ญี่ปุ่นเจรจาส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรภายในกัมพูชา

กัมพูชาและญี่ปุ่นร่วมหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การพัฒนาและการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวหลังสิ้นสุดการระบาดของโควิด-19 โดยอธิบดีกรมการพัฒนาการท่องเที่ยวกัมพูชาร่วมกับพันธมิตรญี่ปุ่น ได้จัดการเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่ออำนวยความสะดวกในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศกัมพูชาหลังสิ้นสุดการระบาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าการฟื้นตัวจะได้รับการส่งเสริมโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชิงอนุรักษ์รูปแบบใหม่ ภายใต้ Green Belt ตลอดจนการส่งเสริมมูลค่าเพิ่มในการท่องเที่ยว ด้วยความร่วมมือนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวจึงได้จัดทำโครงการนำร่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเทคนิคการเพาะปลูกสมัยใหม่ในอำเภอบาราย จังหวัดกำปงธม ซึ่งเป้าหมายของโครงการคือการศึกษาและค่อยๆ พัฒนาภาคการท่องเที่ยวเชิงเกษตรผ่านการปลูกผักและผลไม้ให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50915060/cambodia-and-japan-in-talks-to-promote-agro-tourism-and-recovery-of-tourism-sector-post-pandemic/

กระทรวงเศรษฐกิจการคลังกัมพูชาร่วมกับสถานทูตญี่ปุ่นจัดเสวนาให้กับนักลงทุน

กรมสรรพากร หน่วยงานภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจการคลังกัมพูชา และสถานทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา ร่วมกันจัดเสวนาเกี่ยวกับการพิจารณาอัตราภาษี สำหรับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจกัมพูชาหรือนักลงทุนผู้ที่สนใจลงทุนในกัมพูชา รวมถึงการตั้งเป้าหมายในการร่วมพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนในกัมพูชา เพื่อส่งเสริมการลงทุนและความสะดวกในการทำธุรกิจ ซึ่งจากข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2021 กัมพูชาได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นรวมมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ ครอบคลุม 144 โครงการ ในการสนับสนุนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50908193/gdt-and-japanese-embassy-hosts-virtual-discussion-with-investors/

7 เดือนของปีงบ 63-64 ยอดส่งออกไปญี่ปุ่น พุ่ง 582 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย มูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่นในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.63-เม.ย.64) ของปีงบประมาณปัจจุบัน 63-64 อยู่ที่ 582.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าเพียง 231.87 ล้านดอลาสร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ทางทะเล ข้าว งาดำ ถั่วเขียว ยางและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ส่วนการนำเข้าจะเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ ยา รถยนต์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ มูลค่าการค้าของทั้ง 2 ประเทศ ในปีงบประมาณ 62-63 อยู่ที่ 1.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปีงบประมาณ 61-62 อยู่ที่ 1.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปีงบประมาณ 60-61 อยู่ที่ 1.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปีงบประมาณ 59-60 อยู่ที่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปีงบประมาณ 58-59 อยู่ที่ 1.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ญี่ปุ่นมีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 34.7% ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ขณะที่องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ได้เสนอเงินกู้ ODA เพื่อนำไปพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม

ที่มา: https://gnlm.com.mm/exports-to-japan-cross-582-mln-in-seven-months/

ญี่ปุ่นมอบเงิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

รัฐบาลญี่ปุ่นตกลงที่จะให้เงินช่วยเหลือจำนวน 313 ล้านเยน (ประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสปป.ลาว เงินทุนดังกล่าวจะถูกเบิกจ่ายภายใต้โครงการทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมอบทุนการศึกษาสำหรับข้าราชการระดับกลางและระดับท้องถิ่นเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น โครงการนี้จะช่วยให้ข้าราชการรุ่นเยาว์ของสปป.ลาวได้ขยายความรู้และทักษะเพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาของลาว ญี่ปุ่นถือเป็นผู้บริจาคเงินช่วยเหลืออันดับต้นๆ ให้กับสปป.ลาวและมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือระหว่างประเทศ                      ในปี 2560 ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรายใหญ่อันดับที่ 6 ในสปป.ลาว นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังได้ช่วยสปป.ลาวในการรับมือกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 รวมถึงการฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจท้ายที่สุดนายทาเควากาตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวเพิ่มเติมว่าเขาเชื่อว่าโครงการทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในสปป.ลาวและกระชับความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างสปป.ลาวและญี่ปุ่น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Japan137.php

ปริมาณการส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นมายังกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้น

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวถึง Global Trade Atlas ที่ระบุว่าการส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนเพิ่มขึ้นเป็น 204.046 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในทางกลับกันการส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 สู่ 639.475 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยหอการค้ากัมพูชารายงานตัวเลขการส่งออกที่สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี รวมมูลค่า 643 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาที่ได้ทำการส่งออกไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ สิ่งทอ รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องหนัง เครื่องสำอาง กระดาษ และเหล็กกล้า ส่วนสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นมายังกัมพูชา ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้า และพลาสติก เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50879441/japanese-exports-to-cambodia-surge/

