7 เดือนแรกของปี ทางการกัมพูชาอนุมัติโครงการก่อสร้างมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์

กระทรวงการจัดการที่ดิน การวางผังเมือง และการก่อสร้าง ได้ออกใบอนุญาตสำหรับโครงการก่อสร้างรวมกว่า 2,036 โครงการสำหรับในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมปีนี้ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 8 ล้านตารางเมตร ซึ่งรายงานของกระทรวงระบุว่า โครงการก่อสร้างที่จดทะเบียนดังกล่าวคาดว่าจะมีมูลค่ารวมถึงประมาณ 2.97 พันล้านดอลลาร์ โดยจากข้อมูลปัจจุบันกัมพูชามีโครงการก่อสร้างกว่า 63,903 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 181 ล้านตารางเมตร ด้วยเม็ดเงินลงทุน 72.37 พันล้านดอลลาร์ สำหรับภาคการก่อสร้างในกัมพูชากำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในปัจจุบันภาคดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นหนึ่งในสี่เสาหลักที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ด้านธนาคารกลางกัมพูชาได้กล่าวเสริมว่าการนำเข้าวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ในช่วงเดียวกันเริ่มเห็นการกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าภาคดังกล่าวกำลังกลับมาขยายตัว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501364597/construction-projects-worth-3b-approved-in-7-months/

นายกฯ สปป.ลาว ให้คำมั่น พร้อมร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการสนับสนุนโครงการ BRI

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (17 ก.ย.) นายกรัฐมนตรี Sonexay Siphandone ของ สปป.ลาว แสดงความพร้อมในการสนับสนุนโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) อย่างใกล้ชิด โดยได้กล่าวไว้ในระหว่างพิธีเปิดงาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 20 ณ เมืองหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งกล่าวว่า สปป.ลาว พร้อมที่จะรักษาความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับจีนและสมาชิกประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน และมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามข้อริเริ่มดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานของทั้งสองประเทศกำลังก่อให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวก โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ที่เริ่มให้บริการแล้วในปัจจุบัน ส่งเสริมทั้งภาคการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว เป็นอย่างมาก

ที่มา : http://en.people.cn/n3/2023/0918/c90000-20073122.html

จีนทุ่มทุนสร้างทางด่วนในกัมพูชา หวังประหยัดเวลาการเดินทาง

จีนเข้าลงทุนสร้างทางด่วนสาย พนมเปญ-สีหนุวิลล์ เป็นสายแรก หวังอำนวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง และช่วยประหยัดเวลา รวมถึงช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งเป็นสำคัญ ลงทุนโดยบริษัท China Road and Bridge Corporation (CRBC) ด้วยเงินลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์ และเปิดให้บุคคลทั่วไปใช้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2022 หลังจากใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 3 ปี ซึ่งทางด่วนสายดังกล่าวมีความยาวอยู่ที่ 187 กิโลเมตร ด้าน Penn Sovicheat รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา กล่าวว่า ทางพิเศษเป็นผลจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกัมพูชาและจีน ภายใต้กรอบความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) โดยก่อนหน้านี้หากเดินทางบนทางหลวงหมายเลข 4 จะใช้เวลาถึงประมาณกว่า 5 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันเมื่อใช้ทางด่วนสายดังกล่าวจะใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าทางด่วนสายดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของกัมพูชา เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวเชื่อมโยงไปยังสถานที่สำคัญหลายแห่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501356499/chinese-invested-expressway-in-cambodia-saves-time-money-for-travelers/

