การค้าระหว่าง กัมพูชา-อินโดนีเซีย ขยายตัว 43% ในช่วง Q1

การค้าระหว่างกัมพูชาและอินโดนีเซียขยายตัวกว่าร้อยละ 43.2 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 304 ล้านดอลลาร์ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ซึ่งปริมาณการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมปีนี้ คิดเป็นการส่งออกสินค้าของกัมพูชาไปยังอินโดนีเซียมูลค่า 12 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะเดียวกันการนำเข้าของกัมพูชาจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 คิดเป็นมูลค่า 292 ล้านดอลลาร์ โดยในปัจจุบันกัมพูชาและอินโดนีเซียยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501277914/43-jump-in-trade-between-cambodia-indonesia-in-q1/

ฝ่าสุญญากาศการเมือง ดันโรงงานลงทุน 2.9 แสนล้าน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานว่า มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งปีสูงถึง 664,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ถือเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด ขณะที่จำนวนโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 นอกจากนี้การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นที่ใกล้จะลงทุนจริงมากที่สุดก็มีแนวโน้มที่ดี มีโครงการที่ออกบัตรส่งเสริม 1,490 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% และมีมูลค่าเงินลงทุน 489,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เป็นสัญญาณที่ดีว่า ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าจะมีการลงทุนจริงที่มากยิ่งขึ้น ด้านจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความเห็นว่า ปี 2566 กรมโรงงานฯ จะขับเคลื่อนการลงทุนผ่านการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ภายใต้นโยบาย MIND ใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการ ยกระดับศักยภาพ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ นโยบายยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเครื่องจักรให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2566 มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ มาตรการภาษีกระตุ้นการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ง่าย สิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์ และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี)

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3888145

“เวียดนาม” เผยจังหวัดกาวบั่ง ต้องการเงินลงทุนเกินกว่า 6.83 พันล้านเหรียญสหรัฐ

จังหวัดกาวบั่ง (Cao Bang) จำเป็นที่ต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 160.2 ล้านล้านดอง (มากกว่า 6.83 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2573 ภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดปี 2564-2573 โดยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้อนุมัติแผนการดำเนินงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นแผนการของจังหวัดที่จะตั้งเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในภูมิภาค (GRDP) ขยายตัวเฉลี่ย 9.72% ต่อปี ภายในปี 2573 และคาดว่ารายได้ต่อหัวของจังหวัดจะสูงถึง 101.7 ล้านดองในปีนี้ ตลอดจนภายในปี 2593 จังหวัดกาวบั่ง ได้ตั้งเป้าที่จะเป็น 1 ใน 7 ของจังหวัดชั้นนำในแง่ของรายได้ต่อหัวในภาคเหนือของประเทศและยังเป็นหนึ่งในศูนย์กลางแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้ ทางจังหวัดจึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างสภาพแวดล้อมทางการลงทุน เพื่อดึงดูดนักลงทุนและส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจชุมชน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1493969/cao-bang-needs-more-than-6-83b-in-investment.html

นักลงทุนจีนแห่กลับเข้ามาลงทุนยังกัมพูชา

นักลงทุนและนักธุรกิจชาวจีนต่างกระตือรือร้นที่จะกลับเข้ามาลงทุนยังกัมพูชาหลังจากการเปิดพรมแดนของจีน โดยการคาดการณ์ดังกล่าวถูกกล่าวในระหว่างงานฟอรัมที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่าง กัมพูชา-จีน (ไหหลำ) ณ กรุงพนมเปญ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเกือบ 200 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ นักธุรกิจ และนักลงทุนจากกัมพูชาและจีนเข้าร่วมการประชุม ด้าน Sok Sopheak รัฐมนตรีต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า กัมพูชาคาดว่าจะมีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ตามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีน และเกาหลีใต้ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นสำคัญ โดย FTA กัมพูชา-จีน และ RCEP ส่งผลทำให้การค้าทวิภาคีระหว่าง จีน-กัมพูชา มีมูลค่าสูงถึง 1.16 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามีมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 17.9 และนำเข้ามูลค่า 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้ปฏิรูประบบการดำเนินงาน และพยายามออกมาตรการต่างๆ มากมาย เพื่อสนับสนุนการลงทุนและภาคธุรกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501243609/chinese-investors-keen-to-return-to-cambodia/

