‘ประชากรเวียดนาม’ เพียง 8% ลงทุนในหุ้น

จากข้อมูลของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (VSD) เปิดเผยว่าประชากรเวียดนามในปัจจุบัน มีเพียง 8% หรือ 7.76 ล้านคน ลงทุนในตลาดหุ้น และจากข้อมูลในเดือนกันยายน 2566 พบว่ามียอดเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่อยู่ที่ 172,695 บัญชี และโดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย หรือนักลงทุนรายบุคคล มีบัญชี 172,605 บัญชี ลดลงเกินกว่า 15,000 บัญชี เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 ทั้งนี้ จากข้อมูลในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ นักลงทุนเวียดนามเปิดบัญชีหุ้นใหม่ ประมาณ 924,205 บัญชี และนักลงทุนรายย่อย เปิดบัญชีใหม่ 923,211 บัญชี

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/over-8-percent-of-vietnam-s-population-investing-in-stocks-2198081.html

จับตา “บริษัทในอาเซียน” จำนวนมาก จ่อเสนอขายหุ้น IPO ในสหรัฐ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทในอาเซียน หลายแห่งกำลังพิจารณาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา โดยอาศัยความต้องการของนักลงทุนที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตของตลาดเกิดใหม่ สิ่งนี้เกิดขึ้นนอกเหนือจากแผนการที่ประกาศเมื่อเร็วๆนี้ โดย VNG Corp บริษัทอินเทอร์เน็ตของเวียดนาม และ DoubleDragon Corp’s บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของฟิลิปปินส์ที่จะเข้าจดทะเบียนในสหรัฐฯ เป็นการเติมเต็มช่องว่างที่บริษัทจีนซึ่งหยุดชั่วคราว หลังจากความตึงเครียดทางการเมืองกับสหรัฐทวีความรุนแรงขึ้น จีนได้เข้มงวดการตรวจสอบบริษัทในประเทศที่แสวงหาการเข้าจดทะเบียนในต่างประเทศอย่างเข้มงวด ขณะที่เศรษฐกิจจีนก็ชะลอตัวลง ทั้งนี้ บริษัทในอาเซียน ระดมทุนได้ประมาณ 101 ล้านดอลลาร์ผ่านการเสนอขายหุ้น IPO ในสหรัฐฯ ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้วมากที่ 919 ล้านดอลลาร์ แต่คาดว่าอัตราการระดมทุนจะเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ มองหาแหล่งเงินทุนใหม่

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/2023/62235/

CGCC ได้รับการรับรองให้เป็นผู้ค้ำประกันในการออกพันธบัตรรายแรกของกัมพูชา

สำนักงานกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งกัมพูชา (SERC) ภายใต้องค์กรกลางในการกำกับดูแลระบบการเงิน (FSA) หน่วยงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (MEF) ได้ให้การรับรองแก่บริษัทประกันเครดิตแห่งกัมพูชา (CGCC) ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ ให้สามารถเป็นผู้ค้ำประกันสำหรับการออกพันธบัตรเป็นรายแรกของกัมพูชาเพื่อสนับสนุนให้บริษัทเอกชนในท้องถิ่นมีทางเลือกในการระดมทุนเพิ่มมากขึ้นภายใต้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาที่เหมาะสม โดย CGCC ได้พัฒนากรอบนโยบายการค้ำประกันพันธบัตรที่ได้รับอนุมัติจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MEF เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของตลาดเงินในประเทศ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกสู่การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศกัมพูชา โดยในระยะถัดไปทางการจะเริ่มจัดอันดับเครดิตเรทติ้งจาก Rating Agency of Cambodia ซึ่งขณะนี้ธุรกิจภาคเอกชนสามารถระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศ (SMEs) ควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ผ่านการค้ำประกันการออกพันธบัตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501357935/cgcc-accredited-as-cambodias-first-bond-issuance-guarantor/

