“การประชุมทางไกล” ส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรของเวียดนาม

ตามรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เผยการประชุมทางไกล จะจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรในท้องถิ่นไปสู่สายตาชาวโลก โดยงานนี้คาดว่าจะนำแพลตฟอร์มให้กับธุรกิจในประเทศและผู้นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อรับรู้ข้อมูลเชิงลึกมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความต้องการของแต่ละฝ่าย รวมถึงจับมือลงนามความร่วมมือ สิ่งนี้จะช่วยให้ภาคธุรกิจก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ จากการได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และยังสร้างกลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ บริษัทต่างชาติที่เข้าร่วมงาน มีจำนวน 28 รายจากตลาดส่งออก ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เบลารุส เบลเยียม เดนมาร์ก เยอรมนี ฮังการี อิตาลี สเปน สวิตเซอร์แลนด์ แอลจีเรีย อิหร่าน อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บราซิล แคนาดา ชิลี เอกวาดอร์ สหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ประมงและป่าไม้อยู่ที่ 26.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/teleconference-to-boost-vietnamese-agricultural-exports-780473.vov

เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 202 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนสิงหาคม

จากรายงานของกรมศุลกากร เผยว่าในเดือนสิงหาคม ปริมาณนำเข้ารถยนต์ทุกประเภทของเวียดนามอยู่ที่ 8,800 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 85.6 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ซึ่งเวียดนามนำเข้ารถยนต์จากไทยมากที่สุด 4,700 คัน รองลงมาอินโดนีเซีย 2,500 คัน และจีน 570 คัน คิดเป็นสัดส่วนรวมกันทั้งสามประเทศ ร้อยละราว 90 ของยอดนำเข้ารวม ทั้งนี้ จำนวนการนำเข้ารถยนต์ 9 ที่นั่งหรือน้อยกว่า อยู่ที่ 6,136 คัน (69.4% ของยอดนำเข้ารวม) เพิ่มขึ้นร้อยละ 91.6 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าปริมาณนำเข้ารถยนต์ในเดือนสิงหาคมจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถพยุงจำนวนรถยนต์ในเดือนมกราคม-สิงหาคมได้ทั้งหมด ที่ลดลงร้อยละ 44.3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้วยจำนวน 53,800 คัน จากการได้รับผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะที่ แบ่งออกเป็นประเภทรถยนต์ได้ ดังนี้ รถยนต์ 9 ที่นั่งหรือน้อยกว่า 39,000 (-46.9%), รถบรรทุก 10,759 คัน (-47.8%)

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-spends-us202-million-importing-automobiles-in-august-780374.vov

Electricite du Laos (EDL) มองหาโอกาสส่งออกกระแสไฟฟ้าส่วนเกินในช่วงฤดูฝน

Electricite du Laos (EDL) กำลังหาประโยชน์จากปริมาณไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้ในช่วงฤดูฝนจากการไหลของน้ำในปริมาณมาก รักษาการกรรมการผู้จัดการ EDL คุณจันทบุญสุกะลุนกล่าวว่า “เราสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ในช่วงฤดูฝนทำให้เกิดส่วนเกิน แต่ในช่วงหน้าแล้งสปป.ลาวประสบปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าทำให้ต้องนำเข้าไฟฟ้าจากไทย” ถึงแม้สปป.ลาวจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้มาก แต่ก็ยังคงต้องนำเข้าไฟฟ้าจากไทย ทำให้ Electricite du Laos (EDL) ต้องเผชิญกับการขาดทุนจากการนำเข้าไฟฟ้า เนื่องจาก EDL จำหน่ายไฟฟ้า 1,000-2,000 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี ให้แก่ประเทศไทยและนำเข้าในปริมาณใกล้เคียงกันแต่ปัญหาคือสปป.ลาวขายไฟฟ้าให้ไทยเพียง 5 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ แต่ซื้อไฟฟ้า 11 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ทำให้เป็นการเพิ่มภาระหนี้แก่ EDL ในการต้องนำเข้าไฟฟ้าเข้ามา ด้วยเหตุผลนี้สปป.ลาวจำเป็นต้องกระจายแหล่งพลังงานโดยการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในฤดูแล้ง นอกจจากนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและหาตลาดไฟฟ้าให้มากขึ้นเพื่อให้ประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพไฟฟ้าพลังน้ำได้อย่างเต็มที่