กัมพูชามองหาแหล่งเงินลงทุน สร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายแรก

Sun Chanthol รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งของกัมพูชาเปิดเผยว่าปัจจุบันทางการกัมพูชามองหาแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง โดยเส้นทางรถไฟดังกล่าวเริ่มต้นจากเมืองหลวงพนมเปญทอดยาวไปจนถึงปอยเปต ซึ่งเป็นเมืองที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย รวมระยะทาง 382 กิโลเมตร โดยคาดว่ารถไฟจะสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วในช่วง 160 ถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะเดียวกันจะจัดตั้งสถานีทั้งสิ้น 33 สถานี ตัดผ่านถนนประมาณ 300 สายโดยใช้สะพาน ตามคำแถลงที่ China Road & Bridge Corp (CRBC) รายงาน ซึ่งได้กำหนดงบประมาณในการก่อสร้างไว้ที่ 4 พันล้านดอลลาร์ ครอบคลุมการก่อสร้างทางรถไฟ สถานี และรถไฟความเร็วสูง ด้านนายกรัฐมนตรีฮุนเซนกล่าวเสริมหลังไปเยือนประเทศจีนเมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยได้แถลงการณ์ถึงการที่จีนได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนโครงการในระยะเริ่มต้น รวมถึงการวางแผน การออกแบบ และการศึกษาความเป็นไปได้ ผ่านการทำงานร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งทางการจีนคาดหวังถึงการเชื่อมต่อกันในระดับภูมิภาคด้วยเส้นทางรถไฟของกัมพูชากับทางรถไฟจีน-สปป.ลาว-ไทย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501243268/cambodia-seeks-4-billion-investments-for-its-first-high-speed-railway/

จีน-เมียนมา ร่วมส่งเสริมการค้าและเศรษฐกิจในยุคหลัง COVID-19

เมื่อวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา นายหลี่ เฉินหยาง อธิบดีกรมพาณิชย์มณฑลยูนนานของจีนได้เข้าพบและหารือกับ นาย ออง เนียง อู รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมาเกี่ยวกับการเปิดชายแดนและนโยบายส่งเสริมการค้า ความร่วมมือทางการเงิน และความร่วมมือด้านการเกษตรของทั้งสองประเทศ ต่อมาวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 นายหลี่ เฉินหยาง ยังได้เข้าพบกับ นาย ยู เอ วิน ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมียนมา (UMFCCI) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการพัฒนาภาคธุรกิจเอกชนของเมียนมาและมณฑลยูนนาน ทั้งนี้ หลังสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย เมียนมาพยายามเพิ่มการส่งออกไปยังจีนโดยเฉพาะมณฑลยูนนานให้มากขึ้นเพื่อให้การค้าระหว่างประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20230216/d51ad3ab59524454966ad689bf9eb78e/c.html

ADB กล่าวถึงกุญแจสำคัญด้านการค้าและการลงทุนในอนาคตของ สปป.ลาว

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) กล่าวว่า การค้าและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชียและแปซิฟิก รวมถึง สปป.ลาว ซึ่งจะข้อความร่วมมือไปยังรัฐบาลระดับภูมิภาคทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ตามรายงานฉบับล่าสุดของ ADB โดยรายงานการบูรณาการเศรษฐกิจในเอเชีย (AEIR) ประจำปี 2023 ระบุว่า แม้ว่าการค้าและการลงทุนจะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นในเอเชียในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็นำไปสู่การเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภูมิภาค ซึ่งมีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากสภาพอากาศโลก โดย ADB มุ่งหวังว่ารัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการต่างๆ เช่น การส่งเสริมการค้าสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลธุรกิจสีเขียว การพัฒนากลไกการกำหนดราคาคาร์บอน และการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านข้อตกลงการค้าและการลงทุน เพื่อเป็นการผลักดันการลดคาร์บอนในภูมิภาค

