ภาคการส่งออกของกัมพูชาไปยังไทยเพิ่มขึ้นกว่า 195% ในปี 2562

ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคมปีที่แล้วกัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 2.27 พันล้านเหรียญสหรัฐไปยังประเทศไทยคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 195% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งสำหรับการนำเข้าของกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 7.1 พันล้านเหรียญสหรัฐสำหรับผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยลดลง 6% เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยโฆษกของกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่ารัฐบาลกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อลดการขาดดุลการค้ากับไทย จนถึงตอนนี้รัฐบาลได้ผลักดันการส่งออกในปริมาณที่สูงขึ้นกว่าก่อนหน้านี้ ซึ่งในปี 2561 การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชากับไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 8.38 พันล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 6.18 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50689838/cambodias-exports-to-thailand-increase-by-195-in-2019

งบปี 63 สุดอืด ใช้จ่ายรัฐสะดุด ไตรมาสแรกลงทุนต่ำเป้า 5.3%

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ที่กำหนดไว้ 3.2 ล้านล้านบาท ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.-ธ.ค.62) เบิกจ่ายแล้วราว 29.2% เป็นการเบิกจ่ายในส่วนงบรายจ่ายประจำปี เช่น เงินเดือนข้าราชการ เป็นต้น 700,000 ล้านบาท โดยการเบิกจ่ายนี้สามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ที่กำหนดให้รัฐบาลใช้งบประมาณปีก่อนหน้าที่เหลืออยู่ไปก่อนได้ ยกเว้นการเบิกจ่ายในโครงการลงทุนใหม่ ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนไตรมาสแรก เป็นการเบิกจ่ายจากโครงการที่มีสัญญาผูกพันมาก่อนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่เบิกจ่ายได้เพียง 25,000 ล้านบาท หรือ 4.4% ของงบลงทุนในปีงบ 63 ที่กำหนดไว้กว่า 600,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 5.3% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 65% คิดเป็นเงินลงทุนหายไปจากระบบเศรษฐกิจราว 50,000 ล้านบาท เพราะ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 ยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงเบิกจ่ายงบลงทุนใหม่ไม่ได้ รัฐบาลประกาศให้ปี 63 เป็นปี แห่งการลงทุน โดยโครงการลงทุนสำคัญ ได้แก่ รถไฟทางคู่ 7 เส้นทางของกระทรวงคมนาคม เช่น เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย เป็นต้น ส่วนการลงทุนรัฐวิสาหกิจปีนี้มีวงเงิน 346,000 ล้านบาท คาดจะเบิกจ่ายได้ 77% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด และคาดว่าการลงทุนเอกชนปีนี้จะโต 4.2% จากปีที่แล้วที่โต 2.6%.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/finance-banking/1768380

‘กรมวิชาการเกษตร’ เคลียร์เส้นทางส่งออกผลไม้ไทย มะพร้าวอ่อนเนื้อหอมสุดเตรียมรุกตลาดเวียดนาม

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 3 -7 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ ได้นำคณะเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เดินทางไปสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยได้เข้าพบนายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย เพื่อหารือและเตรียมการสำหรับการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนในฤดูกาลผลิตและส่งออกผลไม้ในปี 2563 ผ่านประเทศเวียดนาม ซึ่งทางเวียดนามมีความต้องการนำเข้ามะพร้าวอ่อนจากไทย จากข้อมูลการส่งออกผลไม้ไทยทั้งสดและอบแห้งไปยังเวียดนามในปี 2562 พบว่ามีมูลค่ากว่า 26,000 ล้านบาท ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการหารือดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาที่พบระหว่างการขนส่งสินค้าผลไม้สดไปจีนโดยผ่านประเทศที่สาม และเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่ส่งออกผลไม้สดไปจีน เนื่องจากในการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีนนิยมขนส่งไปทางบก ขณะนี้ กรมวิชาการเกษตรและมกอช.อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอให้จีนอนุญาตการขนส่งผลไม้สดผ่านเส้นทางที่มีศักยภาพนอกเพิ่มเติมจากเส้นทางเดิมที่ไทยและจีนมีพิธีสารร่วมกันในปัจจุบัน ได้แก่ เส้นทาง R3A และ R9 เป็นต้น โดยในระหว่างนี้ กรมวิชาการเกษตรจะตรวจสอบและควบคุมให้สินค้าผลไม้สดจากไทยที่ส่งออกไปจีนเป็นไปตามเงื่อนไขในพิธีสารดังกล่าวและสอดคล้องกับเงื่อนไขการนำเข้าของจีนอย่างเคร่งครัด

