UPA ปิดดีลซื้อหุ้นน้ำประปาที่ลาว แย้มแจรจาร่วมทุนโซลาร์ฟาร์มเวียดนาม 50 MW

UPA ปิดดีลลงนามเซ็นสัญญาซื้อขายหุ้นโครงการน้ำประปาแสนดินใน สปป.ลาว มูลค่ารวม 80.85 ล้านบาท บุ๊กรายได้ทันที สร้างรายได้ประจำ ส่งซิกแผนเจรจาร่วมทุนโซลาร์ฟาร์มเวียดนาม ขนาดกำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ หวังหนุนผลประกอบการเทิร์นอะราวด์ ซึ่งบริษัทได้ลงทุนผ่าน บริษัท  เอไอดีซี  วอเตอร์ โฮดิ้ง (สิงคโปร์ ) พีทีอี แอลทีดี (AWH) ซึ่งจะเป็นผู้ถือหุ้น 60% ของบริษัท เอเชีย วอเตอร์ จำกัด ผู้เดียว (AWS) ผู้ดำเนินโครงการผลิตน้ำประปาแสนดิน จากการรับโอนโครงการน้ำประปาจากบริษัท เอเชีย ลงทุน พัฒนา และก่อสร้าง จำกัด ผู้เดียว (AIDC) สำหรับโครงการดังกล่าว ตั้งอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ได้เริ่มผลิตน้ำประปาในเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อเดือน มิ.ย. 2562 เพื่อจำหน่ายให้กับน้ำประปานครหลวงของสปป.ลาว มีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี กำลังการผลิตรวม 48,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมา UPA ยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนด้านพลังงานทางเลือกใหม่เพิ่มเติม โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาลงนามซื้อหุ้น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) 1 โครงการ ในเวียดนาม

ที่มา : นสพ.ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 5 พ.ย. 2562

ปตท. ชงโมเดลธุรกิจLNGเสนอกกพ. หนุนไทยก้าวสู่ฮับในภูมิภาคอาเซียน

ปตท.จัดทำรูปแบบธุรกิจแอลเอ็นจีต่อกกพ.เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฮับในภูมิภาคนี้ มั่นใจไทยมีความพร้อมทั้งความต้องการใช้ โครงสร้างพื้นฐานสถานีรับจ่ายก๊าซแอลเอ็นจีและด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลาง ขณะที่  นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังเปิดงาน Gas Day 2019 Energy fuel for today and tomorrow ว่า ปตท.อยู่ระหว่างจัดทำรูปแบบธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายก๊าซแอลเอ็นจีในภูมิภาคนี้ (แอลเอ็นจี ฮับ) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยรูปแบบธุรกิจดังกล่าว ปตท.มีศักยภาพในการส่งออกแอลเอ็นจีไปตลาดในภูมิภาคนี้ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานรองรับสถานีรับจ่ายแอลเอ็นจี (แอลเอ็นจี เทอร์มินอล) ทำได้อยู่แล้ว โดยปีนี้จะรีโหลดแอลเอ็นจีใส่เรือ เพื่อ ขนไปจำหน่ายให้กับลูกค้า เบื้องต้นได้มีการเจรจากับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมบางราย และในอนาคตจะต่อยอดไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งทางบริษัทฯ มองว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเป็นฮับอาเซียน เนื่องจากมีความได้เปรียบทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และมีความต้องการใช้แอลเอ็นจีมาก และด้านภูมิศาสตร์ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลาง CLMV ทำให้ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นฮับแอลเอ็นจี ในอาเซียน โดยกลุ่ม ปตท.ดำเนินธุรกิจก๊าซครบวงจรเพื่อมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและไฟฟ้า โดยการขนส่งก๊าซฯไม่จำเป็นต้องผ่านทางท่อเท่านั้นแต่ขนส่งผ่านรถ และเรือได้

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา

ก้าวต่อไปของ CLMV

 

จากรายงานการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) เกี่ยวกับศักยภาพของอาเซียน พบว่าการเติบโตของกลุ่มประเทศอย่างกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) เป็นที่น่าจับตามอง เช่น การที่ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในเมียนมามากกว่า 1000% ตลอดหกปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญคือ สงครามการค้า กรณี Brexit หรือการถอนตัวของสหรัฐออกจากกรอบการค้าเสรี (TPP) ที่เป็นตัวฉุดในบางครั้ง แต่ความได้เปรียบอีกอย่างคือ ค่าจ้างแรงงานถูกและต่ำที่สุดในประเทศกลุ่มอาเซียนอื่นๆ โดยมีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 2,000 เหรียญสหรัฐต่อคน/ปี ในปี 2559 (ส่วนไทยอยู่ที่ 6,000 เหรียญสหรัฐต่อคน/ปี) แต่เมื่อเทียบเป็นรายปีจะพบว่าเพิ่มขึ้นถึง 6.5% เทียบกับอินโดนีเซีย 1.7% มาเลเซีย 4.4% ผลการศึกษาของ ERIA ชี้ว่ากลุ่ม CLMV จำเป็นต้องปรับปรุงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง การผ่อนคลายกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศ ลดช่องว่างรายได้ของประชากรในประเทศ เร่งสร้าง SMEs ที่เข้มแข็งในท้องถิ่น ลดการพึ่งพาของอียูในการสร้างงานและการลงทุนทางตรงในประเทศ CLMV จึงน่าจับตามองของนักลงทุนที่เข้ามาลงในกลุ่มอาเซียนเพราะมีส่วนผลักดันเป้าหมายในปี 2593 ที่หมายมั่นจะมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของโลก

ที่มา: http://www.eria.org/news-and-views/clmv-countries-must-go-beyond-regional-integration/

16 กุมภาพันธ์ 2561

SCB EIC วิเคราะห์ CLMV Monitor แนะโอกาสทางธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน

เศรษฐกิจ CLMV ปี 2561 ขยายตัว 6-7% ปัจจัยหลักคือ การส่งออกและการท่องเที่ยว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นกลไกสำคัญโดยเฉพาะจีน การส่งออกครึ่งปีแรกขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะสินค้าเกษตร เพื่อพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่าเมียนมามีการขยายตัวสูงสุดคือ 7% รองลงมาคือ กัมพูชามีเติบโต 6.9% สปป.ลาวขยายตัว 6.8% และเวียดนามเติบโตราว 6.6% ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นทำให้เศรษฐกิจ CLMV ต้องพึ่งทุนจากต่างประเทศในระดับสูงและเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจด้านต่างประเทศที่มากขึ้น

ที่มา: https://www.scbeic.com/th/detail/file/product/4770/f23fv1xzqa/CLMV-Monitor_TH_2018_H1_20180618.pdf

เศรษฐกิจ CLMV เติบโตดีต่อเนื่อง แม้เวียดนามอาจมีความเสี่ยงจากสงครามการค้า

ยังคงขยายตัวสูงที่ระดับ 6-7% ในปี 2018 และ 2019 หลักๆ มาจาก มูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ขยายตัว 21%YOY จากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 63% ของ FDI ทั้งหมด อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงสำคัญคือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ ค่าเงินมีทิศทางอ่อนค่าลงตั้งแต่ต้นปีตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่อ่อนค่าในระดับต่ำกว่าค่าเงินประเทศเอเชียอื่นๆ เนื่องจากอยู่ภายใต้การควบคุมจากธนาคารกลาง

 

ที่มา: https://www.scbeic.com/th/detail/product/5081

 

จัดทัพลงทุนธุรกิจสปาใน CLMV

โดย ปุลวัชร ปิติไกรศร

ธุรกิจสปาเป็นหนุ่งในธุรกิจดาวรุ่งของไทยที่ขยายตัวควบคู่กับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวเอเชียที่นิยมใช้บริการสปาของไทย ทั้งนี้ Global Wellness Institute ประเมินว่าตลาดสปาของไทยมีมูลค่าราว 4.3 หมื่นล้านบาทในปี 2017 และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการขยายตัวด้านรายได้และจำนวนชนชั้นกลางในจีน รวมถึงยังคว้าโอกาสจากจุดแข็งด้านคุณภาพการบริการ รูปแบบการทำสปาที่มีเอกลักษณ์ และองค์ความรู้ด้านสมุนไพร

อีไอซี (EIC) มองว่ากัมพูชาและเวียดนามเหมาะกับการเข้าไปลงทุนธุรกิจสปา โดย IMF คาดว่ารายได้ต่อหัวของประชากรกัมพูชาจะขยายตัวเฉลี่ย 7.5% ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวเฉลี่ย 29% ต่อปีในช่วงปี 2013-2017 ทั้งนี้ เมืองที่น่าลงทุน คือ ‘พนมเปญและเสียมฐาน’ ซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของกัมพูชา

นอกจากนี้ ปัจจุบัน ธุรกิจสปาของกัมพูชาส่วนใหญ่เป็น hotel spa ที่บริหารโดยโรงแรมระดับสากล เช่น Le Méridien Spa หรือ So SPA by Sofitel แต่ยังไม่มี day spa ที่มีมาตรฐานสากลเปิดให้บริการมากนัก

ในขณะที่เวียดนามมีจุดที่น่าสนใจ คือ ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตรุดหน้ากว่าประเทศอื่นในกลุ่ม CLMV จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวเฉลี่ย 23% ต่อปีระหว่างปี 2013-2017 จนแตะระดับ 4 ล้านคน ขณะที่ จำนวนชนชั้นกลางก็คาดว่าจะขยายตัวจนมีจำนวน 33 ล้านคนในปี 2020 ส่งผลให้เวียดนามมีฐานลูกค้าคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวจีนที่ใหญ่กว่าประเทศอื่น การลงทุนในเมืองใหญ่อย่างดานัง ฮานอยและโฮจิมินห์จึงมีความน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม เวียดนามมีรูปแบบการทำสปาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งอาจส่งผลให้รูปแบบการทำสปาจากต่างประเทศไม่ได้รับความนิยมมากนักจากคนท้องถิ่น ผู้ประกอบการอาจต้องปรับรูปแบบการทำสปาแบบสากลให้เหมาะสมกับคนท้องถิ่นเพื่อให้ตัดสินใจใช้บริการได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน เวียดนามพบว่ามีการลงทุนจากกลุ่มธุรกิจสปาขนาดใหญ่อย่าง Six Senses รวมถึง Le SPA ที่บริหารโดย AccorHotels ก็เริ่มเปิดให้บริการในโรงแรมหลายแห่ง

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในความเสี่ยงที่สำคัญของการขยายธุรกิจสปาในกัมพูชาและเวียดนามคือการเปลี่ยนงานของแรงงานท้องถิ่นในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งมักจะเปลี่ยนงานบ่อยครั้งเมื่อมีโอกาสได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น เนื่องจากกฎหมายของทั้งสองประเทศกำหนดสัดส่วนการจ้างงานแรงงานท้องถิ่นของบริษัทต่างชาติ ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจสปาที่เติบโตโดยการขยายสาขา ผู้ประกอบการจึงควรหาวิธีแก้ไขปัญหานี้หากต้องการรุกตลาดในทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/5048