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Greener28.php

ญี่ปุ่นหนุนนักลงทุนเข้ามายังกัมพูชาเพิ่มขึ้น

สมาคมญี่ปุ่น-กัมพูชา (JCA) มุ่งมั่นที่จะผลักดันนักลงทุนชาวญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนยังกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งคำมั่นสัญญาดังกล่าว กล่าวโดย Takahashi Fumiaki ประธาน JCA ระหว่างประชุมกับ Ith Samheng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกัมพูชา ณ กรุงพนมเปญ โดยนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันได้เข้ามาลงทุนยังภาคส่วนต่าง ๆ ในกัมพูชา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสใหม่ ๆ สำหรับชาวกัมพูชา รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคนิค โดยทางการกัมพูชาได้ร้องขอให้ทางการญี่ปุ่นเข้ามาฝึกอบรมให้กับพนักงานชาวกัมพูชาเพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงานไปยังญี่ปุ่นให้ถึงประมาณ 50,000 คน ในขณะที่ปัจจุบันมีชาวกัมพูชาเข้าไปทำงานยังกัมพูชาเพียง 20,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501234945/japan-to-encourage-more-investors-to-cambodia/

กำลังคนคุณภาพสูง หนุนให้เวียดนามดึงดูด FDI

สภาหอการค้าสหภาพยุโรป (EuroCham) รายงานว่าเพื่อการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้น เวียดนามจำเป็นต้องส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นบุคลากรที่มีศักยภาพสูง และชี้ว่าผู้ประกอบการในยุโรปเล็งเห็นศักยภาพที่จะขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมไฮเทค การสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในปีหน้า อีกทั้ง ตามรายงานของบริษัทซาวิลาส์ ประเทศเวียดนาม ได้เน้นย้ำถึงความน่าลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเวียดนาม ซึ่งหากเทียบกับประเทศจีน อินเดียและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยแล้ว เวียดนามยังเป็นตลาดที่น่าลงทุนและมีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นแรงดึงดูดให้เม็ดเงินทุนไหลเข้าไปยังบริษัทเทคฯ หลายแห่ง และกิจการสหรัฐฯ ที่ทำธุรกิจในเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/highquality-human-resources-to-help-vietnam-draw-more-fdi/246578.vnp

‘LG’ วางเป้าทุ่มเงิน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเวียดนาม

Kwon Bong-Seok ซีอีโอของบริษัท LG Electronics เปิดเผยว่าบริษัทได้วางแผนที่จะอัดฉีดเงินเพิ่มไปยังโครงการของกิจการ อยู่ที่ราว 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเร็วๆนี้ บริษัทได้เริ่มที่จะลงทุนในเวียดนามเมื่อปี 2538 และจนถึงปัจจุบัน เงินทุนของกิจการที่ขยายการดำเนินธุรกิจ อยู่ที่ 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ กล้อง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในครัวเรือนและชิ้นส่วนยานยนต์ โดยปัจจุบันบริษัทมีพนักงานชาวเวียดนามประมาณ 27,000 คนที่ทำงานในโรงงานของบริษัท นอกจากนี้ นายเหงียนซวนฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม กล่าวชื่นชมกับการลงทุนของบริษัทในเวียดนาม และหวังว่าบริษัทจะขยายการลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์และโทรศัพท์มือถือ ในขณะเดียวกันให้มีการส่งเสริมความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีและการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาซอฟต์แวร์

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/lg-plans-to-pour-further-us4-billion-into-vietnam-post988692.vov