“ไฮฟอง” ตั้งเป้าศูนย์กลางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ

เมืองไฮฟอง (Hai Phong) ประเทศเวียดนาม ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ เนื่องจากมีข้อได้เปรียบหลายประการในฐานะที่เป็นฮับการขนส่งสินค้าทั้งทางทะเล ทางถนน ทางราง ทางอากาศและทางแม่น้ำ โดยวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว เพื่อพัฒนาการให้บริการทุกมิติของเมืองและโลจิสติกส์ พร้อมกับวิสัยทัศน์ระยะยาวถึงปี 2045 ทั้งนี้ นาย Tran Luu Quang รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเมืองไฮฟองจะทำการปฏิรูปการบริหารและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในด้านท่าเรือและโลจิสติกส์ ตลอดจนส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนและส่งเสริมการค้า และยกระดับห่วงโซ่บริการด้านโลจิสติกส์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและเชื่อมโยงระดับภูมิภาค

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1455789/hai-phong-aims-to-become-an-international-logistics-centre.html

สปป.ลาว สรุปความคืบหน้าโครงการทางด่วน 5 สาย

สปป.ลาว รายงานความคืบหน้าการก่อสร้างทางด่วน 5 สาย ภายใต้แผนยุทศาสตร์ 5 ปี ของรัฐบาล กล่าวโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง Dr.Viengsavath Siphandone หลังจากเข้าร่วมประชุมกับรัฐบาล ซึ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่าทางด่วนทั้ง 5 สาย นี้ถือเป็นส่วนที่มีสำคัญเป็นอย่างมากในแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านถนนในช่วงปี 2021-2025 โดยโครงการส่วนแรกก่อสร้างขึ้นระหว่างเมือง เวียงจันทน์และวังเวียง อยู่ในขั้นตอนของการเลือกบริษัทที่จะเข้ามาก่อสร้าง ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ของรัฐบาล ส่วนโครงการที่สองจะจัดสร้างระหว่างเมือง วังเวียง และหลวงพระบาง ส่วนโครงการที่สามกำหนดให้เป็นเส้นทางระหว่างเมือง หลวงพระบางไปยังอุดมไซ โดยกระทรวงการวางแผนและการลงทุนอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการเจรจาต่อรอง สำหรับโครงการที่สี่เส้นทางถูกกำหนดจากเมือง อุกมไซ ไปยังบ่อเต็น และในโครงการที่ห้าจากมณฑลหลวงน้ำทา ถึงเขตห้วยทราย ในจังหวัดบ่อแก้ว ซึ่งทุกสายผ่านการตรวจสอบและการอนุมัติทางเทคนิคแล้ว จะเหลือแค่เพียงการเจรจาเพื่อลงนามในข้อตกลงสัมปทานต่อไป โดยคาดว่าหลังจากโครงการทั้งห้าแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางจาก 4 ชั่วโมงในปัจจุบัน เหลือเพียง 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าและความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุและทำให้ผู้คนสามารถเดินทางระหว่างเวียงจันทน์และวังเวียงได้สะดวกขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten17_Ministry_y23.php

กัมพูชาเดินหน้าสร้างทางเดินรถไฟความเร็วสูง พนมเปญ-ปอยเปต

กัมพูชาเดินหน้าสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อม กรุงพนมเปญ-ปอยเปต ที่เป็นจังหวัดซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศไทย โดยใช้เงินกู้สัมปทานจากจีน ภายใต้การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำโดย China Road and Bridge Corporate (CRBC) จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าระยะทางเดินรถไฟความเร็วสูงจะมีความยาวอยู่ที่ 382 กม. ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณอยู่ที่ 4 พันล้านดอลลาร์ และจะต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 ปี โดยจะมีสถานีย่อยอย่างน้อย 33 แห่ง ตลอดเส้นทางเดินรถ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงคาดว่าจะใช้ความเร็วสูงสุดได้ที่ 160 กม./ชม. ต่างจากปัจจุบันที่สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 30 กม./ชม. ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรองรับภาคการขนส่งและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดและเมืองที่ตั้งอยู่ตามแนวเส้นทาง ในขณะที่ปัจจุบันกัมพูชามีเส้นทางรถไฟอยู่สองสาย สายใต้เชื่อมระหว่างพนมเปญกับสีหนุวิลล์ และสายเหนือเชื่อมเมืองหลวงกับปอยเปต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501225200/cambodia-puts-high-speed-train-on-track/

