สมาร์ทคอนกรีตโตรับอีอีซี คาดปี 63 ก่อสร้างขยายตัว

นายรังสี ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ทคอนกรีต จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอิฐมวลเบาด้วยระบบอบไอน้ำภายใต้ความดันสูง เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจปี 2563 คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดี จากนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ผลักดันให้เกิดการลงทุนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม คลังสินค้า โครงการเมกะโปรเจค งานโครงการก่อสร้างภาครัฐ และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทยอยลงทุนในโครงการใหม่ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ความต้องการสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง-อิฐมวลเบาปรับตัวดีขึ้น สำหรับกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจ บริษัทมีแผนเดินหน้าทำการตลาดเชิงรุก แนะนำสินค้าให้เป็นที่รู้จัก ผลักดันสินค้าผ่านช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งมุ่งเน้นการทำตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ ควบคู่กับการใช้กลยุทธ์ O2O (Online to Offline ) เพื่อกระตุ้นยอดขาย และสร้างการรับรู้กับลูกค้าในวงกว้าง ผ่านสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ส่วนการขยายตลาดกลุ่มประเทศ CLMV บริษัทมีการส่งสินค้าไปจำหน่ายในประเทศกัมพูชาและสปป.ลาว เพื่อใช้ในงานก่อสร้างและงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยมีกระแสตอบรับที่ดี นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าเจรจาหาพันธมิตรเป็นตัวแทนจำหน่าย เพื่อขยายตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV อย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ 490 ล้านบาท หรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% นอกจากนี้ ด้านผลประกอบการงวดไตรมาส 4/2562 มีรายได้รวม 124.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.90 ล้านบาท หรือ 25.11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 99.18 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 20.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีขาดทุนสุทธิ 2.73 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 867.53% โดยผลประกอบการปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากปริมาณการใช้งานวัสดุอิฐมวลเบาของโครงการเมกะโปรเจคภาครัฐ และโครงการก่อสร้างภาคเอกชน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/866674?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic

“บีซีพีจี”สยายปีกลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว-ผนึกพันธมิตรสายส่งไปเวียดนาม

“บีซีพีจี”เดินหน้าขยายธุรกิจพลังน้ำในลาว ด้วยการเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเมืองเชียงขวาง สปป.ลาวเป็นแห่งที่ 2 ขนาดกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำในลาวเพิ่มเป็น 114 เมกะวัตต์ พร้อมเข้าลงทุนร่วมกับพันธมิตรก่อสร้างและดำเนินกิจการระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเวียดนาม ส่งผลให้แผนการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV มีรายได้เติบโต มั่นคงระยะยาว ทั้งนี้ ข้อมูลของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในวันที่ 10 ก.พ.63 ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3B Power Sole Co.,Ltd.ระหว่างบริษัท บีซีพีจี อินโดไชน่า จำกัด (BIC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบีซีพีจี ดำเนินกิจการลงทุนโรงไฟฟ้าในกลุ่มประเทศ CLMV กับบริษัท Phongsubthavy Roads and Bridges Construction and Irrigation(PSG) นอกจากนี้ โครงการ Nam San 3B ยังได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (EVN) เพื่อขายไฟฟ้าให้กับ EVN แทนการขายไฟฟ้าให้กับ EDL เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 25 ปี คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปี 2565 สำหรับการลงทุนของบริษัทในครั้งนี้ เป็นเพียงก้าวแรกของบริษัทในการขยายธุรกิจสู่กลุ่มประเทศ CLMV โดยลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาทิ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และขายไฟฟ้าให้กับประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/131991

สนค. ชี้ส่งออก2563 มีโอกาสบวก เปิดลิสต์ “30 สินค้าดาวเด่น”

