สื่อญี่ปุ่น ‘นิกเกอิ’ เผยเวียดนามผลักดันแรงจูงใจ ดึงดูดบริษัทต่างชาติ

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) ได้อ้างคำพูดของนาย ฮวิ่งห์แถ่ง ดาด (Huynh Thanh Dat) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม กล่าวในการให้สัมภาษณ์ถึงแผนระดับชาติที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ผ่านการจัดสรรกองทุนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับภาคเอกชนอย่างบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ของเวียดนาม “FPT” โดบบริษัทต่างๆ ตั้งแต่อินเทล (Indel) ไปจนถึงซัมซุง (Samsung) มีแผนที่จะขยายการดำเนินธุรกิจในเวียดนาม ซึ่งจะได้รับเงินจัดสรรหลายล้านเหรียญสหรัฐจากกฎหมาย CHIPS and Science Act รัฐบาลสหรัฐฯ

ในขณะเดียวกัน นายโฮเซ เฟอร์นันเดซ (Jose Fernandez) ปลัดกระทรวงการเติบโตทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่นว่าเวียดนามดึงดูดบริษัทเซมิคอนดักเตอร์หลายแห่งที่จะไปลงทุนในเวียดนาม หากเวียดนามสามารถตอบสนองในเรื่องของพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-dangles-chip-incentives-to-draw-foreign-companies-nikkei-asia-post1077352.vov

โอกาสและความท้าทายตลาดพลังงานของกัมพูชา

โดย AEC Connect ธนาคารกรุงเทพ

ตลาดพลังงานของกัมพูชาก็เหมือนกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายๆ ประเทศที่มีทั้งความท้าทายและโอกาส โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของกัมพูชาในตลอดทศวรรษที่ผ่านมาทำให้อุปสงค์ด้านพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก

หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญในตลาดพลังงานของกัมพูชาคือการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่แข็งแรงและน่าเชื่อถือ ขณะที่ โครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งผลให้พื้นที่ในชนบทไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้

ความท้าทายข้างต้นนับเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของกัมพูชา เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ นอกจากนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มีอยู่ก็พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นำเข้าและไฟฟ้าพลังน้ำอย่างหนัก ทำให้กัมพูชาอยู่ในภาวะที่อ่อนแอและถูกโจมตีได้ง่ายจากราคาพลังงานโลกที่ผันผวนและระดับน้ำที่มีความแปรปรวนในแต่ละฤดู

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักลงทุนและบริษัทด้านพลังงานต่างๆ เนื่องจากความต้องการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเปิดโอกาสในตลาดนี้ให้แก่บริษัทต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิต การส่งผ่านและการจ่ายไฟฟ้า อีกทั้งพันธสัญญาของรัฐบาลที่จะเพิ่มส่วนของพลังงานทดแทนในแผนการผสมผสานพลังงานหลายประเภทของประเทศก็นับเป็นโอกาสของบรรดาบริษัทที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กัมพูชามีความก้าวหน้าอย่างมากเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนซึ่งจะเห็นได้ชัดจากที่กัมพูชาเป็นประเทศที่มีแสงแดดมากจึงกลายเป็นแหล่งผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ชั้นเลิศ โดยในปี 2563 กัมพูชาได้เปิดทำการโรงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ขณะที่ พื้นที่ชายฝั่งและบริเวณที่ราบสูงมีศักยภาพอย่างมากด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมซึ่งยังคงมีโอกาสอีกมากมายสำหรับบริษัทต่าง ๆ

แม้ว่าจะมีพัฒนาการเชิงบวก แต่ภาคพลังงานทดแทนในกัมพูชายังคงเผชิญความท้าทายอีกหลายด้าน เช่น การไม่มีกรอบข้อบังคับที่ชัดเจนสำหรับพลังงานทดแทนนั้นถือว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อความเติบโตของภาคธุรกิจนี้ อีกทั้งค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่สูงของโครงการพลังงานทดแทนและการขาดแคลนทางเลือกแหล่งเงินทุนที่มีราคาเหมาะสมก็เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับบริษัทที่สนใจลงทุนในภาคอุตสาหกรรมนี้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลกัมพูชาได้ให้คำมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตพลังงานทดแทนและกำลังเสาะหาการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมาย รวมถึงกำลังพัฒนากรอบข้อบังคับที่ครอบคลุมซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนมีความชัดเจนและความมั่นคงมากขึ้น

