทุกๆ มิติ อีกทั้ง ยังได้ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดกิจกรรมอบรม “Thai SME GP แต้มต่อธุรกิจดิจิทัล และอุปกรณ์การแพทย์ สู่คู่ค้าภาครัฐ  ณ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะมีการจัดอีกจำนวน 3 ครั้ง ที่เชียงใหม่ ขอนแก่น และกรุงเทพฯ ตามลำดับ

ที่มา: https://www.naewna.com/business/655231

เอกชนคาดส่งออกอาหารโต 9.3% มูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า สถาบันฯ ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รายงานการส่งออกอาหารในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 28.8 คิดเป็นมูลค่ากว่า 286,000 ล้านบาท เนื่องจากประเทศคู่ค้านำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะกลับมาคึกคักในช่วงที่หลายประเทศเตรียมการเปิดประเทศและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารที่ผลิตเพื่อการส่งออก โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า มีเพียงการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและอาหารพร้อมรับประทานเท่านั้นที่การส่งออกลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจากทางการจีนเข้มงวดในมาตรการนำเข้าสินค้าเพื่อควบคุมโควิด-19 ทำให้ผลไม้ส่งออกของไทยโดยเฉพาะทุเรียนหดตัวลง และแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือ คาดว่า จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.4 คิดเป็นมูลค่ากว่า 913,900 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการที่มีแนวโน้มฟื้นตัว และทั้งปีมั่นใจว่าการส่งออกอาหารจะขยายตัวได้ร้อยละ 9.3 คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/economy/news_341602/

สภาพัฒน์ หั่นเศรษฐกิจปี 65 โตเหลือ 3%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2565 ขยายตัว 2.2% จากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ซึ่งปรับลดลงจากที่ประมาณไว้เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2565 ก่อนที่มีสงครามรัสเซียยูเครน โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2.5-3.5% หรือ ค่าเฉลี่ยกลางอยู่ที่ 3% จากเดิมที่คาดไว้ก่อนหน้าจะขยายตัวได้ 3.5-4.5% ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากการยืดเยื้อของสงครามรัสเซียยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันแพง ส่งผลต่อเงินเฟ้อสูงถึง 4.2 – 5.2% นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนไทยสูง โดยเฉพาะหนี้เสียของครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/683242

เดือนเม.ย. ของปีงบประมาณ 65-66 ค้าชายแดนเมียนมา-ไทยลดลง 12.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ระบุเดือนเม.ย.2565 ของปีงบประมาณปัจจุบัน 2564-2565 มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างของเมียนกับไทยลดลง 12.798 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าการส่งออกมีมูลค่ากว่า 240.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้ากว่า 92 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ารวม 332.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2563-2564 ที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 345.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยผ่านด่านชายแดน 7 แห่ง ได้แก่ ชายแดนท่าขี้เหล็ก เขตการค้าเมียวดี ชายแดนเมียวดี ชายแดนคอทุ่ง ชายแดนตีกี และชายแดนมะริด โดยเมียนมาส่งออกข้าวโพดไปไทยผ่านชายแดนเมียวดีและท่าขี้เหล็ก นอกจากนี้ การส่งออกก๊าซธรรมชาติจากเขตตะนาวศรีมีส่วนทำให้การค้าชายแดนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้เมียนนมาส่งออกก๊าซธรรมชาติ สินค้าประมง ถ่านหิน ดีบุกเข้มข้น (SN ร้อยละ 71.58) มะพร้าว (สด/แห้ง) ถั่ว ข้าวโพด หน่อไม้ งา เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ไม้อัดและวีเนียร์ ข้าวหัก และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ส่วนการนำเข้าจะเป็นสินค้าทุน อาทิ เครื่องจักร สินค้าวัตถุดิบอุตสาหกรรม อาทิซีเมนต์และปุ๋ย และสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิเครื่องสำอาง น้ำมันพืช และผลิตภัณฑ์อาหารจากไทย

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-thailand-border-trade-down-by-12-79-mln-in-april/

เปิดพรมแดนกระตุ้นการท่องเที่ยว กัมพูชา-ไทย-เวียดนาม

หลังจากที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้เปิดพรมแดนระหว่างกัมพูชาอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สมาคมและบริษัทเอกชนหลายแห่งในภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชา ไทยและเวียดนาม ได้ร่วมมือกันวางแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมสมาชิกในสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) ได้ร่วมหารือระหว่างกัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจ เกี่ยวกับการเดินทาง ตลอดจนการจัดทำเอกสาร ณ ด่านตรวจชายแดนทั้งฝั่งกัมพูชาและไทย โดยคาดว่าการไหลของนักท่องเที่ยวทางบกจะเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้นหากฝ่ายไทยผ่อนคลายเงื่อนไขหรือเอกสารบางอย่าง ซึ่งปัจจุบันข้อกำหนดจากฝั่งไทยยังคงไม่แน่นอนในหลายประเด็น ในขณะที่ทางฝั่งกัมพูชารายงานว่าได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ อย่างนครวัดมีจำนวนนักท่องเที่ยวพุ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ 622 หรือเป็นจำนวน 33,205 คนในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ สร้างรายได้ประมาณ 1.35 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว มีนักเดินทางมาเยือนถึง 13,365 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501072171/border-opening-boost-tourism-among-cambodia-thailand-vietnam/

‘พาณิชย์’ ดึงญี่ปุ่นลงทุนไทยชูใช้สิทธิ ‘FTA-RCEP’ ปักหมุดอุตสาหกรรม BCG

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ ประธานเปิดงานสัมมนาเชิงนโยบาย “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้ามิติใหม่ ไทย – ญี่ปุ่น” โอกาสฉลองครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น ว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องนโยบายและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน ในมิติใหม่ที่สอดรับกับสถานการณ์โลกหลังวิกฤตโควิด-19 โดยมีเป้าหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมของกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ พลังงานสะอาด สุขภาพและการแพทย์

ทั้งนี้ ไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่น ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น (AJCEP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นเติบโตอย่างมาก

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/138495/

สะพานมิตรภาพลาว-ไทยเปิดอีกครั้ง ด้านสปป.ลาวแอร์ไลน์วางแผนเที่ยวบินเพิ่ม

จุดผ่านแดนหลักของสปป.ลาวที่สะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งแรกที่เชื่อมระหว่างเวียงจันทน์กับจังหวัดหนองคายในประเทศไทย ได้เปิดขึ้นอีกครั้งหลังจากถูกปิดมานานกว่าสองปีเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของ Covid-19 ด้วยการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทาง ชาวต่างชาติและคนไร้สัญชาติสามารถเข้าและออกจากลาวได้อย่างอิสระในเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยมี 100 คนข้ามสะพานมายังประเทศไทย ขณะที่อีกเกือบ 300 คนเข้าสู่ลาว ด้านสายการบินจะเพิ่มเที่ยวบินระหว่างเวียงจันทน์และกรุงเทพฯ เป็น 2-3 เที่ยวต่อสัปดาห์ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม รัฐบาลได้เรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบธุรกิจ และทุกภาคส่วนในสังคม เตรียมพร้อมต้อนรับและให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างอบอุ่น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten87_Lao_thai_y22.php