กรุงฮานอยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 62

จากข้อมูลของสำนักสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้  กรุงฮานอยดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ ด้วยมูลค่า 6.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.5 ของการลงทุนโดยรวมจากต่างประเทศ รองลงมานครโฮจิมินห์ และจังหวัดบิ่ญเซือง (Binh Duong) ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน เวียดนามดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) อยู่ที่ 26.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลขการลงทุนดังกล่าว มีมูลค่าเงินทุนไหลเข้าประมาณ 10.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยโครงการใหม่กว่า 2,760 โครงการ รวมไปถึงบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุน 10.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังคงได้ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด ตามมาด้วยภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการค้าปลีกค้าส่ง ตามลำดับ และประเทศฮ่องกง (จีน) เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด ตามมาด้วยเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/hanoi-most-attractive-to-foreign-investors-in-nine-months/161332.vnp

เวียดนามเผยส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ และประมง พุ่งสูงขึ้น 2.7% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 62

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) เปิดเผยว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ป่าไม้ และประมงของเวียดนามอยู่ที่ 30.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน เวียดนามนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากต่างประเทศกว่า 23.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยปัจจัยที่ทำให้เวียดนามส่งออกเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากได้รับแรงหนุนของผลิตภัณฑ์ป่าไม้ และผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ ในส่วนของผลิตภัณฑ์ส่งออกที่มีมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำมาจากไม้ และไม้แปรรูป กาแฟ ข้าว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผักผลไม้ และกุ้ง เป็นต้น

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/agroforestryfishery-exports-up-27-percent-in-nine-months-403952.vov

อุตสาหกรรมเวียดนามเติบโตสูงที่สุด ในรอบ 4 ปี

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเติบโตร้อยละ 9.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา และดัชนีภาคอุตสาหกรรม (IIP) ยังคงอยู่ในระดับเติบโตอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 11.37 รองลงมาภาคการผลิตไฟฟ้าและจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 และภาคการจัดหาน้ำประปาเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.43 ในขณะที่ ภาคการขุดเหมืองแร่ เริ่มส่งสัญญาขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 2.68  หลังจากหลายปีที่ผ่านมาลดลง เนื่องมาจากการใช้ถ่านหินที่เพิ่มขึ้น โดยผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำคัญที่มีการเพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็ก ปิโตรเลียม โทรทัศน์ และอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำ

ที่มา : https://en.nhandan.com.vn/business/item/7968902-vietnam%E2%80%99s-industrial-growth-hits-four-year-high.html

เวียดนามคาดเกินดุลการค้า ในปี 2562

จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 แม้ว่าสถานการณ์ตลาดทั่วโลกชะลอตัว จากการบริโภคและการนำเข้าที่ลดลง แต่สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของเวียดนามยังคงเกินดุลการค้าอยู่ที่ 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการส่งออกรวม 194.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน จากข้อมูลของ Trading Economics กล่าวว่าสถานการณ์การค้าเวียดนามในปีนี้ มีทิศทางที่เป็นบวก โดยเฉพาะอย่าง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงผลของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เช่น CPTPP และ EVFTA ล้วนส่งผลให้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และช่วยสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคอุตสาหกรรมและการแปรรูป นอกจากนี้ จากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ระบุว่าหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักการส่งออกของเวียดนาม คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ผลิตโดยธุรกิจ Samsung, LG และ Cannon เป็นต้น

ที่มา : https://en.nhandan.com.vn/business/item/7969702-trade-surplus-expected-for-2019.html

เวียดนามเผยยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติพุ่ง 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562

จากข้อมูลของสำนักงานการลงทุนจากต่างประเทศ (FIA) เปิดเผยว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 เวียดนามดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ 26.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติยังคงสนใจลงทุนในภาคการผลิตและแปรรูปมากที่สุด ด้วยมูลค่าประมาณ 18.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69.1 ของการลงทุนจากต่างชาติรวม ตามมาด้วยภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยมูลค่า 2.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และภาคการค้าปลีกค้าส่ง ด้วยมูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งกว่า 109 ประเทศทั่วโลกที่ลงทุนในเวียดนาม ประเทศฮ่องกง (จีน) เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่าราว 5.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ตามลำดับ โดยเมือง/จังหวัดที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติมากที่สุด ได้แก่ นครฮานอย รองลงมาเมืองโฮจิมินห์ และบิ่ญเซือง ตามลำดับ

