FTA ดันอาหารสัตว์เลี้ยงขึ้นแท่นเบอร์ 4 ของโลก

พาณิชย์ เผยเอฟทีเอดันไทยขึ้นแท่นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก พร้อมหนุนผู้ประกอบการพัฒนาอาหารสุขภาพ-ปลอดสารพิษ -อาหารแคลอรี่ต่ำ อาหารมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ รับเทรนด์โลก โดยอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งที่น่าจับตามอง และมีมูลค่าส่งออกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 4 ของโลก รองจาก สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน โดยในปี 62 ไทยส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นมูลค่าสูงถึง 1,693 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น  4% เมื่อเทียบกับปี 61 เป็นการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไป 18 ประเทศคู่เอฟทีเอมูลค่า 954 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 56% ของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยไปทั่วโลก เป็นอาหารสำหรับสุนัขและแมว สัดส่วน 82% และอาหารสัตว์เลี้ยงอื่นๆ สัดส่วน 18% มีประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น อาเซียน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป สำหรับเอฟทีเอนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย เพราะช่วยขจัดอุปสรรคด้านภาษีศุลกากรในประเทศคู่ค้าทำให้ได้แต้มต่อในการแข่งขัน โดยปัจจุบันสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยทุกรายการไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าใน 15 ประเทศที่ ไทยมีเอฟทีเอด้วย ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรูและฮ่องกง มีเพียง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ยังคงการเก็บภาษีนำเข้ากับไทยในบางรายการ

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/763801

FTA ระหว่างกัมพูชาและจีนใกล้ประสบผลสำเร็จ

กัมพูชาและจีนกำลังวางแผนที่จะลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีในช่วงปลายปีนี้ โดยความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นหลังจากที่ทั้งคู่ปิดการเจรจารอบแรกจัดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้วในกรุงปักกิ่งประเทศจีน ซึ่งกระทรวงเศรษฐกิจและการเงินเป็นผู้จัดประชุมหารือ โดยผลการเจรจารอบแรกของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัมพูชาและจีนซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้กำหนดหลักการแนวทางให้กับทีมเจรจาเพื่อให้พวกเขามีพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการอภิปรายรอบต่อไปที่มุ่งสู่การหาข้อสรุป ซึ่งหากหาผลสรุปได้เขตการค้าเสรีนี้จะเป็นกลไกใหม่ที่ส่งเสริมและกระจายศักยภาพทางเศรษฐกิจและวิสัยทัศน์ของทั้งสองประเทศ โดยข้อตกลงทางการค้านี้จัดตั้งขึ้นเพื่อขยายการค้าการลงทุน การบริการและความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งปริมาณการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 5.16 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 เป็น 6.04 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2560 และ 7.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 ตามตัวเลขของรัฐบาล

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50691647/cambodia-china-closer-to-fta-signing-deal

แนวโน้มอุตสาหกรรมสิ่งทอเวียดนามปี 63 เติบโตสูงขึ้น

ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนามปี 2563 คาดว่าจะยกระดับความก้าวหน้าอุตสาหกรรม เนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และปัจจัยอื่นๆ เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีลบังคับใช้ในปีนี้ รวมไปถึงแบรนด์ต่างชาติรุกเจาะตลาดเวียดนาม ซึ่งภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอฯมีความโดดเด่นในเรื่องกระบวนการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นด้ายและการย้อมสีผ้าที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยช่วยในการผลิตสินค้า ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม ระบุว่าผลผลิตเส้นด้ายมากกว่า 2.5 ล้านตันในปี 2562 ขณะที่ ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 1.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อยู่บนพื้นฐานของพฤติกรรม/แนวคิดการเพิ่มผลิตภาพและวิธีการดำเนินงานที่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเวียดนามยังคงเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงงาน ด้วยเหตุนี้ ทางสมาคมฯ มองว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นกุญแจสำคัญต่อกระบวนการผลิตและควรส่งเสริมการฝึกอบรมให้มากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/592061/viet-nams-garment-textile-expects-boom-in-2020.html

อุตสาหกรรมรองเท้าเวียดนามมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายปีนี้

จากข้อมูลของรองประธานกรรมการและเลขาธิการสมาคมหนังและรองเท้าเวียดนาม (Lefaso) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมหนังและรองเท้าในประเทศยังคงอยู่ในระดับเกณฑ์ที่ดีที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายภายในปีนี้ ซึ่งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในปี 2563 คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 11 และอัตราผลผลิตในท้องถิ่น (Localisation Rate) ร้อยละ 60 สำหรับยอดการส่งออกรองเท้าและกระเป๋าคาดว่าอยู่ในระดับ 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยความขัดแย้งของสหรัฐฯกับประเทศคู่ค้านั้นมีแนวโน้มผ่อนคลายลง ขณะที่ เศรษฐกิจโลกน่าจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น คำสั่งซื้อรองเท้าและกระเป๋าได้เปลี่ยนคำสั่งซื้อจากจีนมายังเวียดนาม เพื่อใช้ประโยชน์การให้สิทธิพิเศษทางภาษีสุลกากรจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ดังนั้น ทางสมาคมคาดว่าความต้องการของผลิตภัณฑ์รองเท้าในตลาดส่งออกหลักจะเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ ประกอบกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ FDI ส่งผลให้เกิดการขยายตัวด้านผลผลิตและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมรองเท้าขยายตัวได้ดีมากขึ้น แต่ว่าอุตสาหกรรมรองเท้ายังคงเผชิญกับอุปสรรคสำคัญ คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งทางธุรกิจจะต้องพัฒนาหรืออบรมพนักงานที่ไม่ได้มาจากอาชีวศึกษา

