บริษัท “Long Grain” ขยายกำลังการผลิตข้าวสารในกัมพูชา

บริษัท ลองเกรน จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวสารชนิดพิเศษในกัมพูชาเปิดตัวโรงสีแห่งใหม่ โดยคาดว่าภายในปี 2040 จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 33,000 ตัน เป็น 200,000 ตันต่อปี รวมถึงวางแผนที่จะขยายการผลิต สู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำนมข้าว เค้กข้าว เหล้าธัญพืช และน้ำมันรำข้าว ซึ่งบริษัทดังกล่าวตั้งอยู่ในจังหวัดกัมปงสปือ บนพื้นที่ 68,809 ตารางเมตร ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมตั้งแต่การสีไปจนถึงการจัดจำหน่ายเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพ ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 9 ล้านดอลลาร์ สำหรับสายการผลิตข้าวสาร โดยบริษัทตั้งเป้าดันประเทศกัมพูชาให้กลายเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมข้าวระดับโลก ขณะที่ปัจจุบันกัมพูชาเพาะปลูกข้าวคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร และคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณผลผลิตทางการเกษตรของกัมพูชา ด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ได้ประมาณการณ์การผลิตข้าวของกัมพูชาไว้อยู่ที่ 10.2 ล้านตันต่อปี สำหรับในช่วงปี 2023-2024 โดยคาดว่าจะมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 1.91 ล้านตัน สำหรับการประมาณการณ์การผลิตข้าวทั่วโลกอาจจะสูงถึง 520.9 ล้านตัน ภายในปี 2023-2024 ด้วยแนวโน้มดังกล่าวส่งผลทำให้บริษัทเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาภาคธุรกิจให้ก้าวทันต่อสถานการณ์ตลาดโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501382174/cambodias-long-grain-co-unveils-rice-mill/

กัมพูชาจัดสรรงบประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ ส่งเสริมภาคการเกษตร

นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกว่า 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อส่งเสริมภาคเกษตรกรรมภายในประเทศ โดยได้กล่าวไว้ในระหว่างการพบปะกับแรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าราว 18,000 คน ในกรุงพนมเปญ ซึ่งฮุนมาเนตกล่าวเสริมว่าราคาสินค้าเกษตรในปัจจุบันมีความผันผวนตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่างบประมาณส่วนดังกล่าวจะช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตรในประเทศได้ในระยะหนึ่ง นอกจากนี้ งบประมาณดังกล่าวยังจะถูกนำมาใช้เพื่อปรับปรุงระบบชลประทานและการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเกษตรกรรมในประเทศ ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องวางแผนที่จะส่งเจ้าหน้าที่ด้านการเกษตรไปยังทุกชุมชนทั่วประเทศเพื่อทำงานร่วมกับเกษตรกรโดยตรง เพื่อหวังแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรไปยัง 68 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นมูลค่ารวมเกือบ 2.63 พันล้านดอลลาร์ หรือนับเป็นปริมาณรวมกว่า 4.51 ล้านตัน ตามรายงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของกัมพูชา ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง มะม่วง กล้วยสด พริกไทย และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501351567/cambodia-reserves-100-mln-for-boosting-agriculture-pm/

สปป.ลาว-ฟิลิปปินส์ พร้อมหนุนอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน การค้า และการเกษตร

Mr. Enrique Manalo รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์กล่าวถึงโอกาสในการร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน การค้า และภาคการเกษตร ร่วมกับกัมพูชา หลังร่วมหารือกับคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี สปป.ลาว-ฟิลิปปินส์ (JCBC) นำโดย Mr. Saleumxay Kommasith นอกจากการสนับสนุนในเรื่องข้างต้นทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดเที่ยวบินตรงเชื่อมระหว่างสองประเทศเพื่อหวังกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวระหว่างกันในอนาคต ขณะที่ ACEN Renewables บริษัทสัญชาติฟิลิปปินส์ ได้เข้าถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นโครงการพลังงานลมโครงการแรกใน สปป.ลาว และโครงการพลังงานหมุนเวียนข้ามพรมแดนโครงการแรกในเอเชีย โดยเชื่อว่าเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์การเติบโตด้านพลังานสีเขียวของ สปป.ลาว ซึ่งปัจจุบันทั้งสองประเทศได้สานความสัมพันธ์ทางการทูตร่วมกันมาแล้วกว่า 70 ปี โดยได้จัดทำข้อตกลงร่วมกันทั้งหมด 22 ฉบับ ภายใต้การวางกรอบความสัมพันธ์ที่มุ่งเน้นไปที่ความมีมนุษยธรรมมากขึ้น มั่งคั่งขึ้น และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_151_Foreign_y23.php