ที่มา : https://en.nhandan.com.vn/business/item/7967502-vietnam%E2%80%99s-fdi-inflows-reach-over-us$26-billion-in-nine-months.html

ผู้ว่านครพนมจับมือหอการค้าจังหวัด เยือนฮ่าห์ติ๋งห์-กว่างบิงห์วางแนวปฏิบัติร่วม

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย และคณะหัวหน้าส่วนราชการ หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรม สมาคมเวียดนามแห่งประเทศไทย ภาคเอกชนจังหวัดนครพนม ได้เข้าเยี่ยมเยือนจังหวัดฮ่าติ๋งห์และกว่างบิ่งห์ เมื่อวันที่25-26 กันยายน ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสนอให้รัฐบาลกลางสนับสนุนการปรับปรุงเส้นทางหลวง R8 เพื่ออำนวยความสะดวกความเชื่อมโยง การขนส่งสินค้าและประชาชนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้แวะเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษของท่าเรือน้ำลึกหวุ๋นอ๋าง ที่สามารถเชื่อมโยงได้ทั่วโลก โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงถนนทางหลวง R12 และเสนอให้รัฐบาลนำเส้นทางดังกล่าวเข้าบรรจุในข้อตกลงการอำนวยความสะดวกการขนส่งภายใต้กรอบลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion Cross Border Trade Agreement) เพื่อส่งเสริมการไปมาหาสู่กันและร่นระยะเวลาการขนส่งระหว่างกัน ฝ่ายเวียดนามขอพิจารณาการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรแก่สินค้าศักยภาพ เช่น อาหารทะเล และเอกอัครราชทูตฯ ขอให้จังหวัดพิจารณาเชิญผู้แทนภาคเอกชนไทย สปป.ลาวและเวียดนาม ร่วมเดินทางกับคณะผู้แทนภาครัฐ เพื่อหารือถึงการร่วมทุนเพื่อเปิดเส้นทางเดินรถโดยสาร ไทย-ลาว-เวียดนาม ผ่านเส้นทาง R12 ทั้งนี้เอกอัครราชทูตฯ และรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม หอการค้าได้เข้าร่วมการประชุมผู้บริหารระดับสูง 3 ประเทศ 9 จังหวัด ครั้งที่ 22ประกอบด้วย จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม และสกลนคร แขวงบอลิคำไซ แขวงคำม่วน จังหวัดเหงะอาน ฮาติ๋งห์ และกวางบิ่งห์ ซึ่งที่ประชุมได้รายงานผลการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันในทุกมิติ โดยที่ประชุมเอกอัครราชทูตฯ เสนอวาระสำตัญให้มีแนวทางปฏิบัติดังนี้ 1.การพัฒนาให้เส้นทาง R12 เป็นระเบียงเศรษฐกิจโดยผลักดันให้เกิดการลงทุนบนเส้นทาง อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยวและสถานีบริการยานพาหนะและผู้เดินทาง เพื่อให้ทั้งสามประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน 2.ให้ภาคเอกชนพิจารณาจัดตั้งบริษัทร่วมทุนการรถโดยสารสามฝ่ายระหว่างไทย สปป. ลาวและเวียดนาม 3.จัดตั้งการหารือกลุ่มย่อยในเรื่องที่ต้องมีการพิจารณารายละเอียดและคัดเลือกประเด็นสำคัญขึ้นหารือระหว่างผู้บริหารจังหวัดในที่ประชุมใหญ่ เพื่อต่อยอดและกระชับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป 4.เพิ่มจังหวัดของไทยที่มีความสัมพันธ์กับเวียดนามและ สปป.ลาวเข้าร่วมประชุมเพิ่มเติม อาทิ จ.อุดรธานีและ จ.อุบลราชธานี และ 5. เชิญให้ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทเดินรถ เข้าร่วมการประชุมเพิ่มเติมและอาจะแยกหารือกันโดยตรงแบบกลุ่มย่อยเป็นเรื่อง ๆ ไป

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9620000093893