ปตท. ชงโมเดลธุรกิจLNGเสนอกกพ. หนุนไทยก้าวสู่ฮับในภูมิภาคอาเซียน

ปตท.จัดทำรูปแบบธุรกิจแอลเอ็นจีต่อกกพ.เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฮับในภูมิภาคนี้ มั่นใจไทยมีความพร้อมทั้งความต้องการใช้ โครงสร้างพื้นฐานสถานีรับจ่ายก๊าซแอลเอ็นจีและด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลาง ขณะที่  นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังเปิดงาน Gas Day 2019 Energy fuel for today and tomorrow ว่า ปตท.อยู่ระหว่างจัดทำรูปแบบธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายก๊าซแอลเอ็นจีในภูมิภาคนี้ (แอลเอ็นจี ฮับ) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยรูปแบบธุรกิจดังกล่าว ปตท.มีศักยภาพในการส่งออกแอลเอ็นจีไปตลาดในภูมิภาคนี้ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานรองรับสถานีรับจ่ายแอลเอ็นจี (แอลเอ็นจี เทอร์มินอล) ทำได้อยู่แล้ว โดยปีนี้จะรีโหลดแอลเอ็นจีใส่เรือ เพื่อ ขนไปจำหน่ายให้กับลูกค้า เบื้องต้นได้มีการเจรจากับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมบางราย และในอนาคตจะต่อยอดไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งทางบริษัทฯ มองว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเป็นฮับอาเซียน เนื่องจากมีความได้เปรียบทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และมีความต้องการใช้แอลเอ็นจีมาก และด้านภูมิศาสตร์ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลาง CLMV ทำให้ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นฮับแอลเอ็นจี ในอาเซียน โดยกลุ่ม ปตท.ดำเนินธุรกิจก๊าซครบวงจรเพื่อมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและไฟฟ้า โดยการขนส่งก๊าซฯไม่จำเป็นต้องผ่านทางท่อเท่านั้นแต่ขนส่งผ่านรถ และเรือได้

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา

ก้าวต่อไปของ CLMV

 

จากรายงานการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) เกี่ยวกับศักยภาพของอาเซียน พบว่าการเติบโตของกลุ่มประเทศอย่างกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) เป็นที่น่าจับตามอง เช่น การที่ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในเมียนมามากกว่า 1000% ตลอดหกปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญคือ สงครามการค้า กรณี Brexit หรือการถอนตัวของสหรัฐออกจากกรอบการค้าเสรี (TPP) ที่เป็นตัวฉุดในบางครั้ง แต่ความได้เปรียบอีกอย่างคือ ค่าจ้างแรงงานถูกและต่ำที่สุดในประเทศกลุ่มอาเซียนอื่นๆ โดยมีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 2,000 เหรียญสหรัฐต่อคน/ปี ในปี 2559 (ส่วนไทยอยู่ที่ 6,000 เหรียญสหรัฐต่อคน/ปี) แต่เมื่อเทียบเป็นรายปีจะพบว่าเพิ่มขึ้นถึง 6.5% เทียบกับอินโดนีเซีย 1.7% มาเลเซีย 4.4% ผลการศึกษาของ ERIA ชี้ว่ากลุ่ม CLMV จำเป็นต้องปรับปรุงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง การผ่อนคลายกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศ ลดช่องว่างรายได้ของประชากรในประเทศ เร่งสร้าง SMEs ที่เข้มแข็งในท้องถิ่น ลดการพึ่งพาของอียูในการสร้างงานและการลงทุนทางตรงในประเทศ CLMV จึงน่าจับตามองของนักลงทุนที่เข้ามาลงในกลุ่มอาเซียนเพราะมีส่วนผลักดันเป้าหมายในปี 2593 ที่หมายมั่นจะมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของโลก

ที่มา: http://www.eria.org/news-and-views/clmv-countries-must-go-beyond-regional-integration/

16 กุมภาพันธ์ 2561

SCB EIC วิเคราะห์ CLMV Monitor แนะโอกาสทางธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน

เศรษฐกิจ CLMV ปี 2561 ขยายตัว 6-7% ปัจจัยหลักคือ การส่งออกและการท่องเที่ยว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นกลไกสำคัญโดยเฉพาะจีน การส่งออกครึ่งปีแรกขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะสินค้าเกษตร เพื่อพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่าเมียนมามีการขยายตัวสูงสุดคือ 7% รองลงมาคือ กัมพูชามีเติบโต 6.9% สปป.ลาวขยายตัว 6.8% และเวียดนามเติบโตราว 6.6% ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นทำให้เศรษฐกิจ CLMV ต้องพึ่งทุนจากต่างประเทศในระดับสูงและเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจด้านต่างประเทศที่มากขึ้น

