รองประธานาธิบดี สปป.ลาว ตรวจความคืบหน้าการยกระดับจุดผ่านแดนลาว-ไทย ที่เวียงจันทน์

ด่านชายแดนในหมู่บ้านวัง นครหลวงเวียงจันทน์ กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงเป็นการผ่านแดนระหว่างประเทศกับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ดร.บุญทอง จิตมณี รองประธานาธิบดี สปป.ลาว และคณะ เยี่ยมชมและติดตามความคืบหน้าการปรับปรุงดังกล่าวนี้ โดยรองเจ้าแขวงเวียงจันทน์ กล่าวว่า การยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณชายแดนเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 จนถึงขณะนี้ มีความคืบหน้าใน 10 องค์ประกอบของโครงการก่อสร้าง คิดเป็น 75% ขององค์ประกอบทั้งหมด 15 องค์ประกอบ ซึ่งรวมถึงการเคลียร์พื้นที่ 10.8 เฮกตาร์ บริเวณจุดผ่านแดน การปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสาร สำนักงานศุลกากร สำนักงานก่อสร้าง และการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ทั้งนี้ รองประธานาธิบดี สปป.ลาว สั่งการให้หน่วยงานท้องถิ่นดำเนินงานที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อยกระดับการผ่านแดนและจัดหาบุคลากรและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานของสำนักงานศุลกากรและตรวจคนเข้าเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังแนะนำให้จัดกองกำลังรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ชายแดน เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาสันติภาพ และเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่มีเจตนาร้ายเข้ามาที่ประเทศลาวเพื่อก่อให้เกิดความไม่สงบ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_72_VP_y24.php

ธนาคารโลกเผย อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว กระทบรูปแบบการจ้างงานและผู้มีรายได้น้อย

ธนาคารโลกเผยสถิติจากการสำรวจ Rapid Monitoring Phone Surveys แสดงให้เห็นถึงขนาดการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เพิ่มขึ้นเป็น 45% ในเดือนมกราคม 2567 เพิ่มขึ้นจาก 29% ในปีก่อนหน้า ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าค่าจ้างจะมีการเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 แต่ก็ไม่สามารถตอบสนองอัตราเงินเฟ้อได้ ส่งผลให้ประชาชนหันมาทำธุรกิจส่วนตัวและธุรกิจครอบครัวมากขึ้น เพื่อป้องกันกำลังซื้อที่ลดลง แม้ว่ารายได้ครัวเรือนโดยรวมจะมีอัตราการเติบโต 25% ภายในเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งแทบจะเกินอัตราเงินเฟ้อที่ 24% เพียงเล็กน้อย แต่แนวโน้มนี้ไม่ได้ป้องกันส่วนสำคัญของครัวเรือนจากกำลังซื้อที่ลดลง กว่า 40% ของครัวเรือนประสบปัญหาระดับรายได้ตามหลังอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ความตึงเครียดทางการเงินรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีรายได้น้อย

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/04/10/sustained-inflation-in-laos-forces-shift-in-employment-patterns-hits-low-income-families-hardest-world-bank-reveals/

การส่งออกภาคการผลิตทะลุ 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมาเผยว่า มูลค่าการส่งออกจากภาคการผลิตทะลุ 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567 ซึ่งลดลง 2.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2565-2566 ซึ่งมีการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูปมูลค่า 10.9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นมูลค่ารวมจากการขนส่งสองรูปแบบ (ทางทะเลและชายแดนทางบก)  อย่างไรก็ดี เมียนมาส่งออกสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ การประมง แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ สินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ ในขณะที่นำเข้าสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง วัตถุดิบจากโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า CMP และสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/manufacturing-sector-exports-surpass-us8-8-bln-in-fy2023-2024/#article-title