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_1943719

ดีอีเอสปลื้มทุนใหญ่สหรัฐฯ ซิสโก้-ไมโครซอฟท์ ขนเงินลงทุนไทยเพิ่ม

ซิสโก้ เลือกไทยตั้งศูนย์ Co-Innovation Center แห่งแรกในเอเชีย ปั้นคนไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ด้านไมโครซอฟท์ จ่อลงนามเอ็มโอยู ผุด AI/IoT Insider Lab ใน ‘อีอีซี’ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยหลังเข้าพบและหารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไอทีระดับโลกระหว่างการเดินทางไปโรดโชว์ที่สหรัฐอเมริกาได้รับคำยืนยันจากบริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ จำกัด และบริษัท ไมโครซอฟท์ ที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม ทั้งนี้บริษัท ซิสโก้ ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดตั้งศูนย์ Cisco Co-Innovation แห่งแรกในเอเชีย นอกจากนี้ทางไมโครซอฟท์และกระทรวงดิจิทัลฯ จะมีการลงนามเอ็มโอยูร่วมกัน เพื่อเข้ามาปักธงใน Thailand Digital Valley โดยจัดตั้ง AI/IoT Insider Lab ซึ่งเป็นโครงการที่ไมโครซอฟท์ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล โดยไมโครซอฟท์เล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของอาเซียน เป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) ซึ่งมีความสนใจอย่างมากที่จะพิจารณาจัดตั้ง AI/IoT Lab ในประเทศไทย ร่วมพัฒนาบุคลากรและอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของไทยอย่างเต็มที่

ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/news/613275

ส.อ.ท. จี้รัฐรับมือเศรษฐกิจโลกยังหนัก

หลังจากประเมินสถานการณ์โดยรวมในปี 2563 ภาคเอกชนต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ เศรษฐกิจยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลก สงครามค่าเงินการเมือง แม้มีมาตรการกระตุ้นการลงทุน ข้อเสนอหลักคือต้องลดภาระ โดยขอให้รัฐพิจารณาเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการรายเล็กและประชาชนบางส่วน โดยการลดค่าไฟให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และบ้านพัก 5% เป็นระยะเวลา 1 ปี ขณะเดียวกันขอให้ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรใหม่ เพื่อการผลิตในสินค้าที่ไทยผลิตเองไม่ได้ ให้เหลือ 0% เป็นระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้การที่รัฐใช้แนวทางดึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้ามา เพื่อเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือในการช่วยเศรษฐกิจฐานราก นอกจากนี้รัฐจำเป็นที่ต้องผลักดันให้แต่ละภาคถูกพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ ดึงการลงทุนเข้ามาเช่นเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยภาคเหนือควรถูกยกเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารและ Creative Economy เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน(NEEC) ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว อาหาร และLogistics Hub และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ให้เป็นเมืองอัจฉริยะและท่องเที่ยว รวมถึงอุตสาหกรรมฮาลาล

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-414443

ไทยมอบเงิน 1.38 พันล้านบาทให้กับลาวเพื่อสร้างสะพานใหม่

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 63ได้มีการลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนสำหรับส้รางสะพานข้ามแม่น้ำโขงซึ่งมีมูลค่ากว่า 1.38 พันล้านบาท โดยจะเชื่อมระหว่างจังหวัดบึงกาฬในประเทศไทยและปากซันในแขวงบอลิคำไซ การลงนามดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากทั้ง 2 ประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยเชื่อว่าสะพานนี้จะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการคมนาคมที่สำคัญและช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสปป.ลาวไทยและเวียดนามในอนาคตจะนำมาซึ่งการเติบด้านการค้า การท่องเที่ยวส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นดังกล่าวและในอีกแง่หนึ่งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย  

ที่มา : http://annx.asianews.network/content/thailand-provides-138-billion-baht-laos-construction-new-bridge-112282