กัมพูชา-สปป.ลาว ลงนาม MoU พัฒนาตลาดหลักทรัพย์

เจ้าหน้าที่กำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของกัมพูชา (SERC) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ สปป.ลาว (LSCO) เพื่อร่วมมือในการควบคุมและพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ในทั้งสองประเทศ ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูล และยกระดับความร่วมมือด้านกฎระเบียบในระดับทวิภาคี ผ่านการทำงานร่วมกันในการเสริมสร้างขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่และการพัฒนาตลาด ด้าน Sou Socheat ผู้อำนวยการทั่วไปของ SERC กล่าวว่า MoU จะช่วยให้ SERC ให้การสนับสนุนแก่นักลงทุนทั้งในกัมพูชาและ สปป.ลาว ในการลงทุนยังตลาดหลักทรัพย์ของทั้งสองประเทศ ในทำนองเดียวกันองค์กรทั้งสองประเทศพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในการจะช่วยเหลือหากมีบริษัทใดในกัมพูชาหรือ สปป.ลาว ต้องการที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ข้ามประเทศระหว่างกัน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342653/cambodia-laos-ink-mou-for-securities-market-development/

‘MAEX’ ทำสถิติการซื้อขายสูงสุดในตลาดหุ้นเมียนมา

บริษัทเกษตรเมียนมา (Myanmar Agro Exchange Public Limited : MAEX) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2566 และมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดในบรรดาบริษัทจดทะเบียน 8 แห่งในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง (YSX) ในเดือนก.ค. โดยราคาพื้นฐานของบริษัท MAEX อยู่ที่ 1,800 จ๊าตต่อหน่วย ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ระหว่าง 1,550-2,050 จ๊าตต่อหน่วย และจากรายงานประจำเดือนของตลาดหลักทรัพย์ พบว่าตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่จะเป็นขาขึ้น ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 2,068 พันล้านจ๊าตในเดือน ก.ค. นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งเมียนมา (SECM) ได้อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถลงทุนในตลาดหุ้นในประเทศได้ ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป โดยการมีส่วนร่วมของนักลงทุนต่างชาติจะทำให้ปริมาณเงินไหลเข้ามากขึ้น และเป็นการลงทุนระยะยาวและมีความยั่งยืน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/mrf-to-sell-off-170000-rice-sacks-under-subsidy-scheme/#article-title

FSA อนุมัติหลักการประกาศร่างการลงทุนกองทุนรวมในกัมพูชา

Council of Non-Bank Financial Services Authority (FSA) หน่วยงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) ได้อนุมัติในหลักการร่างประกาศเพื่ออนุญาตให้นักลงทุนสามารถซื้อขายกองทุนรวมภายในตลอดหลักทรัพย์กัมพูชาได้ ซึ่งร่างประกาศดังกล่าวได้รับการอนุมัติเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (5 ก.ค.) โดยมี Aun Pornmoniroth รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวง MEF เป็นประธาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ FSA รวมทั้ง Sou Socheat ผู้อำนวยการทั่วไปของ Securities and Exchange Regulator (SERC) ของประเทศกัมพูชา ซึ่งร่างดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนสำหรับการออกหน่วยลงทุน รวมถึงการดำเนินการของผู้บริหารกองทุนรวม เพื่อเป็นการรับรองกรอบความรับผิดชอบและความโปร่งใส ตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักการกฎหมายและข้อบังคับ อีกทั้ง FSA ยังอนุมัติคำขอของบริษัทต่างชาติอย่าง บริษัท Binance KH Co. Ltd. สำหรับการวางแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลใน FinTech Regulatory Sandbox ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำร่อง แต่ถึงอย่างไร FSA จำเป็นต้องเตรียมการและออกประกาศอื่นเพิ่มเติม เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติที่จำเป็นสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501321301/fsa-approves-draft-scheme-proclamation/

“ตลาดหุ้นเวียดนาม” ขึ้นแท่นจุดหมายที่มีความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