โดยสรุป ตลาดพลังงานของกัมพูชามีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยพลังซึ่งจะเห็นได้จากที่มีทั้งความท้าทายและโอกาสอย่างมาก แต่รัฐบาลกัมพูชาจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมการกำกับดูแลที่เหมาะสมและจัดหาการเข้าถึงทางเลือกของแหล่งเงินทุนต่าง ๆ สำหรับนักลงทุน เพื่อช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ประสบกับความสำเร็จด้านธุรกิจขณะที่กัมพูชาเองก็บรรลุเป้าหมายด้านพลังงานด้วย

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/aec-connect-opportunities-and-challenges-in-cambodias-energy-market

อ้างอิง : Exploring Cambodia’s energy market, challenges and opportunities – Khmer Times (khmertimeskh.com)

สปป.ลาว-ฟิลิปปินส์ พร้อมหนุนอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน การค้า และการเกษตร

Mr. Enrique Manalo รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์กล่าวถึงโอกาสในการร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน การค้า และภาคการเกษตร ร่วมกับกัมพูชา หลังร่วมหารือกับคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี สปป.ลาว-ฟิลิปปินส์ (JCBC) นำโดย Mr. Saleumxay Kommasith นอกจากการสนับสนุนในเรื่องข้างต้นทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดเที่ยวบินตรงเชื่อมระหว่างสองประเทศเพื่อหวังกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวระหว่างกันในอนาคต ขณะที่ ACEN Renewables บริษัทสัญชาติฟิลิปปินส์ ได้เข้าถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นโครงการพลังงานลมโครงการแรกใน สปป.ลาว และโครงการพลังงานหมุนเวียนข้ามพรมแดนโครงการแรกในเอเชีย โดยเชื่อว่าเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์การเติบโตด้านพลังานสีเขียวของ สปป.ลาว ซึ่งปัจจุบันทั้งสองประเทศได้สานความสัมพันธ์ทางการทูตร่วมกันมาแล้วกว่า 70 ปี โดยได้จัดทำข้อตกลงร่วมกันทั้งหมด 22 ฉบับ ภายใต้การวางกรอบความสัมพันธ์ที่มุ่งเน้นไปที่ความมีมนุษยธรรมมากขึ้น มั่งคั่งขึ้น และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_151_Foreign_y23.php

BYD หารือนายกฯ สปป.ลาว ถึงแผนการจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา Mr. Liu Xueliang ผู้จัดการทั่วไป BYD Asia-Pacific, Mr. Ye Chenghui ผู้อำนวยการภูมิภาค BYD Asia-Pacific และ Mr. Mok Leng Tou ประธานบริษัท MOK Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทพันธมิตรของ BYD ใน สปป.ลาว ได้เดินทางเข้าพบกับนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ณ กรุงเวียงจันทน์ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้รถยนต์พลังงานทดแทนและการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในระหว่างการประชุม Liu Xueliang กล่าวว่า ยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้า BYD มียอดขายสะสมเกินกว่า 1.86 ล้านคัน ในช่วงปี 2022 คิดเป็นการขยายตัวกว่าร้อยละ 208.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นตลาดต่างประเทศที่ BYD ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา BYD ได้จัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในต่างประเทศแห่งแรกในประเทศไทย และบริษัทหวังว่าจะมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ใน สปป.ลาว ในอนาคตเพื่อรองรับการผลิต โดยทาง BYD พร้อมที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่นของ สปป.ลาว เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินโครงการนี้จะเพิ่มฉันทามติระหว่างจีนและ สปป.ลาว ในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศและโครงการมลพิษต่ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเวียงจันทน์ให้เป็นต้นแบบด้านเมืองคาร์บอนต่ำต่อไป

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten115_BYD_y23.php

ส่องแผน PDP 8 ของเวียดนาม อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าไทย

โดย นพมาศ ฮวบเจริญ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

เมื่อกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทางการเวียดนามเพิ่งประกาศแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (Power Development Plan VIII: PDP 8) แม้ว่าจะมีความล่าช้าไปกว่า 2 ปี แต่ก็ถือว่าเป็นแนวทางหลักของการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในเวียดนาม รวมถึงแนวทางของส่วนผสมพลังงานเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า (Energy mixed)