สื่อมะกันชูไทยประเทศดีสุดในโลกอันดับที่26-เด่นเรื่องเปิดกว้างธุรกิจ

ไทยได้คะเเนนสูงด้าน การเปิดกว้างทางธุรกิจ ประเทศที่เหมาะกับการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ โอกาสในอนาคตที่ดีขึ้น และมรดกทางวัฒรธรรม แต่ได้คะเเนนน้อยด้านอำนาจของประเทศในเวทีโลก และสถานะการเป็นพลเมือง ยูเอส นิวส์แอนด์เวิลด์ รีพอร์ท สื่อสหรัฐ เผยแพร่รายงานจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลก73 ประเทศประจำปี 2563 ที่พิจารณาจากข้อมูลหลายด้าน ตั้งแต่คุณภาพชีวิต การเคารพสิทธิมนุษยชน และมรดกทางวัฒนธรรมผ่านการสอบถามความเห็นของประชาชนทั่วโลกจำนวน 20,000 คน ซึ่งเเบ่งเป็นกลุ่มผู้มีความรู้ นักธุรกิจและประชาชนทั่วไป ให้ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศดีที่สุดอันดับหนึ่งต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ตามมาด้วยแคนาดา ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สหรัฐ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์ ส่วนประเทศไทย ติดอันดับที่ 26 รัสเซีย อยู่อันดับที่ 23 อินเดีย อันดับที่ 25 และกรีซ ในอันดับที่ 27 ส่วนประเทศอื่นๆมีฝรั่งเศสอยู่อันดับที่ 12 นิวซีแลนด์อันดับที่ 11 จีนและสิงคโปร์ติดอันดับที่ 15 และ 16 ตามลำดับ ขณะที่เกาหลีใต้ อยู่อันดับที่ 20 สำหรับประเทศที่รั้งท้ายในการจัดอันดับครั้งนี้ คือโอมาน อยู่อันดับที่ 71 เซอร์เบีย อยู่อันดับที่ 72 และเลบานอนอยู่อันดับที่ 73

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/862641?utm_source=homepage_hilight&utm_medium=internal_referral

นายสมคิดมอบนโยบายจัดทำงบฯ แบบบูรณาการ ชี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม มอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบบูรณาการประจำปี 2564 ว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ทุกภาคส่วนจะต้องทำงานกันแบบบูรณาการ โดยรัฐบาลจะมุ่งเน้นงบประมาณในการจัดทำระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน โดยมอบหมายให้ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ติดตามงบประมาณเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ให้ผันงบประมาณมาลงทุนใน 3 แห่ง

ที่มา : https://mgronline.com/uptodate/detail/9630000004979

เปิดโอกาสใหม่ทางการค้า-การลงทุนของเวียดนาม แต่อาจสร้างความเสี่ยงต่อไทย

โดย Soison Lohsuwannakul I วิจัยกรุงศรี Research Intelligence

ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (The EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) เป็นความตกลงแรกของเวียดนามที่เปิดเสรีการค้าเกือบทุกรายการสินค้า อีกทั้งยังครอบคลุมการเปิดเสรีการบริการและการลงทุนในระดับสูงกว่าทุกความตกลงที่เวียดนามมีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่เวียดนามเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมการประมูลของรัฐ ทำให้เวียดนามมีศักยภาพในการส่งออกมากขึ้น สามารถดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศ ที่สำคัญจะช่วยให้เวียดนามเพิ่มแต้มต่อและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว สำหรับประเทศไทยอาจได้รับผลข้างเคียงเชิงลบ โดยสินค้าไทยมีแนวโน้มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ขณะเดียวกันการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างเวียดนามและ EU อาจส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกชิงส่วนแบ่งตลาดในเวียดนามและ EU มากขึ้นในระยะนับจากนี้

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2019 ทางการเวียดนามและสหภาพยุโรป (The European Union: EU) ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (The EU- Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA)/1 ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ความตกลงดังกล่าวคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในครึ่งแรกของปี 2020

สำหรับความตกลง EVFTA ฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าครั้งสำคัญของเวียดนามในการเชื่อมโยงประเทศสู่เวทีการค้าการลงทุนระดับโลก โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ (1) ความตกลง EVFTA มีระดับการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกือบ 100% สูงสุดในบรรดาความตกลงที่เวียดนามลงนามและมีผลบังคับใช้แล้ว/2 (2) เวียดนามเป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียนถัดจากสิงคโปร์ ที่ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับ EU/3 และ (3) เวียดนามเป็นประเทศกำลังพัฒนารายแรกที่บรรลุความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง/4 กับ EU ซึ่งนอกเหนือจากการเปิดเสรีการค้าการลงทุนในเชิงปริมาณ (ในลักษณะของการลดอัตราภาษีนำเข้าหรือการเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ) ยังรวมถึงการปรับปรุงคุณภาพ มาตรฐาน ความเท่าเทียมในการแข่งขัน ตลอดจนการยกระดับความร่วมมือและแลกเปลี่ยนทางเทคนิคระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นโอกาสของเวียดนามในการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป

ไม่เพียงเท่านี้ ความตกลง EVFTA ยังเป็นความตกลงแรกที่ทางการเวียดนามเปิดกว้างให้นักลงทุนจาก EU สามารถเข้าประมูลสัญญาของภาครัฐได้

  1. การเปิดเสรีการค้าสินค้า EU จะลดภาษีให้เวียดนามในสัดส่วนสินค้าที่มากกว่าและกรอบเวลาที่สั้นกว่าเวียดนาม ดังนี้
  2. EU จะยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าแก่เวียดนามเป็นสัดส่วนร้อยละ 85.6 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกัน (Tariff lines) ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้
  3. เวียดนาม จะยกเว้นภาษีนำเข้าแก่ EU เป็นสัดส่วนร้อยละ 48.5 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกันทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ และจะทยอยยกเว้นภาษีเพิ่มเติมจนมีสัดส่วนร้อยละ 98.3 ภายในระยะเวลา 11 ปีนับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้
  4. การเปิดเสรีด้านบริการ ภายใต้ EVFTA เวียดนามมีการเปิดเสรีในระดับสูงกว่าที่ตกลงไว้กับ WTO และสูงกว่าความตกลงอาเซียน
  5. การเปิดเสรีการลงทุน: ภายใต้ความตกลง EVFTA เวียดนามเปิดเสรีในระดับสูงกว่าทุกความตกลงที่ประเทศมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
  6. การเปิดเสรีการลงทุนในสาขาการผลิต เวียดนามและ EU เปิดเสรีการลงทุนเกือบทุกสาขา
  7. สำหรับการเปิดเสรีการลงทุนในสาขาบริการ นักลงทุนจาก EU สามารถลงทุนในเวียดนามได้เสรีและถือหุ้นได้ในสัดส่วนสูงสุดถึง 100% ในหลายสาขาบริการ และสูงกว่าที่นักลงทุนจากอาเซียนได้รับอนุญาต
  8. การเปิดเสรีด้านอื่น ๆ : ความตกลง EVFTA ยังเป็นความตกลงฯ ที่มีมาตรฐานสูงและครอบคลุมกว่าความตกลงอื่นที่เวียดนามมีอยู่ โดยเฉพาะการเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าประมูลงานและสัญญาของรัฐได้ อีกทั้งยังให้ความคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ การประมูลงานและสัญญาของรัฐ (Public contracts) เป็นครั้งแรกที่เวียดนามเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าประมูลงานของรัฐได้ ภายใต้ความตกลง EVFTA นักลงทุนจาก EU สามารถเข้าร่วมประมูลงานและสัญญาของรัฐ ที่อยู่ภายใต้อำนาจระดับกระทรวงของเวียดนาม

การเปิดเสรีด้านบริการและการลงทุน รวมถึงความร่วมมืออื่น ๆ ภายใต้ EVFTA จะยิ่งส่งผลเชิงบวกต่อเวียดนามในระยะยาว

เมื่อพิจารณาถึงประเด็นอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้ความตกลง EVFTA พบว่า มีนัยสำคัญต่อการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน รวมถึงโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของเวียดนาม ประเด็นดังกล่าวที่สำคัญ ได้แก่

  1. การเปิดเสรีด้านบริการและการลงทุนในเชิงลึกและกว้างมากขึ้นภายใต้ความตกลง EVFTA เอื้อให้เวียดนามมีโอกาสดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้น
  2. การเปิดกว้างด้านการประมูลงานและสัญญาของรัฐ เป็นโอกาสดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยนักลงทุนจาก EU สามารถเข้าร่วมประมูลงานของรัฐและเข้าร่วมโครงการลงทุนของภาครัฐได้เป็นครั้งแรก ขณะที่เวียดนามจะได้ประโยชน์จากการสรรหาผู้รับงานที่หลากหลาย
  3. ความร่วมมือด้านต่างๆ ภายใต้ความตกลงฯ จะส่งผลเกื้อหนุนการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว นอกเหนือจากการเปิดเสรีด้านการค้า บริการ และการลงทุนแล้ว ความตกลง EVFTA ยังมีประเด็นครอบคลุมถึงการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การลดการผูกขาดของรัฐ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในด้านต่าง ๆ

