แห่ขอบีโอไอไตรมาสแรก 1.8 แสนล้าน เพิ่ม 77% “เกาหลีใต้” ลงทุนมากสุด

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่าสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรก (ม.ค. – มี.ค.) ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 397 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% และมีมูลค่าเงินลงทุน 185,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ

ทั้งนี้ ตัวเลข FDI ในช่วงไตรมาสแรก มีโครงการลงทุนจากเกาหลีใต้และสิงคโปร์เพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีโครงการใหญ่ที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่ในปีนี้ ขณะที่ตัวเลขการลงทุนจากจีนและญี่ปุ่น แม้จะอยู่ในอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ แต่ก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติที่เลือกใช้ไทยเป็นฐานผลิตสำคัญในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดก็เพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยในไตรมาสแรก มีจำนวน 431 โครงการ เพิ่มขึ้น 25% เงินลงทุนรวม 123,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% เป็นสัญญาณที่ดีว่าในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า จะมีเม็ดเงินลงทุนเกิดขึ้นจริงมากขึ้น

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1298638

เกาหลีใต้พร้อมสนับสนุน สปป.ลาว ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์ปีกภายในประเทศ

บริษัท Greengoods จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ พร้อมให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ปีกใน สปป.ลาว โดยการจัดหาอุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตและการแปรรูปปศุสัตว์ใน สปป.ลาว ให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้นและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งเหตุการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ณ วิทยาเขตคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ สปป.ลาว จัดโดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุนการค้าเกาหลี (KOTRA) ในนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านโครงการ ESG+ ระดับโลกของ KOTRA ถือเป็นโครงการ ESG+ โครงการแรกที่ริเริ่มใน สปป.ลาว ในปีนี้ ด้วยการบริจาคอุปกรณ์ฆ่าสัตว์ปีกและแปรรูปมูลค่า 88,308 ดอลลาร์ ในเฟสแรก ซึ่งการบริจาคมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและให้เกษตรกรได้ฝึกฝนใช้เทคโนโลยีการแปรรูปปศุสัตว์จากประเทศเกาหลี รวมถึงหวังว่าจะช่วยให้เกษตรกรและชาวบ้านสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไก่เนื้อ และท้ายที่สุดคือรายได้ของเกษตรกรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten91_S_Korea_y23.php

ทางการกัมพูชาร่วมโปรโมทการท่องเที่ยว ณ กรุงโซล

กระทรวงการท่องเที่ยวพร้อมด้วยสถานทูตกัมพูชาประจำเกาหลี ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวเกาหลีนำคณะผู้แทนบริษัทเอกชนกว่า 10 แห่ง เข้าร่วมงาน International Travel Fair 2023 ครั้งที่ 38 ณ กรุงโซล ระหว่างวันที่ 4-7 พฤษภาคม สำหรับกัมพูชาคาดว่าจะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีมายังกัมพูชาประมาณ 80,000 คน ภายในสิ้นปี 2023 โดยเป้าหมายหลักของกัมพูชาในการมาเยือนเกาหลีในครั้งนี้ คือการส่งเสริมแคมเปญ “Visit Cambodia Year 2023” ภายใต้คอนเซ็ป “Sport for Peace” ซึ่งปีนี้กัมพูชาเป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32, อาเซียนพาราเกมส์ครั้งที่ 12 และเอเชียนยูธเกมส์ ในปี 2029 โดยกระทรวงการท่องเที่ยว และคณะผู้แทนของบริษัทเอกชน พร้อมร่วมมือกันในการส่งเสริมให้กัมพูชาเป็นจุดหมายปลายทางที่อบอุ่น ปลอดภัย สะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับนักท่องเที่ยว ด้วยคำขวัญที่ว่า “Everyday is a miracle”

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501285972/kingdom-pushes-tourism-at-intl-travel-fair-in-seoul/

