‘อีเบย์’ ยกอีคอมเมิร์ซอาเซียนโตไม่หยุด ‘ไทย’ ยืน 1 ตีตลาด 10 ประเทศทั่วโลก

นายวิทเมย์ ไนยนี ผู้อำนวยการประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย eBay International CBT (Cross Border Trade) กล่าวว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลมีส่วนช่วยให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกไปยังตลาดทั่วโลกได้อย่างลงตัว ด้วยพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่ดี มีบุคลากรที่มีความสามารถในด้านต่าง ๆ ความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งมีสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นที่ต้องการของตลาดมากมาย”

ทั้งนี้ ประเด็นน่าสนใจข้อหนึ่ง คือผู้ขายไทยที่ถือเป็นกิจการขนาดเล็กบนอีเบย์นั้น ขายสินค้าส่งออกทั้ง 100% แสดงให้เห็นว่าแพลตฟอร์มอีเบย์เป็นช่องทางที่ช่วยขยายโอกาสให้ผู้ขายเข้าถึงผู้ซื้อจากทั่วทุกมุมโลก ขณะที่ผู้ขายใหม่สามารถทำยอดขายแตะระดับ 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2563 และก้าวขึ้นมาเป็นกิจการขนาดเล็กบนอีเบย์ได้ภายใน 4 ปี ซึ่งในบรรดาผู้ขายไทยที่นับว่าเป็นกิจการขนาดเล็กบนอีเบย์ในปี 2563 นั้น มีถึง 56% ที่เป็นผู้ขายใหม่

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/tech/1016195

มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาเพิ่มขึ้นเป็น 970 ล้านดอลลาร์

มูลค่าตลาดของอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 19 หรือคิดเป็นมูลค่า 970 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามการรายงานของ iTrade Bulletin ของกระทรวงพาณิชย์ โดยมูลค่าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ หรือเกือบสองเท่าภายในปี 2025 ซึ่งรายได้ของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่มาจากสินค้าแฟชั่น 263 ล้านดอลลาร์, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 254 ล้านดอลลาร์ ,สินค้าความงาม สุขภาพ 230 ล้านดอลลาร์ และ สินค้าอื่นๆ ได้แก่ อาหาร 57.19 ล้านดอลลาร์, เครื่องดื่ม 44.29 ล้านดอลลาร์, เฟอร์นิเจอร์ 46.29 ล้านดอลลาร์, ของเล่น 62.94 ล้านดอลลาร์ และสื่อ 11.19 ล้านดอลลาร์ โดยในรายงานระบุว่าประมาณร้อยละ 54.9 ของธุรกรรมอีคอมเมิร์ซดำเนินการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตบนเดสก์ท็อปพีซี ในขณะที่ส่วนที่เหลือใช้งานบนแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501105754/e-commerce-market-value-rises-19-to-970-million/

‘เวียดนาม’ เผยตลาดธุรกิจห้องเย็น มีโอกาสแตะ 295 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2568

บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร Cushman & Wakefield เปิดเผยว่าตลาดธุรกิจห้องเย็น (Cold Storage) ของเวียดนาม มีแนวโน้มอยู่ที่ 295 ล้าน เหรียญสหรัฐในปี 2565 เนื่องมาจากมีความต้องการที่จะกระจายวัคซีนและการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารทะเล และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดธุรกิจห้องเย็นของเวียดนามเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ตามกระแสการจัดส่งอาหาร (Food Delivery) และอีคอมเมิร์ซ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 15 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคเริ่มหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกและสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งกระตุ้นความต้องการธุรกิจห้องเย็นที่สูงขึ้นและการลงทุนเพิ่มเติมในห่วงโซ่อุปทานห้องเย็น

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-cold-storage-market-forecast-to-hit-us295-million-by-2025-320204.html

 

YesPls แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ลาว ส่งเสริมอีคอมเมิร์ซสปป.ลาว

