‘เวียดนาม’ โอกาสขึ้นแท่นฐานการผลิตยักษ์ใหญ่ระดับโลก

เหงียน ตรัง เวือง (Nguyen Thang Vuong) จากสำนักงานตลาดยุโรปและอเมริกา ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าแอปเปิล (Apple) ได้ย้ายโรงงานของบริษัทไต้หวัน จำนวน 11 แห่งไปยังเวียดนามแล้ว และมองว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลกจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่งที่ต้องการขยายเครือข่ายและตั้งโรงงานผลิตในเวียดนาม อาทิเช่น อินเทล (Intel) ได้อัดฉัดเม็ดเงินทุนราว 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการเวียดนาม ขณะที่บริษัทของเล่นระดับโลกสัญชาติเดนมาร์ก เลโก้ (LEGO) ประกาศทุ่มเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานในเมืองบิ่นห์เซือง ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นโอกาสที่ดีของเวียดนามในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/great-opportunity-for-vietnam-to-be-a-global-production-base-post1044055.vov

‘ตลาดร้านสะดวกซัก’ มีศักยภาพเติบโตสูงในเวียดนาม

จากตัวเลขสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าตลาดร้านสะดวกซัก (Laundromat) ในเชิงพาณิชย์ของเวียดนาม เดือน พ.ค. 65 มีมูลค่าทางการตลาด อยู่ที่ราว 205 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ด้วยอัตราการเติบโต 6% ซึ่งสูงกว่าอัตราค่าเฉลี่ยของเอเชียที่ 3.6% และจากข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่าร้านซักรีดมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 15,136 แห่ง โดยร้านสะดวกซัก 96% ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจครัวเรือน นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคใหม่ ค่าครองชีพของชนชั้นกลางเวียดนามที่ดีขึ้น และคนรุ่นใหม่ในเมืองใหญ่ ได้นำไปสู่เทรนด์ใหม่ของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้ ร้านสะดวกซัก จึงกลายเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการลงทุน เนื่องจากตลาดมีการเติบโตอย่างต่อจากความต้องการมากขึ้นและการแข่งขันที่ต่ำ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1593334/laundromat-market-growing-in-viet-nam.html

‘ตลาดหุ้นย่างกุ้ง’ เดือน ส.ค. เข้าสู่ภาวะตลาดหมี

การซื้อขายหุ้นลักษณะแบบรายใหญ่ในกลุ่มบริษัทจดทะเบียน 8 แห่งในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง (YSX) ชี้ให้เห็นว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นในเดือน ส.ค. 2566 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 509,827 หุ้น จากระดับ 958,368 หุ้น ในเดือน ก.ค. และมูลค่าลดลงเหลือ 1.3 พันจ๊าด ทั้งนี้ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง มีจำนวน 8 ราย ได้แก่ บริษัท First Myanmar Investment (FMI), Myanmar Thilawa SEZ Holdings (MTSH), Myanmar Citizens Bank (MCB), First Private Bank (FPB), TMH Telecom Public Co Ltd (TMH), Ever Flow River Group Public Co, Ltd (EFR), Amata Holding Public Co, Ltd. (AMATA) และ Myanmar Agro Exchange Public Co, Ltd (MAEX)

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/ysx-sees-bear-market-in-august/#article-title

สปป.ลาว-เวียดนาม เตรียมเปิดให้บริการทางรถไฟระหว่างกันภายในปี 2028

บริษัท Petroleum Trading Lao Public Company (PTL), บริษัท Yooshin Engineering Corporation และ บริษัท Korea National Railway กำลังเร่งดำเนินการศึกษาออกแบบทางรถไฟระหว่างประเทศ สปป.ลาว-เวียดนาม โดยได้ลงนามในข้อตกลงระหว่างกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว การรถไฟ สปป.ลาว-เวียดนาม จะสนับสนุนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ทันสมัยและได้มาตรฐานร่วมกัน เพื่อให้การขนส่งมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศ โดยโครงการนี้จะเสริมสร้างความเชื่อมโยงให้กับ สปป.ลาว ในฐานะศูนย์กลางการขนส่งและการค้าภายในอาเซียน ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาล และสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ ในการเปลี่ยนประเทศ สปป.ลาว จากประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเลให้เป็นประเทศที่มีทางเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค รวมถึงโครงการย่อยหลายโครงการ เช่น ท่าเรือบกท่านาแลงและอุทยานโลจิสติกส์เวียงจันทน์ โดยโครงการดังกล่าวจะมีระยะทางประมาณ 500 กิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างเวียงจันทน์กับอำเภอท่าแขกของแขวงคำม่วนรวมระยะทาง 312 กิโลเมตร และเชื่อมระหว่างอำเภอท่าแขกกับชายแดน สปป.ลาว-เวียดนาม เส้นทางรวม 139 กิโลเมตร ด้วยเงินลงทุนรวมอยู่ที่ประมาณ 5.5 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/laos-vietnam-railway-set-to-operate-in-2028-2185982.html