สปป.ลาว-เวียดนาม เตรียมเปิดให้บริการทางรถไฟระหว่างกันภายในปี 2028

บริษัท Petroleum Trading Lao Public Company (PTL), บริษัท Yooshin Engineering Corporation และ บริษัท Korea National Railway กำลังเร่งดำเนินการศึกษาออกแบบทางรถไฟระหว่างประเทศ สปป.ลาว-เวียดนาม โดยได้ลงนามในข้อตกลงระหว่างกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว การรถไฟ สปป.ลาว-เวียดนาม จะสนับสนุนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ทันสมัยและได้มาตรฐานร่วมกัน เพื่อให้การขนส่งมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศ โดยโครงการนี้จะเสริมสร้างความเชื่อมโยงให้กับ สปป.ลาว ในฐานะศูนย์กลางการขนส่งและการค้าภายในอาเซียน ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาล และสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ ในการเปลี่ยนประเทศ สปป.ลาว จากประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเลให้เป็นประเทศที่มีทางเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค รวมถึงโครงการย่อยหลายโครงการ เช่น ท่าเรือบกท่านาแลงและอุทยานโลจิสติกส์เวียงจันทน์ โดยโครงการดังกล่าวจะมีระยะทางประมาณ 500 กิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างเวียงจันทน์กับอำเภอท่าแขกของแขวงคำม่วนรวมระยะทาง 312 กิโลเมตร และเชื่อมระหว่างอำเภอท่าแขกกับชายแดน สปป.ลาว-เวียดนาม เส้นทางรวม 139 กิโลเมตร ด้วยเงินลงทุนรวมอยู่ที่ประมาณ 5.5 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/laos-vietnam-railway-set-to-operate-in-2028-2185982.html

สปป.ลาว-ไทย ทุ่มงบสร้างทางด่วนเชื่อมเวียดนาม

เจ้าหน้าที่ สปป.ลาว และไทย ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับแผนความเป็นไปได้ในการสร้างทางด่วนระยะทาง 160 กม. จากสะหวันนะเขตตอนกลางของ สปป.ลาว ไปยังด่านชายแดนลาวบาวของเวียดนาม ด้านรองผู้ว่าการสะหวันนะเขต นาย Senesak Soulysak ได้เสนอแผนการก่อสร้างทางพิเศษต่ออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และเจ้าหน้าที่ไทยฝ่ายอื่นๆ รวมถึงรายงานเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาว สนามกอล์ฟ ตลอดจนบริการขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อจะส่งเสริมการพัฒนาในจังหวัด ซึ่งปัจจุบันการลงทุนจากต่างประเทศใน สปป.ลาว เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคพลังงานหมุนเวียน สำหรับทางด่วนคาดว่าจะส่งเสริมปริมาณการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากจังหวัดตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับสอง ในจังหวัดสะหวันนะเขต รองจากจีน

ที่มา : https://vir.com.vn/laos-thailand-mull-over-building-expressway-linking-to-vietnam-104642.html

เวียงจันทน์เร่งปรับปรุงถนนรองรับ “ASEAN Chairmanship 2024”

ทางการนครหลวงเวียงจันทน์กำลังพยายามเร่งการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการเพื่อเป็นเจ้าภาพ “ASEAN Chairmanship 2024” โดยกรมได้ลงนามในสัญญา 12 ฉบับกับบริษัทภาคเอกชนในการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนในนครหลวงเวียงจันทน์ จากข้อมูลของแผนกงานซ่อมแซมในเขตเมืองและชานเมือง โดยเฉพาะบริเวณใกล้กับโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวแล้วเสร็จประมาณร้อยละ 42 นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีได้แนะนำให้กรมเร่งซ่อมแซมถนนและระบายน้ำอย่างเร่งด่วน ภายในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายนเพื่อปรับปรุงการจราจรบนท้องถนน ด้านกระทรวงโยธาธิการและขนส่งคาดว่าจะใช้งบประมาณมากกว่า 11.26 ล้านดอลลาร์ ในการซ่อมแซมถนนและจัดการระบบน้ำท่วมในเวียงจันทน์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนประจำปี 2024

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/08/17/vientiane-speeds-up-revamp-of-roads-for-asean-chairmanship-2024/

ปักกิ่งทุ่มทุนพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงเชื่อม กัมพูชา ไทย สปป.ลาว และจีน

