เศรษฐา ปิดดีล Microsoft ลงทุน DATA CENTER หนุนอุตสาหกรรม AI

วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ Plenary Hall 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์ในงาน “Microsoft Build AI Day Event” ตอนหนึ่ง ว่า ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังมากที่สุดในทศวรรษนี้ ทั้งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สถานที่ทำงาน และวิธีการดำเนินธุรกิจ ซึ่งนายกฯ ได้ยืนยันความพร้อมของประเทศสำหรับอุตสาหกรรม AI และพร้อมสนับสนุนให้อุตสาหกรรม AI เติบโตในไทยอย่างเต็มที่ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยพร้อมสำหรับอนาคต ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค รวมถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ครอบคลุมที่สุด โครงข่ายมือถือ โครงสร้างพื้นฐาน 5G และโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ วิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ที่ได้ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลและเส้นทางที่ชัดเจนในการเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคใน 8 อุตสาหกรรมหลัก นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้จัดให้อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการลงทุน ซึ่งครอบคลุมมาตรการกระตุ้นการลงทุน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องและครอบคลุมอุตสาหกรรมดิจิทัลทั้งหมด รวมทั้ง รัฐบาลเดินหน้าสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสีเขียว ซึ่งไทยตระหนักดีถึงความต้องการโดยตรงของภาคธุรกิจในด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการบรรลุพันธกรณีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึง นโยบายที่จะทำให้ ครึ่งหนึ่งของการผลิตพลังงานในประเทศเป็นพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583) อย่างไรก็ดี รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะจัดหากำลังการผลิตพลังงานสีเขียวใหม่มากกว่า 9 กิกะวัตต์ผ่านระบบ Utility Green Tariff ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจมั่นใจได้ว่าการลงทุนในไทยจะสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่าย และในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งรัฐบาลพร้อมร่วมกับบริษัทดิจิทัลชั้นนำแบบบริษัทไมโครซอฟท์ สร้างแซนด์บ็อกซ์แห่งความยั่งยืนที่มุ่งส่งเสริมนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ยินดีที่ได้ทราบว่า ความมุ่งมั่นของไทยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและไมโครซอฟท์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการนำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI ที่เปี่ยมประสิทธิภาพมาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทย MoU ฉบับนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นและคำมั่นสัญญาจากทั้งสองฝ่ายในการบรรลุเป้าหมายนี้ในประเทศไทยด้วยกัน ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย มั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างกันนี้จะนำไปสู่อนาคตร่วมกัน พร้อมย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สมบูรณ์แบบสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยรัฐบาลพร้อมรับฟังความคิด เข้าใจความต้องการ และพร้อมหาทางออกที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตในประเทศไทยต่อไป ในตอนหนึ่งของการกล่าวเปิด นาย Satya Nadella ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Microsoft ให้คำมั่นว่า ไมโครซอฟท์ พร้อมเข้ามาลงทุน Data Center ในไทย และพร้อมมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพ ให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะ AI ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2025

ที่มา : https://www.prachachat.net/politics/news-1554508

เศรษฐา บินกัมพูชาพรุ่งนี้ พบเพื่อนบ้านในอาเซียนครั้งแรก ถกความร่วมมือทาง ศก.-แก้แก๊งคอล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการครั้งนี้นับเป็นการเยือนเพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ในประเทศอาเซียนครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระดับผู้นำในโอกาสที่ทั้งนายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเข้ารับตำแหน่งใหม่ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้หารือกับกัมพูชาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศ โดยมุ่งเพิ่มปริมาณการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 15,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 และผลักดันการยกระดับจุดผ่านแดนไทย-กัมพูชาที่ยังคั่งค้าง รวมไปถึงการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางของทั้งสองประเทศ ผลักดันการท่องเที่ยวและการเดินทางข้ามแดน เพื่อให้มีการใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) สำหรับการเดินทางข้ามแดนทางบก อำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดน และไม่มีหนังสือเดินทาง สามารถขอเอกสารเพื่อใช้เดินทางข้ามแดนได้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นจะติดตามเรื่องการพัฒนาพื้นที่ชายแดน เช่น แก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน การแก้ไขปัญหา call center รวมไปถึงความร่วมมือทางด้านแรงงาน ความมั่นคงทางพลังงาน ความสัมพันธ์ระดับประชาชน และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและวิชาการระหว่างไทย-กัมพูชา

ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/news_4201241