การประชุมประจำปีขององค์กรคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (IOSCO) ในปี 2566 นับเป็นการประชุมประจำปีครั้งที่ 48 ณ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 13-15 มิ.ย. นาง Vu Thi Chan Phuong ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม กล่าวว่าตลาดหุ้นเวียดนามมีการพัฒนาที่น่าประทับใจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพและการรักษาสภาพคล่องในตลาดที่ดี อีกทั้งยังเป็นช่องทางการลงทุนที่น่าสนใจของประชาชน และดึงดูดนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้จำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ช่วยอำนวยความสะดวกในการระดมเงินทุนเท่านั้น แต่ธุรกิจเวียดนามยังมีความก้าวหน้าในด้านธรรมาภิบาล ความโปร่งใสและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-stock-market-becomes-reliable-destination-for-investors-worldwide-post1026603.vov

ท่าเรือ PPAP ในกัมพูชา ประกาศรายรับช่วง Q1 ลดลง 13%

ท่าเรือพนมเปญ (Phnom Penh Autonomous Port: PPAP) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา รายงานรายได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 2023 ที่มูลค่า 8.23 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยในเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียวบริษัทสร้างรายได้เกือบ 3 ล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 3.29 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง (MPWT) ได้สนับสนุนภาคการขนส่งภายในประเทศด้วยการเปิดตัวระบบ Port Electronic Data Interchange (Port EDI) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากญี่ปุ่น โดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และความโปร่งใส รวมถึงช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของภาคการขนส่งภายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501277374/ppap-posts-over-8-million-in-revenue-in-q1-a-decrease-of-13-percent/

“นักลงทุนต่างชาติ” ส่งสัญญากลับมาซื้อหุ้นเวียดนาม

แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นเวียดนาม (VN-Index) ปรับตัวลงแรง 33% ในปี 2565 แต่นักลงทุนต่างชาติได้อัดฉีดเงินทุนเข้าสู่ตลาดเมื่อเร็วๆนี้ ส่งผลให้ตลาดพริกกลับมาขยายตัวในรอบ 3 ปี และในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2566 นักลงทุนต่างชาติได้อัดฉีดเงินเข้าตลาดหุ้นเวียดนาม จำนวนกว่า 1,720 พันล้านดอง ถึงแม้ว่าตลาดจะอยู่ในระดับทรงตัวก็ตาม โดยเงินทุนส่วนใหญ่ราว 95% อยู่ในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ทั้งนี้ ตามข้อมูลทางสถิติของตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ แสดงให้เห็นว่าในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน 12,000 พันล้านดอง เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ทำให้เม็ดเงินทุนรวมของตลาดหุ้นเวียดนาม ขยับสูงขึ้นอยู่ที่ 23,600 พันล้านดองเวียดนามในปี 2565

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/foreign-investors-return-to-vietnamese-stocks/

ตลาดไอพีโออาเซียนร้อนแรง ‘ไทยโดดเด่นสุด’

นักวิเคราะห์ต่างแดนมอง ปีนี้ตลาดหุ้นไทยน่าจะทำไอพีโอทุบสถิติ ข้อมูลชี้การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดดเด่นมากในบรรดาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเว็บไซต์ซีเอ็นบีซี รายงานอ้างคำพูดของ เคน ฟง หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดทุนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัทวิเคราะห์ดีลลอจิก ระบุ “ไทยกำลังทำได้ดีมาก สานต่อเทรนด์ดีๆ ต่อเนื่องจากปีก่อน” ซึ่งข้อมูลจากดีลลอจิกชี้ว่าขณะนี้ไทยมีการนำหุ้นออกขายต่อสาธารณะครั้งแรก (ไอพีโอ) รวมแล้ว 2.92 พันล้านดอลลาร์ โดยประมาณร้อยละ 70-80 ของการทำไอพีโอเกิดขึ้นจากไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ของทุกปี

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/943792