สนามบินกัมพูชาได้รับเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการท่าอากาศยานนานาชาติเทโชแห่งใหม่

Cambodia Airport Investment Co., Ltd. (CAIC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Overseas Cambodian Investment Corporation (OCIC) ได้เลือก Cambodia Airports ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ VINCI Airports ให้เป็นผู้ดำเนินการสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของกรุงพนมเปญ โดย Cambodia Airports จะนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานที่สนามบินขนาดใหญ่แห่งนี้ ซึ่งมีอาคารผู้โดยสารครอบคลุมพื้นที่กว่า 240,000 ตารางเมตร ซึ่งขอบเขตการดำเนินงานของผู้บริหารยังรวมถึงการพัฒนาบริการด้านการบิน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อของกัมพูชา โดยเฉพาะการดึงดูดสายการบินใหม่ ๆ และเปิดเส้นทางบินใหม่ ๆ สำหรับผลงานในอดีต Cambodia Airports ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพในการพัฒนาสนามบินให้มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 20 เท่า จาก 300,000 คนในปี 1995 เพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคนในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501716409/cambodia-airports-named-operator-of-new-techo-international-airport/

‘Siemens’ บริษัทเทคยักษ์ใหญ่เยอรมัน สนใจโครงการรถไฟความเร็วสูงเวียดนาม

จากการประชุมประจำปีครั้งที่ 16 ของ New Champions 2025 ซึ่งจัดขึ้นโดย World Economic Forum โดยระหว่างการประชุมดังกล่าว นาย Peter Koerte ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของบริษัทซีเมนส์ (Siemens) จากเยอรมัน ได้แสดงความสนใจในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเวียดนาม โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง ในระหว่างการประชุมกับนายกรัฐมนตรีฟาม มินห์ จิญ

ทั้งนี้ นายกฯ มีความยินดีที่ให้บริษัทมีแผนจะขยายการลงทุนและการดำเนินธุรกิจในเวียดนาม โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ เวียดนาม มีแผนที่จะกำหนดนโยบายความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติ โดยเฉพาะการขนส่ง พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

ที่มา : https://en.vneconomy.vn/siemens-group-interested-in-vietnams-high-speed-railway-project.htm

กัมพูชา-ญี่ปุ่น ร่วมมือพัฒนา “ท่าเรือสีหนุวิลล์” เป็นศูนย์กลางการค้า

กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง (MPWT) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ได้หารือในวันศุกร์ที่ผ่านมา (21 เม.ย.) เกี่ยวกับแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือ Sihanoukville Autonomous Port – PAS ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ให้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางท่าเรือและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค การประชุมครั้งนี้นำโดย Peng Ponea รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง ร่วมกับ Sanjo Akihito ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและบริหารโครงสร้างพื้นฐาน กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) เป็นประธานร่วมกัน ณ กรุงพนมเปญ โดยแผนแม่บทนี้ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้รวมอยู่ในโครงการความร่วมมือทางเทคนิคในปีงบประมาณ 2025 ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาท่าเรือและศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค จากรายงานประจำปีของกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมาท่าเรือ PAS สามารถจัดการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ได้ประมาณ 9.60 ล้านตัน ในปี 2024 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.67 จากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 7.89 ล้านตัน สร้างรายได้ประมาณ 110.38 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.12 สะท้อนถึงการเติบโตและประสิทธิภาพที่แข็งแกร่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501675470/cambodia-japan-to-transform-sihanoukville-port-into-trade-hub/

‘โครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า’ กุญแจสู่การพัฒนาสีเขียว

สมาคมผู้ผลิตยานยนต์เวียดนาม (VAMA) เปิดเผยว่ายอดขายยานยนต์ไฟฟ้าในเวียดนามในปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 9 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า จากปี 2566 ในขณะที่สมาคมฯ ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มยอดขายยานยนต์ไฟฟ้า 1 ล้านคัน ภายในปี 2573 และเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านคันในปี 2583 ด้วยเหตุนี้ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) แนะนำให้เวียดนามสร้างสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า 100,000 – 350,000 แห่ง ในอีก 15 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ในเวียดนาม ‘VinFast’ และผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ เผชิญกับอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดเวียดนาม เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอต่อการตอบสนองของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะแบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนที่ได้ถอนตัว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-ev-charging-infrastructure-key-to-green-transition-post317676.vnp

‘เวียดนาม’ ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือ หนุนยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน

สำนักงานบริหารเดินเรือเวียดนาม เปิดเผยว่าภาคการเดินเรือของประเทศ มีทิศทางการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2567 ด้วยปริมาณขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือ 864.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 14% ในขณะที่ปริมาณขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ยังคงเติบโตได้ดี อยู่ที่ 29.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 21% รวมถึงจำนวนเรือที่ผ่านท่าเรือ 102,670 คัน เพิ่มขึ้น 2% โดยตัวเลขเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงอุตสาหกรรมการเดินเรือของประเทศที่ฟื้นตัว

ทั้งนี้ นาย Nguyen Canh Tinh ผู้อำนวยการ VIETNAM Maritime (VIMC) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการเพิ่มขึ้นของขนาดเรือและปริมาณขนส่งสินค้า ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานทางทะเลไม่สามารถรองรับได้ จึงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะประเด็นเร่งด่วน คือ การขุดลอกร่องน้ำทางเดินเรือ เพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี สำนักงานบริหารการเดินเรือ มีปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในการพัฒนาโครงการดังกล่าว โดยหวังว่านายกรัฐมนตรีจะอนุมัติโครงการนี้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-seaports-need-investment-to-enhance-competitiveness-post310023.vnp