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/591790/footwear-industry-likely-to-hit-goals-this-year.html

การเจรจาทางการค้ารอบแรกระหว่างกัมพูชาและจีน

กัมพูชาและจีนได้สรุปการเจรจารอบแรกเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยส่งผลในเชิงบวก ซึ่งทั้งสองประเทศจะหารือกันต่อไปในการเจรจารอบสองที่จะจัดขึ้นในประเทศกัมพูชา จากการเจรจาเอฟทีเอรอบแรกที่จัดขึ้นในกรุงปักกิ่งประเทศจีน โดยมีการประชุมเพื่อติดตามผลหลังจากที่เขตการค้าเสรีทวิภาคีได้ริเริ่มโดยผู้นำของทั้งสองประเทศในปี 2562 ซึ่งการเจรจานำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองประเทศ โดยโฆษกของกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับ สินค้า การลงทุน และบริการ ซึ่งปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 5.16 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 เป็น 6.04 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2560 และ 7.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 ตามลำดับ โดยทั้งสองประเทศตั้งเป้าหมายที่จะทำทำการค้าทวิภาคีให้ถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีภายในปี 2566

ที่มา :https://www.khmertimeskh.com/50684889/cambodia-china-wrap-up-first-round-of-trade-talks

พาณิชย์เปิดเจรจาการค้าไทย-บังกลาเทศ

ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ไทย – บังกลาเทศ ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 7 – 8 ม.ค. 63 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีการหารือในประเด็นสำคัญ เช่น การขยายการค้าและการลงทุน การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรม เกษตร ประมงและปศุสัตว์ บริการสุขภาพและสาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน และความเป็นไปได้ในการจัดทำ เอฟทีเอ ไทย – บังกลาเทศ เป็นต้น เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนสองฝ่ายให้ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพในอนาคต ซึ่งบังกลาเทศเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงในภูมิภาคเอเชียใต้ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดที่ 6-8% ต่อปี มีประชากรกว่า 160 ล้านคน มีทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นจำนวนมาก เช่น ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ และถ่านหิน มีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน โดยบังกลาเทศได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีฝ่ายเดียว หรือ จีเอสพี จาก 47 ประเทศทั่วโลก รวมถึงมีศักยภาพในการเป็นประตูการค้าสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ และประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี กว่า 57 ประเทศ ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองประเทศจะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น…

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/750275

หนุนพลิกโฉม FTA เจาะประเทศเป้าหมาย-รายมณฑล

ภาพรวมการค้าโลกอ่อนแรงลงมากจากสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจจีน-สหรัฐ ความไม่แน่นอนของการเมืองระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการค้าโลกปีนี้ว่าจะขยายตัว 1.2% จากเดิม 2.6% และประมาณการปี 2563 ว่าจะขยายตัวเพียง 2.7% จากเดิมที่เคยคาดไว้ 3% แรงกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้การส่งออก 10 เดือนแรกหดตัว 2.4% ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 3% ซึ่งแนวทางที่จะฟื้นการส่งออก จำเป็นต้องหาตัวช่วยด้วยการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศศึกษาแนวทางการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) หรือข้อตกลงกับประเทศจีนและอินเดีย โดยเจาะลงลึกเจรจาเป็นรายมณฑล หรือรายรัฐ เพื่อส่งเสริมการส่งออกพร้อมกันนี้ ให้เร่งผลักดันการเจรจาที่ค้างอยู่ ทั้งเอฟทีเอไทย-ตุรกี, ไทย-ศรีลังกา และไทย-ปากีสถาน ให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 และหาข้อสรุปที่จะเริ่มเปิดเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู, ไทย-สหราชอาณาจักร และไทย-ฮ่องกง ส่วนนายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุม สหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะเร่งผลักดันเอฟทีเอ เนื่องจากเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังมีโอกาสขยายตัวเป็นบวก โดยเฉพาะนโยบายสำคัญ เช่น การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีที่ต้องทำให้ชัดเจนและต่อเนื่อง ส่วนภาคเอกชน นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องเร่งเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอต่าง ๆ โดยเร็ว โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป และไทย-สหราชอาณาจักร เพราะการเจรจารายประเทศต้องใช้เวลา ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จได้เร็ว หากสำเร็จจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งทางคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 ฝ่าย จะพิจารณากำหนดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปี 2563 อีกครั้ง ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2563

