อุตสาหกรรม ICT ของเวียดนาม ทำรายได้ราว 126 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MIC) เปิดเผยว่าจำนวนธุรกิจเวียดนามที่อยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology : ICT) มีทั้งสิ้น 45,500 ราย รวมถึงบริษัทลงทุนจากต่างชาติ ที่ทำรายได้รวมประมาณ 126 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เวียดนามติด 1 ใน 20 ประเทศที่ใช้ถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก ประมาณ 68.17 ล้านคน (70% ของประชากรรวม) ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ร้อยละ 94 ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำ ใช้งานเฉลี่ยสูงสุด 6 ชั่วโมงต่อวัน ประกอบกับอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่จำเป็นกับทุกคนและชาวเวียดนามมองเห็นประโยชน์ในการใช้อินเทอร์เน็ต เนื่องจากอินเทอร์จะก้าวข้ามเข้าสู่ระบบนิเวศเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติจัดอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGDI) ของเวียดนามอยู่ที่ 86 ดีขึ้น 2 อันดับ และได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียและโลก ขณะที่ ปัจจุบัน ผลการจัดอันดับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่อันดับที่ 6 รองจากฟิลิปปินส์ บรูไน ไทย มาเลเซียและสิงคโปร์

ที่มา : https://vietreader.com/business/finance/27149-vietnam-ict-industry-reaches-estimated-us126-billion-revenue-in-2020.html

เวียดนามเผยยอดขายรถยนต์เดือนพ.ย. บรรลุเป้าหมายการขายของปี

ตามข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์เวียดนาม (VAMA) ระบุว่ายอดขายรถยนต์เดือนพ.ย. มีทั้งสิ้น 36,359 คัน นับว่าสูงที่สุดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาในปีนี้ ถึงแม้จะเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม โดยตัวเลขยอดขายข้างต้นนั้น สูงกว่าเมื่อเทียบกับปีก่อน ร้อยละ 22 ส่งผลให้เดือนพ.ย. เป็นเดือนที่ 3 ที่ทำให้บรรลุเป้าหมายการขายในปีนี้ หลังจากเดือนก.พ. และต.ค. อย่างไรก็ตาม การระบาดของไวรัส ส่งผลให้ยอดขายดิ่งลงในเดือนอื่นๆ ทั้งนี้ รถยนต์ส่วนบุคคลมีสัดส่วนร้อยละ 79 ของยอดขายทั้งหมด ในขณะที่ รถยนต์เชิงพาณิชย์มีสัดส่วนราวร้อยละ 20 และรถที่มีวัตถุประสงค์พิเศษสำหรับส่วนที่เหลือ นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุมาจากในเดือนเม.ย. และสิ.ค. ได้รับความเสียหายจากการระบาดครั้งใหญ่

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/november-auto-sales-achieve-year-record-4207319.html

เมียนมาพร้อมเจรจากับจีนเพื่อส่งออกโคสด

กระทรวงเกษตรปศุสัตว์และชลประทานของเมียนมากำลังเจรจากับสำนักงานการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) เพื่อดำเนินการส่งออกโคสด GACC เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้และมีขั้นตอนใหม่และทั้ง 2 ประเทศต้องเจรจาให้เป็นไปตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ซึ่งการส่งออกต้องให้กรมสัตวบาลภายใต้ GACC ออกใบรับรองสุขภาพให้ นาย U Min Aung Aye ผู้อำนวยการ 105th Mile Border Trade Post ของเมืองมูเซภายใต้กระทรวงพาณิชย์ซึ่งรับผิดชอบในการออกใบอนุญาตการส่งออกกล่าวว่าการส่งออกไปยังจีนน่าจะกลับมาดำเนินการได้ในเดือนมกราคมปีหน้า ขณะนี้วัวและแพะมากกว่า 15,000 ตัวถูกขังไว้ที่ชายแดนเพื่อรอการส่งออกไปยังจีน ซึ่งเมียนมาอนุญาตให้ส่งออกโคมีชีวิตเป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม 60 ทั้งนี้นอกจากตลาดจีนแล้วยังมีบางส่วนส่งออกไปยังไทย อินเดีย และบังกลาเทศ

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/myanmar-talks-china-resume-live-cattle-exports.html