NBC เตรียมขายเงินดอลลาร์ล็อตใหญ่ หวังแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) พร้อมสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานให้แก่สกุลเงินเรียล โดยจะเริ่มการแทรกแซงครั้งแรกในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของประเทศในวันนี้ (6 ก.ย.) ด้วยการขายเงินสกุลดอลลาร์มูลค่ารวม 50 ล้านดอลลาร์ เพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินเรียลและดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง NBC วางแผนที่จะขายเงินจำนวนดังกล่าวให้กับธนาคารที่ได้รับใบอนุญาต รวมถึงสถาบันการเงินรายย่อย และผู้แลกเปลี่ยนเงิน เพื่อลดสัดส่วนปริมาณเงินเรียลในระบบ โดยจะส่งผลทำให้เงินเรียลมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นระหว่างสกุลเงินเรียลต่อดอลลาร์สหรัฐในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ด้วยมูลค่าดังกล่าวจะถูกนำออกประมูล 4 ครั้ง ต่อธนาคารและสถาบันการเงิน โดยแบ่งเป็นครั้งแรก 10 ล้านดอลลาร์ ในวันนี้ 15 ล้านดอลลาร์ ในวันศุกร์ (8 ก.ย.) 10 ล้านดอลลาร์ ในวันพุธ (13 ก.ย.) และอีก 10 ล้านดอลลาร์ ในวันศุกร์ (15 ก.ย.) ด้าน Raymond Sia ประธานสมาคมธนาคารในกัมพูชา (ABC) เชื่อว่านโยบายดังกล่าวเพียงพอสำหรับการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของกัมพูชาในการรักษาเสถียรภาพของเงินเรียล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคในกัมพูชามากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501355329/nbc-to-sell-50m-to-intervene-in-foreign-exchange-today/

7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวมกว่า 1 พันล้านดอลลาร์

องค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยข้อมูลการส่งออก ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ว่ากัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวม 1.09 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กัมพูชายังนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมูลค่ารวม 296 ล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.2 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญของกัมพูชาจากญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้า และพลาสติก ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้ารายสำคัญของกัมพูชา โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเปิดการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระดับทวิภาคี เพื่อหวังผลักดันการส่งออก รวมถึงดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นมายังกัมพูชามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้ลงนามใน RCEP และ AJCEP รองรับการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น สำหรับเมื่อปีที่ผ่านมาการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมสูงถึง 2.45 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของ JETRO คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาส่งมูลค่า 1.93 พันล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่นในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี ด้านการนำเข้าจากญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 515 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 11.2

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501355347/kingdoms-exports-to-japan-top-1b/

“บีโอไอ” จัดงานจับคู่ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอ, สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย, บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) จะจัดงาน MIRA (Maintenance, Industrial Robotics and Auto mation) และ SUBCON EEC 2023 วันที่ 6-8 ก.ย.นี้ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นงานเดียวที่รวบรวมเอาสินค้า และบริการอุตสาหกรรมจากบริษัทชั้นนำจากทั้งในประเทศและต่างประเทศมาจัดแสดง อีกทั้งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมและจับคู่ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และคาดว่าจะเกิดการจับคู่ทางธุรกิจ 600 คู่ สร้างมูลค่า 2,000 ล้านบาท “การจัดงานครั้งนี้ มีความสำคัญต่อการพัฒนาผู้ประกอบการไทย ให้สามารถสร้างตลาดและเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก เพื่อสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบอัตโนมัติที่จะผลักดันให้ไทยมีขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ บีโอไอจึงได้จัดกิจกรรมที่จะช่วยสนับสนุนให้บริษัทต่างชาติสามารถเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ในประเทศให้มากที่สุด” นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า งานดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2723191