การรวมกลุ่มกว่า 100 บริษัทจากทั้งกัมพูชาและเวียดนาม

บริษัท จากกัมพูชาและเวียดนามกว่า 100 รายเริ่มสร้างเครือข่ายทางธุรกิจครั้งแรกจัดขึ้นโดยชมรมธุรกิจเวียดนามแห่งกัมพูชา (VBCC) ซึ่งงานนี้จัดขึ้นที่สถานเอกอัครราชทูตเวียดนามในกรุงพนมเปญ โดยเป็นการรวมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของทั้งสองประเทศมารวมตัวกัน โดย Farax (กัมพูชา), Ws Asia Pacific, Cargo, Angkor Milk และ MekongNet เป็นหนึ่งใน บริษัท ของกัมพูชาที่เข้าร่วมการประชุม ด้านเวียดนามมี Metfone, Cargoteam, BMB Steel และธนาคาร เช่น Sacombank, Agribank และธนาคารเพื่อการลงทุนและพัฒนากัมพูชา (BIDC) นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจากจังหวัด An Giang ของเวียดนาม ซึ่งเชื่อว่าธุรกิจจากทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์จากการรวมตัวกันในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนชาวเวียดนามและ SMEs ในการค้นพบศักยภาพของตลาดกัมพูชา  ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ซึ่งปัจจุบันเวียดนามเป็นหนึ่งในคู่ค้าและนักลงทุนที่สำคัญที่สุดของกัมพูชา ซึ่งมีบริษัทจากเวียดนามกว่า 200 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50664448/event-draws-100-firms-from-vietnam-cambodia/

โครงการสัมมนาส่งเสริมการค้าเวียดนาม-กานา

จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ระบุว่างานสัมมนาส่งเสริมการค้าในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยนำคณะผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าประเทศกานาเข้ามาเยี่ยมชม ซึ่งจุดประสงค์ของกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการทำธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการเวียดนามกับกานา ให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศกานาถือว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ด้วยรายได้ต่อหัวมากกว่า 2,316 เหรียญสหรัฐต่อปี ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจากตัวเลขสถิติการค้าเวียดนามกับกานา ในปี 2561 อยู่ที่ 572.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามไปยังประเทศกานา ได้แก่ ข้าว เครื่องใช้ในครัวเรือน และเหล็กกล้า เป็นต้น ขณะที่ เวียดนามนำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และไม้ เป็นต้น

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/business-seminar-to-promote-vietnam-ghana-trade-406676.vov

บิ่นห์เยืองดึงดูดเม็ดเงิน FDI พุ่งสูงขึ้น 69%

จากรายงานของระบบฐานข้อมูลส่วนกลางเวียดนาม (VGP) เปิดเผยว่าจังหวัดบิ่นห์เยือง (Binh Duong) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ได้ดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอยู่ที่ 9.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2559 – เดือนตุลาคม 2562 นับว่าเม็ดเงินลงทุนดังกล่าว เกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ โดยส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนไปภาคอุตสาหกรรม การค้า และบริการ ทั้งนี้ เพื่อดึงดูเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศอย่างยั่งยืนในจังหวัด ทำให้ต้องมีการปรับปรุงโปรแกรมการลงทุนในช่วงปี 2559-2563 เพื่อจุดประสงค์ในการเพิ่มเงินทุน FDI กว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ในปี 2561 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 49.6 ของการลงทุนทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของงบประมาณจังหวัด

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/fdi-poured-into-binh-duong-up-69-percent-406678.vov

ภาคการขนส่งเวียดนาม ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานกว่า 2 ล้านคน

จากข้อมูลของสมาคมโลจิสติกส์เวียดนาม (VLA) เปิดเผยว่าภาคโลจิสติกส์เวียดนามมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละมากกว่า 10 ต่อปี และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งตัวเลขสถิติ แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบัน เวียดนามมีบริษัทรับจัดส่งสินค้า 30,000 แห่ง รวมถึง 4,000 แห่ง ที่ดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าในประเทศและระหว่างประเทศ หากจำแนกออกเป็นขนาดธุรกิจ พบว่าส่วนใหญ่ธุรกิจโลจิสติกส์เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนแรงงานกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องมาจากเวียดนามเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการตกลงความร่วมมือการค้าเสรี (FTA) โดยคาดว่าในอีก 3 ปีข้าวหน้า ธุรกิจโลจิสติกส์เวียดนามต้องการพนักงานใหม่ 18,000 คน ทำให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องส่งเสริมคุณภาพการฝึกอบรมแรงงานในภาคโลจิสติกส์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ตลาดโลจิสติกส์และคลังสินค้าเวียดนาม คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 13.3 ในช่วงปี 2561-2565

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnams-logistics-sector-faces-labor-shortage-of-2-million-people-406638.vov

การรถไฟเวียดนามปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน

จากข้อมูลของการรถไฟแห่งเวียดนาม (VNR) ได้ทำการวางแผนที่จะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟที่ตอบสนองต่อความต้องการผู้ใช้บริการ รวมถึงการสร้างตู้รถไฟโดยสารใหม่ 300 คัน และสั่งซื้อหัวรถจักรเพิ่มมากขึ้น ในปี 2566 เนื่องมาจากตู้รถไฟโดยสารล้าสมัย ส่งผลต่อการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษาที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ทางการรถไฟแห่งเวียดนามได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ ในการส่งเสริมการลงทุนตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ด้วยการที่หุ้นส่วนจะสร้างรถไฟ และเสนอให้ทางการรถไฟเวียดนามทำการลงนามข้อตกลงสัญญาเช่าซื้อ ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะลดลงร้อยละ 10 ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 300 พันล้านด่อง (12.9 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อสร้างตู้รถไฟและค่าบำรุงรักษา ด้วยมูลค่า 40 พันล้านด่อง ด้วยเหตุนี้ ทางการรถไฟเวียดนามต้องใช้เงินราว 300 พันล้านด่อง แทนที่จะต้องเสียเงิน 340 พันล้านด่อง โดยไม่จำเป็นต้องกู้เงิน ซึ่งจะประหยัดเงินทุนอย่างมาก

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnam-railways-to-upgrade-infrastructure-406655.vov

เวียดนามตั้งเป้า GDP ขยายตัว 7% ในปี 2564-2568

จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลและวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NCIF) คาดการณ์ว่าเวียดนามจะมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเวียดนาม (GDP) ที่ระดับร้อยละ 7 ต่อปี ในช่วงปี 2564-2568 สำหรับเศรษฐกิจมหภาคอยู่ในระดับทรงตัว อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 ต่อปี และผลิตภาพแรงงานจะขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี โดยข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) คาดว่าจะมีผลกระทบเขิงบวกมากกว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เนื่องมาจากมีกลุ่มประเทศที่ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับเวียดนามอยู่แล้ว ซึ่งทั้ง 2 ของความตกลงการค้าเสรีดังกล่าวนั้น จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมาก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมาก ได้แก่ เสื้อผ้า สิ่งทอ และรองเท้า  เป็นต้น นอกจากนี้ เขตการค้าเสรีจะช่วยให้เวียดนามปรับปรุงนโยบายและสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnams-gdp-expected-to-expand-7-in-20212025-406577.vov