ปักกิ่งจะมอบเงินทุนสนับสนุน 300 ล้านหยวน หรือเท่ากับ 41.34 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่าง กัมพูชา ไทย สปป.ลาว และจีน กล่าวโดย Wang Yi รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีนระหว่างการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งกัมพูชา Sun Chanthol ณ กรุงพนมเปญ ภายใต้กรอบของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลกัมพูชา-จีน ซึ่งมีนาย Hor Namhong เป็นประธาน และมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเข้าร่วม ซึ่งโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ได้แก่ ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์, ทางด่วนพนมเปญ-บาเวต, ทางด่วนพนมเปญ-เสียมราฐ, โครงการรถไฟกัมพูชา และโครงการคลอง Funan Techo ที่กำลังดำเนินการโดยได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีน โดยประธานฯ ได้ชี้ให้เห็นว่าจีนได้มีส่วนช่วยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกัมพูชา รวมถึงการสร้างถนนยาวกว่า 3,000 กิโลเมตร และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งและปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศกัมพูชา ผ่านการสนับสนุนจากจีน ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342655/beijing-commits-300-million-yuan-to-develop-high-speed-rail-network/

โอกาสและความท้าทายตลาดพลังงานของกัมพูชา

โดย AEC Connect ธนาคารกรุงเทพ

ตลาดพลังงานของกัมพูชาก็เหมือนกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายๆ ประเทศที่มีทั้งความท้าทายและโอกาส โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของกัมพูชาในตลอดทศวรรษที่ผ่านมาทำให้อุปสงค์ด้านพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก

หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญในตลาดพลังงานของกัมพูชาคือการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่แข็งแรงและน่าเชื่อถือ ขณะที่ โครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งผลให้พื้นที่ในชนบทไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้

ความท้าทายข้างต้นนับเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของกัมพูชา เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ นอกจากนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มีอยู่ก็พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นำเข้าและไฟฟ้าพลังน้ำอย่างหนัก ทำให้กัมพูชาอยู่ในภาวะที่อ่อนแอและถูกโจมตีได้ง่ายจากราคาพลังงานโลกที่ผันผวนและระดับน้ำที่มีความแปรปรวนในแต่ละฤดู

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักลงทุนและบริษัทด้านพลังงานต่างๆ เนื่องจากความต้องการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเปิดโอกาสในตลาดนี้ให้แก่บริษัทต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิต การส่งผ่านและการจ่ายไฟฟ้า อีกทั้งพันธสัญญาของรัฐบาลที่จะเพิ่มส่วนของพลังงานทดแทนในแผนการผสมผสานพลังงานหลายประเภทของประเทศก็นับเป็นโอกาสของบรรดาบริษัทที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กัมพูชามีความก้าวหน้าอย่างมากเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนซึ่งจะเห็นได้ชัดจากที่กัมพูชาเป็นประเทศที่มีแสงแดดมากจึงกลายเป็นแหล่งผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ชั้นเลิศ โดยในปี 2563 กัมพูชาได้เปิดทำการโรงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ขณะที่ พื้นที่ชายฝั่งและบริเวณที่ราบสูงมีศักยภาพอย่างมากด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมซึ่งยังคงมีโอกาสอีกมากมายสำหรับบริษัทต่าง ๆ

แม้ว่าจะมีพัฒนาการเชิงบวก แต่ภาคพลังงานทดแทนในกัมพูชายังคงเผชิญความท้าทายอีกหลายด้าน เช่น การไม่มีกรอบข้อบังคับที่ชัดเจนสำหรับพลังงานทดแทนนั้นถือว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อความเติบโตของภาคธุรกิจนี้ อีกทั้งค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่สูงของโครงการพลังงานทดแทนและการขาดแคลนทางเลือกแหล่งเงินทุนที่มีราคาเหมาะสมก็เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับบริษัทที่สนใจลงทุนในภาคอุตสาหกรรมนี้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลกัมพูชาได้ให้คำมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตพลังงานทดแทนและกำลังเสาะหาการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมาย รวมถึงกำลังพัฒนากรอบข้อบังคับที่ครอบคลุมซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนมีความชัดเจนและความมั่นคงมากขึ้น

