แผนฟื้นฟูอุตรับนิวนอร์มอล

ใช้สินค้าเมดอินไทยแลนด์ดันศก.ท้องถิ่น “ส.อ.ท.” เปิดแผนฟื้นฟู 45 อุตสาหกรรมหลังโควิด-19 รับวิถีใหม่ new normal สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ แนะรัฐปลดล็อก จัดจ้างสินค้าเมดอินไทยแลนด์คู่ขนานนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น local economy คาด 4 อุตสาหกรรมรับอานิสงส์ทั้งเกษตร เครื่องมือแพทย์ อาหารเสริม หุ่นยนต์ เปิดตลาด CLMVT ด้าน “สุริยะ” เตรียมชงงบฯ 10,000 ล้าน จ้างแรงงานในพื้นที่ช่วย SMEs หวังฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยคณะอนุกรรมการได้ประชุมร่วมกับประธานทั้ง 11 คลัสเตอร์ ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงแนวทางการปรับตัวของธุรกิจจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ และหลังจากวิกฤตได้คลี่คลายลงอย่างเร็วที่สุดคือกลางปีนี้และช้าที่สุดคือสิ้นปี 2563 ซึ่งจะทำให้เกิดวิถีชีวิตแบบความปกติใหม่ หรือ new normal ขึ้น

ที่มา : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 – 10 พ.ค. 2563

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่นแถลงการณ์สู้โควิด-19

อาเซียนจับมือญี่ปุ่นออกถ้อยแถลงร่วมด้านเศรษฐกิจ รับมือวิกฤตโควิด-19  เน้นบรรเทาผลกระทบและเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ พร้อมจัดหาวัตถุดิบและสินค้าส่งออกตลาดโลก  นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและญี่ปุ่นได้ออกถ้อยแถลงร่วม “ข้อริเริ่มด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19” โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ  1.รักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันใกล้ชิดระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น และรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19  2. ร่วมมือกันบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 และ 3. เสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ โดยได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อให้ข้อริเริ่มดังกล่าวเป็นรูปธรรมโดยเร็ว อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการรักษาตลาดที่เปิดกว้าง และส่งเสริมให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยอาเซียนและญี่ปุ่นในฐานะผู้ผลิตหลักของห่วงโซ่อุปทานโลกจะพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดหาวัตถุดิบและสินค้าต่างๆ ส่งออกสู่ตลาดโลก เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด รวมถึงไม่สร้างอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ ยา อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น ตลอดจนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเอื้อให้ภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนของโลก รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/877536?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic

กระทรวงพาณิชย์จัดเคมเปญลดราคาสินค้า6กลุ่มสินค้า 72 รายการ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกนะทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมหารือร่วมกับผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ว่า เป็นการหารือเพื่อหาแนวทางจัดลดราคาจำหน่ายสินค้า เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤตที่กำลังเผชิญการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลง  ซึ่งผู้ผลิตสินค้า รวมทั้งห้างค้าปลีกพร้อมให้ความร่วมมือลดราคาสินค้า 5-58  % ในสินค้าจำเป็น 6 หมวด จำนวน 72 รายการ ได้แก่  อาหารและเครื่องดื่ม ทั้งข้าวสาร น้ำมันปาล์ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  และนม  หมวดอาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง ลดราคาผ่านเซเว่น-อีเลฟเว่น และซีพีเฟรชมาร์ท  หมวดซอสปรุงรส ทั้งซีอิ้วขาว-ซีอิ๋วดำตราเด็กสมบูรณ์ ซอสหอยนางรม เต้าเจี้ยว  หมวดของใช้ประจำวัน เช่น กระดาษชำระ แป้งเด็ก ยาสีฟัน แปรงสีฟัน และผ้าอนามัย หมวดผลิตภัณฑ์ชำระร่างกาย ทั้งสบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า  และหมวดผลิตภัณฑ์ซัก-ล้าง ทั้งน้ำยาทำความสะอาดผ้า น้ำยาล้างขวดนม และน้ำยาทำความสะอาดพื้น รวมแล้ว 72 รายการ ในห้างที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ลดราคา 5 – 58 % ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2563

ที่มา:https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/876379?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic

โควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกหาย 1-1.5 ล้านล้านบาท

นายธนวรรธน์  พลวิชัย  อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าการปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนมี.ค.2563 นี้ปรับตัวลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ21 ปี 6 เดือน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน มี.ค. อยู่ที่ 41.6 ลดลงจากเดือนก.พ.63 ที่อยู่ในระดับ 52.5 สำหรับปัจจัยลบที่มีผลต่อ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคคือความกังวลต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น, รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อบริหารจัดการและควบคุมโควิด-19 ประกอบกับการสั่งปิดห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่างๆ ทำให้เกิดการปิดกิจการยกเลิกการจ้างงาน มีแรงงานตกงาน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากสถานการณ์ไม่สามารถควบคุมได้รุนแรงเหมือนกรณีอิตาลีเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงไปอีก อย่างแน่นอน

ที่มา:https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/875266?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic

‘กรมเจรจาฯ’ แนะผู้ประกอบการเพิ่มแปรรูปผลไม้พร้อมใช้เอฟทีเอช่วยขยายตลาดช่วงวิกฤตโควิด-19

