“เวียดนาม” เผยภาคเครื่องนุ่งห่ม จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน FDI เหตุบรรลุเป้าส่งออก

ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในชุมชน มีความต้องการเม็ดเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้าสู่กระบวนการผลิตผ้า เส้นด้ายและวัตถุดิบอื่นๆ เนื่องจากธุรกิจต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านการส่งออกจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยจากข้อมูลของกระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีจำนวนโครงการ FDI ทั้งสิ้น 2,787 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 31.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ 18 พ.ค.) ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม กล่าวว่าโครงการ FDI มีส่วนร่วมในการเพิ่มกำลังการผลิตและขนาดการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออก จะพบว่าเพิ่มขึ้นจาก 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 มาอยู่ที่ 40.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของมูลค่าการส่งออกรวม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/garment-sector-requires-greater-fdi-for-export-target-fulfilment-post965641.vov

“เวียดนาม” คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ปี 65

มูดี้ส์ อนาไลติคส์ (Moody’s Analytics) ได้คาดการณ์ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2565 ขยายตัว 8.5% ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มุมมองของฝ่ายนักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นถึงการกลับมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงต้นปี ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกดีขึ้น จากการเข้ามาลงทุนโดยจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง (FDI) ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ได้เตือนถึงอุปสรรคของกลุ่มประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงการเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่คาดไม่ถึง ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าและบริการชะลอตัว รวมถึงที่อยู่อาศัย

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11793402-vietnam-forecast-to-reach-highest-gdp-growth-in-asia-pacific-in-2022.html

“เวียดนาม” เสือตัวใหม่แห่งเอเชีย

กลุ่มเมย์แบงก์ (Malayan Banking Berhad: Maybank) ธนาคารอันดับหนึ่งของประเทศมาเลเซีย เปิดเผยว่าเวียดนามก้าวขึ้นเป็นดาวรุ่งในห่วงโซ่อุปทานโลกและมีศักยภาพที่จะเป็นเสือตัวใหม่แห่งเอเชีย ต่อจากเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวันและฮ่องกง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปยังเวียดนามและการส่งออกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงมากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรศัพท์ที่แซงหน้ากลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จนกลายมาเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดในแง่ของยอดการส่งออกรวม แสดงให้เห็นว่าเวียดนามได้ยกระดับตำแหน่งในห่วงโซ่มูลค่าโลกและผลิตภาพแรงงานของเวียดนามยังเติบโตได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกด้วย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-able-to-become-new-tiger-in-asia-economist/235680.vnp

เกาหลีใต้พยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวเวียดนาม

เมืองหลวงเกาหลีใต้ กรุงโซลและองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวโซล (STO) ได้จัดงานร่วมกันเมื่อวันที่ 3 ส.ค. โปรโมทโครงการต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเวียดนามให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะเมืองโฮจิมินห์ และส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างสองหัวเมือง โดยงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำการท่องเที่ยวของกรุงโซลให้กับนักท่องเที่ยวเวียดนาม หลังการระบาดระลอกที่ 4 ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและโอกาสของทั้งสองประเทศที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว และเตรียมการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/south-korea-seeks-to-attract-vietnamese-tourists/

“อุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนาม” ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

สำนักงานการลงทุนจากต่างประเทศ (FIA) ของเวียดนาม เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีเม็ดเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้ามายังภาคอุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนาม มูลค่า 252 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของเงินทุนจากต่างประเทศทั้งหมดที่ไหลเข้าไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตามรายงานของสำนักงาน ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบัน เวียดนามมีโครงการลงทุนจากต่างชาติ จำนวน 34,898 โครงการ ด้วยมูลค่า 426.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภาคอุตสาหกรรมได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของโลก อาทิ Samsung, LG, Canon, Honda และ Toyota สะท้อนให้เห็นถึงการเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องในเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-process-manufacturing-attractive-to-foreign-investors/234399.vnp

New s-curve และ BCG ดึงการลงทุนต่างชาติ ดันยอด FDI แตะ 4-5 แสนล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2565-2567

จากสถานการณ์โควิด-19 ของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง นำไปสู่การเดินหน้าเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นปัจจัยบวกต่อบรรยากาศการลงทุน สร้างความเชื่อมั่นดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีโอกาสแตะ 4-5 แสนล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2565-2567 การลงทุน FDI ทั่วโลกในปี 2564 มีมูลค่า 1.65 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 77 เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีมูลค่าการลงทุน 9.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562 โดยยอด FDI ที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวในอัตราเร่งของ FDI ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอาเซียนมีการขยายตัวของ FDI ที่ร้อยละ 35  โดยไทยมี FDI อยู่ที่ระดับ 1.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับแนวโน้มปี 2565 การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) คาดการณ์ FDI ทั่วโลกจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้เป็นอัตราชะลอตัวจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ซึ่งกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ในภูมิภาคเอเชียน่าจะได้รับผลกระทบต่อ FDI ไม่รุนแรง จากกระแสการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนที่มีศักยภาพจำนวนมาก เช่นเดียวกับประเทศไทย