5 ข้อสรุปสำคัญของ PDP 8 ได้แก่

  • กำลังการผลิตในปี 2030 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2020 ที่ 69 GW เป็น 150 GW ในปี 2030
  • ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าราว 1.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และพัฒนาสายส่งอีก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • แหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าและมีการเติบโตสูง คือ ก๊าซธรรมชาติและพลังงานลม โดยปี 2030 มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 43% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2020 ทั้งนี้ผลจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่มากขึ้น มีผลให้เวียดนามต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากขึ้น จากเดิมที่ใช้แต่ก๊าซธรรมชาติในประเทศ ในส่วนของการพึ่งพาพลังงานลม ถือว่าสอดคล้องไปกับศักยภาพของภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพื้นที่ชายฝั่งที่ยาวถึง 3,000 กิโลเมตร และมีกำลังลมเฉลี่ยสูงกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนลดลงจาก 24% ในปี 2020 เป็น 13% ในปี 2030 ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนระบบสายส่งที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตจากพลังงานลม อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามกลับมีแผนสนับสนุนให้ติดตั้ง Solar rooftop หรือ Solar farm เพื่อการใช้ด้วยตัวเอง (Self-consumption) ซึ่งมีเป้าหมายติดตั้งถึง 10 GW ภายในปี 2030 ด้วยการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 15.5 GWh
  • การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แม้สัดส่วนต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดลดลง (เหลือ 20% ในปี 2030 จาก 31% ในปี 2020) แต่กำลังการผลิตปี 2030 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น 41% เทียบกับ 10 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2050 เวียดนามมีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า

 

เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

แม้ก๊าซธรรมชาติจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในช่วงทศวรรษที่จะเกิดขึ้น แต่เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy : RE) โดยตั้งเป้าว่าการผลิตไฟฟ้าจาก RE จะมีสูงถึง 30.9-39.2% ภายในปี 2030 และ 67.5-71.5% ในปี 2050 โดยการพึ่งพิงพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ เป็นเพียงแหล่งพลังงานที่ใช้ทดแทนถ่านหินในช่วงเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน (Energy transition) เพราะในท้ายที่สุดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติก็จะลดบทบาทลงเหลือเพียง 7-8% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2050 นอกจากนี้ ในการผลิตไฟฟ้าจาก RE เวียดนามถือว่าเป็นตลาดสำคัญของ ASEAN ด้วยสัดส่วนมากถึงราว 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก RE ที่มีใน ASEAN ทั้งหมด

 

นัยของแผน PDP 8 ต่อไทย

เม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางการเวียดนามมองว่า ต้องอาศัยเงินลงทุนจากต่างชาติด้วย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการลงทุนในตลาดเวียดนามอยู่แล้ว เพื่อเข้าไปรับประโยชน์จากแผนการขยายกำลังการผลิตในช่วง 10 ปีที่จะเกิดขึ้นนี้ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสำคัญ แต่จากแผนใหม่ที่เกิดขึ้น ที่ลดความสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง ทำให้กลุ่มทุนไทยอาจจะต้องหันมาพิจารณาโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมมากขึ้น เนื่องจากทางการเวียดนามให้การสนับสนุนและกำลังการผลิตมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด (จากกำลังการผลิตที่ 1 GW ในปี 2020 เป็น 28 GW ในปี 2030)

ในส่วนของโรงไฟฟ้าจาก Fossil fuel อาจจะเหมาะสมกับกลุ่มทุนที่มีความได้เปรียบในเชิง Scale ที่ใหญ่เพียงพอ เพื่อสร้างความได้เปรียบได้การจัดหาแหล่งวัตถุดิบในราคาต่ำ ทั้งนี้กลุ่มก๊าซธรรมชาติ ที่แม้ความต้องการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้ายังสูงในช่วง 10 ปี แต่การพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ทำให้อาจเป็นข้อจำกัดในการจัดหา LNG ในราคาที่เหมาะสม ขณะที่กลุ่มถ่านหิน หากพิจารณาที่ปริมาณกำลังการผลิตที่เวียดนามต้องการยังคงมีมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตตามเศรษฐกิจ แต่แนวโน้มตลาดที่โตต่ำเมื่อเทียบกับพลังงานกลุ่มอื่น ๆ อาจทำให้ความน่าสนใจมีน้อยลง