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_EDLs_185.php

หวั่นโควิดรอบ 2 จำกัดขนส่งสินค้าข้ามเมียนมาเหลือ 6 คัน

นายยงยุทธ นาคแดง รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เปิดเผยถึงการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-เมียนมาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ปัจจุบันปริมาณการขนส่งสินค้าบริเวณด่านพรมแดนแม่สาย จังหวัดเชียงรายลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในเมียนมา ทำให้ไทยต้องยึดมาตรการด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน ปริมาณการขนส่งสินค้าบริเวณด่านพรมแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีปริมาณการขนส่งสินค้าราว 1,000 เที่ยวต่อวัน แต่ปัจจุบันหลังเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทางประเทศเมียนมามีการจำกัดปริมาณการเดินรถขนส่งสินค้าข้ามประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าด่านดังกล่าวเหลือเพียง 6 คันต่อวัน ขณะเดียวกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างหนักในเมียนมา ทำให้ต้องควบคุมด้านความปลอดภัยในการเข้า-ออกประเทศ เพื่อลดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 2

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/450100

ค้าชายแดนมูเซกลับมาเปิด หลังคลายล๊อคด่านหลุยลี่

การค้าชายแดนที่ด่านมูเซของรัฐฉานกลับมาเปืดอีกครั้งหลังจากสำนักงานศุลกากรในเมืองหลุ่ยลี่ของจีนเริ่มเปิดทำการ ในวันที่ 22 กันยายน 63  การค้าชายแดนระหว่างเมียนมาและจีนถูกระงับหลังจากด่านหลุ่ยลี่ถูกปิดไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน 63 ภายหลังตรวจพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในขณะที่การเดินทางออกนอกเมืองหลุ่ยลี่ยังคงถูกจำกัด ซึ่งสินค้าอนุญาตให้ผ่านชายแดนได้แต่คนขับรถบรรทุกของเมียนมาต้องสับเปลี่ยนรถกับคนขับรถของจีนก่อนที่สินค้าจะถูกนำเข้า คาดว่าจะมีการส่งออกข้าวประมาณ 20,000 ถุงจากเมียนมาในวันนี้ มูลค่าการค้าที่ด่านมูเซสูงสุดในบรรดาด่านชายแดนโดยมีการส่งออกรวม 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 62-63 และการนำเข้าจากจีนสูงถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/border-trade-muse-resumes-after-ruili-restrictions-relaxed.html

โรงงานแปรรูปเหล็กแห่งใหม่เริ่มดำเนินในจังหวัดกำปงสปือของกัมพูชา

โรงงานแปรรูปเหล็กมูลค่า 16 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรีไซเคิลเศษโลหะเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปจะเริ่มดำเนินการเร็วๆนี้เพื่อตอบสนองตลาดในประเทศและเพื่อลดการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ โดยโรงงานแห่งนี้เป็นของ Hong De Sheng (Cambodia) Steel Co., Ltd. ของจีน ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดกำปงสปือทำการรวบรวม รับซื้อเศษเหล็กภายในท้องถิ่นและนำเข้าเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูป โดยอธิบดีการเหมืองแร่ของกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน กล่าวให้การต้อนรับสำหรับการจัดตั้งโรงงานและกล่าวว่าปัจจุบันมีโรงงานแปรรูปเหล็กที่ใช้เศษโลหะในการผลิตเหล็ก แต่ไม่มีโรงงานใดที่ใช้เหล็กสกัดในประเทศเพื่อผลิตเหล็กถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม รวมถึงการสร้างการจ้างงานภายในท้องถิ่นอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50765262/steel-processing-plant-in-kampong-speu-province-set-to-commence-operations/

กัมพูชาวางแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

กัมพูชาส่งออกผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษสวายเรียง (SEZs) เพียงแห่งเดียวสูงถึง 124.87 ล้านดอลลาร์ ณ เดือนสิงหาคม โดยในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นกว่า 57 ล้านดอลลาร์ ตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่ทำการส่งออก ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า จักรยานและชิ้นส่วนอะไหล่ โดยส่วนใหญ่ถูกส่งไปยังตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรป รวมถึงมูลค่าการส่งออกรวมกันในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่งอยู่ที่ 680 ล้านดอลลาร์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี ซึ่งกัมพูชาวางแผนในการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคการค้าและการท่องเที่ยว ในขณะที่การศึกษาโครงการทางด่วนพนมเปญสู่บาเว็ตอยู่ระหว่างติดตามหลังจาก China Railway International Group Co., Ltd. ได้ส่งผลการศึกษาทางเทคนิคไปยังรัฐบาลเพื่อทำการพิจารณาอนุมัติโครงการ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50765345/boost-for-special-economic-zones/