โดยสรุป ตลาดพลังงานของกัมพูชามีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยพลังซึ่งจะเห็นได้จากที่มีทั้งความท้าทายและโอกาสอย่างมาก แต่รัฐบาลกัมพูชาจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมการกำกับดูแลที่เหมาะสมและจัดหาการเข้าถึงทางเลือกของแหล่งเงินทุนต่าง ๆ สำหรับนักลงทุน เพื่อช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ประสบกับความสำเร็จด้านธุรกิจขณะที่กัมพูชาเองก็บรรลุเป้าหมายด้านพลังงานด้วย

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/aec-connect-opportunities-and-challenges-in-cambodias-energy-market

อ้างอิง : Exploring Cambodia’s energy market, challenges and opportunities – Khmer Times (khmertimeskh.com)

สวิตเซอร์แลนด์พร้อมสนับสนุนส่วนความปลอดภัยเขื่อนใน สปป.ลาว

สวิตเซอร์แลนด์มอบเงินกว่า 5.2 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการจัดตั้งสถาบันด้านความปลอดภัยเขื่อนใน สปป.ลาว โดยได้บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการเพื่อความปลอดภัยทางเขื่อนใน สปป.ลาว ระหว่าง นาย Bouathep Malaykham อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพลังงานและการจัดการความปลอดภัย ร่วมกับ นาย Jesper Lauridsen ผู้อำนวยการ Helvetas Swiss Intercooperation Laos โดยโครงการนี้มุ่งเน้นไปที่สามส่วนสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถทางเทคนิคให้แก่กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ให้สามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยของเขื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เกิดจากข้อบกพร่องในการออกแบบ การก่อสร้าง การบำรุงรักษา การเฝ้าระวัง และการดำเนินการตามมาตรการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ประเด็นต่อมาเพื่อหวังเสริมสร้างกรอบการใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและให้การสนับสนุนแผนกการจัดการพลังงานและความปลอดภัยในอุตสาหกรรมที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ส่วนประเด็นสุดท้ายเพื่อหวังสนับสนุนการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยทางเขื่อนในการจัดตั้งสถาบันเพื่อสร้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของเขื่อน นอกจากนี้ยังให้ความคุ้มครองที่ดีขึ้นสำหรับประชากรประมาณกว่า 1.5 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อน และถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแหล่งผลิตพลังงานที่ยั่งยืนให้แก่ สปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_148_switzerland_y23.php

ทางการ สปป.ลาว ปรับปรุงถนนหมายเลข 13 ในเขตบอลิคำไซ

ทางการ สปป.ลาว ยกระดับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 13 ทางตอนใต้ในจังหวัดบอลิคำไซ โดยงานพัฒนาในระยะแรกผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งมีกำหนดการแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ ด้านหัวหน้าโครงการปรับปรุงและซ่อมแซมถนนหมายเลข 13 Mr.Sisomphanh Phimsipasom ยืนยันว่าโครงการดำเนินไปตามแผนที่ร้อยละ 97 ของงานในส่วนแรก ด้วยการดำเนินการภายใต้สัญญาสองฉบับ โดยสัญญาฉบับแรกเกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมถนนระยะทาง 40 กิโลเมตร (จากหลักกิโลเมตรที่ 71 ถึงกิโลเมตรที่ 111) ด้วยมูลค่าโครงการจำนวน 17.5 ล้านดอลลาร์ ที่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารโลก รวมถึงทำการขยายความกว้างของถนนจาก 9 เมตร เป็น 12 เมตร สำหรับระยะที่สองของการพัฒนาครอบคลุมระยะทางกว่า 79 กิโลเมตร (จากหลักกิโลเมตรที่ 111 ถึง กิโลเมตรที่ 190) ภายใต้การสนับสนุนทางด้านเงินกู้จำนวน 28 ล้านดอลลาร์จาก European Investment Bank

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten138_Upgrade_y23.php