สินเชื่อภาคเกษตรกรรมของกัมพูชาลดลงเหลือ 31% จาก 36% ใน 5 ปีก่อน

โครงสร้างสัดส่วนสินเชื่อภาคการเกษตรลดลงจากร้อยละ 35.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 31 สำหรับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) โดยภาคการเกษตรยังคงเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจกัมพูชาสำหรับในปี 2023 สำหรับโครงสร้างเศรษฐกิจกัมพูชาเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยสะท้อนจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง ที่ได้กล่าวรายงานว่า ภาคการเกษตรมีส่วนสำคัญต่อการผลักดันการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แต่ด้วยขนาดของเศรษฐกิจที่มีการขยายตัว รวมถึงโครงสร้างอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทำให้สัดส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 22 ของ GDP ประเทศ แม้ในปี 2013 จะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 36 ของ GDP ก็ตาม สำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สิ่งทอ การท่องเที่ยว และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และ MSMEs ในด้านการผลิต ชิ้นส่วนรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ พลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ก็เริ่มมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501490959/agricultural-loans-fall-to-31-from-36-in-5-years/

‘เวียดนาม’ คาดตลาดสมาร์ทโฟน แตะ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยข้อมูลตัวเลขการค้าเบื้องต้น พบว่ายอดการนำเข้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนในเดือน เม.ย. อยู่ที่ 789.72 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่งผลให้การนำเข้าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่ามากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ตลาดนำเข้าหลักของสินค้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนของเวียดนาม ได้แก่ จีน เกาหลีใต้และฮ่องกง ในขณะที่การส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วนของเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 18.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งโทรศัพท์และชิ้นส่วนเป็นสินค้าส่งออกหลักอันดับ 2 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม รองจากคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เสริม

อีกทั้ง เวียดนามกลายมาเป็นผู้ส่งออกสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากจีน ตั้งแต่ปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 12% ของส่วนแบ่งตลาดโลก และจากตัวเลขการคาดการณ์ของ Statista ได้คาดการณ์ว่าตลาดสมาร์ทโฟนของเวียดนาม จะมูลค่าสูงถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 1.45% ตั้งแต่ปี 2567-2571

ที่มา : https://en.vneconomy.vn/trade-turnover-from-phones-and-components-increases-in-4m.htm

‘รัฐบาลเวียดนาม’ เร่งดำเนินแก้ปัญหาฉ้อโกงซื้อขายออนไลน์

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม มีมูลค่าสูงถึง 20.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่รายงานค้าปลีกออนไลน์ในปี 2566 และแนวโน้มในปี 2567 พบว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ทำรายได้จากธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) สูงถึงราว 500 ล้านล้านด่อง หรือประมาณ 19.64 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 และคาดว่ามูลค่าจะสูงถึงราว 650 ล้านล้านด่องในปีนี้

อย่างไรก็ดี ผู้ไม่ประสงค์ดีจำนวนมากใช้ประโยชน์จากความไว้วางใจของผู้บริโภคและใช้ช่องโหว่ทางนโยบายการขายสินค้าคุณภาพต่ำ โดยปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าของแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ด้วยเหตุนี้ ทางหน่วยงานของภาครัฐฯ จึงมักได้รับรายงานว่ามีสินค้าลอกเลียนแบบบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องมีทรัพยากร โดยเฉพาะเครื่องมือ วิธีการและบทลงโทษที่เหมาะสม

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/e-commerce-frauds-require-utmost-in-attention-from-regulators-2282406.html

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาทบทวนมาตรการควบคุมราคาบ้าน

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กำลังทบทวนมาตรการควบคุมราคาบ้านที่มีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของกัมพูชาจะต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ ด้านดัชนีราคาบ้านพักและที่อยู่อาศัย (RPPI) ซึ่งเริ่มเปิดตัวในกลางปี 2022 เพื่อวัดราคาบ้านโดยรวมทั่วประเทศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 9 ภายในปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2020 โดย NBC กำลังติดตามราคาบ้านอย่างใกล้ชิด และอาจใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมราคาหากจำเป็น ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นตัววัดเงินเฟ้อของกัมพูชาอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ในปี 2022 และคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ภายในปีนี้ สำหรับมาตรการควบคุมราคาบ้านอาจส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของกัมพูชา รวมถึงผู้ซื้อบ้านอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยอันเนื่องจากมาตรการและราคาบ้านที่อาจชะลอตัวลงหรือลดลงในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501490347/the-national-bank-of-cambodia-reviews-measures-of-housing-prices/

กัมพูชาเสนอจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะ สำหรับบริษัทเกาหลีใต้เพื่อกระตุ้นการลงทุน

กัมพูชาเสนอจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะสำหรับบริษัทเกาหลีใต้หวังดึงดูดการลงทุน ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้จะได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อตอบสนองความต้องการของบริษัทเกาหลีใต้ ที่สนใจเข้ามาลงทุนและดำเนินธุรกิจภายในกัมพูชาด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนใหม่ ให้สอดรับกับความต้องการของภาคการลงทุน โดยเศรษฐกิจของกัมพูชาในปัจจุบันเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่าร้อยละ 7 สำหรับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจกัมพูชาเริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่กัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะเชื่อมนักลงทุนเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น ผ่านเครือข่ายความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคและทวิภาคี (FTA) รวมถึงเขตการค้าเสรีอาเซียน อาเซียนบวกหนึ่ง, RCEP, กัมพูชา-จีน FTA, กัมพูชา-เกาหลีใต้ FTA และกัมพูชา-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ FTA

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501490362/cambodia-proposes-exclusive-special-economic-zone-for-korean-firms-to-boost-investment/

“ไทย-ภูฏาน” ถก FTA รอบแรก ตั้งคณะทำงานด้านการค้าสินค้า ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม รอบ 2 ส.ค.นี้

โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นภินทร ศรีสรรพางค์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจ้างงานภูฏาน (นำเยล ดอร์จิ) ได้ร่วมประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับภูฏาน ในช่วงการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ไทย-ภูฏาน (JTC) ครั้งที่ 5 คณะเจรจาของไทยและภูฏานจึงได้ประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ภูฏาน รอบแรก เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ผ่านมา ณ ประเทศภูฏาน โดยมีตนเป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย และ โซแนม เชอริง ดอร์จิ ผู้อำนวยการกรมการค้า เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายภูฏาน สำหรับการหารือระหว่าง นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับ เชริง ท็อปเกย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567นายกรัฐมนตรีภูฏานขอให้พิจารณาเร่งรัดสรุปผลการเจรจาโดยเร็วที่สุด ซึ่งทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า FTA ไทย-ภูฏาน จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยผู้บริโภคภูฏานมีความนิยม รวมทั้งยอมรับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการของไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ที่มา : https://moneylifenews.com/en/articles/294591-gov

‘อุตสาหกรรมเหล็กเวียดนาม’ คว้าอันดับ 12 ด้านการผลิตเหล็กกล้าดิบของโลก

สมาคมเหล็กเวียดนาม (VSA) ได้ประกาศความสำเร็จของเวียดนามที่คว้าอันดับ 12 ด้านการผลิตเหล็กกล้าดิบของโลก ผลของความสำเร็จในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเหล็กเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการผลิตและความหลากหลายของสินค้า

ทั้งนี้ คุณ Nghiêm Xuân Da ประธานสมาคมเหล็กเวียดนาม กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2558 อุตสาหกรรมกลายมาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในอาเซียน ทั้งด้านการผลิตและการบริโภคเหล็กสำเร็จรูป และต่อมาในปี 2566 กำลังการผลิตเหล็กกล้าดิบของเวียดนาม อยู่ที่ 20 ล้านตัน ส่งผลให้เวียดนามก้าวมาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของโลก

นอกจากนี้ ภาคกลางของประเทศเป็นที่ตั้งของศูนย์อุตสาหกรรมสำคัญหลายแห่ง รวมถึงศูนย์กลางผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ภายใต้ชื่อว่า ‘หวาฟัตสุงกว๊าต’ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเหล็กปิดขนาดใหญ่และมีความทันสมัยในระดับภูมิภาค

