ปีงบฯ 65-66 ส่งออกเมียนมา พุ่งขึ้น 15%

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย การส่งออก ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 2 ธันวาคม ของปีงบประมาณ 2565-2566 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 11,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 9,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นมาจากจีนผ่อนปรนกฎและข้อบังคับในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น และปัจจุบันอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าแบบ CMP บูมขึ้นมาอีกครั้งหลังจากเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่แรงงงานในโรงงานมากขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร อยู่ที่ 2.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ปศุสัตว์ 18.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าประมง 491.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แร่ธาตุ 205 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ผลิตภัณฑ์จากป่า 97.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าเพื่อการผลิต 7.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสินค้าอื่นๆ 320.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ภาคการส่งออกของประเทศต้องพึ่งพาภาคเกษตรกรรมและการผลิตมากขึ้น ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงให้ความสำคัญกับการลดการขาดดุลการค้า โดยเร่งส่งเสริมการส่งออก เพื่อลดการนำเข้าลง

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmars-exports-rise-15-per-cent-in-fy-2022-2023/

ครบรอบ 1 ปี รถไฟจีน-สปป.ลาว … การค้าผ่านแดนไทยไปจีนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยไปจีนช่วง 10 เดือนแรกปี 2565 ในรูปเงินบาทจะเติบโตช้าที่ 2.8% และการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงเดียวกันก็หดตัวถึง 27.3% (YoY) มีมูลค่าส่งออกที่ 1.26 แสนล้านบาท แต่การส่งออกผ่านแดนบางเส้นทางยังคงเติบโตได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการขนส่งไปยังมณฑลหยุนหนานทั้งการขนส่งด้วยรถบรรทุกและการขนส่งผ่านรถไฟจีน-สปป.ลาว ที่เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2564 ผ่านมาครบ 1 ปี การขนส่งผ่านแดนยังคงมีสัญญาณบวกเติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า ดังนี้

– ในช่วงโควิด-19 ระบาดการขนส่งผ่านแดนเป็นตัวช่วยสำคัญในการส่งสินค้าเข้าสู่จีน โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นรวดเร็วเป็น 17% ของมูลค่าการส่งออกทุกช่องทางไปจีนในปี 2564 (จากเคยอยู่ที่ 12.4% ในปี 2562)

– ปัจจุบันการขนส่งผ่านแดนระหว่างไทยกับจีนมี 4 เส้นทาง ซึ่งสามารถส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ถึงจีนด้วยระยะเวลาเพียง 2-5 วัน และเส้นทางเหล่านี้จะยิ่งคึกคักขึ้นจากการเตรียมเปิดเส้นทางขนส่งช่องทางที่ 5

– กำลังซื้อที่มาจากจีนตอนใต้ มณฑลหยุนหนานและเขตปกครองตนเองกว่างซียังมีโอกาสเติบโตในระยะข้างหน้า โดยในเวลานี้การส่งออกไปยังพื้นที่จีนตอนใต้เติบโตสวนกระแสการหดตัวของการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในภาพรวม ทั้งการส่งออกผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 จ.เชียงราย ไปยังมณฑลหยุนหนานยังขยายตัวถึง 27.9% (YoY) เช่นเดียวกับช่องทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวที่เปิดใช้งานมา 1 ปี มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 1,569 ล้านบาท เบื้องต้นมีสัดส่วน 1.3% ของการส่งออกผ่านแดนไปจีน จากที่ไม่เคยมีการขนส่งด้วยช่องทางนี้มาก่อน สินค้าที่น่าจับตา ได้แก่ ผลไม้ เครื่องสำอาง น้ำพริกปรุงรส เครื่องแกง มันสำปะหลัง ถั่ว ของแต่งบ้าน รวมถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกใหม่ที่น่าจับตา

– การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนตอนใต้สามารถส่งต่อสินค้าไปยังภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนได้อย่างรวดเร็วด้วยเครือข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพของจีน โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการบริโภคที่จีนผลิตไม่ได้และเป็นสินค้าที่เป็นจุดเด่นของไทย รวมถึงสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตในกลุ่มสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบสำคัญของไทยอย่างยางพาราและเม็ดพลาสติก สามารถนำไปต่อยอดผลิตในมณฑลฉงชิ่งและเมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งของพื้นที่ตอนในเชื่อมโยงการขนส่งทั่วจีน และเชื่อมการขนส่งสินค้าไปยุโรป

อย่างไรก็ดี จากมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดของจีนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และด้วยฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อนหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปี 2565 แม้จะมีแรงส่งจากกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปลายปี แต่ด้วยการส่งออกที่อ่อนแรงในช่วงที่ผ่านมาทำให้ทั้งปี 2565 การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนหดตัวที่ 25% มีมูลค่า 145,000 ล้านบาท

ในระยะต่อไปต้องจับตา การผ่อนปรนมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่เริ่มส่งสัญญาณบวก และแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่หันมาพึ่งพิงการบริโภคในประเทศมากขึ้น ท่ามกลางการส่งออกในภาพรวมไปจีนที่ไม่สดใสนัก แต่การกระจายการขนส่งไปยังเส้นทางการค้าผ่านแดนทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทยเพื่อส่งไปยังจีนตอนใต้น่าจะเป็นอีกช่องทางที่สร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปจีนยังพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ตอนในประเทศของจีนมากขึ้น