สปป.ลาว-เกาหลีใต้ หารือร่วมกันในการหนุนภาคการท่องเที่ยว

หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของ สปป.ลาว-เกาหลีใต้ กำลังเร่งหารือร่วมกันในการผลักดันภาคการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ซึ่งในปีก่อนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายัง สปป.ลาว มากกว่า 1.29 ล้านคน นับเป็นนักท่องเที่ยวเกาหลี 34,326 คน สำหรับภาคการท่องเที่ยวถือเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจที่สำคัญของ สปป.ลาว และเป็นส่วนช่วยในการผลักดันเศรษฐกิจและสังคมในหลายประเทศ แต่ในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานโควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกต้องหยุดชะงักอย่างรุนแรง จนส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย ถึงอย่างไรในปัจจุบันด้วยการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางทั่วโลก คาดว่าจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยขณะนี้รัฐบาล สปป.ลาว กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวและดึงดูดผู้มาเยือน สปป.ลาว ให้มากขึ้น ทั้งการสนับสนุนการจ้างงานคนในท้องถิ่น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten78_Lao_S_y23.php

2022 เกาหลีใต้กลายเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 14 ของกัมพูชา

ในปี 2022 เกาหลีใต้กลายเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 14 ของกัมพูชา เนื่องจากปริมาณการค้าทวิภาคีอยู่ที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 780 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 โดยกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีมูลค่ารวม 234 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากเกาหลีลดลงเล็กน้อยร้อยละ 6 หรือคิดเป็นมูลค่า 545 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับสินค้าส่งออกไปยังเกาหลีผ่านข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลี (CKFTA), หุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP), ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (ASEAN-Korea FTA) และระบบสิทธิพิเศษทั่วไปภายใต้กรอบ WTO โดยผลิตภัณฑ์หลักของกัมพูชาที่ส่งออกไปยังเกาหลี ได้แก่ รองเท้า เสื้อผ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และอะลูมิเนียม ในขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ยานพาหนะ เครื่องดื่ม หนังเฟอร์ เครื่องหนัง เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า และผ้าถัก เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501267568/korea-becomes-cambodias-14th-largest-trading-partner-in-2022/

เดือนมค.-ก.พ.66 เมียนมาส่งแรงงานไปเกาหลีใต้ ผ่านโครงการ EPS ทะลุกว่า 1,000 คน

สถานทูตเมียนมาในกรุงโซล เผย ในเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีแรงงานเมียนมาถูกส่งไปยังเกาหลีใต้ผ่านโครงการระบบอนุญาตการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) จำนวน 1,040 คน ประกอบไปด้วยแรงงานฝ่ายผลิต 345 คน แรงงานฝ่ายผลิตเฉพาะทางแบบ CBT 28 คน แรงงานที่กลับเข้าไปทำงานในสถานประกอบการ/โรงงานเดิมที่เคยทำ 236 คน เกษตรและปศุสัตว์ 374 คน และการก่อสร้าง 57 คน โดยรัฐบาลเกาหลีใต้เปิดรับแรงงานเมียนมาอีกครั้งอย่างหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งปี 2565 ที่ผ่านมามีการส่งแรงงานไปเกาหลีใต้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม จำนวน 1,293 คน เดือนกันยายน จำนวน 1,169 คน เดือนตุลาคม จำนวน 728 คน และเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม อีก 599 คน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/over-1000-myanmar-workers-sent-to-s-korea-under-eps-within-2-months/#article-title

การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ ภายใต้เขตการค้าเสรีขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากก่อนหน้าทางการกัมพูชาได้ลงในข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเกาหลีใต้ตกลงที่จะยกเว้นภาษีในอัตราร้อยละ 95.6 ของผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากกัมพูชา และกัมพูชาได้ยกเว้นในอัตราร้อยละ 93.8 ของสินค้านำเข้าจากเกาหลีใต้ โดยกัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวมกว่า 44.3 ล้านดอลลาร์ ไปยังเกาหลีใต้ ในเดือนมกราคมขยายตัวกว่าร้อยละ 39.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าสินค้าของกัมพูชาจากเกาหลีกลับลดลงร้อยละ 34 หรือคิดเป็นมูลค่า 47.4 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่กัมพูชาส่งออก รองเท้า เครื่องแต่งกายชนิดต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยว เครื่องดื่ม ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้าของกัมพูชาจากเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่ ได้แก่ รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องดื่ม ยา และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป โดยทั้งสองประเทศได้คาดการณ์ว่ามูลค่าการค้าทวิภาคีจะมีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501245624/cambodias-export-to-south-korea-swells-under-fta/