แม้ว่า PDP 8 ที่เพิ่งออกมา จะสร้างโอกาสในการลงทุนของโรงไฟฟ้าไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจโรงไฟฟ้าในเวียดนาม ยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการเป็นสำคัญ ทำให้ต้องติดตามรายละเอียดของการเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่จะเกิดขึ้นจากแผน PDP 8 รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และพยายามปิดความเสี่ยง เพื่อจะได้รับประโยชน์จากโอกาสในตลาดโรงไฟฟ้าของเวียดนามที่เติบโต เช่น กรณีที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้าไม่เสร็จทันตามสัญญา ทำให้เมื่อก่อสร้างเสร็จ ยังไม่สามารถดำเนินการขายไฟฟ้าให้กับทางการเวียดนามได้ เนื่องจากติดปัญหาการกำหนด FiT ใหม่ ดังนั้น สำหรับในโครงการใหม่ที่จะเข้าไปลงทุน อาจต้องมีแผนสำรองในความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวลง เป็นต้น

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/PDP8-Vietnam-120623

มิตซูบิชิลงทุนโครงการกังหันลมในสปป.ลาว

Mitsubishi Corp ของญี่ปุ่นจะลงทุนในโครงการฟาร์มกังหันลมขนาด 600 เมกะวัตต์ในสปป.ลาว ภายหลังได้บรรลุข้อตกลงในการลงทุนในผู้พัฒนาโครงการ Impact Energy Asia Development Ltd ร่วมกับกลุ่มบริษัท Impact Electrons Siam Co Ltd จากประเทศไทย ฟาร์มกังหันลมจะตั้งอยู่ในจังหวัดเซกองและอัตตะปือทางตอนใต้ของประเทศลาวซึ่งจะเป็นฟาร์มกังหันลมแห่งแรกในสปป.ลาวและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการวางแผนที่จะขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าเวียดนามในระยะเวลา 25 ปี เวียดนามต้องการแหล่งพลังงานเพิ่มเติมเพื่อรองรับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้งที่การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของประเทศมีอย่างจำกัด ดังนั้น โครงการนี้จึงคาดว่าจะช่วยให้ระบบไฟฟ้าของเวียดนามมีเสถียรภาพในขณะเดียวกันการลงทุนดังกล่าวจะนำมาซึ่งการจ้างงาน รายได้ในการส่งออกไฟฟ้ารวมถึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการนำสปป.ลาวไปสู่ “แบตเตอรี่แห่งเอเชี่ย” ในอนาคต

ที่มา : https://renewablesnow.com/news/mitsubishi-to-invest-in-600-mw-laos-wind-project-744583/

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 4 แห่ง ในกัมพูชากำลังจะเริ่มส่งกระแสไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์จะเริ่มส่งผ่านกระแสไฟฟ้าในกัมพูชาเร็ว ๆ นี้ จากสถานีใหม่ 4 แห่ง ที่มีกำหนดจะเชื่อมโยงกับกริดในต้นปีนี้ ขณะนี้โครงการทั้ง 4 โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยส่วนใหญ่แล้วเสร็จกว่าร้อยละ 90 ซึ่งผู้อำนวยการใหญ่ด้านพลังงานของกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกล่าวว่าโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกัมพูชาในปลายปี 2019 สำหรับการก่อสร้าง รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อื่น ๆ ทั่วประเทศ รวมขนาด 110 เมกะวัตต์ (mW) ทั่วกัมพูชา เพื่อช่วยตอบสนองต่อความต้องการในการใช้พลังงานของประเทศในไม่ช้า โดยปัจจุบันกัมพูชาผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ พลังงานลม โรงไฟฟ้าถ่านหิน การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์และการนำเข้าพลังงานบางส่วน ซึ่งกัมพูชาผลิตไฟฟ้าได้เพียงร้อยละ 85 ของอุปสงค์ในประเทศ โดยมีการนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ในปี 2019 เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50803921/four-solar-power-stations-coming-online/