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Thai-China-lao-FB-13-12-2022.aspx

กัมพูชาเล็งส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังสหรัฐฯ

สหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการส่งออกของกัมพูชา โดยคิดเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมของปีนี้ ซึ่งในปี 2021 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากกัมพูชามีมูลค่าสูงถึง 8.7 พันล้านดอลลาร์ สินค้าส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องแต่งกาย รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง โดยปัจจุบันกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากในการผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารเพื่อเป็นการกระตุ้นภาคการส่งออกของประเทศ ซึ่งคาดว่าในอนาคตการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวจะเร่งขยายตัวอย่างรวดเร็วในระยะไม่กี่ปี ผ่านการสนับสนุนจากกระทรวงสำคัญๆ ของรัฐบาล ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF), กระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้ (MAFF), กระทรวงพาณิชย์ (MOC) สหรัฐอเมริกา, กรมวิชาการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกัมพูชา, หอการค้าอเมริกันในกัมพูชา (AmCham) และวิสาหกิจเขมร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501196186/cambodia-eyes-food-product-export-to-us/

สหพันธ์ข้าวกัมพูชาคาดการณ์ปริมาณการส่งออกข้าวจะเพิ่มขึ้น

สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) คาดว่าการส่งออกข้าวจะเพิ่มขึ้นในปี 2023 เนื่องจากการฟื้นตัวของตลาดยุโรป อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในตลาดจีน และการเกิดขึ้นของตลาดใหม่ รวมถึงบังคลาเทศ ด้าน Pan Sorasak รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันกัมพูชาได้รับโควต้าการส่งออกข้าวสารไปยังจีนกว่า 400,000 ตัน โดยคาดว่าจะช่วยส่งเสริมการส่งออกข้าวให้กับกัมพูชาได้เป็นอย่างมาก และเสริมว่าขณะนี้กระทรวงกำลังเจรจาข้อตกลงฉบับใหม่เกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่าง กัมพูชา-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งถือเป็นการขยายศักยภาพด้านการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง โดยการส่งออกข้าวสารของกัมพูชาในปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10.6 คิดเป็นปริมาณกว่า 509,249 ตัน ในเดือนมกราคม-ตุลาคมปีนี้ ตามรายงานของ CRF สร้างรายได้กว่า 324 ล้านดอลลาร์ ด้วยการส่งออกไปยัง 56 ประเทศ ทั่วโลก ซึ่งจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญของกัมพูชา คิดเป็นกว่าร้อยละ 45 ของการส่งออกข้าวสารทั้งหมดของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501192058/cambodia-milled-rice-export-seen-increasing/

ส่งออกเดือนต.ค.ร่วง 4.4 % เจอปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนตุลาคม 2565 มีมูลค่า 21,772.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.4% คิดเป็นเงินบาท มีมูลค่า 801,273 ล้านบาท รวม 10 เดือนของปี 2565 (มกราคม-ตุลาคม) มีมูลค่า 243,138.5 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 9.1% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 8,325,091 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่า การส่งออกทั้งปี 2565 ยังเป็นบวก จากการประมาณการร่วมกับภาคเอกชนล่าสุดยังมั่นใจว่าเกินเป้าที่กำหนดไว้ 4% จะเพิ่มเกือบหนึ่งเท่าตัว ส่วนมูลค่าตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 9 ล้านล้านบาท มีแนวโน้มจะเกินกว่า 9 ล้านล้านบาท และจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปี 2565 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกติดลบ มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่น่าเป็นห่วง โดยเศรษฐกิจโลกปี 2564 เพิ่ม 6% ปี 2565 เพิ่ม 3.2% และปี 2566 เพิ่ม 2.7% ตลาดจีนยังมีมาตรการซีโร่โควิด-19 ดัชนีการผลิต หรือ PMI ของคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป ลดลง แต่ก็มีปัจจัยบวกจากเงินบาทที่ยังอ่อนค่า ทั้งนี้การส่งออกในเดือนตุลาคม 2565 ที่กลับมาติดลบ 4.4% ถือเป็นการกลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน นับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่วนการนำเข้าตุลาคม 2565 มีมูลค่า 22,368.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.1% ขาดดุลการค้า 596.4 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 10 เดือน นำเข้ามลค่า 258,719.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.3% ขาดดุลการค้า 15,581.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา: https://www.naewna.com/business/694962

