กรมการค้าต่างประเทศ ดัน 4 ยุทธศาสตร์ค้าชายแดน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง กับการค้าชายแดนและผ่านแดน มาประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้า การลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567-2570 ใน 4 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ 1.พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของไทย 2.ยกระดับศักยภาพ อำนวยความสะดวกของด่านชายแดน 3.ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่างๆ 4.ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเป็น 2 ล้านล้านบาท ในปี 2570

อย่างไรก็ดี มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือน ก.ย. อยู่ที่ 148,564 ล้านบาท ลดลง 3.32% เป็นไทยส่งออก 87,480 ล้านบาท ลดลง 3.97% ไทยนำเข้า 61,084 ล้านบาท ลดลง 2.37% ได้ดุลการค้า 26,396 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่า 1,311,372 ล้านบาท ลดลง 2.26% เป็นไทยส่งออก 755,206 ล้านบาท ลดลง 2.06% ไทยนำเข้า 556,167 ล้านบาท ลดลง 2.53% ได้ดุลการค้า 199,039 ล้านบาท

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2737374

เศรษฐกิจ “ค้าชายแดน-ผ่านแดน”ฟื้นดันส่งออกโต1.49แสนล้าน

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนเมษายน 2566 มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน 149,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกผ่านแดนไปจีนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน (178.23%) คิดเป็นมูลค่า 33,341 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนเมษายน 2566 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 149,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 90,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.30% และการนำเข้ามูลค่า 59,027 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.57% โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนเมษายน 2566 ทั้งสิ้น 31,755 ล้านบาท    ทั้งนี้สาเหตุที่การค้าผ่านแดนและชายแดนขยายตัวต่อเนื่องมาจากเศรษฐกิจการค้าชายแดนและผ่านแดนกลับมาฟื้นตัวและมีการเปิดด่านมากขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยว คู่ค้า สามารถเดินทางเข้าออกได้สะดวกมากขึ้น

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/566706

โควิดฉุดยอดค้าชายแดน-ผ่านแดน ครึ่งปี หด 9.18% พาณิชย์ เร่งสปีดเปิดด่านเพิ่ม

กรมการค้าต่างประเทศ เผยสถิติการค้าชายแดน-ผ่านแดน 6 เดือนของปี 2563 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 627,480 ล้านบาท ลดลง 9.18% จากปัญหาโควิด-19 พร้อมจากนี้ กรมฯดันเปิดด่านค้าชายแดนให้เพิ่มจากปัจจุบัน 40 จุด มาเลเซียยังครองแชมป์ค้าชายแดนสูงสุด สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนกับเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ (มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) ในช่วง ม.ค.-มิ.ย. 63 พบว่า มาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง มีมูลค่าการค้ารวม 109,401 ล้านบาท (ลดลง 26.81%) รองลงมาคือ สปป.ลาว มูลค่า 92,285 ล้านบาท (ลดลง 7.09%) เมียนมา มูลค่า 86,744 ล้านบาท (ลดลง 13.65%) และกัมพูชา มูลค่า 82,023 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 2.27%) เรียงตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปมาเลเซีย ได้แก่ ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ และแผงวงจรไฟฟ้า สปป.ลาว ได้แก่ น้ำมันดีเซล สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงอื่นๆ เมียนมา ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำมันดีเซล และปูนซีเมนต์ และกัมพูชา ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สินค้าปศุสัตว์ และรถยนต์นั่ง ขณะที่มูลค่าการค้าผ่านแดนประเทศเพื่อนบ้านไปยัง จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ ในช่วง ม.ค.- มิ.ย. 63 พบว่า จีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งมีมูลค่าการค้ารวม 109,896 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 16.00%) รองลงมา คือ สิงคโปร์ มูลค่า 41,694 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13.70%) เวียดนาม มูลค่า 29,900 ล้านบาท (ลดลง 23.89%) และประเทศอื่นๆ มูลค่า 75,537 ล้านบาท (ลดลง 16.78%) สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปจีน ได้แก่ ผลไม้สดฯ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และยางพารา สิงคโปร์ ได้แก่ เครื่องยนต์สันดาปฯ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และแผงวงจรไฟฟ้า และเวียดนาม ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นฯ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ ปัจจุบันไทยได้เปิดจุดผ่านแดน (จุดผ่านแดนถาวร/จุดผ่านแดนชั่วคราว/จุดผ่อนปรนการค้าและการท่องเที่ยว/จุดผ่อนปรนพิเศษ) 40 แห่ง จากทั้งหมด 97 แห่งทั่วประเทศ โดยเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 จังหวัดสระแก้วได้มีประกาศเปิดจุดผ่านแดนเพื่อการขนส่งสินค้าเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ จุดผ่อนปรนการค้าบ้านตาพระยา และบ้านหนองปรือ รวมทั้งได้มีมาตรการผ่อนคลายจุดผ่านแดนที่เปิดอยู่แล้วอีก 2 แห่ง คือ จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ และจุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน อ.คลองหาด เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา จุดผ่อนปรนการค้าบ้านยักษ์คุ จังหวัดอำนาจเจริญ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้นำคณะเดินทางลงพื้นที่ ณ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในการร่วมกันผลักดันให้มีการกลับมาเปิดทำการจุดผ่อนปรนการค้ากิ่วผาวอก อ.เชียงดาว และบ้านหลักแต่ง อ.เวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ ปัจจุบันจุดผ่อนปรนการค้าทั้ง 2 แห่งดังกล่าวปิดทำการเนื่องจากฝ่ายเมียนมาไม่อนุญาตให้มีการเดินทางเข้า-ออกด้วยเหตุผลความมั่นคงภายใน