รัฐบาลกัมพูชาตั้งเป้าดันสีหนุวิลล์เป็นเซินเจิ้นแห่งใหม่

รัฐบาลกัมพูชา (RGC) ต้องการเปลี่ยนจังหวัดพระสีหนุให้เป็นเมืองเซินเจิ้นแห่งใหม่ โดยการลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ จัดให้มีแพ็คเกจจูงใจส่งเสริมการลงทุน และยกระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อดึงดูดนักลงทุน กล่าวโดย Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมืองเซินเจิ้นของจีนถือเป็นเมืองที่มีความทันสมัย ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน โดยเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับสามรองจากเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับโลกที่ทันสมัยที่สุด และถูกเรียกว่า Silicon Valley ของจีน ด้านทางการกัมพูชาเริ่มพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายเพื่อการลงทุนหวังดึงการลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ทันสมัยเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น ควบคู่ไปกับการที่กัมพูชามีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และสหภาพยุโรป (EU) ผ่านโครงการทุกอย่างยกเว้นอาวุธ (EBA) ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาให้มีการเติบโตต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501469715/govt-wants-sihanoukville-to-be-next-shenzhen/#google_vignette

กัมพูชาครองอันดับ 1 เอเซีย สำหรับประเทศเศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในปี 2024

กัมพูชาครองอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 3 ในบรรดา 20 ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในเอเชีย ด้วยอัตราการเติบโตที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ในปี 2024 รายงานโดย Pen Bona โฆษกรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งจัดอันดับโดย SeasiaStats หน่วยงานทางสถิติของอินโดนีเซีย โดยกัมพูชาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านการบริหารจัดการอย่างรอบคอบของรัฐบาล นำโดยนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ซึ่งได้เปิดเผยวิสัยทัศน์ใหม่ครอบคลุมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนกัมพูชาไปสู่สถานะประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2050 ซึ่งเน้นย้ำถึงนโยบายสำคัญ 6 โครงการที่พร้อมจะดำเนินการทันที หวังปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501469932/cambodia-ranks-first-in-asean-and-third-among-the-20-fastest-growing-economies-in-asia-with-a-growth-rate-of-6-1-in-2024/

‘เวียดนาม’ เตรียมกู้เงินจากธนาคารโลก 380 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นทุนสนับสนุนโครงการปลูกข้าวคุณภาพสูง

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (MARD) เตรียมกู้เงินจากธนาคารโลก มูลค่ากว่า 360 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9 ล้านล้านดอง เพื่อดำเนินโครงการที่ตั้งเป้าเพาะปลูกข้าวคุณภาพสูง 1 ล้านเฮกตาร์ โดยการหารือเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวจะทำการประชุมกับคณะกรรมการบริหารโครงการของกระทรวงฯ ในวันที่ 8 เม.ย.

ขณะที่นายหลี่ กัว (Li Guo) ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของธนาคารโลก กล่าวว่าโครงการดังกล่าวจะอยู่ภายใต้โครงการปฏิรูปเกษตรกรรมยั่งยืนของเวียดนาม (VnSAT) และมองว่าเวียดนามจะเป็นผู้นำทางด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้าทางการเกษตรของโลก ตลอดจนธนาคารโลกจะร่วมมือกับกระทรวงฯ อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ โครงการการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมข้าวเวียดนามได้อย่างยั่งยืน ยกระดับรายได้ของเกษตรกร พร้อมกับปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-seeks-us360-million-loan-from-wb-for-high-quality-rice-project/

‘บ.เกาหลีใต้’ เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดเวียดนาม เหตุจากการเข้ามาของทุนจีน

สำนักข่าวญี่ปุ่น นิคเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) เผยแพร่บทความบอกเล่าถึงบริษัทเกาหลีใต้รายใหญ่ของโลกที่ทำธุรกิจในเวียดนาม เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งจากจีน ในขณะที่ตามรายงานของหอการค้าและอุตสาหกรรมเกาหลี (KCCI) เปิดเผยว่าบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้รายใหญ่ ได้แก่ บริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ (Samsung Electronics) และบริษัทแอลจี (LG) เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามาหลายปี ส่งผลให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และนักลงทุนเกาหลีใต้เป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 1 ของประเทศ มูลค่า 85.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แซงสิงคโปร์และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี คู่แข่งจากจีนเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น สาเหตุมาจากการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังเวียดนาม รวมถึงค่าแรงงานที่ถูกกว่า จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้นทุนแรงงานจะเพิ่มขึ้นในเวียดนามเช่นกัน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/korean-firms-in-vietnam-face-growing-competition-from-china-post1087897.vov