 

ที่มา : https://marketeeronline.co/archives/266557

‘เวียดนาม’ เผยเขตเศรษฐกิจในภาคใต้ แม่เหล็กดึงดูดต่างชาติลงทุน FDI

ข้อได้เปรียบหลายอย่างทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมและทรัพยากรมนุษย์ของเวียดนาม หลังจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แล้ว เขตเศรษฐกิจในภาคใต้ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนชั้นนำของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยกิจการอย่างแพนดอร่า “Pandora” ผู้ผลิตเครื่องประดับสัญชาติเดนมาร์ก ประกาศว่าจะลงทุนก่อสร้างโรงงานใหม่ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม VSIP (Vietnam Singapore Industrial Park) จังหวัดบิน เยือง ภาคใต้ของประเทศ ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) สาเหตุสำคัญที่กิจการเข้ามาลงทุนในครั้งนี้เนื่องมาจากความพร้อมด้านทักษะของแรงงาน โครงสร้างพื้นฐานและสนามบิน ทั้งนี้ ตามรายงานของคณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัด เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ จังหวัดบิน เยือง (Binh Duong) ดึงดูดเม็ดเงินทุนกว่า 2.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีจำนวนโครงการใหม่ 16 โครงการ และโครงการปัจจุบัน 9 โครงการจากจำนวนกิจการรวมทั้งสิ้น 53 แห่ง ในขณะเดียวกัน ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงวันที่ 20 เม.ย. นครโฮจิมินห์ได้ดึงดูดเม็ดเงินทุนได้แล้วกว่า 1.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/key-southern-economic-region-a-magnet-for-fdi/229153.vnp

เดือนเม.ย. 4 บริษัททุ่มเม็ดเงิน FDI ในภาคการผลิตของเมียนมา พุ่งแตะ 5.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

คณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) เผย การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเดือนเม.ย. 2565 ของปีงบประมาณ 2565-2566 มี 4 บริษัทจีนและเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเข้ามาลงทุนในภาคการผลิตประมาณ 5.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถสร้างโอกาสในการทำงานให้กับชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก แม้สถานประกอบการที่ใช้แรงงานจำนวนมากต้องได้รับผลกระทบของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ขณะนี้อุตสาหกรรมกำลังกลับสู่สภาวะปกติหลังจากการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับผู้ใช้แรงงานในประเทศ  ที่ผ่านมาในช่วงงบประมาณย่อย (เดือนต.ค.2564-มี.ค.2565) เมียนมาสามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 647.127 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 49 บริษัทต่างชาติ ในจำนวนนี้ มี 40 บริษัท ที่ลงทุนในภาคการผลิต โดยมีเงินลงทุนโดยประมาณ 202.667 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/4-enterprises-pump-5-99-mln-of-fdi-into-manufacturing-sector-in-april/

เขตพะโค ดูดเม็ดเงิน FDI -สะพัดกว่า 117.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บวกการลงทุนในประเทศอีก 9.5 พันล้านจัตภายใน 1 ปี

คณะกรรมการการลงทุนเขตพะโค (BRIC) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2564 ถึงเม.ย. 2565 เขตพะโคดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่า 117.612 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการลงทุนภายในประเทศ มูลค่า 9.529 พันล้านจัต ซึ่งสร้างตำแหน่งงานให้กับประชากรในพื้นที่กว่า 6,000 ตำแหน่ง ซึ่งเศรษฐกิจของเขตพะโคขึ้นอยู่กับการเกษตรและปศุสัตว์เป็นหลัก เนื่องจากมีวัตถุดิบมากมายสำหรับการผลิตปุ๋ยธรรมชาติ โดยหัวหน้าคณะรัฐมนตรีของเขตพะโคได้เรียกร้องให้ BRIC เชิญชวนให้นักลงทุนที่สนใจมาลงทุนในโรงงานปุ๋ยและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานมีความสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตและการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ เนื่องจากเขตพะโคต้องอาศัยแหล่งน้ำ เขื่อน และแม่น้ำสำหรับภาคการเกษตร และได้อำนวยความสะดวกในการให้เช่าพื้นที่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่เริ่มมีการขยายตัว

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/bago-region-attracts-over-117-6-mln-fdi-k9-5-bln-domestic-investment-over-one-year/

ปี 64 จีนนำโด่ง FDI ในกัมพูชา

ปี 2564 ที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในกัมพูชาเพิ่มขึ้นแม้จะมีการระบาดของ COVID-19 แสดงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต้อกัมพูชา ในขณะที่ประเทศเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคี ด้านสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) เผย ในปี 2564 มีการลงทุนในภาคเอกชนใหม่ มูลค่า 4,357 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ลดลง 47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนมียอดการลงทุนรวม 2,326 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  เพิ่มขึ้น 67% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกามียอดการลงทุน 121 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 163 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 73 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีก่อนหน้าตามลำดับ ทั้งนี้ หอการค้ากัมพูชา คาดว่าจะมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากจีนและเกาหลีใต้

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501068035/china-remains-top-in-kingdoms-fdi-last-year/