‘ข้าวเวียดนาม’ เผชิญกับการแข่งขันในตลาดฟิลิปปินส์

สำนักงานการค้าเวียดนาม ประจำประเทศฟิลิปปินส์ ได้รับแจ้งมาว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ดำเนินการลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวเวียดนาม โดยจะกระจายแหล่งอุปทานหรือผลผลิตที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

นาย Phung Van Thanh ที่ปรึกษาสำนักงานการค้าเวียดนามในฟิลิปปินส์ กล่าวว่าธุรกิจข้าวของเวียดนามมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ ได้สร้างชื่อเสียงและความไว้วางใจให้กับคู่ค้ามาเป็นระยะเวลายาวนาน ในขณะที่ข้าวเวียดนามตรงกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ ตลอดจนมีราคาไม่แพง ด้วยเหตุนี้จึงสามารถแข่งขันได้

นอกจากนี้ จากตัวเลขสถิติพบว่าฟิลิปปินส์มีความต้องการนำเข้าข้าวสูงถึง 3.5-3.8 ล้านตันในปีนี้ และฟิลิปปินส์ยังเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของเวียดนามมาหลายปีที่ผ่านมา

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1653095/vietnamese-rice-facing-competition-in-the-philippines.html

‘เวียดนาม-ฟิลิปปินส์’ จับมือลงนามบันทึกข้อตกลงด้านการจัดหาข้าว

ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ เดินทางมาเยือนเวียดนาม เพื่อร่วมหารือที่จะลงนามข้อตกลงการค้าข้าวระหว่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งครอบคลุมระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า โดยทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันทำงานเพื่อส่งเสริมการค้าผลไม้และเนื้อสัตว์ ทั้งนี้ กระทรวงการค้า ระบุว่าฟิลิปปินส์เป็นผู้นำเข้าข้าวและธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม นอกจากนี้ ไทยยังคงมองราคาข้าวในเชิงบวก และคาดการณ์ว่าราคาข้าวจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

ที่มา : https://www.bangkokpost.com/business/general/2733029

‘ฟิลิปปินส์’ กลายเป็นผู้บริโภคข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ปี 66

จากรายงานของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าในปี 2566 เวียดนามส่งออกข้าวมากกว่า 8 ล้านตัน และฟิลิปปินส์เป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดจากเวียดนาม โดยจากตัวเลขทางสถิติแสดงให้เห็นว่าเวียดนามส่งออกข้าว 8.34 ล้านตันในปีที่แล้ว ทำรายได้ราว 4.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.4% และ 35.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าฟิลิปปินส์จะเป็นผู้นำเข้าข้าวเวียดนามมากที่สุด แต่อินโดนีเซียก็เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตในระดับสูง ปริมาณการนำเข้าข้าวของอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2565

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าทิศทางการส่งออกข้าวของเวียดนามในปีนี้ จะได้รับแรงหนุนมาจากราคาในตลาดโลกที่คงอยู่ในระดับสูง และผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนิโญ รวมถึงการซื้อข้าวจากกลุ่มประเทศในเอเชียและแอฟริกา คาดว่าจะผลักดันราคาในตลาดโลกให้สูงขึ้นในปี 2567

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/philippines-is-vietnams-largest-rice-consumer-in-2023-post1072880.vov

‘เวียดนาม’ ทำรายได้จากการส่งออกข้าวสูงสุดเป็นประวัติการณ์

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) เปิดเผยว่าเวียดนามทำสถิติส่งออกข้าวสูงสุดในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 6.61 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าราว 3.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.1% และ 40.4% ตามลำดับ โดยเฉพาะเดือน ก.ย. เพียงเดือนเดียว เวียดนามส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ ปริมาณ 8 แสนตัน และราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยที่ 618 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งเป็นราคาส่งออกข้าวอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เวียดนามมีรายได้จากการส่งออกข้าวทะลุ 495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นผู้นำเข้าข้าวจากเวียดนามรายใหญ่ที่สุดในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ คิดเป็นสัดส่วน 40.3% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด รองลงมาจีนและอินโดนีเซีย 13.5% และ 12.4% ตามลำดับ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1594890/viet-nam-s-rice-exports-revenue-surges-to-new-record.html

สปป.ลาว-ฟิลิปปินส์ พร้อมหนุนอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน การค้า และการเกษตร

Mr. Enrique Manalo รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์กล่าวถึงโอกาสในการร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน การค้า และภาคการเกษตร ร่วมกับกัมพูชา หลังร่วมหารือกับคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี สปป.ลาว-ฟิลิปปินส์ (JCBC) นำโดย Mr. Saleumxay Kommasith นอกจากการสนับสนุนในเรื่องข้างต้นทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดเที่ยวบินตรงเชื่อมระหว่างสองประเทศเพื่อหวังกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวระหว่างกันในอนาคต ขณะที่ ACEN Renewables บริษัทสัญชาติฟิลิปปินส์ ได้เข้าถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นโครงการพลังงานลมโครงการแรกใน สปป.ลาว และโครงการพลังงานหมุนเวียนข้ามพรมแดนโครงการแรกในเอเชีย โดยเชื่อว่าเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์การเติบโตด้านพลังานสีเขียวของ สปป.ลาว ซึ่งปัจจุบันทั้งสองประเทศได้สานความสัมพันธ์ทางการทูตร่วมกันมาแล้วกว่า 70 ปี โดยได้จัดทำข้อตกลงร่วมกันทั้งหมด 22 ฉบับ ภายใต้การวางกรอบความสัมพันธ์ที่มุ่งเน้นไปที่ความมีมนุษยธรรมมากขึ้น มั่งคั่งขึ้น และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_151_Foreign_y23.php