“สปป.ลาว” ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยว แตะ 1.4 ล้านคน ในปี 2566

กระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวลาว ได้จัดการประชุมระดับชาติในสัปดาห์นี้ โดยมีนางสวนสวรรค์ วิยะเกต รมว.วัฒนธรรม เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทำงานให้มากขึ้น เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยว รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนและสร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ ทางกระทรวงฯ เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้จากภาคการท่องเที่ยวได้มากถึง 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากนักท่องเที่ยวเข้าพักเฉลี่ย 7 วันต่อ 1 คน ทั้งนี้ สปป.ลาว ได้ตั้งเป้าที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวนราว 1.4 ล้านคนในปี 2566 ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/01/24/laos-hopes-to-attract-1-4-million-tourists-in-2023/

กรุงศรีฯ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 66 ขยายตัว 3.6% แรงหนุนท่องเที่ยว จับตาปัจจัยภายนอกกระทบ

วิจัยกรุงศรี บทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน (ฉบับพิเศษ) โดยระบุถึงทิศทางเศรษฐกิจปี 2566 คาดว่าจะเป็นปีแรกที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยสามารถกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 วิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะยังเติบโตต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 จากร้อยละ 3.2 ในปี 2565 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เติบโตจากการจ้างงานที่ปรับดีขึ้นโดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว การลงทุนที่ยังมีสัญญาณเชิงบวกอยู่บ้างจากการฟื้นตัวของภาคบริการ ความต่อเนื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการขยายตัวของการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

อย่างไรตาม การลงทุนในบางอุตสาหกรรมและการส่งออกในภาพรวมจะเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภาวะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น การเติบโตต่ำของเศรษฐกิจจีน สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/296943/

การขนส่งทางรถไฟ ดันส่งออกกล้วย สปป.ลาว ไปยังจีน

คาดเกษตรกรใช้เส้นทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน ขนส่งกล้วยจาก สปป.ลาวไปยังจีน ซึ่งจะใช้เวลาอันสั้นเพื่อให้มั่นใจว่าผลไม้จะถึงปลายทางก่อนที่ผลผลิตจะสุกงอม โดยในอดีตการขนส่งผลิตผลทางการเกษตรประสบปัญหาเนื่องจากใช้เวลานาน จากการขนส่งโดยรถบรรทุกไปยังประเทศจีน ซึ่งสินค้าจำนวนมากเน่าเสียก่อนส่งมอบ โดยการเข้ามาของเส้นทางรถไฟสายดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการภายในประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการขนส่งที่ลดลง ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรและป่าไม้กำลังเร่งสนับสนุนการเพาะปลูกผลิตผลทางการเกษตรให้มากขึ้นเพื่อลดความต้องการนำเข้าผักและผลไม้จากต่างประเทศ รวมถึงเป็นการเพิ่มปริมาณการส่งออกให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง โดยเกษตรกรชาวลาวสามารถขายพืชผลทางการเกษตรให้กับจีนได้มากขึ้น นับตั้งแต่มีการลงนามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลทั้งสองในปี 2012

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Railway238.php

ปัจจัย 3 ประการที่เป็นตัวกำหนดการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม

ตามบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ Vietnam Briefing เปิดเผยว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมทางการค้าและค่าจ้าง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและไปในทิศทางที่เป็นบวก โดยเฉพาะการใช้จ่ายทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประมาณ 6% ของ GDP สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามมีการลงนามข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของอาเซียน ทำให้เวียดนามได้รับประโยชน์จากการทำ FTA หลายรายการสินค้า อีกทั้ง การรับรองมาตรฐานสินค้า การผลิตและสิทธิของพนักงานในข้อตกลงเหล่านี้จะทำให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออก นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเวียดนามยังเปิดกว้างและรัฐบาลได้กำหนดนโยบายที่เป็นมิตรต่อนักลงทุน และปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้เวียดนามได้เปรียบมากที่สุด คือค่าจ้างแรงงานที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/three-factors-keep-vietnams-economy-humming-along-post987158.vov

‘เวียดนาม’ เผยเศรษฐกิจเมือง เล็งผลักดัน 85% ของ GDP ประเทศภายในปี 2573

นาย เล วัน แถ่ง รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ลงนามมิติที่ 148/NQ-CP เมื่อวันที่ 11 พ.ย.65 ว่าด้วยโครงการปฏิบัติการของรัฐบาลที่มุ่งเน้นที่การจัดทำผังเมือง การก่อสร้าง การบริหารและการพัฒนาภายในปี 2573 และวิสัยทัศน์สู่ปี 2588 โครงการดังกล่าวได้ตั้งเป้าอัตราการกลายเป็นเมืองเกินกว่า 50% และจำนวนเขตเมืองทั่วประเทศ อยู่ที่ราว 1,000-1,200 เขต ภายในปี 2573 หากดำเนินเป็นไปตามแผนจะทำให้มีศูนย์กลางเมืองระดับชาติและภูมิภาคเกิดขึ้นหลายแห่งที่จะสามารถยกระดับการฝึกอบรมด้านการศึกษา ด้านสุขภาพและวัฒนธรรม อีกทั้ง เศรษฐกิจเมือง คาดว่าจะมีสัดส่วนราว 75% ของ GDP ประเทศในปี 2568 และจะขยับเพิ่มสูงขึ้น 85% ภายในปี 2573

ที่มา : https://en.nhandan.vn/urban-economy-to-contribute-85-of-national-gdp-by-2030-post120101.html

บริษัทจากเกาหลีใต้หารือสปป.ลาว พัฒนาโครงการเมกะโปรเจกต์

กรมส่งกำลังบำรุงทั่วไปของกระทรวงป้องกันความสงบ แห่งสปป.ลาว ได้ลงนามเพื่อให้สิทธิ์ในการใช้ที่ดินในพื้นที่กิโลเมตรที่ 62 บนพื้นที่กว่า 1,200 เฮกตาร์ ของแขวงเวียงจันทน์ให้กับบริษัท โอเรียนเต็ลเพิร์ล จำกัด จากเกาหลีใต้ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการ Resort Lao Complex มูลค่า 2.9 พันล้านเดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประกอบไปด้วยการสร้างเมืองใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวและศูนย์บริการ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาสในการทำงานให้กับคนในท้องถิ่นของสปป.ลาว ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะส่งเสริมโครงการลงทุนในท้องถิ่นโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอำเภอโพนโฮง แขวงเวียงจันทน์

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten221_South_y22.php

สนามบินนานาชาติแห่งใหม่คาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของกัมพูชา

สนามบินนานาชาติพนมเปญแห่งใหม่ ซึ่งลงทุนและกำลังก่อสร้างโดยบริษัทสัญชาติจีน บริษัท China Construction Third Engineering Bureau Group Co., Ltd. โดยคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของกัมพูชาในอนาคต ผ่านการร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกัมพูชาและจีนภายใต้กรอบความคิดริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ซึ่งหากโครงการก่อสร้างสนามบินแล้วเสร็จจะสามารถรองรับเครื่องบินได้ทุกขนาด (4F-Class) ตั้งแต่เครื่องบินขนาดเล็ก-ใหญ่ โดยคาดว่าสนามบินนอกจากจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ยังคาดว่าจะมีส่วนช่วยในการบรรเทาความหนาแน่นของปริมาณผู้เดินทาง และมีบทบาทในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501181671/chinese-built-international-airport-expected-to-play-key-role-in-boosting-growth-in-cambodia/