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-506891

ขนส่งสินค้าผ่านแดนไปเวียดนาม โอกาสที่ไม่ควรมองผ่าน

โดย กมลมาลย์ แจ้งล้อม I ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ I SCBS

การค้าผ่านแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งถือเป็นประเทศคู่ค้าผ่านแดนสำคัญ มีสัดส่วนปริมาณการค้ากว่า 60% ของปริมาณการค้าผ่านแดนโดยรวม โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2014-2018) การค้าชายแดนไปเมียนมา ลาว กัมพูชาและมาเลเซีย ขยายตัวราว 3% CAGR ขณะที่ การค้าผ่านแดนไปจีนตอนใต้ สิงคโปร์และเวียดนาม เติบโตกว่า 12%CAGR โดยในปี 2018 ปริมาณการค้าผ่านแดนไปเวียดนามสูงถึง 1.3 ล้านตัน หรือมีสัดส่วนกว่า 60% ของปริมาณการค้าผ่านแดนโดยรวม

เวียดนามจึงเป็นตลาดที่น่าจับตามองและเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ซึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปเวียดนาม ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและอบแห่ง, เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกฮอล์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ในระยะกลาง (2019-2021) การค้าผ่านแดนของไทยกับเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 30%CAGR ตามทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามที่เติยโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการผลิตและการบริโภคภาคในประเทศ เวียดนามถือเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเป็นอันดับต้นๆ ของโลกและยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติในการตั้งฐานการผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะนักลงทุนจีนที่มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามมากขึ้นเพื่อเลี่ยงสงครามการค้า อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนามส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากต่างประเทศ

ด้านการบริโภคภายในประเทศ ด้วยจำนวนประชากรชาวเวียดนามที่มากถึง 90 ล้านคนและราว 15% เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพ รวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการขยายอย่างรวดเร็วของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade)

ที่ผ่านมา ปัญหาสภาพถนน ความแตกต่างของกฎหมายขนส่ง และความซับซ้อนของพิธีการศุลกากร ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขนส่งสินค้าผ่านแดนจากไทยไปเวียดนาม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการขนส่ง โดยส่วนใหญ่การขนส่งสินค้าผ่านแดนจากไทยไปเวียดนามใช้เส้นทาง R12 เป็นหลัก เนื่องจากระยะทางที่สั้นกว่าเส้นทางอื่นและเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังนครหนานหนิงมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีนใต้

เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน ในเดือนมิถุนายน 2018 ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศสมาชิกในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจึงเริ่มเปิดเดินรถขนส่งสินค้าผ่านแดนอย่างเป็นทางการภายใต้ข้อตกลง GMS-CBTA ซึ่ง อีไอซี ประเมินว่า จะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งลงราว 45% และลดต้นทุนการขนส่งลงกว่า 20% โดยกรอบความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ (GMS-CBTA) เพื่อลดข้อจำกัดและอุปสรรคของการขนส่นผ่านแดนรูปแบบเดิม โดยครอบคลุทั้งทางด้านพิธีการศุลกากรและระบบการจราจร เช่น การดำเนินพิธีการศุลกากรแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว (SWI) การปฏิบัติการร่วมกันในการตรวจสอบสินค้า ณ จุดผ่านแดน (SSI) และการกำหนดเส้นทางเดินรถที่ชัดเจน เป็นต้น ซึ่งตามกรอบความตกลงนี้จะอนุญาตให้รถบรรทุกสัญชาติไทยสามารถขนส่งสินค้าไปถึงเวียดนามได้โดยไม่ต้องขนถ่ายสินค้าที่พรมแดนลาว

จากการเติบโตของการค้าผ่านแดนที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้ผู้ประกอบการเติบโตเฉลี่ยราว 10% และอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ราว 20% และคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยของผู้ประกอบการภายใต้โควตา GMS-CBTA จะมีแนวโน้มสูงขึ้นจากต้นทุนการขนส่งที่ลดลง จากการวิเคราะห์ของอีไอซี พบว่าจำนวนรถขนส่งสินค้าที่จดทะเบียนไม่ได้แสดงถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ สะท้อนจากอัตรากำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการที่จดทะเบียนรถขนส่งสินค้าน้อยกว่า 30 คันเฉลี่ยสูงถึงราว 23% และการเติบโตของรายได้ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนรถขนส่งสินค้าระหว่าง 30-100 คันอยู่ที่ 13%

หลังจากเปิดการเดินรถขนส่งสินค้าผ่านแดนภายใต้กรอบความตกลง GMS-CBTA อีไอซี ประเมินว่าผู้ประกอบการที่ถือโควตาจะสามารถควบคุมต้นทุนการขนส่งและลดระยะเวลาในการขนส่งให้แข่งขันได้มากขึ้น จากการลดการพึ่งพาผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญของธุรกิจนี้ ได้แก่

  1. ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน
  2. การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และจากผู้ประกอบการต่างชาติภายใต้โควตา GMS-CBTA
  3. การขยายโครงข่ายขนส่งระบบรางในภูมิภาคอาเซียน

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/6139