สปป.ลาวกำลังเผชิญปัญหาการว่างงานสูงในกลุ่มคนพิการ

การว่างงานของคนพิการยังคงเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล จากรายงานของสำนักงานสถิติสปป.ลาว ระบุว่าสปป.ลาวมีอัตราการว่างงานในกลุ่มคนพิการในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับประชากรโดยรวม การว่างงานในกลุ่มนี้อยู่ที่ร้อยละ 4 ในขณะที่แรงงานอื่น ๆ อยู่ที่ร้อยละ 1.5 Ms.Phonesaly Souksavath และ Ms Mariam A. Khan ผู้แทน UNFPA กล่าวว่า “วัตถุประสงค์หลักของเอกสารข้อมูลคนพิการที่เผยแพร่นี้มีความประสงค์ที่จะกระตุ้นสังคมเกี่ยวกับสถานการณ์ของคนพิการและสถิติยังเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการกำหนดนโยบายและวางแผนในการช่วยเหลือคนพิการตลอดจนพัฒนาบริการที่เท่าเทียมกันสำหรับพวกเขา”  UNFPA สนับสนุนการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาวิจัยในการแสดงให้เห็นว่าคนพิการมีสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แย่ลงอย่างมีนัยสำคัญและมีโอกาสน้อยลง อย่างไรก็ตามรัฐบาลให้สัตยาบันในอนุสัญญาต่อสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิคนพิการซึ่งระบุถึงสิทธิมนุษยชนของคนพิการที่จะกำหนดกลยุทธ์นโยบายและแผนปฏิบัติการหลายประการเพื่อมุ่งเป้าหมายในการช่วยเหลือคนพิการ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_High245.php

การส่งออกเสื้อผ้ากัมพูชาในเดือนมกราคมถึงตุลาคมลดลงร้อยละ 9

การส่งออกเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าด้านการท่องเที่ยวของกัมพูชาลดลงร้อยละ 9 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี ซึ่งนับจากต้นปีมาถึงช่วงเวลาปัจจุบัน (YTD) ของปี 2019 ตามข้อมูลของ General Department of Customs and Excise (GDCE) โดยมีมูลค่ารวมของสินค้าส่งออกระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคมอยู่ที่ 8.215 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งแยกตามหมวดหมู่ย่อยการส่งออกเสื้อผ้าลดลงร้อยละ 10.7% สู่ระดับ 6.164 พันล้านดอลลาร์รองเท้าลดลงร้อยละ 6.86 สู่ระดับ 929.57 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าด้านการท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 11 เหลือ 788.97 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตลาดสหรัฐถือเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับสินค้ากัมพูชาในกลุ่มนี้โดยคิดเป็นร้อยละ 37 ของสินค้าทั้งหมดที่ทำการส่งออก ซึ่งประธานหอการค้าอเมริกันในกัมพูชากล่าวว่าสินค้าประเภทเสื้อผ้าจะกลับมาเติบโตอีกครั้งเมื่อเศรษฐกิจตะวันตกกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50793527/kingdoms-garment-related-exports-down-9-percent-january-to-october/

สหรัฐฯวางแผนสนับสนุนกัมพูชาเพิ่มเติมในวงเงิน 66.2 ล้านดอลลาร์

รัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาได้ลงนามอย่างเป็นทางการในหนังสือแลกเปลี่ยน ซึ่งสะท้อนถึงปริมาณเงินสนับสนุนจำนวน 66.2 ล้านดอลลาร์ ในข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการพัฒนาสำหรับกัมพูชา โดยรัฐมนตรีอาวุโสกัมพูชารับผิดชอบภารกิจพิเศษ ร่วมกับรองประธานสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้เป็นตัวแทนฝ่ายกัมพูชา ร่วมประชุมกับหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่ง CDC กล่าวว่าการระดมทุนเพิ่มเติมจะสนับสนุนด้านสาธารณสุขและการศึกษาจำนวน 43.3 ล้านดอลลาร์ ภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อม 22.9 ล้านดอลลาร์ โดยตั้งแต่ปี 1992 ถึงปี 2019 รัฐบาลสหรัฐฯได้ให้ความช่วยเหลือกัมพูชามาแล้วประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 6.10 ของการเบิกจ่าย ODA ทั้งหมด ซึ่งความช่วยเหลือนี้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญของ RGC ตามที่ระบุไว้ใน Rectangular Strategy IV และแผนพัฒนายุทธศาสตร์แห่งชาติปี 2019-2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50793668/u-s-to-provide-additional-66-2-million-to-aid-cambodias-development/

สุริยะหารือสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียนดึงทุนธุรกิจดิจิทัลในไทย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) นำโดยนายไมเคิล มิคาลัก รองประธานอาวุโสและกรรมการผู้จัดการภูมิภาค สภาธุรกิจ USABC พร้อมด้วยนักธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ และผู้แทนจากบริษัท รวม 38 บริษัท ได้เข้าหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมแบบกึ่งออนไลน์ โดยพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลไทยเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 อีกทั้งส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการใช้วัตถุดิบหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งนี้การยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 จำเป็นต้องสร้างปัจจัยแวดล้อมเพื่อรับรองการทำธุรกิจยุคดิจิทัล โดยรัฐบาลได้เดินหน้าเปิดประมูลคลื่น 5 จี และเร่งพัฒนาโครงข่าย 5G ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ยกระดับการทำงานสู่ระบบออนไลน์ โดยได้ผลักดันการใช้ระบบฐานข้อมูล ประมวลผล และสนับสนุนอุตสาหกรรม (I-industry) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อให้เกิดการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ (online service) อำนวยความสะดวกในการให้บริการกับผู้ประกอบการผ่านระบบ

ที่มา : https://tna.mcot.net/latest-news-600958