“หอการค้ายุโรป” มองเศรษฐกิจเวียดนามมีมุมมองเชิงบวก

คุณ เหงียน ไฮ มินห์ รองประธานหอการค้ายุโรป (EuroCham) ประจำเวียดนาม กล่าวว่าธุรกิจยุโรปมองทิศทางเศรษฐกิจของเวียดนามไปในทิศทางที่เป็นบวกและอยู่ในช่วงค่อยๆ ฟื้นตัว หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถึงแม้จะเผชิญกับอุปทานที่หยุดชะงักทั่วโลก แต่เวียดนามยังคงส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหภาพยุโรป มีมูลค่าเกินกว่า 35.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 และมากกว่า 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามทำรายได้จากการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น 23.6% คิดเป็นมูลค่า 31.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าราว 21.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ บ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในเชิงบวกจากผลของข้อตกลงการค้าเสรี EVFTA อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยุโรปในเวียดนาม เปิดเผยถึงผลประโยชน์ที่ได้รับมากขึ้นจากข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าว เนื่องจากการส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดสหภาพยุโรปส่วนใหญ่มาจากบริษัท FDI

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/european-enterprises-optimistic-about-vietnams-economy-eurocham/239016.vnp

ราคาข้าวหักเมียนมา พุ่งขึ้น 45,000 จัตต่อกระสอบ

รายงานของศูนย์ค้าส่งข้าว (วดาน) เผย ราคาข้าวหักเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565  อยู่ที่ 32,000 จัตต่อกระสอบ (108 ปอนด์) แต่ราคา ณ วันที่ 26 กันยายน 2565 พุ่งขึ้นเป็น 45,000 จัตต่อกระสอบ เป็นผลมาจากความต้องการจากต่างประเทศเริ่มมีมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้พบว่ามีข้าวหักประมาณ 20,000 กระสอบถูกส่งไปยังจีนผ่านชายแดนมูเซ ซึ่งราคาในปัจจุบันอยู่ที่ 128 หยวนต่อกระสอบ (50 กิโลกรัม) ซึ่งการส่งออกข้าวสร้างกำไรได้เป็นอย่างดีเพราะค่าเงินจัตที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินหยวน ดังนั้น ราคาข้าวหักจึงสูงกว่าราคาข้าวเกรดต่ำอื่นๆ ตามความต้องการจากต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/broken-rice-price-soars-to-k45000-per-bag/#article-title

“เวียดนาม” เปลี่ยนจากขาดดุลการค้า กลับมาเกินดุลการค้ากับกัมพูชา

การส่งออกเวียดนามไปยังตลาดกัมพูชาในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 32.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีมูลค่า 1,029 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการขยายตัวสูงที่สุดจากปีก่อน โดยกัมพูชาเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่อันดับที่ 11 ของเวียดนาม และคิดเป็น 1.7% ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมดของเวียดนาม ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักไปยังตลาดกัมพูชาที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีจำนวน 10 รายการ อาทิเช่น เหล็กและเหล็กกล้า มีมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาสิ่งทอ น้ำมันเชื้อเพลิงและอื่นๆ เป็นต้น โดยเฉพาะสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง สิ่งทอ ปุ๋ยและเหล็กที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ตัวเลขการนำเข้าของเวียดนาม ขยายตัวค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับตัวเลขการส่งออก ดังนั้น เวียดนามจึงเปลี่ยนจากเดิมที่ขาดดุลการค้ากับกัมพูชาในปีที่แล้ว กลับกลายมาเป็นเกินดุลการค้าในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501157292/vietnam-changes-from-trade-deficit-to-trade-surplus-with-cambodia/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ พุ่งแตะ 7 พันล้านดอลลาร์

สำนักงานสำมะโนสหรัฐ (USCB) รายงานถึงสถานการณ์การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม ซึ่งมีมูลค่าแตะ 7,077 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 64.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่คิดเป็นการนำเข้าของกัมพูชาจากสหรัฐฯ มูลค่า 305 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 29.9% ส่งผลทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับทางสหรัฐฯ ที่ 6,771 ล้านดอลลาร์ โดยในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 1,138 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 72% ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภท เสื้อผ้า รองเท้า จักรยาน และเฟอร์นิเจอร์ ที่ได้รับผลประโยชน์จากการที่สหรัฐฯ มอบสิทธิพิเศษทางการค้า GSP ให้แก่กัมพูชา ในทางกลับกันการนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่จากสหรัฐฯ คือ รถยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501148274/cambodias-export-to-us-soars-to-7-billion/

รัฐบาลมั่นใจศก.โต3.5% ส่งออกพุ่งท่องเที่ยวฟื้น-เก็บภาษีทะลุเป้า

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลมั่นใจเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ยังขยายตัวต่อเนื่อง และจีดีพีทั้งปี 2565 มีโอกาสขยายตัว 3.5% เนื่องจากปัจจัยบวกจาก การท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นตัวชูโรงขณะที่การจัดเก็บรายได้ 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ’65 ยอดเงินกว่า 2.03 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท หรือ 5.5% โดยกรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ 1.67 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2.06 แสนล้านบาท หรือ 14.1% กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ 4.28 แสนล้านบาทต่ำกว่าประมาณการ 6.89 หมื่นล้านบาท หรือ 13.9% เนื่องจากการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ส่วนกรมศุลกากรจัดเก็บรายได้ 8.99 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6.38 พันล้านบาท หรือ 7.6%

ที่มา : https://www.naewna.com/business/675763