Jeju Air เตรียมเปิดให้บริการเที่ยวบิน เกาหลีใต้-สปป.ลาว

บริษัท เชจูแอร์ ซึ่งดำเนินธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์รายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ประกาศจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินระหว่าง สปป.ลาว และเวียดนาม ในเดือนเมษายนที่จะถึง หลังจากระงับเที่ยวบินไปกว่า 3 ปีเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้ โดยบริษัทวางแผนที่จะเริ่มให้บริการในเส้นทางจากอินชอนไปยังเวียงจันทน์ รวมถึงไปยังฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ ในเวียดนาม ในวันที่ 20 เมษายน หลังจาก สปป.ลาว เปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งขณะนี้ที่นั่งบนเที่ยวบินของสายการบิน สปป.ลาว ถูกจับจองไปแล้วกว่าร้อยละ 70-80 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวยัง สปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten32_Korea_y23.php

เกาหลีใต้ บริจาคข้าว 1,314 ตัน ให้ชุมชนยากจน ในสปป.ลาว

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ นำโดย นายยุง ซูจอง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีเป็นตัวแทนในการส่งมอบข้าวให้แก่นางเบย์คัม ขัตติยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมของสปป.ลาว จำนวน 1,314 ตัน  ณ คลังสินค้าของโครงการอาหารโลก (WFP) ในนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนในย่านชุมชนยากจนกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ โดยการบริจาคในครั้งนี้ จะช่วยเหลือผู้คนในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เนื่องจากวิกฤตทางการเงินที่ตึงเครียดและภาวะการขาดแคลนอาหารที่รุนแรงขึ้น ซึ่งนางเบย์คัม ขัตติยา กล่าวในพิธีส่งมอบว่า การบริจาคในครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ห่างไกลซึ่งมักเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ด้านนายยุง ซูจอง กล่าวเสริมด้วยว่า สปป.ลาวได้ประโยชน์จากการสนับสนุนนี้มาตั้งแต่ปี 2564 และเกาหลีใต้ตั้งใจอย่างยิ่งที่จะเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และการมุ่งเน้นยุทธศาสตร์ความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างเกาหลีใต้และประเทศในอาเซียน

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Skorea10.php

ข้อจำกัดด้านสุขอนามัย กระทบการส่งออกมะม่วงกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้

มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) ที่เข้มงวดได้ก่อให้เกิดความท้าทายสำหรับภาคการส่งออกมะม่วงสดของกัมพูชาไปยังตลาดเกาหลีใต้ หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงในการส่งออกมะม่วงสดในปี 2015 ด้าน Hean Vanhan รัฐมนตรีต่างประเทศกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กล่าวว่า แม้รัฐบาลเกาหลีใต้จะไฟเขียวให้ส่งออกมะม่วงสดของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ แต่กัมพูชาก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายเนื่องจากปัญหาทางเทคนิคในการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้วที่กัมพูชาเริ่มเจรจาเพื่อส่งออกมะม่วงไปยังเกาหลีใต้ แต่ยังไม่เป็นผลเนื่องจากขาดเครื่องมือหรือขั้นตอนตามข้อกำหนด เช่น กระบวนการทางความร้อนด้วยน้ำ (HWT) และกระบวนการทำความร้อนด้วยไอน้ำ (VHT) เพื่อเป็นการขจัดสิ่งเจือปนในผลไม้ ตามรายงานของกระทรวงเกษตร รายงานว่าการส่งออกมะม่วงของกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 138,000 ตันในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังเวียดนาม ไทย จีน และบางประเทศในสหภาพยุโรป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501197614/hygiene-requirements-hit-fresh-mango-export-to-south-korea/