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายประเทศมีความต้องการบริโภคอาหารที่เก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสียเพิ่มขึ้น จึงแนะนำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าผลไม้ปรับเปลี่ยนรูปแบบผลผลิต โดยเน้นการผลิตและส่งออกผลไม้แปรรูปมากขึ้น ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูปของไทย ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพ รวมถึงมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ซึ่งความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ผลไม้กระป๋องและผลไม้ แปรรูปของไทยเติบโตได้ในตลาดโลก โดยปัจจุบัน 13 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ได้ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้าผลไม้กระป๋องและแปรรูปทุกรายการจากไทยแล้ว เหลือเพียง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปของไทย ปีก่อนที่ไทยจะมีเอฟทีเอฉบับแรกกับอาเซียนในปี 35 จนถึงปัจจุบัน การส่งออกสินค้าผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูปของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 190 ประเทศคู่ค้าสำคัญ 5 อันดับแรก คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน ญี่ปุ่น และ จีน ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ที่ต้องการความสะดวกในการดำเนินชีวิตมากขึ้น และในช่วงที่สินค้าผลไม้สดกำลังเผชิญปัญหาการส่งออกชะงักงันจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงถือเป็นโอกาสที่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจะเพิ่มการแปรรูปสินค้าผลไม้สด เป็นผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูป

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3111542

ประภาศรี สุฉันทบุตรแนะรัฐบาลตั้งวอร์มรูมเศรษฐกิจออกมาตรการช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว

นางประภาศรี สุฉันทบุตร ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง วุฒิสภา เปิดเผยว่า รู้สึกเห็นใจ ผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์หรือไกด์ที่ต้องตกงานไม่น้อยกว่า 30,000 คน จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนระงับการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่29ก.พ.ที่ผ่านมา สมาพันธ์มัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย จัดประชุมมัคคุเทศก์ที่จังหวัดกระบี่ มีการสะท้อนปัญหาการยกเลิกทัวร์จากจีนเกือบทั้งหมดจะหวังพึ่งนักท่องเที่ยวจากยุโรปหรือเพื่อนบ้านอย่างสปป.ลาว มาเลเซีย เวียดนามหรือกัมพูชาก็ไม่ผลเพราะได้รับผลจากโควิด-19เช่นกัน ส่งผลให้ มัคคุเทศก์ ไม่มีงานทำแนะรัฐบาลตั้งวอร์มรูมเศรษฐกิจออกมาตรการช่วยเหลือด่วนในช่วงที่เกิดวิกฤตแบบนี้

ที่มา : https://mgronline.com

DITP ผลักดันผู้ประกอบการไทยขายสินค้าสู่ตลาดโลก ผ่านร้าน TOPTHAI

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์จับมือพันธมิตรออนไลน์ชั้นนำ ได้แก่ Kha-leang (ตลาด CLMV), Tmall Global Partner (ตลาดจีน), BigBasket (ตลาดอินเดีย) และ Amazon (ตลาดอเมริกา) จัดกิจกรรม “Cross-Border e-Commerce Solutions & Business Matching” ณ กรุงเทพฯ เพื่อต่อยอดการส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถขายสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศ ผ่านร้าน TOPTHAI บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถขยายธุรกิจระหว่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 จึงมีความพิเศษคือจะเป็นการต่อยอดเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพที่เข้าร่วมโครงการสามารถขึ้นขายสินค้าบนร้าน TOPTHAI ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในตลาดเป้าหมาย อาทิ Kha-leang (ตลาด CLMV), Tmall Global Partner (ตลาดจีน), BigBasket (ตลาดอินเดีย) และ Amazon (ตลาดอเมริกา)

          ที่มา: https://mgronline.com

ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๕

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเดินทางเยือนเวียงจันทน์ สปป. ลาว ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๕ และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๕ ซึ่งจะมีรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกทั้ง ๖ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน เข้าร่วม จะทบทวนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ ๕ ปี แม่โขง – ล้านช้าง ค.ศ. ๒๐๑๘-๒๐๒๒ ในช่วง ๑ ปีที่ผ่านมา (Progress Report) รับฟังแนวทางการดำเนินนโยบายต่อกรอบความร่วมมือดังกล่าวจากรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิก รวมทั้งเตรียมการจัดการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๓ ซึ่งจะจัดเวียงจันทน์ สปป. ลาว ระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ ในโอกาสนี้ ที่ประชุมจะพิจารณารับรองเอกสารผลลัพธ์ ๑ ฉบับ ได้แก่ แถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนของการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๕ (Joint Press Communique of the 5th MLC Foreign Ministers’ Meeting)

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/mfa/3096618

e-Form D ลดหย่อนภาษีศุลกากรเอื้อการค้านอาเซียนมี

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ ได้ให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Form D ภายใต้ ASEAN Single Window (ASW) อย่างเต็มรูปแบบ โดยสามารถเชื่อมโยง e-Form D กับประเทศสมาชิกอาเซียนครบ 10 ประเทศแล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. ประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว ได้เริ่มบริการแล้วส่งผลให้ผู้ประกอบการในประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ สามารถใช้ e-Form D ประกอบการดำเนินพิธีการทางศุลกากรเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีลดหย่อน/ยกเว้นภาษีนำเข้า ณ ประเทศอาเซียนปลายทาง ช่วยเอื้อให้การค้าขายภายในอาเซียนมีความคล่องตัว และเพิ่มมูลค่าการค้าขายในอาเซียนและนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเจรจากับประเทศคู่ค้าภายใต้กรอบ FTA อื่นๆ โดยเฉพาะกรอบความตกลงอาเซียนและประเทศคู่เจรจา (ASEAN Plus)

ที่มา : https://www.kaohoon.com/content/339885