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655840/vn-s-steel-industry-ranks-12th-in-world-crude-steel-production.html

สปป.ลาว คาด จีดีพี ปี 2567 โตได้ 4.7% ท่ามกลางความท้าทายหลายประการ

การประชุมผู้บริหารพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ครั้งที่ 8 โดยมีนายทองลุด สีสุลิด เลขาธิการพรรคและประธานพรรคฯ เป็นประธานในที่ประชุม ได้พูดคุยถึงเศรษฐกิจของ สปป.ลาว โดยคาดว่าจีดีพีจะเติบโตที่ 4.7% ในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วท่ามกลางความท้าทายอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยภาคอุตสาหกรรมและบริการการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นพร้อมกับการผลิตที่เพิ่มขึ้น มีส่วนสนับสนุนเชิงบวกต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ สำหรับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่ในประเทศลาว และสั่งให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อจัดการกับอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง การอ่อนค่าของเงินกีบ และต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงการเงินและปัญหาทางเศรษฐกิจ  แม้จะมีข้อกังวลนี้ แต่ธุรกิจต่างๆ ก็เริ่มขึ้นราคาหลังจากที่รัฐบาลประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง โดยแตะ 24.92% ในเดือนเมษายน แม้ว่าจะลดลงเล็กน้อยจาก 24.98% ในเดือนมีนาคม

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_94_Economy_y24.php

กรมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ออกตั๋วกำกับดูแลการขนส่งน้ำมัน

กรมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมได้ออกตั๋วควบคุมการขนส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเมื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดตามระเบียบแล้วโดยในขณะคัดกรองใบสมัคร พบว่าบางส่วนเป็นเอกสารปลอมแปลงข้อมูล ส่วนใหญ่จะถูกส่งโดยนายหน้า ดังนั้นกรมจึงสนับสนุนให้ผู้สมัครส่งไฟล์ด้วยตนเองที่สำนักงานภูมิภาคและของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กรมฯ เตือนขอให้ส่งเอกสารต้นฉบับหรือเอกสารไม่ปลอมไม่ว่าจะนำไปใช้ในทางใดก็ตาม นอกจากนี้ หากพวกสามารถจัดเตรียมเอกสารที่ครบถ้วนและตรวจสอบได้ ค่าธรรมเนียมตั๋วการควบคุมดูแลจะอยู่ที่ 20,000 จ๊าดเท่านั้น และระยะเวลาดำเนินการตั๋วใช้เวลาเพียงสองวันทำการ สำหรับความไม่สะดวกบุคคลทั่วไปสามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานได้ตามหมายเลขติดต่อ 067 3411282 และ 067 3411129

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/pprd-issues-supervision-tickets-for-oil-transport/#article-title

การค้าชายแดนไทย-เมียนมา ทะลุ 297 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในหนึ่งเดือน

การค้าชายแดนของเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้านไทยมีมูลค่า 297.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 10 พฤษภาคมของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2567-2568 ตัวเลขดังกล่าวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่าการค้า 428 ล้านดอลลาร์ ซึ่งบ่งชี้ว่าลดลงอย่างมากถึง 131.2 ล้านดอลลาร์อย่างไรก็ดี เมียนมาดำเนินการค้าข้ามพรมแดนกับไทยผ่านทางชายแดน ท่าขี้เหล็ก เมียวดี เกาะสอง มะริด บ้านพุน้ำร้อน และมอตอง ในจำนวนนี้ ชายแดนบ้านพุน้ำร้อน มีการค้าขายมากที่สุด ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 185 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดือนที่ผ่านมา รองลงมาคือ ชายแดนเมียวดี มูลค่าการค้าอยู่ที่ 31.69 ล้านดอลลาร์, ชายแดนท่าขี้เหล็ก 23.97 ล้านดอลลาร์, ชายแดนมะริด 22 ล้านดอลลาร์, ชายแดนเกาะสอง 28.56 ล้านดอลลาร์ และชายแดนมอตอง 6.123 ล้านดอลลาร์ที่มอตอง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-thailand-border-trade-hits-us297-mln-in-one-month/