กัมพูชาเร่งการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไปยังญี่ปุ่น

เม็ดมะม่วงหิมพานต์แปรรูปจำนวนกว่า 7.6 ตัน ที่ผ่านการแปรรูปในจังหวัดกำปงธม ได้ทำการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ชุดแรกที่ส่งไปยังประเทศญี่ปุ่นภายใต้สัญญาระหว่างทางกัมพูชาร่วมกับ Top Planning Japan Co Ltd. ซึ่งผู้ประกอบการในกัมพูชาวางแผนที่จะส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ชุดที่สองอีกกว่า 9 ตัน โดยจะผลิตในปลายเดือนนี้ แสดงให้เห็นว่าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกัมพูชาเป็นที่ต้องการของตลาดในต่างประเทศจากการที่ญี่ปุ่นทำการนำเข้า ซึ่งในปัจจุบันตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกัมพูชาคือเวียดนาม ข้อมูลจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2021 กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์รวม 801,732 ตัน ไปยังเวียดนาม เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 321 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนอื่นๆจะจัดส่งไปยังจีน อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศไทย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50870058/cashew-nuts-bound-for-japan/

“เวียดนาม-ญี่ปุ่น” จับมือร่วมส่งเสริมการดำเนินงาน ภายใต้ข้อตกลง CPTPP

เวียดนามและญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งได้บรรลุฉันทานมติมาจากการเจราทางโทรศัพท์ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา อีกทั้ง เวียดนามยอมรับที่จะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่ต้องการลงทุนในเวียดนาม และการเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้น ช่วยให้เวียดนามกลายเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะสาขาผลิตยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อความสัมพันธ์แบบทวิภาคีทั้งทางเศรษฐกิจและการค้า

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-japan-to-work-closely-for-effective-implementation-of-cptpp/202091.vnp

ญี่ปุ่นยกระดับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์กับลาว

สถานทูตญี่ปุ่นได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการใหม่สำหรับความร่วมมือในอนาคตระหว่างสปป.ลาวและญี่ปุ่น เมื่อไม่นานมานี้ Mr.Yoshihide Suga นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้โทรศัพท์ไปหานายMr.Phankham Viphavanh นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว การหารือกันครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนทางโทรศัพท์ครั้งแรกระหว่างผู้นำสูงสุดของทั้งสองประเทศ ในโอกาสที่นี้ได้มีการประกาศ ‘แผนปฏิบัติการ’ เพื่อความก้าวหน้าของหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างญี่ปุ่นและสปป.ลาวต่อสาธารณะ แผนปฏิบัติการประกอบด้วยหัวข้อหลัก 5 หัวข้อ ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การค้าและการลงทุน ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Japan_90.php

ญี่ปุ่นไฟเขียวร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนการค้า RCEP ร่วมกับจีนและอาเซียน

รัฐสภาญี่ปุ่นได้อนุมัติในวันนี้ให้ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยข้อตกลงดังกล่าวลงนามโดย 15 ประเทศในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งรวมถึงจีน และ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ข้อตกลง RCEP จะช่วยสร้างเขตการค้าเสรีที่มีสัดส่วนสูงถึงราว 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP), การค้าและประชากรของโลก โดยนับเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นจะมีส่วนร่วมในข้อตกลงการค้าที่เกี่ยวข้องกับจีนและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ข้อตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้หลังการให้สัตยาบันของ 6 ชาติสมาชิกอาเซียน และอีก 3 ประเทศ โดยในวันนี้ (28 เม.ย.) ข้อตกลง RCEP จะช่วยให้ประเทศที่ลงนามไม่ต้องเสียภาษีสำหรับรายการสินค้า 91% จากทั้งหมด และยังออกกฎระเบียบที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับการลงทุนและทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อส่งเสริมการค้าเสรี

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq29/3218572

ญี่ปุ่นพิจารณาตอบโต้การรัฐประหารของเมียนมา

หัวหน้าคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นกล่าวว่ารัฐบาลกำลังติดตามสถานการณ์การรัฐประหารภายในเมียนมาและจะพิจารณาว่าจะตอบสนองต่อสถานการณ์ในเมียนมาอย่างไร ในแง่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและนโยบายโดยติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์พร้อมทั้งคำนึงถึงผลกระทบจากประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งคำกล่าวนี้เกิดขึ้นหลังจากเกาหลีใต้กล่าวว่าจะระงับการแลกเปลี่ยนทางด้านกลาโหมกับเมียนมาและทำการห้ามส่งออกอาวุธเข้าประเทศหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนที่แล้ว จากการกระทำของรัฐบาลเมียนมาในการจัดการผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 138 คน ในเมียนมานับตั้งแต่การประท้วงเริ่มต้นขึ้น ตัวเลขผู้เสียชีวิตอ้างอิงจาก กลุ่มสิทธิมนุษยชน สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP)

ที่มา : https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/japan-says-considering-response-to-myanmars-military-coup