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-401634

IFD หนุนฟื้นเอฟทีเอไทย-อียู หวังดัน “จีดีพีไทย” โต1.63%

พาณิชย์ชง กนศ.ฟื้น FTA ไทย-อียูสุดคุ้ม ดัน GDP โต 1.63% แต่ยังต้องรอบคอบ 3 ประเด็น ระหว่างงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “ผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป” (FTA ไทย-อียู) ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่กรมจะนำผลการศึกษานี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ ผลศึกษาสรุปว่า หากลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการ จะส่งผลให้จีดีพีไทยขยายตัว 1.63% การส่งออกเพิ่มขึ้น 3.43% การนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.42% การลงทุนเพิ่มขึ้น 2.74% ตลอดจนตัวเลขด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น สวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ การบริโภคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.32% ขณะที่เงินเฟ้อลดลง 0.41% และจำนวนคนจนลดลง 3.9 แสนคน โดยสินค้าที่จะได้ประโยชน์ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น ส่วนสาขาอาจจะได้รับผลกระทบ เช่น น้ำตาล ผัก ผลไม้ และถั่ว เป็นต้น ประเด็นที่อียูขอให้ยืดอายุสิทธิบัตรชดเชยความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยา ไม่ควรเกิน 2 ปี จากอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร 20 ปี หรือจำกัดระยะเวลาขอบเขตความล่าช้าที่เหมาะสม การให้อิสระในการกำหนดกฎหมายภายใน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายาร่วมกัน รวมถึงการขยายระยะเวลาคุ้มครองลิขสิทธิ์หลังผู้สร้างสรรค์สิ้นชีวิตอีก 50 ปี สำหรับมาตรการเยียวควรช่วยเหลือค่ายาสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย โดยขยายระบบประกันสังคม การตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผลกระทบ รวมถึงการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ส่งเสริมธุรกิจการทดสอบมาตรฐานสินค้า เป็นต้น

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-394635

ผู้ประกอบการสปป.ลาวเรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรี

ธุรกิจสปป.ลาว จะสามารถขยายตลาดและแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ดีขึ้นหลังจากได้รับการศึกษาเกี่ยวกับเงื่อนไขและประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรี การสัมมนาจัดขึ้นโดยกล่าวถึงประโยชน์ของ FTAs ​​และมีส่วนร่วมในอีคอมเมิร์ซ มีตัวแทนธุรกิจเกือบ 100 รายรวมถึงจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเวียงจันทน์และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และอื่น ๆ เข้าร่วม เป้าหมายของการประชุมครั้งนี้คือการทำให้ผู้ประกอบการคุ้นเคยกับ FTA โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ของ FTA สำหรับนักธุรกิจและกระบวนการและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการมีส่วนร่วมในอีคอมเมิร์ซและวิธีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีอาเซียน ที่ประชุมได้แจ้งผู้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ www.plaosme.com เพื่อสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่นในการทำธุรกรรมออนไลน์และเพิ่มความสามารถในการส่งออก

ที่มา : http://annx.asianews.network/content/lao-business-operators-learn-about-benefits-free-trade-agreements-108433

จุดพลุเอฟทีเอ “ไทย-ฮ่องกง”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานสัมมนา “THAILAND 2020 # ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ” ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 63 ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากภายนอก โดยเฉพาะปัจจัยของสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนที่ยังไม่มีความชัดเจน จึงอาจส่งผลกระทบต่อการค้าขายและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกไปถึงปี 64 โดยปีนี้เห็นได้ชัดเจนว่าสงครามการค้าที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรก เกิดการชะลอตัวค่อนข้างมาก ทั้งนี้หลังจากผ่านพ้นการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 เสร็จสิ้นลงถือว่าประเทศต่างๆได้มีข้อตกลง และความร่วมมือกันเป็นอย่างดี โดยจีนที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตใหม่ๆ ถือเป็นโอกาสให้กับไทยในการดึงดูดการลงทุนของจีนเข้ามา เพื่อนำเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยของจีนเข้ามาต่อยอดและพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย โดยมี 5 เรื่องสำคัญๆที่ต้องปรับเปลี่ยนประเทศและต้องทำให้ได้ เช่น อีอีซี, การเปิดประมูล 5 จี ในปีหน้า เป็นต้น ดังนั้น ประเทศไทยต้องอาศัยความได้เปรียบในฐานะศูนย์กลางของอาเซียน ที่เชื่อมต่อนโยบายของจีนผ่านความร่วมมือผ่านเส้นทางสายไหม สู่อีอีซี โดยมี Greater bay area : GBA ที่ประกอบไปด้วย ฮ่องกง กวางตุ้ง มาเก๊า เป็นหัวหอกที่ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญรองรับนโยบายการย้ายฐานการผลิต ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทในการเชื่อมโยงกับ CLMV  ซึ่งจากการหารือกับนางแคร์รี แลม ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง มีความประสงค์จะเดินทางมาไทย โดยจะมีการลงนามข้อตกลงทางการค้าเสรี ไทย-ฮ่องกอง เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนฮ่องกง ย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทยและเชื่อมโยงตลาดทุนร่วมกัน ภายในสิ้นปีนี้.