ข้อกำหนดกฎหมายการลงทุนแฟรนไชส์ในเวียดนาม

โดย SME Go Inter

ตลาดแฟรนไชส์ในเวียดนามยังคงเป็นที่น่าศึกษา ติดตามเพื่อขยายฐานการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจสินค้าบริการอาหารและเครื่องดื่มแบบแฟรนไชส์ที่ไปได้ดีและโตแรง ขณะที่รูปแบบการนำแฟรนไชส์จากต่างประเทศมาเปิดดำเนินการในเวียดนามมีรูปแบบ ที่หลากหลายทั้งแบบสัญญา แฟรนไชส์โดยตรง (Direct franchising) ที่มีการพัฒนาให้สิทธิ์ในการเปิดกิจการได้มากกว่าหนึ่งแห่ง ตัวอย่างเช่น รูปแบบแฟรนไชส์ที่มีการให้สิทธิ์ในการเปิดดำเนินธุรกิจได้หลายสาขา (multi-unit) หรือการให้สิทธิ์แบบ Development agreements รวมทั้งแบบสัญญาแฟรนไชส์หลัก (Master franchise agreements) เป็นต้น

ดังนั้นการเข้าไปเล่นตลาดแฟรนไชส์ในเวียดนาม จะต้องดำเนินกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค และกฎระเบียบข้อบังคับของกฎหมายการลงทุนแฟรนไชส์ในเวียดนาม เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  1. ควรทำการสำรวจตลาดก่อนที่จะมีการตั้งราคาของผลิตภัณฑ์และค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์
  2. เลือกผลิตภัณฑ์/บริการที่มีศักยภาพหรือเป็นที่นิยม แม้ว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะยังคงเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
  3. เน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีการเติบโตสูง
  4. เข้าร่วมงานแสดงสินค้าหรือเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ สร้างความรับรู้และจดจำสินค้าแก่ผู้บริโภค อย่างน้อย 3 ปีติดต่อกัน จะทำให้คู่ค้าเกิดความคุ้นเคยต่อแบรนด์สินค้า
  5. เลือกทำเลที่เหมาะสมและราคาไม่แพง ในเมืองที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่น นครโฮจิมินห์ และกรุงฮานอย ที่ยังมีทำเลให้เลือกมาก
  6. ปรับกลยุทธ์ให้เข้าถึงตลาดที่มีวัฒนธรรมแตกต่าง ด้วยการศึกษาวัฒนธรรม นิสัยและรสนิยมของคนในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จของธุรกิจ

การขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจแฟรนไชส์กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม

  1. เอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ประกอบไปด้วย สำเนาเอกสารแนะนำธุรกิจแฟรนไชส์ (The Franchise Introduction Statement) และข้อตกลงของแฟรนไชส์ รวมไปถึงใบสมัครและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  2. ข้อตกลงแฟรนไชส์ในเวียดนาม กฎหมายของประเทศเวียดนามไม่ได้บังคับให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมใดๆ ในข้อตกลงธุรกิจแฟรนไชส์ ผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์และผู้รับสิทธิ์ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ มีอิสระที่จะเจรจาข้อกำหนดและเงื่อนไขของข้อตกลงแฟรนไชส์
  3. ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม ถึงแม้ว่าเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ต่างชาติจะไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจในเวียดนาม แต่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้รับสิทธิดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม และถือเป็นการทำสัญญาระหว่างบริษัทเวียดนามกับบริษัทต่างชาติ จึงจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับค่าธรรมเนียมใดๆ ที่เรียกเก็บจากผู้รับสิทธิดำเนินกิจการ
  4. การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในเวียดนาม การเข้ามาลงทุนธุรกิจในเวียดนาม เจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมถึงการจด URL และเว็บไซต์กับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติเวียดนาม
  5. การเป็นผู้รับสิทธิดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ต่างประเทศในเวียดนาม นักลงทุนต่างชาติสามารถเป็นผู้รับสิทธิ์ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ได้ เมื่อมีการจัดตั้งนิติบุคคลในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม สามารถเปิดธุรกิจเฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการโดยชาวต่างชาติตามที่เวียดนามได้ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO)
  6. การจัดตั้งธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม โดยส่วนใหญ่ไม่มีการกำหนดเงินทุนขั้นต่ำสำหรับการดำเนินการธุรกิจในเวียดนาม

สำหรับคำแนะนำในการเข้าไปดำเนินธุรกิจในเวียดนามของผู้ประกอบการไทยนั้น มีรูปแบบดังนี้

  1. ลงทุนร่วมกับผู้ซื้อแฟรนไชส์ชาวเวียดนามโดยเป็นการลงทุนลักษณะ Offshore
  2. การจัดตั้งกิจการในแบบบริษัทต่างชาติ (Foreign-own company)
  3. การควบรวมและการซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions (M&A)
  4. เลือกพันธมิตรหรือคู่ค้าที่เหมาะสม โดยบริษัทท้องถิ่นหลายแห่งอาจไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงในแบรนด์สินค้า รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์

ที่มา :

/1 สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ศูนย์สนับสนุนธุรกิจใน AEC.ธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม.2562

/2 https://www.bangkokbanksme.com/en/franchise-investment-law-requirements-in-vietnam