หนี้สาธารณะของกัมพูชาอยู่ที่ 11.09 พันล้านดอลลาร์ ณ ไตรมาส 1 ปี 2024

กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของกัมพูชา (MEF) เผยแพร่รายงานสถิติหนี้สาธารณะประจำไตรมาส 1 ปี 2024 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 มิ.ย.) โดยระบุว่าปัจจุบันหนี้สาธารณะของกัมพูชาอยู่ที่ 11.09 พันล้านดอลลาร์ สำหรับองค์ประกอบของหนี้สาธารณะแบ่งเป็นร้อยละ 64 มาจากพันธมิตรการพัฒนาแบบทวิภาคี (Bilateral Development Partners) และร้อยละ 36 จากองค์กรพัฒนาพหุภาคี (Multilateral Development Partners) ซึ่งรายละเอียดสกุลเงินของหนี้สาธารณะแบ่งเป็นสกุลเงินดอลลาร์ร้อยละ 46, สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights: SDR) ร้อยละ 19, เงินหยวน (CNY) ร้อยละ 11, เงินเยน (JPY) ร้อยละ 11, เงินยูโร (EUR) ร้อยละ 7 และสกุลเงินท้องถิ่นและสกุลเงินอื่นๆ อีกราวร้อยละ 6 โดยรวมแล้วสัญญากู้เงินทั้งหมดเป็นแบบผ่อนปรนสูง มีองค์ประกอบเป็นเงินอุดหนุน (Grant Element) เฉลี่ยประมาณร้อยละ 40 ซึ่งในรายงานยังระบุเสริมว่า ในไตรมาส 1 ปี 2024 กัมพูชาได้ชำระหนี้บริการหนี้สาธารณะให้แก่พันธมิตรการพัฒนาเป็นมูลค่า 181.5 ล้านดอลลาร์

โดยสัญญากู้เงินทั้งหมดนำไปใช้เพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนภาครัฐในสาขาสำคัญ ซึ่งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ยอดหนี้สาธารณะของกัมพูชาอยู่ที่ร้อยละ 19 ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 40

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501506352/cambodias-total-public-debt-stands-at-11-09-bln-as-of-q1/

FAO คาดการณ์ราคาข้าวที่น่าดึงดูดจะกระตุ้นผลผลิตข้าวในกัมพูชา

องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.9 จากปีก่อนหน้า แตะสถิติสูงสุดที่ 534.9 ล้านตัน ในฤดูกาล 2024/25 โดยรายงานดังกล่าวถูกกว่าไว้ใน World Food Outlook ฉบับล่าสุด ซึ่ง FAO ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียคาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ โดยผลผลิตข้าวโดยรวมของภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 หรือคิดเป็นปริมาณรวมกว่า 478.9 ล้านตัน เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้อต่อการปลูกข้าวและการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม คาดว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวจะขยายตัวเพื่อตอบสนองต่อราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับในประเทศไทยโอกาสที่ผลผลิตจะฟื้นตัวเต็มที่นั้นถูกกระทบโดยความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นในการปลูกข้าว เนื่องจากความแห้งแล้งในช่วงต้นฤดู รวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงการสนับสนุนของรัฐบาลที่ประกาศออกมา ด้านกัมพูชากลับมีแนวโน้มการส่งออกที่สดใส โดย FAO คาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวของกัมพูชาจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 หรือคิดเป็น 7.9 ล้านตันในปีนี้ ทำให้กัมพูชาเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุดอันดับ 10 ของโลก หลังจากแซงหน้าบราซิลและญี่ปุ่นในปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501506357/fao-expects-attractive-prices-to-boost-rice-output-in-cambodia/

รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ สปป.ลาว เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS+

นายสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ สปป.ลาว เข้าร่วมการประชุม BRICS Foreign Ministers’ Dialogue with Developing Countries (BRICS+) ที่เมืองนิจนีนอฟโกรอด ประเทศรัสเซีย โดย ฯพณฯ ท่าน กล่าวในที่ประชุมว่า ในบริบทโลกปัจจุบัน สปป.ลาว อยากเห็นกลุ่ม BRICS มีบทบาทมากขึ้นและปกป้องความร่วมมือแบบพหุภาคีในการพัฒนาและความมั่นคงระดับโลก และการป้องกันขั้วการเมืองโลกแบบฝ่ายเดียว รวมถึงพฤติกรรมสองมาตรฐานในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ สปป.ลาว มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและร่วมมือกับ BRICS ในทุกระดับ การหารืออย่างมีประสิทธิผลในวันนี้ จะช่วยยกระดับความร่วมมือไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_113_DPM_y24.php

