ภาคเอกชน ขอ ธปท.ดูอัตราดอกเบี้ย ชี้ไทยสูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียน

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อยู่ระดับ 2.5% ซึ่งสูงในรอบ 10 ปี ว่า อยากเสนอแนะต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แบงก์ชาติ ให้พิจารณาอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง และยังไม่มีกลไกกำกับดูแลว่า ควรจะอยู่ที่อัตราเท่าไหร่ หากเปรียบเทียบตัวเลขระหว่างเงินกู้ไทยเทียบกับประเทศอาเซียน ปรากฎว่า อัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยสูงกว่ามาก ดังนั้น อาจต้องพิจารณาระดับที่เหมาะสม

ที่มา : https://ch3plus.com/news/economy/ch3onlinenews/388225

ธปท. เผยนักวิเคราะห์ยังหั่น GDP ไทยปีนี้โตเหลือ 0.6% แม้เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวช่วงไตรมาส 4 ห่วงโควิดกลับมาระบาดรุนแรง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ต่อเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/64 โดยผลสำรวจพบว่า นักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 0.6% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 1.3% แต่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัว สะท้อนจากการคาดการณ์ว่าทุกเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจจะขยายตัวเล็กน้อย จากแรงสนับสนุนทั้งนโยบายด้านการคลังและการเงิน รวมถึงการฉีดวัคซีนที่คืบหน้าไปมาก และการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุม ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศเริ่มฟื้นตัว

ที่มา : https://thestandard.co/gdp-growth-of-thailand-this-year-to-0-6per/

เศรษฐกิจปีหน้าจะโต 4% ต้องทำอะไรอีกมาก

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2564 จะออกมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจไทยพ้นจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ติดลบ 12.1% แล้วก็ตาม แต่เมื่อเข้าสู่เดือนแรกของไตรมาส 4 ปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่าเศรษฐกิจไทยช่วงเวลาดังกล่าวยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชน ยกเว้นการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวระหว่าง 3.5-4.5% มีค่ากลางอยู่ที่ 4.0% โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่าจะไม่เกิดการระบาดวงกว้างรอบ 2 จนถึงระดับที่จะต้องประกาศล็อกดาวน์อีกหรือไม่ แน่นอนว่าถ้าถึงระดับดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 อย่างแน่นอน นอกจากนี้ การส่งออกที่มีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจไทยสูงก็ยังต้องขึ้นกับการฟื้นตัวของการค้าโลกในปี 2564 ด้วย ซึ่งต้องส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศและกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ ในขณะที่การท่องเที่ยวและธุรกิจบริการในระยะยาวอาจต้องลดการพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวและเปลี่ยนมาพึ่งการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/911383

ธปท.ยืนยันเงินเฟ้อ พ.ค.ติดลบ ต่ำสุดรอบ 10 ปี

ธปท.ยืนยันเงินเฟ้อ พ.ค. ติดลบต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ยังไม่เข้าข่ายเงินฝืดตามนิยามของการดำเนินนโยบายการเงิน วันนี้ (4 มิ.ย. 63) นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการดำเนินนโยบายการเงิน ธปท. อิงนิยามภาวะเงินฝืดของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งต้องเข้าเงื่อนไข 4 ข้อ ดังนี้ อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานพอสมควร (prolonged period) อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลายๆหมวดสินค้าและบริกา การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว (ปรกติดูที่ระยะ 5 ปี) ต่ำกว่าเป้าหมายระยะปานกลางอย่างมีนัย อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น หากพิจารณาตามเงื่อนไขดังกล่าว พบว่าอัตราเงินเฟ้อไทยติดลบมาเพียง 3 เดือน แม้ประมาณการล่าสุดของ ธปท.จะให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ติดลบ แต่ยังมองว่าปีหน้าจะกลับเป็นบวกได้ อีกทั้งเป็นการติดลบจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 5 ปี อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ถือว่าใกล้เคียงกับกึ่งกลางของช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ร้อยละ 1-3 ต่อปี จึงยังไม่เข้าข่ายเงินฝืดตามนิยามของการดำเนินนโยบายการเงิน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ หากเศรษฐกิจไทยหดตัวลึกหรือฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินมาก โดย ธปท.จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

ที่มา : https://news.thaipbs.or.th/content/293286