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออก 2563 คาดการณ์จะกลับมาดีขึ้น จากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดย IMF คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.3 % ในปี 63 ท่าทีความพร้อมในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของหลายประเทศ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มผ่อนคลายจากการลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal) สถานการณ์ Brexit มีความชัดเจนแล้ว และมีช่วงเปลี่ยนผ่านจนถึงสิ้นปี 2563 ซึ่งจะยังไม่ส่งกระทบต่อผู้ประกอบการไทย และค่าเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่าลง  ทั้งนี้ สนค. จึงได้ทำการวิเคราะห์สินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกขยายตัวได้ดี และควรที่จะเร่งผลักดันการส่งออกเพิ่มมากขึ้นในปี 2563 โดยพบว่ามีสินค้ากว่า 30 รายการ ครอบคลุมทั้งสินค้าเกษตรและอาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม สำหรับสินค้าทั้ง 30 รายการ ในกลุ่มของสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง นมและผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ นาฬิกาและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องสำอางสบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว  ผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อ และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ส่วนการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศจีน ยังไม่น่ากระทบต่อการส่งออกไทยในระยะสั้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่มีมูลค่าสูงในตลาดจีน เพราะมีอุปสงค์ซื้อสินค้าอาหารไทยที่มีความปลอดภัยและคุณภาพดีอย่างต่อเนื่อง ทางด้านการรับมือกับผลกระทบจากการที่จะถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่และเตรียมมาตรการรองรับในทุกกรณีอย่างรัดกุม และในด้านการรักษาตลาด มีแผนจัดกิจกรรมนำคณะภาครัฐและเอกชนบุกตลาดเป้าหมายกว่า 18 ประเทศ ในปี 2563 เพื่อรักษาฐานเดิมและขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพอย่างครอบคลุม และกระจายความเสี่ยงจากมาตรการการค้าของประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยมีตลาดเป้าหมายการจัดกิจกรรมในตลาดสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย บังคลาเทศ CLMV ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร รัสเซีย แอฟริกา แอฟริกาใต้ ตะวันออกกลาง บาห์เรน และออสเตรเลีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-417259

“ไวรัสอู่ฮั่น”คาดลากยาว6เดือน ธุรกิจท่องเที่ยวไทยกระทบหนัก

 พิษไวรัสอู่ฮั่นเขย่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก หวั่นสถานการณ์แพร่ระบาดลากยาว 3-6 เดือน กระทบทัวร์ “อินบาวนด์-เอาต์บาวนด์” ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง “โรงแรม-สายการบิน”ได้รับผลกระทบหนักหนัก ททท.ผวานักท่องเที่ยวหนีเอเชีย โดยไทยได้รับผลกระทบจากการที่ นักท่องเที่ยวจีนที่เป็นนักท่องเที่ยวหลักยกเลิกทัวร์และการจองจากการแพร่ระบาดของไวรัส ผ่านมา ภาคเอกชนท่องเที่ยวได้ประชุมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อประเมินสถานการณ์ รวมถึงทำแผนเสนอมาตรการต่างๆ ในเบื้องต้นควรหันมากระตุ้นตลาดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในประเทศ และเร่งทำตลาดท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศโดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV ประเทศที่กำลังพัฒนานักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีกำลังซื้อที่มากขึ้นทำให้เป็นตลาดที่น่าสนใจที่จะมาชดชเยแทนนักท่องเที่ยวจีน รัฐบาลควรมมีมาตราการท่องเที่ยวเพื่อ พยุงสถานการณ์ในขนาดนี้ให้ผ่านพ้นไป และสิ่งสำคัญควรมีมาตราคัดกรองโรคและควบคุมที่เข้มงวดเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้มาเยือน

ที่มา: www.prachachat.net

ทีเส็บ จับมือ 2 พันธมิตรจัดแคมเปญ Fly, Meet, Shop กระตุ้นนักเดินทางธุรกิจกลุ่ม CLMV

ทางผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการจัดประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล ได้ร่วมกับผู้บริหารจากสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และบริษัท เซ็นทรัล ดีพาร์ทเม้นท์ สโตร์ จำกัด เพื่อรุกตลาดไมซ์ในกลุ่มประเทศ CLMV โดยจัดงานเปิดตัวแคมเปญ “Fly, Meet, Shop” เป็นครั้งแรกในกรุงพนมเปญ ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นตลาดการจัดประชุมสัมมนาและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลของบริษัทและองค์กรธุรกิจ (Meetings and Incentives-MI) จากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ให้เลือกไทยเป็นสถานที่จัดงาน ต่อเนื่องจากผลสำเร็จของความร่วมมือระหว่างทีเส็บและบางกอกแอร์เวย์ส ในแคมเปญดังกล่าวและ “Fly and Meet Double Bonus Redefined” เจาะตลาด CLMV ในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ และคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม CLMV จะยังเติบโตในอัตราสูงถึง 6-7% ซึ่งทีเส็บได้นำเสนอจุดขายใหม่ของประเทศไทย 115 แห่งที่ได้ร่วมพัฒนากับ 5 เมืองไมซ์ทั่วไทยและเมืองใกล้เคียงผ่านโครงการ Thailand 7 MICE Magnificent Themes ที่มีศักยภาพรองรับนักเดินทางไมซ์ในปี 2563

ที่มา : https://www.prachachat.net/tourism/news-412966

B คาดปี 63 พลิกมีกำไรสุทธิ จากวางเป้ารายได้โตไม่ต่ำกว่า 20% พร้อมรุกโลจิสติกส์ CLMV กลุ่มอีคอมเมิร์ช

“บี จิสติกส์” ลั่นผลงานปี 63 เทิร์นอะราวด์ ตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% เหตุเทรนด์ธุรกิจโลจิสติกส์มาแรงและเติบโตสูง วางยุทธศาสตร์เจาะกลุ่ม CLMV พร้อมเพิ่มบริการเป็นที่ปรึกษาออกแบบก่อสร้าง-บริหารจัดการคลังสินค้า โดยประธารบริหารบริษัทบี จิสติกส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าแผนการดำเนินงานปี 63 ตั้งเป้าผลในแง่ของรายได้และกำไรสุทธิจากธุรกิจหลัก (ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจง) ประกอบกับบริษัทให้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจภายใน ทั้งนี้ บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV  ซึ่งเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูง และปัจจุบันธุรกิจโลจิสติกส์ถือเป็นรายได้หลักของบริษัทสัดส่วนกว่า 80% ของรายได้รวม ขณะเดียวกัน ในปี 2563 บริษัทยังได้ขยายขอบข่ายการทำธุรกิจที่ต่อยอดกับธุรกิจหลัก โดยเพิ่มการให้บริการ การเป็นที่ปรึกษาออกแบบก่อสร้างและบริหารจัดการคลังสินค้า ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

ที่มา : นสพ.ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 14 ม.ค. 2563

ไทยแลนด์พลัสวัน จับคู่ญี่ปุ่น รุกตลาดแรงงาน CLMV

“ไทยแลนด์พลัสวัน” จับคู่ญี่ปุ่นรุกตลาด CLMV หวังช่วยกระตุ้นภาคเอกชนในประเทศทั้งรายเก่ารายใหม่ และนักลงทุนต่างชาติที่อาจหนีผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีน เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งโตเกียวร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมจัดงาน The 4th Business Connecting 2019 ในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์พลัสวัน สู่ความเป็นไปได้ทางความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น” เพื่อจับคู่ทางธุรกิจและตอกย้ำความร่วมมือของ 2 ประเทศ รวมไปถึงช่วยกระตุ้นภาคเอกชนในประเทศทั้งรายเก่าและรายใหม่และนักลงทุนต่างชาติที่อาจหนีผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ทั้งนี้ ในงานดังกล่าว กำหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการทำธุรกิจในกลุ่มภูมิภาค CLMV ควบคู่ไปกับการขยายฐานการผลิตไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/855088