TK Group พัฒนาแพลตฟอร์มการช้อปปิ้งออนไลน์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไปผ่านการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น “YesPls” เพื่อส่งเสริมอีคอมเมิร์ซและช่วยให้ SMEs เติบโตในยุคดิจิทัลในสปป.ลาว พิธีเปิดตัวแอปพลิเคชั่น YesPls อย่างเป็นทางการจัดขึ้นที่ Lao-ITECC ในเวียงจันทน์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา การจัดตั้งแอปพลิเคชัน YesPls เป็นการรวมตัวกันของร้านค้ากว่า 500 แห่งที่มีสินค้ามากกว่า 2,000 รายการ รวมถึงสินค้านำเข้าและสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่น และสินค้าเหล่านี้มีให้เลือกซื้อ โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตในประเทศลาว แพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นนี้เป็นสะพานเชื่อมที่ทันสมัยระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ เพื่อให้พวกเขาสามารถพบกันและแลกเปลี่ยนสินค้าคุณภาพสูงได้หลากหลาย ด้วยการชำระเงินที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น และบริการจัดส่งที่รวดเร็วยิ่งขึ้นทั่วประเทศ แอปพลิเคชันจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของ SMEs สปป.ลาวและการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ลาว โดยในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าที่จะขยายบริการช้อปปิ้งออนไลน์ทั่วสปป.ลาว

 ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Online_shopping_46.php

เทรนด์อีคอมเมิร์ซ ‘เวียดนาม’ ดันธุรกิจ บริการขนส่งโต

ตามข้อมูลของสมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนาม (VECOM) รายงานว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในเวียดนาม เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 38% หากนับตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยที่ 33% ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอีคอมเมิร์ซในเวียดนาม เมื่อปีที่แล้วตลาดออนไลน์ยักษ์ใหญ่เติบโตราว 8-50% ทั้งนี้ ยอดคำสั่งซื้อบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ย. ในปีที่แล้ว สาเหตุมาจากการเข็มงวดของมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และคาดการณ์ว่ายอดคำสั่งซื้อจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 8-10% ต่อปี นอกจากนี้ ธุรกิจให้บริการขนส่งเตรียมการตอบสนองกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดย ณ สิ้นเดือน ก.ย.64 จำนวนผู้ให้บริการไปรษณีย์ในเวียดนามสูงถึง 650 ราย เพิ่มขึ้น 67 รายเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1158307/fast-growing-e-commerce-fuels-delivery-service-boom-in-viet-nam.html

‘เวียดนาม’ ก้าวเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2569

Facebook และ เบน แอนด์ คอมพานี (Bain & Company) ได้เปิดตัวผลการศึกษาประจำปีที่มีชื่อว่า SYNC Southeast Asia พบว่าเวียดนามจะกลายมาเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่าธุรกรรมในตลาดอีคอมเมิร์ซ (GMV) สูงถึง 56 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2569 และพุ่ง 4.5 เท่าของมูลค่าที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้ โดยผลการศึกษาดังกล่าว ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคดิจิทัล 16,700 คน และพนักงานระดับ C มากกว่า 20 คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกลุ่มตัวอย่างที่มาจากเวียดนาม 3,579 คน แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวเวียดนามราว 49% หันมาใช้ตลาดออนไลน์ใหม่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยด้านราคา (45%), คุณภาพสินค้า (34%) และสภาพพร้อมใช้งานของสินค้า (33%)

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/10798002-vietnam-to-be-fastest-growing-e-commerce-market-in-southeast-asia-by-2026-report.html

 

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าเกษตรกร 5 ล้านครัวเรือน เชื่อมโยงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

นาย Pham Anh Tuan รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารของเวียดนาม กล่าวว่าเวียดนามพยายามจะเชื่อมโยงครัวเรือนเกษตรกรจำนวนกว่า 5 ล้านครัวเรือน ให้เข้าปรับมาใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในปีนี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเป็นไฮไลท์ของแผนยุทธศาสตร์กระทรวงที่ได้อนุมัติเมื่อปลายเดือนก.ค. ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยฯ เรียกร้องให้หน่วยงานเกษตรและพัฒนาชนบท อุตสาหกรรมและการค้า เข้ามาร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ 2 แห่ง ได้แก่ ‘Vietnam Post’ และ ‘Viettel Post’ เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงเกษตรกรกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-aims-to-connect-5-million-farming-households-to-ecommerce-platforms/206400.vnp