นายกฯ สปป.ลาว หวังพัฒนาภาคการเกษตร และภาคท่องเที่ยวในแขวงเวียงจันทน์

Sonexay Siphandone นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว พร้อมให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานท้องถิ่นในแขวงเวียงจันทน์ ในการร่วมพัฒนาภาคการเกษตรและการท่องเที่ยวให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและป่าไม้ร่วมมือกับกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ไปจนถึงหน่วยงานระดับจังหวัดในการสำรวจระบบชลประทานและการจ่ายกระแสไฟฟ้า ในขณะเดียวกันต้องสร้างความมั่นใจด้วยการพัฒนาเทคนิคต่างๆ ให้แก่เกษตรกร รวมถึงพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ ให้เหมาะสมแก่ความต้องการของตลาด ควบคู่ไปกับการสนับสนุนด้านการลดต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรและส่งเสริมการทำฟาร์มสินค้าคุณภาพที่สามารถแข่งขันได้ในภูมิภาค สำหรับหน่วยงานระดับจังหวัดมีหน้าที่ในการติดตาม ส่งเสริม และสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อบริษัทอุตสาหกรรมและการเกษตรในจังหวัด เพื่อส่งเสริมการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกเป็นสำคัญ นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ร่วมมือกับกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ในการจัดทำแพลตฟอร์มโฆษณาที่มีประสิทธิภาพหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางมายัง สปป.ลาว มากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_142_PM_calls_y23.php

ราคาข้าวเปลือกกัมพูชาพุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี

ราคาข้าวเปลือกกัมพูชาพุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งราคาข้าวในช่วงฤดูแล้งโดยเฉพาะสายพันธุ์ IR และ OM มีมูลค่าสูงถึง 1,047 เรียลต่อ กก. และ 1,029 เรียลต่อ กก. ตามลำดับ ตามคำแถลงของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมง (MAFF)

ขณะที่ถ้อยแถลงระบุเพิ่มเติมว่าราคาข้าวเปลือกพันธุ์หอมยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วงราคาระหว่าง 1,000-1,260 เรียลต่อ กก. ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าราคาโดยทั่วไปจะสูงกว่าพันธุ์ IR และ OM ในปัจจุบัน โดยเชื่อว่าผลลัพธ์มาจากความพยายามของกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยการสนับสนุนทางการเงิน ภายใต้เวลาที่เหมาะสมจากรัฐบาลในการแทรกแซงราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำระหว่างการเก็บเกี่ยว ด้วยการอำนวยความสะดวกในการส่งออกข้าว และการเปิดการแข่งขันในตลาดปุ๋ย ซึ่งราคาปุ๋ยเพื่อการเกษตรค่อยๆ ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2023 เช่น ราคาปุ๋ยยูริกลดลงเหลือ 23.5 ดอลลาร์ต่อถุงจาก 35 ดอลลาร์ต่อถุง ในขณะที่ปุ๋ย DAP ลดลงเหลือ 36 ดอลลาร์ต่อถุง จาก 42 ดอลลาร์ต่อถุง แสดงถึงต้นทุนของภาคการเกษตรที่ลดลงในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501329618/rice-paddy-prices-highest-in-three-years/

นายกฮุนเซน วางยุทธศาสตร์พัฒนาภาคการเกษตร

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ได้สรุปแผนยุทธศาสตร์ใหม่ภายใต้นโยบายระดับชาติประจำปี 2022-2030 ในการพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อสร้างเสาหลักเศรษฐกิจใหม่ในโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยได้กล่าวในพิธีปิดการประชุมประจำปีของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) ซึ่งนายกฯ ฮุน เซน กล่าวว่า MAFF จะต้องร่วมในการพัฒนาและลงทุนโดยเฉพาะต้นกล้าพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในปี 2022 ข้าวที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาได้รับรางวัล World’s Best Rice 2022 Award จากงาน World Rice Conference เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2022 นอกจากนี้ การส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศสูงถึง 1.18 ล้านตัน แซงหน้าไอวอรีโคสต์ซึ่งส่งออกที่ปริมาณ 1.1 ล้านตัน ด้วยสถานการณ์ข้างต้น ทำให้ภาครัฐฯ ต้องเร่งพัฒนาความสามารถทั้งการเพาะปลูก การแปรรูป และการวิจัย ไปจนถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างเหมาะสม พร้อมกับรัฐบาลวางแผนที่จะปล่อยเงินกู้ 100 ล้านดอลลาร์ สำหรับการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/1262572/pm-outlines-new-strategies-for-agriculture-development/

“เวียดนาม” เผย 2 เดือนแรก ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โต 1.3%