ไทยผลักดันสินค้าจังหวัดนครพนมสู่ CLMV

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรี และนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เดินทางพบปะหารือด้านการค้ากับกลุ่มหอการค้าจังหวัดนครพนม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจการค้าชายแดน ซึ่งทราบว่าจังหวัดนครพนมมีศักยภาพมากอีกจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานตอนบน เช่น การค้าชายแดน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทั้งนี้ เมื่อ 2 ปีก่อน ได้รับทราบปัญหา  โดยเฉพาะการส่งออกชายแดน ซึ่งจังหวัดนครพนมถือว่าเป็นประตูไปสู่เวียดนาม และต่อไปจีน บริเวณมณฑลตอนใต้ ไทยได้ส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านแดนที่นี่ รวมทั้งผัก ผลไม้ และอื่น ๆ ซึ่งสิ่งที่หอการค้าฯ อยากให้ช่วยคลี่คลายในเรื่องปัญหาการส่งออกผัก ผลไม้ไปที่ชายแดนแล้วข้ามไปจีนบริเวณด่านผิงเสีย ให้ช่วยเจรจาอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ ทาง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ระบุว่าจังหวัดนครพนมได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยนำสินค้าไทย และสินค้าท้องถิ่นภาคอีสานไปทำโรดโชว์ (Road Show) ที่ตลาด CLMV และทางหอการค้าจังหวัดนครพนมเสนอไปที่โฮจิมินห์ ฮานอย และดานัง เนื่องมาจากเป็นเมืองใหญ่ของเวียดนาม ถ้าได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมฯ หอการค้าฯ รวมทั้งองค์กรอื่น ๆ โอกาสที่จะได้ตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้นก็มีความเป็นไปได้สูง

ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 ธ.ค. 2562

“มหากิจศิริ”ซุ่มขอไลเซนส์ ดัน”ทาโก้เบลล์”รุก CLMV

“มหากิจศิริ” ซุ่มเจรจาขอสิทธ์ทาโก้ เบลล์ รุกตลาดซีแอลเอ็มวี หลังเปิดตลาดในไทยได้ดี ลั่นอีก 5 ปีผุดสาขาครบ 40 แห่งในไทย ด้านยัมเจ้าของทาโก้เบลล์ ลั่นโหมตลาดเอเชียแปซิฟิกนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีทีเอ และกรรมการ บริษัท สยามทาโก้ จำกัด ผู้บริหารร้านทาโก้ เบลล์ (Taco Bell) ในไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯมีความสนใจที่จะขอลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ร้านทาโก้เบลล์ ซึ่งเป็นอาหารจานด่วนสไตล์เม็กซิกันเพื่อทำตลาดในกลุ่ม CLMV ( กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และ เวียดนาม) เพิ่มเติม ซึ่งก็เริ่มมีการเจรจากันบ้างแล้วแต่ยังไม่เป็นทางการ หลังจากที่บริษัทฯรับสิทธ์ทำตลาดในไทยมาปีเศษแล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยส่วนในปี 2563 ได้เตรียมที่จะขยายแบรนด์ทาโก้ เบลล์ เข้าไปเปิดตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มเติม โดยเบื้องต้นมองไปที่ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย หลังจากที่เปิดตลาดไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ทั้งนี้ ร้านทาโก้ เบลล์ มีจำนวนสาขามากกว่า 7,000 แห่งในตลาดอเมริกา ส่วนตลาดนอกอเมริกามีประมาณ 580 สาขา กระจายในเกือบ 30 ประเทศทั่วโลก

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9620000118260

“ไทยแลนด์พลัสวัน”จับคู่ญี่ปุ่นรุกตลาด CLMV

แนวโน้มเศรษฐกิจในกลุ่มภูมิภาค CLMV เติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับต้นทุนค่าจ้างแรงงานยังต่ำ และทรัพยากรประเทศยังคงอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติแห่เข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้กันมากขึ้น โดยจากคำแถลงการณ์ของ “รัฐพล รังสิตพล” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ในด้านการค้าและการลงทุนอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งโตเกียว ร่วมมือกระทรวงอุตสาหกรรมจัดงาน The 4th Business Connecting 2019 ในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์พลัสวัน สู่ความเป็นไปได้ทางความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น” ซึ่งเวทีนี้ กำหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทำธุรกิจในกลุ่มภูมิภาค CLMV ควบคู่ไปกับการขยายฐานการผลิตไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้ ได้เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการเรื่องแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีราคาถูก พื้นที่ที่ตั้งโรงงาน และทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงสมบูรณ์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปอาหาร เป็นต้น

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (Th)