สปป.ลาว และเวียดนาม เสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงสาธารณะ

สปป.ลาว และเวียดนาม ได้ทบทวนความร่วมมือและวางแผนเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในปี 2025 ในการประชุมระดับสูง โดยทั้งสองประเทศมุ่งเน้นการพัฒนาในด้านการค้า การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และพลังงาน รวมถึงโครงการสำคัญข้ามพรมแดน อีกทั้งยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_009_Laos_Vietnam_y25.php

เมียนมาและจีนหารือพัฒนาคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 คณะผู้แทนเมียนมาซึ่งนำโดยรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร. Aung Zeya เดินทางถึงกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อเข้าร่วมโครงการกองทุนพิเศษล้านช้าง-แม่โขง (2022) โดยคณะผู้แทนเมียนมาได้พบกับ ดร. ซู่ เว่ย รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการบริหารการกำกับดูแลตลาด (SAMR) ที่สำนักงานใหญ่ของ SAMR การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นตามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ที่ลงนามเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2024 ในเมืองคุนหมิง ระหว่างกรมวิจัยและนวัตกรรม (DRI) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานมาตรฐานของจีน รวมถึงสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติจีนภายใต้ SAMR ข้อตกลงเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสองกระทรวง อย่างไรก็ดี ในการประชุม ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาและจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวาระครบรอบ 75 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2025 โดยมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงการวัดทางวิทยาศาสตร์ การกำหนดมาตรฐาน และการประกันคุณภาพในระดับชาติ นอกจากนี้ พวกเขายังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการขยายและเร่งดำเนินโครงการความร่วมมือในพื้นที่เหล่านี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีให้มากยิ่งขึ้น

ที่มา : http://• https://www.gnlm.com.mm/myanmar-and-china-discuss-long-term-infrastructure-quality-development/

สปป.ลาว เร่งปรับปรุงถนนในเวียงจันทน์ รับการประชุมอาเซียน

สปป.ลาว เตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมอาเซียนที่กำลังจะมีขึ้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ ถนนหลายสายในเวียงจันทน์กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงคุณภาพพื้นผิวการจราจรเพื่อสร้างความปลอดภัยในการขับขี่ โดยโครงการปรับปรุงถนนครั้งนี้ มีจำนวน 19 โครงการ ซึ่งหลายโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้ แม้จะมีความพยายามในการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมอย่างต่อเนื่อง แต่สภาพถนนที่ไม่ดียังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ ผู้ใช้ถนนจำนวนมากยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของงานซ่อมแซมที่ดำเนินการในช่วงฤดูฝนที่ไม่เพียงแต่สร้างปัญหาให้กับทั้งผู้ใช้ถนนและผู้สร้างถนนเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ด้อยคุณภาพอีกด้วย

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/06/07/major-road-enhancements-in-vientiane-to-boost-traffic-safety-flow/

บริษัท Vinci ได้รับสัญญาปรับปรุงและออกแบบโรงบำบัดน้ำของกัมพูชา

โครงการดังกล่าวดำเนินการโดยฝ่ายก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ (CGR) นำโดยบริษัท Vinci เพื่อขยายการให้บริการประปาแก่พื้นที่ต่างๆ ทางตอนเหนือของกรุงพนมเปญ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ประชาชนประมาณ 750,000 คน มีน้ำสะอาดสำหรับดื่มกิน โดยนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทรัฐบาลกัมพูชาในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดทั่วประเทศภายในปี 2030 สำหรับโครงการส่วนต่อขยายนี้คาดว่าจะใช้เวลาในการปรับปรุงจนถึงปี 2028 ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยขอบเขตงานของ บริษัท Vinci ครอบคลุมถึงการสร้างระบบรับน้ำดิบแห่งใหม่จากแม่น้ำโขงใกล้เคียง รวมถึงระบบท่อส่งน้ำใหม่ที่สามารถกรองน้ำได้ 195,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งการก่อสร้างบริษัทจะว่าจ้างแรงงานกว่าสูงถึง 1,600 คน โดยส่วนใหญ่เป็นคนกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501499156/vincis-sustainable-initiatives-and-technology-to-be-used-in-e94-million-water-plant-extension-project-in-cambodia/

‘เวียดนาม’ เผยเม็ดเงินทุนจากต่างประเทศ ทะลักไหลเข้าอสังหาฯ และอุตสาหกรรม

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าประมาณ 6.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นับว่าเป็นเม็ดเงินทุนไหลเข้ามากที่สุดในรอบ 5 ปี โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังคงได้รับเงินทุนจากต่างประเทศมากที่สุด มูลค่า 4.93 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 78.5% ของเงินทุน FDI ทั้งหมด รองลงมาภาคอสังหาฯ 607.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศนั้น มีส่วนสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ และการลงทุนด้านทรัพย์สินทางปัญญาในหลายๆ โครงการใหม่ อย่างไรก็ดี เวียดนามจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมกำลังแรงงานให้ดียิ่งขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/fdi-flows-strongly-into-manufacturing-real-estate-post285568.vnp