‘ชาวฟิลิปปินส์’ ใช้จ่ายกับการท่องเที่ยวมากที่สุดในเวียดนาม ปี 2565

จากรายงานสถิติประจำปี 2565 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่านักท่องเที่ยวชาวฟิลิปปินส์เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีการใช้จ่ายมากที่สุดในเวียดนาม ปี 2565 ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศในอาเซียน มีการใช้จ่ายไปกับการท่องเที่ยวในเวียดนาม เพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยเพิ่มขึ้นจาก 1,124.7 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 ขึ้นมาอยู่ที่ 2,257.8 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 รองลงมานักท่องเที่ยวชาวเบลเยียม 1,995.3 ดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก และนอร์เวย ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีการใช้จ่ายสูงสุด 10 อันดับแรกในเวียดนาม ได้แก่ เนเธอแลนด์ 1,317.5 ดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยแคนาดา สหรัฐฯ และเยอรมนี เป็นต้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/filipinos-biggest-spenders-in-vietnam-in-2022-report/262925.vnp

“เวียดนาม” ซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามยังคงเป็นซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ ด้วยมูลค่ากว่า 772.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 31.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ค. ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากเวียดนาม 1.5 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนราว 90% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด นับว่าทำสถิติของการส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังตลาดฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปรากฎการณ์เอลนีโญที่สร้างกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตอาหารในประเทศ ซึ่งมีประชากรกว่า 113 ล้านคน

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-remains-biggest-rice-provider-of-philippines-post127056.html

ม.ค.-พ.ค. กัมพูชาส่งออกข้าวกว่า 2.78 แสนตัน มูลค่ารวมกว่า 200 ล้านดอลลาร์

สมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) รายงานถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวสารในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยกัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณรวมกว่า 278,184 ตัน ไปยัง 50 ประเทศ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 191.6 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจีนยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญของการส่งออกข้าวสารของกัมพูชา คิดเป็นปริมาณรวม 118,041 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.43 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของกัมพูชา โดยชนิดของข้าวที่ได้รับความนิยมในการส่งออก ได้แก่ ข้าวหอมพรีเมียม ข้าวหอม ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวนึ่ง และข้าวอินทรีย์ ในขณะเดียวกันฟิลิปปินส์ถือเป็นตลาดใหม่สำหรับข้าวสารของกัมพูชา ซึ่งมีการนำเข้าในครั้งแรกกว่า 2,575 ตัน ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับในปีที่แล้วกัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณรวมกว่า 637,004 ตัน ไปยัง 59 ประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.2 จากปริมาณ 617,069 ตัน ในช่วงปีก่อน โดยในปีนี้ CRF ตั้งเป้าในการส่งออกข้าวสารไว้ที่ 750,000 ตัน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 18 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501305701/cambodias-rice-export-exceeds-278000-tonnes-and-nearly-200-million-in-january-may/

‘ผู้ส่งออกทุเรียนไทย’ เผชิญกับภัยคุกคามจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ในตลาดจีน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดว่าเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนไทย จำเป็นต้องรักษาคุณภาพของผลไม้ให้อยู่ในระดับสูง เนื่องจากเผชิญกับภัยคุกคามจากคู่แข่งสำคัญ ได้แก่ เวียดนามและฟิลิปปินส์ในตลาดจีน ในขณะที่จากรายงานของสำนักส่งเสริมการค้า ณ นครหนานหนิง ระบุว่าราคาขายส่งทุเรียนในตลาดจีนปรับตัวลดลงในช่วงต้นเดือน พ.ค. สาเหตุสำคัญมาจากผลผลิตผลไม้ที่เพิ่มขึ้น หลังจากผู้ค้าส่งจีนมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเวียดนามและฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ราคาทุเรียนหมอนทองของไทยในเดือน พ.ค. ลดลงเหลือราว 36-48 หยวน หรือประมาณ 177-266 บาทต่อกิโลกรัม ขณะเดียวกันราคาทุเรียนหมอนทองจากเวียดนาม อยู่ที่ประมาณ 32-41 หยวนต่อกิโลกรัม ตามมาด้วยราคาทุเรียนพันธุ์ปูยัตจากฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 37-45 หยวนต่อกิโลกรัม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1541981/viet-nam-will-continue-to-be-prime-destination-for-fdi-vinacapital.html

พาณิชย์ชี้ช่องรุกตลาดฟิลิปปินส์ อาหารและเครื่องดื่มมีโอกาสทำเงิน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก น.ส.จันทนา โชติมุณี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ถึงโอกาสในการขยายตลาดส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์ หลังจากที่ปัจจุบัน ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย และหาซื้อสินค้าในร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมค้าปลีกกลับมาดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ และมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกได้เห็นพฤติกรรมการช้อปแบบล้างแค้นของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ ที่กระตือรือร้นมากขึ้น และร้านค้าปลีกต่างๆ ก็พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อกระตุ้นยอดขายให้กับธุรกิจมากขึ้น ซึ่งสินค้าที่มีโอกาสในการจำหน่ายผ่านช่องทางค้าปลีกมีหลากหลาย ไม่ว่าจะกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ความงาม และเครื่องสำอาง ของใช้ของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ที่มา: https://www.naewna.com/business/652417