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) ระบุว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อยู่ที่ประมาณ 1.18 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี และหากพิจารณาเฉพาะในเดือน ก.พ. พบว่าผลผลิตประมงอยู่ที่ราว 593,400 ตัน เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้แนะนำให้หน่วยงานในท้องถิ่นทั่วประเทศทำการเชื่อมโยงระบบการทำงาน ปรับโครงสร้างภาคประมงด้วยการปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและปรับปรุงคุณภาพ รวมถึงยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเวียดนาม นอกจากนี้ จำเป็นที่ต้องพัฒนาระบบการจัดการให้มีความทันสมัย นำเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมประมงให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์สัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/aquaculture-output-grows-13-in-two-months/249504.vnp

10 เดือนของปีงบฯ 65-66 เมียนมาส่งออกกุ้ง พุ่ง 13,000 ตัน

กรมประมงเมียนมา เผย 10 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2565-2566 (เดือนเมษายน 2565 – เดือนมกราคม 2566) เมียนมาส่งออกกุ้งมากกว่า 13,260.329 ตัน มูลค่า 47.655 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการส่งออกทางทะเลจำนวน 12,268.366 ตัน มูลค่า 43.257 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่งออกผ่านชายแดนจำนวน 991.963 ตัน มูลค่า 4.398 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564-2565 พบว่า เมียนมาส่งออกกุ้งจำนวน 11,646.185 ตัน มูลค่า 51.617 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการส่งออกทางทะเล 9,091.21 มูลค่า 42.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่งออกผ่านชายแดน 2,554.975 ตัน มูลค่า 8.707 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ภาคการเกษตรและการประมงคิดเป็น 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเมียนมาและคิดเป็นรายได้หลักมากกว่า 68% ของประชาชนในชนบท

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-ships-over-13000-tonnes-of-shrimp-to-external-markets-in-past-ten-months/#article-title

ตอกย้ำศักยภาพภาคการเกษตรกัมพูชา

กลุ่มนักลงทุน นักธุรกิจ และผู้ประกอบการ รวมตัวกันจัดฟอรั่ม ณ กรุงพนมเปญเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเป็นการมองหาโอกาสด้านการลงทุนในภาคเกษตรกรรมของกัมพูชา ซึ่งงานฟอรั่มดังกล่าวจัดโดย Junior Chamber Youth (JCI) กัมพูชา ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและการพัฒนาชนบทของภาครัฐ ในการผลักดันภาคการเกษตรในประเทศ โดยกลุ่มผู้เข้าร่วมงานกล่าวเสริมว่าภาคเกษตรกรรมของกัมพูชาในปัจจุบันถือว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะทำการขยายไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ที่กำลังจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชาในปี 2021 มีปริมาณรวมกันอยู่ที่ 7.98 ล้านตัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 63 หรือเพิ่มขึ้นจาก 3.11 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สร้างรายได้กว่า 4.96 พันล้านดอลลาร์เข้าประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501144672/cambodias-potential-for-agriculture-sector-highlighted/

นายกฯ ผลักดันธุรกิจเกษตร ในเวียงจันทน์

นายทองลุน สีสุลิด เลขาธิการพรรคและประธานาธิบดีแห่งรัฐ เยี่ยมชมธุรกิจการเกษตรและธุรกิจอื่นๆ ในแขวงเวียงจันทน์เมื่อวันอังคาร เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชผลและการผลิตปศุสัตว์ในฐานะเสาหลักสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนของสปป.ลาว ฟาร์มที่เยี่ยมชมดังกล่าวเจ้าของได้ลงทุน 21 พันล้านกีบในฟาร์ม ซึ่งปัจจุบันมีวัว 288 ตัว และวางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนเป็น 205 พันล้านกีบ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายพื้นที่ที่มีอยู่ 12 เฮกตาร์เป็น 120 เฮกตาร์ และเพิ่มขนาดของฝูงเป็น 2,700 การผลิตเนื้อวัวคุณภาพดีสามารถลดความจำเป็นในการนำเข้าเนื้อวัว ในขณะที่ควรมีการเพาะเลี้ยงฝูงสัตว์ที่แข็งแรงไม่น้อยกว่า 800 ตัวเพื่อให้พอต่อความต้องการในประเทศ ทั้งนี้คาดว่าภายใน 10 ปี ขนาดของฟาร์มจะมีโคเติบโตเป็น 29,428 ตัว มูลค่าประมาณ 700 พันล้านกีบ ประธานาธิบดีแนะนำให้เจ้าของฟาร์มมีส่วนร่วมกับคนในท้องถิ่นมากขึ้นโดยช่วยพวกเขาปลูกหญ้า ข้าวโพดหวาน และผักอินทรีย์ หากฟาร์มขยายตัวในอนาคต จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากเนื้อวัวในลักษณะที่เพิ่มมูลค่า อีกทั้งในระหว่างการพูดคุยกับเจ้าของธุรกิจ เขาได้เน้นถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างการผลิตภายในประเทศเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดการบริโภคในท้องถิ่นและเพื่อผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตผลทางการเกษตร

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/
FreeConten2022_President114.php