ที่มา: https://www.scbeic.com/th/detail/file/product/4770/f23fv1xzqa/CLMV-Monitor_TH_2018_H1_20180618.pdf

เศรษฐกิจ CLMV เติบโตดีต่อเนื่อง แม้เวียดนามอาจมีความเสี่ยงจากสงครามการค้า

ยังคงขยายตัวสูงที่ระดับ 6-7% ในปี 2018 และ 2019 หลักๆ มาจาก มูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ขยายตัว 21%YOY จากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 63% ของ FDI ทั้งหมด อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงสำคัญคือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ ค่าเงินมีทิศทางอ่อนค่าลงตั้งแต่ต้นปีตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่อ่อนค่าในระดับต่ำกว่าค่าเงินประเทศเอเชียอื่นๆ เนื่องจากอยู่ภายใต้การควบคุมจากธนาคารกลาง

 

ที่มา: https://www.scbeic.com/th/detail/product/5081

 

จัดทัพลงทุนธุรกิจสปาใน CLMV

โดย ปุลวัชร ปิติไกรศร

ธุรกิจสปาเป็นหนุ่งในธุรกิจดาวรุ่งของไทยที่ขยายตัวควบคู่กับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวเอเชียที่นิยมใช้บริการสปาของไทย ทั้งนี้ Global Wellness Institute ประเมินว่าตลาดสปาของไทยมีมูลค่าราว 4.3 หมื่นล้านบาทในปี 2017 และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการขยายตัวด้านรายได้และจำนวนชนชั้นกลางในจีน รวมถึงยังคว้าโอกาสจากจุดแข็งด้านคุณภาพการบริการ รูปแบบการทำสปาที่มีเอกลักษณ์ และองค์ความรู้ด้านสมุนไพร

อีไอซี (EIC) มองว่ากัมพูชาและเวียดนามเหมาะกับการเข้าไปลงทุนธุรกิจสปา โดย IMF คาดว่ารายได้ต่อหัวของประชากรกัมพูชาจะขยายตัวเฉลี่ย 7.5% ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวเฉลี่ย 29% ต่อปีในช่วงปี 2013-2017 ทั้งนี้ เมืองที่น่าลงทุน คือ ‘พนมเปญและเสียมฐาน’ ซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของกัมพูชา

นอกจากนี้ ปัจจุบัน ธุรกิจสปาของกัมพูชาส่วนใหญ่เป็น hotel spa ที่บริหารโดยโรงแรมระดับสากล เช่น Le Méridien Spa หรือ So SPA by Sofitel แต่ยังไม่มี day spa ที่มีมาตรฐานสากลเปิดให้บริการมากนัก

ในขณะที่เวียดนามมีจุดที่น่าสนใจ คือ ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตรุดหน้ากว่าประเทศอื่นในกลุ่ม CLMV จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวเฉลี่ย 23% ต่อปีระหว่างปี 2013-2017 จนแตะระดับ 4 ล้านคน ขณะที่ จำนวนชนชั้นกลางก็คาดว่าจะขยายตัวจนมีจำนวน 33 ล้านคนในปี 2020 ส่งผลให้เวียดนามมีฐานลูกค้าคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวจีนที่ใหญ่กว่าประเทศอื่น การลงทุนในเมืองใหญ่อย่างดานัง ฮานอยและโฮจิมินห์จึงมีความน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม เวียดนามมีรูปแบบการทำสปาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งอาจส่งผลให้รูปแบบการทำสปาจากต่างประเทศไม่ได้รับความนิยมมากนักจากคนท้องถิ่น ผู้ประกอบการอาจต้องปรับรูปแบบการทำสปาแบบสากลให้เหมาะสมกับคนท้องถิ่นเพื่อให้ตัดสินใจใช้บริการได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน เวียดนามพบว่ามีการลงทุนจากกลุ่มธุรกิจสปาขนาดใหญ่อย่าง Six Senses รวมถึง Le SPA ที่บริหารโดย AccorHotels ก็เริ่มเปิดให้บริการในโรงแรมหลายแห่ง

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในความเสี่ยงที่สำคัญของการขยายธุรกิจสปาในกัมพูชาและเวียดนามคือการเปลี่ยนงานของแรงงานท้องถิ่นในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งมักจะเปลี่ยนงานบ่อยครั้งเมื่อมีโอกาสได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น เนื่องจากกฎหมายของทั้งสองประเทศกำหนดสัดส่วนการจ้างงานแรงงานท้องถิ่นของบริษัทต่างชาติ ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจสปาที่เติบโตโดยการขยายสาขา ผู้ประกอบการจึงควรหาวิธีแก้ไขปัญหานี้หากต้องการรุกตลาดในทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/5048