‘เวียดนาม’ ดาวเด่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายไค เว่ย อัง (Kai Wei Ang) นักเศรษฐศาสตร์อาเซียนจากธนาคารยักษ์ใหญ่ Bank of America Merrill Lynch (BAML) ให้สัมภาษณ์ในรายการ Squawk Box ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี กล่าวว่าเวียดนามยังคงเป็นดาวเด่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้รับประโยชน์จากยุทธศาสตร์ชองจีน “CHINA+1” ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับกับการขาดแคลนพลังงานในปีที่แล้ว และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังเปราะบางก็ตาม โดยนักวิเคราะห์ได้ตั้งช้อสังเกตไว้ว่าจากความได้เปรียบทางการแข่งขันของเวียดนามในด้านแรงงานและข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ช่วยหนุนการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิเช่น สหภาพยุโรป สิ่งเหล่านี้ส่งเสริมให้เวียดนามดึงดูดการลงทุน

ที่มา : https://theinvestor.vn/vietnam-a-bright-spot-in-southeast-asia-bofa-economist-d10684.html

‘สหรัฐฯ’ ยืนยันสถานะทางเศรษฐกิจเวียดนาม หนุนโอกาสส่งออก

ในช่วงต้นเดือน พ.ค.67 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จัดการประชุมการยอมรับทางเศรษฐกิจแบบตลาดของเวียดนาม พบว่าเวียดนามแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะบรรุหลักเกณฑ์ 6 ข้อที่ไว้ในการเป็นเศรษฐกิจแบบตลาดของประเทศ รวมถึงดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ และอื่นๆ ซึ่งจากการปะเมินของนักวิเคราะห์ ได้เห็นถึงศักยภาพของเวียดนามที่เปิดรับหลักเกณฑ์ต่างๆ ของสหรัฐฯ ได้ดีและเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่าอินโดนีเซีย แคนาดาและฟิลิปปินส์

ในขณะเดียวกัน นาง Nguyen Thi Thu Trang ผู้อำนวยการศูนย์ WTO และหอการค้าและการอุตสาหกรรมของเวียดนาม (VCCI) กล่าวว่าการที่เวียดนามคว้าโอกาสจากการยอมรับสถานะทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ ถือว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญของผู้ประกอบการเวียดนาม โดยเฉพาะธุรกิจการผลิตและการส่งออก เนื่องจากได้รับการลดหย่อนภาษี นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ก็สามารถกระจายห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจได้มากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/early-us-recognition-of-market-economy-to-increase-opportunities-for-vietnamese-exports-post288493.vnp

ปรับปรุงเส้นทางการค้าด่านหม่อตอง-สิงขร ดึงดูดผู้ค้ามากขึ้น

ตามการระบุของผู้ค้าท้องถิ่น เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ปริมาณการค้าที่ด่านชายแดนหม่อตอง-สิงขร ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนเมียนมา-ไทยในเขตตะนาวศรี เพิ่มขึ้นเนื่องจากเส้นทางการค้าที่ดีขึ้น ดึงดูดธุรกิจการค้าชายแดนเมียนมาให้ยกระดับการค้าผ่านด่านมากขึ้น โดบมีผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเป็นสินค้าส่งออกหลัก เช่นเดียวกับผลผลิตทางการเกษตร เช่น พริก กล้วย และหัวหอม ผลไม้ สินค้าอุปโภคบริโภค และอาหาร นำเข้าจากประเทศไทย เนื่องจากมีเส้นทางการค้าที่ดี พื้นที่นี้จึงอยู่ในตำแหน่งที่สะดวกสำหรับผู้ประกอบการและคนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามสถิติที่เผยแพร่โดยกระทรวงการค้า ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 8 มิถุนายน มูลค่าการส่งออกที่ชายแดนหม่อตองอยู่ที่ 0.8377 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออก 0.8220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้า 0.0157 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้วที่ประตูชายแดนหม่อตองได้รับการเปิดอย่างถาวรโดยเมียนมา ในขณะที่ประตูชายแดนสิงขรในประเทศไทยยังคงถูกกำหนดให้เป็นประตูชายแดนชั่วคราวพิเศษ ซึ่งระยะทางจากมะริดไปยังหม่อตองคือมากกว่า 120 ไมล์ และค่าใช้จ่ายในการขนส่งรถบรรทุกอยู่ที่ประมาณ 700,000 จ๊าด หรือเกินกว่าจำนวนนั้นเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นระหว่างทาง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/improved-trade-routes-at-mawtaung-singkhorn-border-checkpoint-attracts-more-traders/