EVFTA อาจส่งผลเชิงลบต่อไทย จากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางภาษี รวมทั้งผลกระทบจากการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างเวียดนามและ EU

  • ผลจากการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ความตกลง EVFTA จะส่งผลสุทธิทางลบต่อการส่งออกของไทยโดยรวมไปเวียดนามและ EU

ผลจากการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade diversion) และการย้ายฐานการลงทุน (Investment relocation) ที่เกิดขึ้นจากความตกลง EVFTA จะทำให้ประเทศอื่นมีแนวโน้มได้รับผลกระทบเชิงลบ

  • การส่งออกไทยไปเวียดนามลดลงร้อยละ 0.17 จากการสูญเสียความได้เปรียบทางภาษี

ในปัจจุบันไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับต้นๆ ของเวียดนาม เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบด้านภาษีจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียนเมื่อเวียดนามเปิดเสรีการค้าภายใต้ความตกลง EVFTA อัตราภาษีนำเข้าที่เวียดนามเก็บจากสินค้า EU จะลดลงจากเฉลี่ยร้อยละ 4.8 เหลือร้อยละ 0 เวียดนามจึงมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจาก EU ทดแทนสินค้าจากไทย

ผลการศึกษาของวิจัยกรุงศรี พบว่า การเปิดเสรีการค้าระหว่างเวียดนามและ EU จะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังเวียดนามลดลงร้อยละ 0.17 สำหรับในปีแรกที่ความตกลง EVFTA มีผลบังคับใช้สัดส่วนสินค้าที่เวียดนามลดภาษีนำเข้าให้ EU ทันทีจะอยู่ที่ร้อยละ 48.5 ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบเชิงลบในระยะแรก ได้แก่ โพรลิเอทิลีน, เครื่องส่งวิทยุ/โมเด็ม/แลนด์ไร้สาย, ไดโอด/อุปกรณ์กึ่งตัวนำและแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

ไม่เพียงผลเชิงบวกที่เวียดนามจะได้รับจากการยกเว้นภาษีนำเข้าซึ่งทำให้การส่งออกของเวียดนามไปยัง EU มีความได้เปรียบด้านราคาและสินค้าจากเวียดนามยังมีโอกาสเข้าร่วมห่วงโซ่การผลิตของ EU มากขึ้นแล้ว เวียดนามยังได้ผลบวกเพิ่มเติมจากความพิเศษของ EVFTA ที่เหนือกว่าความตกลงอื่น ๆ ทั้งจากการเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมการประมูลของรัฐ การลดการผูกขาดของกิจการของรัฐ การส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/ri-evfta

กสิกรไทยเข้าถือหุ้น 35% ใน A Bank ของเมียนมา

ธนาคารกสิกรไทย (กสิกรไทย) กำลังเตรียมลงทุนในธนาคารเพื่อการพัฒนาเกษตรกรอิรวดี โดยซื้อหุ้น 35% ในธนาคาร A และได้ขออนุมัติจากธนาคารกลางของเมียนมา (CBM) ซึ่งจะช่วยให้ KBank สามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของธนาคาร A เพื่อเข้าถึงทั่วกลุ่มประเทศ CLMVI (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) และขยายการเข้าถึงธุรกิจในท้องถิ่นและธุรกิจไทย AEC + 3 (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน + จีนญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) โดยการบริการหลักของธนาคาร คือ สินเชื่อธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางธุรกิจค้าปลีก และธนาคารดิจิทัล หลังจาก CBM อนุญาตให้ธนาคารต่างประเทศเข้าถือหุ้นในธนาคารในประเทศตั้งแต่มกราคม 62 ธนาคารกสิกรไทยเริ่มมองหาธนาคารที่มีศักยภาพและมีแนวคิดทางธุรกิจที่คล้ายคลึงกันซึ่งก็คือธนาคาร A โดยกสิกรจะได้รับประโยชน์จากทรัพยากรบุคคลและความสามารถของธนาคารซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/thailands-kbank-acquire-35-stake-myanmars-bank.html