Sea (Group) เผยผลการสำรวจอินไซต์ผู้ค้าออนไลน์ 5 กลุ่ม ในภูมิภาคอาเซียน สะท้อน ‘ความหลากหลาย’ บนโลกอีคอมเมิร์ซไทย

Sea (Group) บริษัทชั้นนำระดับโลกในด้านการให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มสำหรับผู้บริโภค ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนท์ (Garena) อีคอมเมิร์ซ (Shopee) และบริการด้านการเงินแบบดิจิทัล (SeaMoney) เผยผล “การสำรวจ Online Seller Archetypes” เพื่อจับอินไซต์ว่าบทบาทของอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มมากขึ้น จากกระแสดิสรัปชันและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงผู้ค้าออนไลน์ในภูมิภาคอาเซียนอย่างไร โดยผลสำรวจจากผู้ค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มช้อปปี้ราว 42,000 ราย จากทั้งหมด 6 ประเทศ ประกอบไปด้วย ประเทศไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ชี้ว่า รูปแบบการรับอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มมาใช้งานมีความหลากหลาย และสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ The Homemaker, The Student, The Never-too-late, The Moonlighter และ The Highly-digital ซึ่งใช้งานอีคอมเมิร์ซเพื่อตอบโจทย์ความจำเป็นที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเสริมศักยภาพธุรกิจ สะท้อนให้เห็นถึงแรงกระเพื่อมจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่สนับสนุนให้เกิดความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Resilience & Adaptability) ในผู้ค้าออนไลน์หลากหลายกลุ่มในสังคมวงกว้าง

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/prg/3243154

กฎหมายอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาเริ่มเห็นภาพชัดขึ้น

กฎหมาย e-commerce ของกัมพูชา เริ่มมองเห็นภาพชัดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญรวมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงที่เกี่ยวข้องกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างหารือวิธีปฏิบัติ การบังคับใช้และกำหนดขอบเขตในอนาคต โดยมีหอการค้า (EuroCham) เป็นเจ้าภาพผ่านการสัมมนาแบบออนไลน์ Om Dararith ผู้ให้คำปรึกษาแก่กระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า “บริษัท e-commerce มีเวลา 6 เดือนในการสมัครเพื่อขอรับใบอนุญาต และสามารถประกอบกิจการได้เฉพาะภายในราชอาณาจักรเท่านั้น ส่วนผลกระทบของการจำกัดช่วงเวลาสมัครนั้น ยังไม่สามารถบอกได้เนื่องจากกระทรวงกำลังอยู่ในขั้นตอนการกระจายข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย” และกล่าวเสริมว่าธุรกิจ e-commerce ที่ประกอบในประเทศกัมพูชาปัจจุบันนี้ต้องมีการเตรียมการเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย e-commerce ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ โดยต้องเตรียมเอกสารเพื่อขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้อง ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังพัฒนา website ให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถขออนุญาตผ่านช่องทาง online (ซึ่งปัจจุบันต้องส่งแบบฟอร์มกระดาษเท่านั้น) ซึ่งภาพรวมธุรกิจ e-commerce ในประเทศกัมพูชาเป็นไปในทิศทางที่ดี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50884606/uncertainties-about-e-commerce-laws-addressed-by-eurocham/

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาวางแผนเปิดตลาดอีคอมเมิร์ซ

กระทรวงพาณิชย์วางแผนเปิดตัวแอป “Cambodia Trade” ซึ่งถือเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีเป้าหมายเพื่อให้บริการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของตนผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับลูกค้าที่มีศักยภาพในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยกระทรวงเรียกร้องให้ผู้ที่ต้องการขายสินค้าในตลาดอีคอมเมิร์ซทำการลงทะเบียนล่วงหน้า เพื่อให้มีสิทธิ์ในการใช้แอปที่ www.CambodiaTrade.com ซึ่ง SMEs จะต้องเป็นบริษัทหรือองค์กรที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งแพลตฟอร์มได้รับการพัฒนาโดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก Enhanced Integrated Framework ภายใต้โครงการ Go4eCAM โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการตระหนักถึงประโยชน์ของอีคอมเมิร์ซสำหรับ SMEs

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50871464/ministry-of-commerce-to-launch-e-commerce-marketplace/